AMERICAN STANDARD DESIGN AWARD THAILAND 2023

เชิญชวนทุกคนมาทำความรู้จักกับ 3 ผลงานของผู้ชนะระดับประเทศไทยใน ASDA 2023 ว่ามีแนวคิดการออกแบบ ‘ห้องน้ำในอนาคต’ เพื่อรับมือกับพื้นที่อาศัยที่เล็กลงและการอยู่อาศัยในครอบครัวใหญ่อย่างไร?

TEXT: PRATCHAYAPOL LERTWICHA
PHOTO COURTESY OF AMERICAN STANDARD DESIGN AWARD 2023 EXCEPT AS NOTED

(For English, press here)

ห้องน้ำในอนาคตควรจะเป็นอย่างไร?

ในบทความ American Standard Design Award – Asia Pacific 2023 ที่ผ่านมา art4d ได้พาทุกคนไปรู้จักกับการประกวดแบบอันท้าทาย American Standard Design Award (ASDA) 2023 และพบกับไอเดียห้องน้ำในอนาคตจากผู้ชนะระดับ Asia Pacific ไปแล้ว ในบทความนี้เราขอย้อนกลับมาที่ประเทศไทย เพื่อยลโฉมดีไซน์จากนักศึกษาออกแบบไทยรุ่นใหม่ 3 คน ที่ได้รางวัลระดับประเทศจาก ASDA 2023

ธีมการแข่งขันของ ASDA 2023 คือ ‘A Home to Love, A Space for Everyone’ ผู้เข้าแข่งขันจะต้องออกแบบห้องน้ำสำหรับพื้นที่พักอาศัยที่คนหลายช่วงวัยอยู่ด้วยกัน โดยห้องน้ำต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 6-7 ตารางเมตร ในยุคที่พื้นที่อยู่อาศัยเริ่มมีขนาดจำกัด และคนเริ่มหันมาอยู่กันเป็นครอบครัวขยายโดยเฉพาะชาวเอเชีย โจทย์นี้นับว่าทันยุคทันสมัย และน่าขบคิดมากทีเดียว

“ห้องน้ำเริ่มมีบทบาทในบ้านมากขึ้น” ออดรีย์ โหย่ว ลีดเดอร์ประเทศไทยและกลุ่มประเทศอินโดไชน่า, ธุรกิจเทคโนโลยีการใช้น้ำลิกซิล เอเชียแปซิฟิก กล่าว “เมื่อคนหลากช่วงอายุวัยมาอยู่ในบ้านเดียวกัน ห้องน้ำกลายเป็นพื้นที่ใช้ทำกิจกรรมต่างๆ มากไปกว่าการทำธุระส่วนตัว และเป็นพื้นที่ที่ผู้คนได้มีช่วงเวลาส่วนตัวของตัวเอง ในตอนนี้ เมืองใหญ่หลายเมือง เช่นกรุงเทพฯ ก็มีการขยายตัวมากขึ้น พื้นที่พักอาศัยมีขนาดเล็กลง การกลับมาทบทวนว่าห้องน้ำควรเป็นอย่างไรจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก”

ออดรีย์ โหย่ว ลีดเดอร์ประเทศไทยและกลุ่มประเทศอินโดไชน่า, ธุรกิจเทคโนโลยีการใช้น้ำลิกซิล เอเชียแปซิฟิก | Photo: Don Amatayakul

การประกวดรอบประเทศในปีนี้เป็นไปอย่างดุเดือด เพราะมีนักศึกษาร่วมส่งผลงานเข้ามาขับเคี่ยวกันมากกว่า 500 ผลงาน เกณฑ์ในการตัดสินผลงานมี 4 หัวข้อด้วยกันคือ Purposeful Design – การตอบโจทย์ความต้องการ การใช้งาน Inviting Style – ความสวยงามของงานออกแบบ Originality – มุมมองและแนวทางที่ โดดเด่นไม่เหมือนใคร และ Feasibility – ความเป็นไปได้ในการใช้งานจริง

ผู้ชนะสามรางวัลของการประกวดครั้งนี้ ล้วนมาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กันทั้งนั้น ผู้ที่ได้รางวัลชนะเลิศระดับประเทศไปครองก็คือ มาริษา ชนประชา จากผลงาน LOVE THROUGH ส่วนรางวัลอันดับสอง และสาม ตกเป็นของ พรรวษา น้อยธรรมราช จากผลงาน A space that is more than a bathroom และวุฒิชัย โคตรชา จากผลงาน Lao-reuang ทำไมงานออกแบบของพวกเขาถึงเตะตากรรมการ? มาค้นหาคำตอบในผลงานแต่ละชิ้นไปพร้อมๆ กัน

(ซ้ายไปขวา) พรรวษา น้อยธรรมราช, มาริษา ชนประชา, ออดรีย์ โหย่ว, วุฒิชัย โคตรชา | Photo: Don Amatayakul

LOVE THROUGH

ภาพจำเดิมของห้องน้ำคือห้องสี่เหลี่ยมเล็กๆ ที่ปิดล้อมอย่างมิดชิด แต่มาริษา ทลายกรอบกำแพงทึบของห้องน้ำ เปลี่ยนให้มันเป็นพื้นที่โปร่งโล่งที่เอื้อให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัว “ส่วนตัวมองว่าหลายครอบครัวคนขาดปฏิสัมพันธ์กันภายใน เลยอยากยกประเด็นนี้ขึ้นมาพัฒนาเป็นห้องน้ำที่ช่วยเสริมสร้างความแน่นแฟ้นให้คนในบ้าน” มาริษาว่า

มาริษาวางห้องน้ำไว้ติดสวนนอกบ้านแล้วเจาะช่องเปิดขนาดใหญ่ออกไปหาด้านนอก กำแพงทึบรอบห้องน้ำที่ลดน้อยลง เพิ่มโอกาสให้คนในบ้านได้เห็นหน้าค่าตาและกระชับความสัมพันธ์กัน แต่ถ้าต้องการความเป็นส่วนตัวขึ้นมาหน่อย ก็สามารถปรับสลับกระจกให้กลายเป็นฟิล์มฝ้าได้ การเจาะช่องเปิดยังทำให้ห้องน้ำดูโอ่โถง พร้อมช่วยให้อากาศถ่ายเท ลดการสะสมความชื้นและแบคทีเรียในห้องน้ำ

มาริษายังมองว่าห้องน้ำไม่ใช่แค่พื้นที่ทำธุระส่วนตัว แต่เป็นห้องนั่งเล่น เป็นพื้นที่พักผ่อน สำหรับทำกิจกรรมอื่นๆ ควบคู่กันไป ในผลงานออกแบบชิ้นนี้ มาริษาเลยสอดแทรกองค์ประกอบเพิ่มเติม ที่เอื้อกับการใช้งานหลากหลาย อย่างโซนโถสุขภัณฑ์ เมื่อพับบานที่เก็บของข้างกำแพงลงมา ก็จะได้โต๊ะสำหรับนั่งทำกิจกรรมต่างๆ พร้อมไปกับการทำธุระบนโถสุขภัณฑ์ ที่โซนอาบน้ำมีเก้าอี้รองนั่งที่พับลงมาจาก partition ระแนงไม้ สามารถใช้เป็นพื้นที่นั่งเล่นชมบรรยากาศสวนด้านนอกผ่านช่องเปิดขนาดใหญ่

“อยากให้ห้องน้ำเป็นอีกพื้นที่สำคัญของบ้านที่ทุกคนเข้ามาใช้เวลาอยู่ในนี้ได้ ไม่จำเป็นต้องแค่เข้ามาทำธุระส่วนตัวแล้วออกไป” มาริษาเสริม

ผู้ชนะเลิศระดับประเทศไทย มาริษา ชนประชา กับผลงาน LOVE THROUGH | Photo: Don Amatayakul

เนื่องจากเป็นห้องน้ำที่มีคนหลายช่วงวัยใช้งาน สิ่งที่มาริษาคำนึงยังรวมไปถึงสรีระของคนต่างช่วงวัย จะเห็นได้ว่าโซนอาบน้ำ มาริษาเลือกวางระดับหัวฝักบัวที่ต่ำลงมา ทำให้ผู้ใช้งานวัยเยาว์สามารถเอื้อมมือถึงง่าย และสะดวกกับผู้สูงอายุที่นั่งอาบน้ำอีกเช่นกัน

A space that is more than a bathroom

เมื่อคนหลายช่วงวัยหลายคนเข้ามาอยู่ในบ้านเดียวกัน ห้องน้ำจึงไม่ได้เป็นแค่พื้นที่เศษเหลือในบ้านอีกต่อไป หากแต่เป็นพื้นที่ใช้เวลาปล่อยกาย ปล่อยใจ ของทุกคนในบ้าน พรรวษาเป็นอีกคนหนึ่งที่ชอบใช้เวลาพักผ่อนอยู่ในห้องน้ำนานๆ ในการประกวดแบบครั้งนี้ เธอจึงเน้นออกแบบห้องน้ำให้มีบรรยากาศผ่อนคลาย และเหมาะกับผู้ใช้งานในหลายช่วงวัย

ห้องน้ำผลงานพรรวษามีเส้นสายโค้งเว้า สร้างบรรยากาศที่อ่อนโยน แตกต่าง ผังห้องน้ำแบ่งแยกส่วนแห้งและส่วนเปียกอย่างชัดเจน ห้องน้ำเปิดมุมมองออกไปสู่บรรยากาศภายนอกด้วยช่องเปิดขนาดใหญ่ที่โซนอาบน้ำ รวมไปถึงช่องแสง skylight ด้านบนที่เป็นบ่อน้ำขนาดย่อม สร้างเอฟเฟกต์แสงเงาของคลื่นน้ำ

ส่วนอาบน้ำติดตั้งที่นั่งแบบ built in เพื่อให้ผู้สูงวัยสามารถนั่งอาบน้ำได้ โซนล้างมือออกแบบให้มีระดับความสูงที่เอื้อให้รถเข็นวีลแชร์เข้าไปใช้งานได้สะดวก อ่างล้างมือที่เลือกใช้เป็นรุ่น Signature 550mm Vessel ที่ลบเหลี่ยมมุมแหลมคมออก ลดความอันตรายในการใช้งาน นอกจากนั้น พรรวษาก็ใช้โถสุขภัณฑ์รุ่น Studio S 4.8 ลิตร ที่ฝารองนั่งเปิดปิดนุ่มนวล เสริมสร้างความปลอดภัยให้ผู้ใช้ บริเวณโถสุขภัณฑ์ก็มีราวยึดจับสำหรับผู้สูงอายุอีกเช่นกัน

ฝั่งตรงข้ามของโถสุขภัณฑ์คือม้านั่งทำกิจกรรมอเนกประสงค์ นอกจากจะเอาไว้นั่งเล่นซึมซับบรรยากาศ ก็เป็นพื้นที่สำหรับผู้ปกครองมานั่งดูแลบุตรหลานที่เข้าห้องน้ำอยู่ได้ด้วย

“อยากให้ผู้ใช้งานได้พักผ่อนในห้องน้ำอย่างเต็มที่ และอยากให้ห้องน้ำเป็น safezone สำหรับทุกคนในบ้าน” พรรวษาสรุปรวบยอดไอเดียผลงานของเธอ

พรรวษา น้อยธรรมราช จากผลงาน A space that is more than a bathroom | Photo: Don Amatayakul

Lao-reuang

จากพื้นเพของตัวเองที่เติบโตในพื้นที่ชนบทภาคอีสาน วุฒิชัยเลือกพลิกโฉมห้องน้ำในพื้นที่ชนบทเดิม ให้กลายเป็นห้องน้ำที่ช่วยเชื่อมโยงสัมพันธ์คนในครอบครัว พร้อมๆ กับการรักษาบรรยากาศอันอบอุ่นเป็นกันเองของชนบทภาคอีสาน

ห้องน้ำของวุฒิชัยไม่ได้เป็นห้องน้ำส่วนตัวที่ปิดทึบ แต่เป็นห้องน้ำที่เชื่อมต่อไปกับบริเวณอื่นของบ้าน ห้องน้ำเปิดรับบรรยากาศลมและแสงสว่างจากภายนอก ลดความอับชื้นให้ห้องน้ำ และช่วยให้ห้องน้ำแห้ง เสริมสร้างความปลอดภัยในการใช้งาน

ห้องน้ำสามารถเข้ามาได้ทั้งสองทางคือที่ประตูหลักใกล้โถสุขภัณฑ์ และที่อ่างอาบน้ำซึ่งมีบานประตูเปิดปิดเชื่อมต่อกับระเบียงบ้าน “ผมวางส่วนอาบน้ำไว้ติดกับระเบียงเพราะคุณปู่คุณย่าจะสามารถสอดส่องดูแลเด็กที่เล่นน้ำในอ่างได้ ป้องกันไม่ให้เกิดอันตราย” วุฒิชัยเล่า โดยส่วนประตู บานเลื่อน และแผงกั้นต่างๆ ได้รับการออกแบบให้แผงส่วนล่างเป็นแผงขุ่น เพื่อให้คนอื่นในบ้านสังเกตได้ง่ายหากมีคนลื่นล้มอยู่ในห้องน้ำ ในขณะเดียวกัน วุฒิชัยออกแบบกระเบื้องของห้องน้ำเป็นกระเบื้องแผ่นเล็ก เพื่อช่วยเพิ่มแรงเสียดทานในการเดิน ป้องกันการลื่นล้มอีกทาง

วุฒิชัย โคตรชา จากผลงาน Lao-reuang | Photo: Don Amatayakul

ไม้และคอนกรีตเป็นวัสดุหลักในการตกแต่งห้องน้ำ เพื่อรังสรรค์กลิ่นอายแบบท้องถิ่นอันอบอุ่น ทุกพื้นที่ในห้องน้ำเปิดมุมมองออกไปเห็นบรรยากาศภายนอกอันสดชื่น เติมเต็มประสบการณ์การใช้ห้องน้ำให้สมบูรณ์ “ผมอยากลบภาพจำเดิมๆ ของห้องน้ำปิดล้อมสี่ด้าน แล้วสร้างห้องน้ำที่ทำให้คนในครอบครัวได้บรรยากาศและประสบการณ์แปลกใหม่ในแต่ละวัน” วุฒิชัยกล่าว

หวังว่างานออกแบบของนักศึกษาไทยทั้งสามคนจะช่วยให้มองเห็นบทบาทใหม่ๆ ของห้องน้ำ ว่านอกจากจะเป็นที่ปลดทุกข์แล้ว ก็ยังเป็นที่เสริมสุขให้คนทุกช่วงวัยในบ้านได้เช่นกัน ในปีหน้า American Standard Design Award จะมีโจทย์อะไรมาท้าทายภาพจำห้องน้ำแบบเดิมกันอีก ต้องคอยติดตาม

asda.americanstandard-apac.com/th

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *