ในปีนี้ ARCHIDEX 2023 กลับมาอย่างยิ่งใหญ่พร้อมกับสินค้ากว่า 1,400 บูธ รวมถึงพาวิลเลียนและงานเสวนาระดับสากล ติดตามชมบรรยากาศในงานมหกรรมไปด้วยกันกับ art4d
TEXT & PHOTO: KITA THAPANAPHANNITIKUL
(For English, press here)
ARCHIDEX คืองานมหกรรมธุรกิจและอุตสาหกรรมสถาปัตยกรรมที่จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 22 และจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี โดยทีม organizer หลักอย่าง C.I.S ร่วมกับสถาบันสถาปนิกมาเลเซียหรือ PAM ณ Kuala Lumpur City Centre (KLCC) โดยมหกรรมนี้จะมาพร้อมกับการจัดแสดงสินค้ากว่า 1,400 บูธ จากผู้จัดแสดงทั้งในประเทศมาเลเซียและนานาชาติรวมแล้วกว่า 15 ประเทศ ทั้งยังมาพร้อมกับกิจกรรมต่างๆ ทั้งการประกวดแบบ การแสดงงานนักศิกษา และวงสนทนาหลากหลายหัวข้อ เพื่อรองรับกับผู้เข้าร่วมงานกว่า 38,000 คนจากกว่า 100 ประเทศ (กว่า 84% ของผู้เข้าร่วมงานคือผู้เชี่ยวชาญและผู้มองหาโอกาสตต่อยอดทางธุรกิจ) ในช่วงเวลา 4 วัน
ในปีนี้ ธีมหลักของงานมาพร้อมกับสามคำสำคัญอย่าง Sustainability, Future Architecture และ Wellbeing ซึ่งในภาพรวม เหล่าผู้จัดมากหน้าหลายตากว่า 600 เจ้าจะกระจายตัวอยู่ในพื้นที่จัดแสดงทั้ง 10 hall ที่แยกตามหมวดหมู่ของสินค้า โดย Hall 1 และ Hall 2 จะจัดแสดงสินค้ากลุ่มประตู กระจก หน้าต่างและสุขภัณฑ์ Hall 3 4 5 และ 6 เป็นเรื่องของวัสดุก่อสร้างและการก่อสร้างด้วยระบบอุตสาหกรรม (Industrialized Building System, IBS) Hall 7 จัดแสดงเครื่องครัวและอุปกรณ์สำนักงาน Hall 8 เป็นเรื่องของ BIM และ อาคารอัจฉริยะ Hall 9 เป็นเรื่องการออกแบบภายในและแสงสว่าง และสุดท้ายกับ Hall 10 ที่ว่าด้วยพื้นและผนัง
สำหรับบูธที่น่าสนใจ เราเริ่มต้นจากบูธ Taiwan Excellence ใน Hall 1 ที่มาพร้อมกับผลิตภัณฑ์คุณภาพต่างๆ ซึ่งพร้อมพรักไปด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ อาทิ ก๊อกน้ำแบบ ergnomic design ที่มีระดับอัดอากาศที่ช่วยประหยัดน้ำถึง 40% หรือ สีกันน้ำจากข้าวเหนียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ถัดมาใน Hall 8 โซนของ Artistry Pavilion อันเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างสถาปนิกและผลิตภัณฑ์ต่างๆ บูธในโซนนี้จึงโดดเด่นในด้านการออกแบบเป็นพิเศษ ที่เราชอบส่วนตัวคือ ‘The Mirage’ ที่เป็นบูธที่เกิดจากการร่วมมือของผู้ผลิตกระจก 4 เจ้าอย่าง Topline, Innoglass, Kien Safety Glass, และ GP Glass ตัวบูธนำเสนอการใช้กระจกหลากหลายแบบ อาทิ กระจกฝ้า กระจกสี ทั้งยังให้ผู้เข้าร่วมงานได้เข้ามาปฏิสัมพันธ์กับตัวบูธผ่านการวาดรูปเล่นบนผนังได้ ในชั้นเดียวกัน ยังมี PAM Pavilion ที่มีลักษณะเป็นโถงกระจกสี ที่ภายในจัดแสดงสถาปัตยกรรมที่มีความสำคัญในประวัติศาสตร์ของมาเลเซียตั้งแต่ Majestic Hotel (1932) ที่เป็นสถาปัตยกรรมแบบ Beaux Arts มาจนถึงตึก Merdeka 118 (2023) อันเป็นตึกระฟ้าที่มีความสูงเป็นอันดับ 2 ของโลกในปัจจุบัน เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปีของ PAM
เราคงไม่สามารถเล่างานนี้โดยละเอียดได้ทั้งหมดเนื่องด้วยปริมาณบูธที่มากมายเกินจะนับไหว แต่สิ่งหนึ่งที่เรายืนยันได้คือ หนึ่ง เราสามารถหาผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับสถาปัตยกรรมเรียกได้ว่า ‘ทุกอย่าง’ จากงานนี้ สอง มีหลายเรื่องนักที่เราไม่รู้เกี่ยวกับนวัตกรรมการก่อสร้าง ไม่รู้ว่าโลกมันหมุนไปไวหรือเราตามมันไม่ทัน แต่เราก็เพิ่งรู้เหมือนกันว่าเราสามารถออกแบบพรมให้มีลักษณะเป็นสามมิตินูนต่ำได้ หรือแม้แต่สามารถก่อสร้างผนังต้นไม้เทียมที่คล้ายกับยกป่ามาไว้ในบ้านได้
อีกส่วนที่น่าสนใจของ ARCHIDEX ในปีนี้คือพื้นที่ใหม่อย่าง ‘Oasis’ ที่เป็นพาวิลเลียนเล็กๆ จากนั่งร้านเหล็กที่ตกแต่งด้วยบรรยากาศสีเขียวของต้นไม้ โดยภายในส่วนนี้จะมีการจัดแสดงทั้งงานประกวดของนักศึกษาภายใต้หัวข้อ ‘Future city’ และยังมาพร้อมกับ ‘ARCHIDEX Award gallery’ ที่จัดแสดงผลิตภัณฑ์ที่ได้รับรางวัล ARCHIDEX Star Award ในปีนี้ ซึ่งพื้นที่ส่วนนี้จะคล้ายกับส่วนพักผ่อนที่ให้ผู้ร่วมงานเข้ามานั่งเล่นตามเปลญวณที่มีการขึงเอาไว้ในพาวิลเลียน ในส่วนนี้ยังมีงาน talk เล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและมีการขายหนังสือที่เกี่ยวของกับการออกแบบและการก่อสร้างอีกด้วย
มีกิจกรรมหนึ่งที่เราไม่พูดถึงไม่ได้ นั่นคือ DATUM 2023 อันเป็นส่วนหนึ่งของ KLAF (The Kuala Lumpur Architecture Festival) ที่จัดควบคู่ไปกับ ARCHIDEX ซึ่งเป็นงานเสวนาผู้คนในแวดวงสถาปัตยกรรมทั้งในประเทศและนอกประเทศโดยแบ่งเป็น 5 หมวด คือ DATUM:KL, DATUM+PLUS, DATUM:M, DATUM:PRO และ DATUM:EDU โดยแต่ละหมวดนั้นจะมีประเด็นย่อยเป็นของตัวเองภายใต้ธีมหลัก ‘We as 1’ เราได้มีโอกาสเข้าไปฟัง DATUM+PLUS ภายใต้หัวข้อหลัก ‘Beyond Architecture Conventions’ ที่มุ่งเน้นไปยังประเด็นอื่นๆ ที่แวดล้อมสถาปัตยกรรม อาทิ Creative Community, Art and structures, craftsmanship และที่เด็ดที่สุดคือ Satirical Space (!!?) ที่ทีแรกเราเองก็จินตนาการไม่ออกว่างานเสวนาจะพูดเกี่ยวกับอะไร ก่อนที่จะเข้าใจในภายหลังจากฟัง Mohd Affendi Mohd Salleh ดีไซเนอร์จากมาเลเซีย ซึ่งมาบอกเล่าถึงการทำ comic book เพื่อค้นหาวิธีแก้ burnout ให้กับตัวเองผ่านการสร้างบทสนทนากับสถาปนิกระดับโลกคนต่างๆ สำหรับในปีนี้ก็มีสถาปนิกชาวไทยอย่าง ดร. รชพร ชูช่วย จาก all(zone) และ อภิชาติ ศรีโรจนภิญโญ และ ชนาสิต ชลศึกษ์ จาก Stu/D/O Architects ที่มาร่วมเป็น speaker ให้กับ DATUM+PLUS และ DATUM:KL ตามลำดับ
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของงาน ARCHIDEX 2023 เท่านั้น ซึ่งหากว่าดูเยอะและยิ่งใหญ่แล้ว ก็คงต้องเตรียมตัวให้พร้อมกันต่อในปี 2024 ที่จะมาพร้อมกับงาน ARCHIDEX ถึงสองครั้งในปีเดียว กับ ARCHIDEX 2024 ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 3 – 6 กรกฏาคม 2567 และ ARCHIDEX @ UIA 2024 อันเป็นการจัดงานร่วมกับสหภาพสถาปนิกโลก (UIA) ในวันที่ 15 – 17 พฤศจิกายน 2567 ทั้งสองงานจะจัดขึ้นที่ KL Convention Centre ที่เดียวกันกับปีนี้ ซึ่งจะยิ่งใหญ่ขนาดไหนนั้น โปรดติดตาม