art4d ร่วมกับ Neolith แบรนด์หินสังเคราะห์จากประเทศสเปน ชวนสถาปนิกและนักออกแบบมาพูดคุยถึงการเลือกใช้วัสดุสังเคราะห์ในงานออกแบบ โดยใน ep.1 นี้ว่าด้วยเรื่องความเป็นไปได้ในการประยุกต์ใช้วัสดุสังเคราะห์ เพื่อตอบโจทย์ทางสถาปัตยกรรม
ตอนที่ 1 : เมื่อพูดนึกวัสดุสังเคราะห์ในงานออกแบบ เคยนำวัสดุสังเคราะห์ไปใช้งานในรูปแบบไหนบ้าง?
การนำวัสดุสังเคราะห์ไปใช้ของสถาปนิกและนักออกแบบแต่ละคนมีลักษณะแตกต่างกันออกไป บนพื้นฐานของความคิดสร้างสรรค์ที่จะหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ จากวัสดุสังเคราะห์ทั้งหลาย โดยมักเริ่มต้นจากการที่วัสดุจากธรรมชาตินั้นมี ‘ข้อจำกัด’ ในการออกแบบ วัสดุสังเคราะห์นั้นได้เข้ามาทดแทนวัสดุจากธรรมชาติด้วยคุณสมบัติที่เหมาะกับการก่อสร้างมากกว่า ดูแลรักษาได้ง่ายกว่า เบากว่า บางกว่า ขนาดใหญ่กว่า ติดตั้งได้ง่ายกว่า อย่างที่จะเห็นได้จากวัสดุสังเคราะห์อย่างไม้เทียม หรือ หินเทียม ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน เป็นต้น
คุณสมบัติเชิงกายภาพและรูปทรงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สถาปนิกและนักออกแบบหันไปหาวัสดุสังเคราะห์ ข้อจำกัดของหินจริงที่ไม่สามารถดัดโค้งได้ หรือรูปทรงต่างๆ ที่ผลิตขึ้นได้ยากจากการแกะสลักหรือเอาวัสดุจริงจากธรรมชาติมาประกอบกัน วัสดุสังเคราะห์เปิดโอกาสให้กรรมวิธีในการผลิตต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเหลา การหล่อ การฉลุลาย หรือการตัดพับต่างๆ สร้างรูปทรงใหม่ หรือรูปทรงที่ซับซ้อนขึ้น หรือรูปทรงและ pattern ที่สร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวของงานออกแบบแต่ละชิ้นขึ้นมา
วัสดุสังเคราะห์ในที่นี้ไม่ได้หมายความถึงวัสดุที่สร้างขึ้นเพื่อเลียนแบบวัสดุธรรมชาติอย่างไม้หรือหินเท่านั้น แต่หมายรวมถึงวัสดุในเชิงอุตสาหกรรมที่ผลิตขึ้นโดยมนุษย์ ซึ่งมีคุณสมบัติและการใช้งานที่สามารถประยุกต์ใช้ได้อย่างหลากหลาย บนข้อจำกัดและความเป็นไปได้ของวัสดุนั้นๆ อาทิ วัสดุอย่าง คอนกรีตเสริมใยแก้ว (GRC) วัสดุปิโตรเคมีจำพวกพลาสติกต่างๆ หรือแผ่นอะคริลิก เป็นต้น
ความเป็นไปได้ของวัสดุสังเคราะห์เหล่านี้อาจเรียกได้ว่ามีไม่รู้จบ และนวัตกรรมเชิงวัสดุเหล่านี้ก็ทำหน้าที่เป็นสารตั้งต้นให้กับสถาปนิกและนักออกแบบในการสร้างสรรค์ ในการตอบโจทย์งานสถาปัตยกรรมที่หลากหลายและเฉพาะทางมากขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบัน
ติดตาม Material Innovation Talk Series ตอนอื่นๆ ได้ที่
ART4D X NEOLITH X TTF | MATERIAL INNOVATION TALK SERIES EP.2
ART4D X NEOLITH X TTF | MATERIAL INNOVATION TALK SERIES EP.3