TRADITIONS TRANSFORMED

นิทรรศการศิลปะรวบรวมผลงานที่สร้างโดยสองมือของศิลปิน 7 คน ด้วยความเพียร ความขยัน ความถึก สะท้อนความสุขในการลงมือทำผลงานที่ ‘จับต้องได้’

TEXT: PITI AMRARANGA
PHOTO: KETSIREE WONGWAN

(For English, press here)

สมมติว่าการรับรู้ถึงสิ่งต่างๆ บนโลกใบนี้แบ่งออกเป็นสองประเภทคือ หนึ่งสิ่งที่ปรากฏให้เห็นและ สองสิ่งที่ปรากฏในหัวณ ตอนนี้เราจะพบว่ามีสิ่งที่ปรากฏให้เห็นหรือวัตถุที่จับต้องได้หลายอย่างถูกบังคับให้ตายแล้วย้ายไปอยู่บนคลาวด์ เช่น เอกสารกองโต หนังสือทั้งตู้ หรือซีดีเพลงของทั้งโลกใบนี้ ไม่เว้นแม้แต่เงินทองที่กลายสภาพเป็นตัวเลขมาปรากฏอยู่บนหน้าจอมือถือเราเพียงแค่ชั่วขณะหนึ่งก็ย้ายไปอยู่กับคนอื่นอย่างรวดเร็ว การสลายตัวลงของวัตถุส่วนใหญ่เป็นไปเพื่อความสะดวกรวดเร็วต่อพัฒนาการของสังคมมนุษย์ซึ่งเป็นผลดี ส่วนผลข้างเคียงคือบางครั้งมันทำให้เราแต่ละคนรู้สึกเคว้งคว้าง ในทางปรัชญาแล้วบางทีก็มีความเชื่อว่าชีวิตไม่มีความหมายที่แท้จริง ยิ่งรู้ว่าเรากำลังเดินหน้าไปสู่การไม่มีอะไรให้จับต้องได้เลยทำให้เราแอบเศร้าอยู่ลึกๆ การใช้ชีวิตอยู่แต่กับสิ่งที่ปรากฏขึ้นในหัวมีส่วนทำให้เราปวดหัวสมชื่อ อาจเป็นเพราะสาเหตุนี้การทำกิจกรรมอะไรบางอย่างด้วยมือทั้งสองมีส่วนช่วยทำให้ความว้าวุ่นในจิตใจสงบลงได้

ความคิดฟุ้งซ่านข้างต้นเกิดขึ้นเมื่อได้ไปดูนิทรรศการที่รวบรวมผลงานของชายหนุ่ม 7 คน ‘Traditions Transformed’ ซึ่งดูแลโดยหญิงสาว 1 คน คือ มุกพรทิพย์ อรรถการวงศ์ จัดแสดงที่ ATT 19 นิทรรศการของคนมีความเพียร ความขยัน ความถึก หรือคำว่าอะไรก็แล้วแต่ที่แปลความได้ถึงการใช้เวลาจดจ่อไปกับการทำงานด้วยการใช้สองมือสร้างเป็นผลงานที่ปรากฏให้เห็นผลงานที่ทำเราทึ่งชิ้นแรกคือการจำลองห้างทองฮั่วเซ่งเฮงทั้งอาคารของ ธนเบศร์ ชาญปรีชญา รวมถึงแบบจำลองตู้โทรศัพท์สาธารณะ และถังขยะริมฟุตบาตแบบไทย เป็นงานที่ดูใกล้ๆ แล้วมีกลิ่นเกิดขึ้นจริงในจินตนาการ

ต่อด้วยงานจิตรกรรมไทยขนาดจิ๋วของ สุบรรณกริช ไกรคุ้ม ที่ถ่ายทอดวิถีชีวิตไทยสมัยใหม่ในลีลาของจิตรกรรมฝาผนังแบบไทยได้อย่างน่ารัก ที่ทำเอาคนดูต้องยืนเพ่งจนหน้าแนบชิ้นงาน

ส่วนอีกงานที่ต้องมองภาพรวมจากระยะไกลให้เห็นผืนป่าที่ตัดขึ้นมาจากกระดาษยาว 20 เมตร ของ รักษิต บุญนาค ที่ตัดด้วยคัตเตอร์เพียงด้ามเดียว

ปิดท้ายด้วยงานเซรามิกที่ทำจำลองของใช้ในชีวิตประจำวันของ ศิริศักดิ์ แซ่โง้ว ที่ตั้งใจทำให้เหมือนของจริง จนทำให้ผู้ชมเกือบเดินผ่าน สิ่งของธรรมดาที่ปั้นขึ้นมาด้วยดิน และวาดระบายลายเส้นจนดูเหมือนของจริงเมื่อมองในระยะไกล กลับมีเสน่ห์ชวนให้คนมาชื่นชมในระยะใกล้ และสนุกไปด้วยได้ในทุกชิ้นงาน ผลงานของสี่คนแรกนี้เป็นลักษณะของงานที่ดูสนุก และจับใจผู้ชมได้โดยง่าย

อีกสามคนในกลุ่มที่สองมีความคล้ายกันคือมีกระบวนการทำงานที่พูดถึงหรือประสานงานกับผู้คนรอบข้างด้วย  อย่างผลงานของ Hanyu Cui ศิลปินที่ทำงานกับกลุ่มชาติพันธุ์ ผ่านการผสมผสานภาพวาดเข้ากับเทคนิคงานปักของช่างฝีมือท้องถิ่นได้อย่างวิจิตรงดงาม

หรือผลงานเป่าแก้วโดย เอก รอดเมฆ ที่เล่าถึงความรู้สึกแบบใจถึงใจของเพื่อนร่วมงานในโรงงานของเขาผ่านวัสดุที่เปราะบางอย่างแก้ว ซึ่งสัมพันธ์กับ ธีรพจน์ ธีโรภาส ในผลงานจักสานที่ตั้งคำถามถึงความสมดุลที่แท้จริงของงานฝีมือในฐานะนักออกแบบที่ต้องประสานงานกับช่างฝีมือกับความสับสนในความความอยากเป็นคนดีในประเด็นนี้เรารู้สึกว่ามันเป็นเหมือนคำสาปจากสังคมไทยที่ฝากเอาไว้ให้เป็นภาระของนักออกแบบอย่างโดดเดี่ยวมาตลอดทุกยุคทุกสมัย ฟังดูเหมือนจะเศร้าแต่เมื่อเล่าผ่านผลงานแล้วดูงดงามเสมอ

เปรียบเหมือนเมื่อเรามองดูแผงวงจรของคอมพิวเตอร์สักเครื่องเราจะไม่สามารถเข้าใจการทำงานของมันได้เลย แต่ในขณะที่เรามองดูงานฝีมือที่ทำจากใครสักคนเราพอจะพิจารณาได้ว่าเขากำลังทำอะไร น่าจะใช้เวลาประมาณเท่าไหร่ และทำขึ้นมาด้วยวิธีการประมาณไหน ความซาบซึ้งใจ และการยอมรับนับถือเกิดขึ้นได้เพราะเรากำลังเปรียบเทียบกับตัวเราในฐานะมนุษย์ด้วยกัน ความรู้สึกแบบนี้สะท้อนความสุขในการลงมือทำ และการเสพงานฝีมือที่สร้างสรรค์ขึ้นโดยพวกเดียวกันเอง สิ่งเหล่านี้พอจะเป็นเหตุผลให้เรายังคงทำงานฝีมือกันต่อไปได้หรือไม่ยังไม่มีใครรู้ เท่าที่รู้เราเหลือพื้นที่ให้เล่นได้ไม่มาก มองในแง่ดีเทคโนโลยีต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นตัวช่วยตัดความลังเลสงสัยผลักดันให้มนุษย์ขยับไปทำสิ่งที่ควรทำได้ง่ายขึ้น

ในระหว่างบรรทัดของตัวนิทรรศการ Traditions Transformed ชวนให้เราคิดถึงประเด็นการต่อสู้แย่งชิงพื้นที่การทำงานระหว่างช่างฝีมือกับเครื่องจักรทันสมัยที่เกิดขึ้นตลอดเวลา ผลลัพธ์ก็คือมนุษย์เองเป็นฝ่ายที่ต้องปรับตัวหาช่องว่างที่เครื่องจักรยังเดินทางไปไม่ถึงแล้วยึดเอาเป็นที่ยืนจนกว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีระลอกต่อไปจะพัดพาเข้ามา ซึ่งอัตราเร่งจะเร็วขึ้นเป็นทวีคูณเสมอ แถมตอนนี้เครื่องจักรรุ่นใหม่เป็นประเภทที่เรียนรู้ได้ด้วยตัวเองหรือที่เราเรียกมันว่า machine learning กลายเป็นสิ่งที่เราไปแข่งขันด้วยไม่ได้อีกต่อไป มีแต่การเรียนรู้ที่จะทำงานร่วมกันเท่านั้นที่จะพอเป็นทางรอดของพวกเราเหล่ามวลมนุษย์ได้

‘Traditions Transformed’ Curated โดย มุกพรทิพย์ อรรถการวงศ์ จัดแสดงที่ ATT 19 ระหว่างวันที่ 18 พฤษภาคม – 2 กรกฎาคม 2566

facebook.com/ATT19.BKK

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *