OOP HOUSE

Oop House โปรเจกต์รีโนเวทในซอยย่านเอกมัยจากฝีมือสองสามีภรรยา อู๋-ภฤศธร สกุลไทย และ พี-รวมพร ถาวรอธิวาสน์ ที่น่าตื่นตาด้วย pattern ของแสงธรรมชาติผ่านการออกแบบช่องเปิดอย่างละเมียดละไม

TEXT REWRITE BY KITA THAPANAPHANNITIKUL
PHOTO: PEERAPAT WIMOLRUNGKARAT AND SAVAREELUCK MOONDECH

(For English, press here)

Oop House คือบ้านในย่านเอกมัยที่สองสามีภรรยา อู๋-ภฤศธร สกุลไทย จาก PIA Interior Co., Ltd. และ พี-รวมพร ถาวรอธิวาสน์ ซื้อมาเพื่อรีโนเวทให้กลายเป็นบ้านหลังใหม่ ผ่านการทำงานร่วมกันระหว่างเจ้าของบ้านผู้เป็น interior designer และช่างรับเหมา บนบริบทของบ้านที่อยู่ใกล้กับบ้านเดิม บ้านแม่ และบ้านเพื่อนๆ อันเป็นที่คุ้นเคย ประกอบกับความชอบของสถาปนิกเองที่ชอบย่านเอกมัยเป็นทุนเดิม ในความเป็นย่านใจกลางเมืองที่มีมุมสงบของซอยตันต่างๆ

“เราชอบอยู่บ้านที่ซอยตัน บ้านหลังแรกก็ซอยตัน บ้านหลังนี้ก็ซอยตัน แม้ว่ามันไม่สะดวกในการเข้าออกมากนัก แต่ก็แทนที่กันด้วยความสงบที่เกิดขึ้น โดยที่ยังตั้งอยู่ห่างจากถนนสุขุมวิทไม่กี่นาที อีกทั้งย่านนี้ยังเต็มไปด้วยบ้านเก่ายุค 60 – 90’s ที่ซ่อนตัวอยู่ ทำให้สภาพแวดล้อมของบ้านหลังนี้ล้อมรอบไปด้วยบรรยากาศของความ vintage ที่เราชอบเองเป็นการส่วนตัว” ภฤศธรกล่าว

ด้วยตัวอาคารเดิมที่เป็น town home ขนาด 4 ชั้น การออกแบบจึงต้องคำนึงถึงการนำแสงและลมเข้าอาคารเป็นหลักทั้งในแนวตั้งและแนวนอน รวมถึงยังต้องสร้างความเชื่อมโยงทางสายตาแก่พื้นที่ส่วนต่างๆ เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถมองเห็นกัน ในขณะที่ยังควบคุมความเป็นส่วนตัวได้อยู่ เกิดเป็นพื้นที่เปิดโล่งกลางอาคารที่กินพื้นที่ชั้น 2 – ชั้น 4 อันมีที่มาจากการทุบห้องน้ำเก่าทิ้ง พื้นที่โล่งนี้มีการใส่ชั้นลอยเพื่อปลูกต้นไม้ ทั้งยังเป็นพื้นที่เชื่อมต่อกันของคนในบ้านผ่านทั้งประตูและหน้าต่าง ต่างๆ ที่อยู่รอบช่องเปิดโล่งแห่งนี้

รูปแบบของช่องเปิดต่างๆ ที่อยู่รายรอบนั้นมีความแตกต่างกันทั้งรูปทรง การจัดวาง และขนาด ในรูปแบบของ รูเล็กรูน้อย หน้าต่างสี่เหลี่ยม รวมถึงหน้าต่างกลม ทั้งหมดนี้ก็เพื่อสร้างมิติของแสงเงาที่ตกกระทบลงบนผนัง ในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน ผนังนี้จะถ่ายทอด pattern ของแสงและเงาที่ต่างกันออกไป โดยทำงานร่วมกับมุมโค้งต่างๆ ทั้งในส่วนผนัง ตู้ และ เพดาน อันช่วยสร้างความนุ่มนวลของแสงและเงาที่เกิดขึ้นกับ interior space ร่วมกับสีครีมนวลอันเป็นสีหลักของพื้นที่ได้อย่างสบายตา

ในการจัดการพื้นที่ใช้สอย มีการกำหนดการใช้งานอย่างชัดเจนของขนาดและปริมาณของพื้นที่เก็บของเพื่อบรรจุข้าวของสารพัดสารเพจำนวนมากที่เจ้าของบ้านเก็บไว้ รวมถึงการวางพื้นที่ส่วนกลาง ที่เบลอขอบเขตของครัวและพื้นที่นั่งเล่นเข้าด้วยกัน เพื่อให้เกิดการใช้งานอย่างต่อเนื่องและอิสระเวลามีแขกเหรื่อมาเยี่ยมเยือน เช่น การรวมโต๊ะทานข้าวกับ island ครัวเข้าด้วยกัน การนำราวกันตกบันไดออกด้านหนึ่งเพื่อให้ลูกนอนบันไดได้กลายเป็นที่นั่งเสริมแทน รวมถึงการใช้ระเบียงหลังบ้านเป็นพื้นที่เพื่อปูเสื่อนั่งพื้นในแบบไทยๆ ทั้งหมดนี้ ทำให้พื้นที่ในบ้านนั้นไม่ได้ถูกกำหนดการใช้งานที่เคร่งครัดมากอันเหมาะกับการใช้งานจริงในทุกๆ วัน

“เราออกแบบ open space โดยไม่จำกัดพื้นที่การใช้งานจนเกินไปว่าอะไรคืออะไร อยากนั่งตรงไหนก็นั่ง อยากกินตรงไหนก็กิน มันง่ายดีและสะดวกดี” ภฤศธรกล่าวทิ้งท้าย

__

Interior Design:
ภฤศธร สกุลไทย
สาวรีย์ลักษณ์ มูลเดช
Contractor:
โชต นิตย์ธนวัชร
Special Thank:
Hafele Thailand
Modernform Furniture

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *