JONAS

อาคาร Mixed-use 'Jonas'

หนึ่งในอาคาร Mixed-use จากโปรเจ็กต์พัฒนาเมืองของนครอัมสเตอร์ดัม ที่ถูกออกแบบเป็น ‘ห้องนั่งเล่น’ ให้กับเมือง ภายใต้โจทย์ที่ว่าต้องน่าดึงดูดและมีความยั่งยืน

TEXT: KORRAKOT LORDKAM
PHOTO: SEBASTIAN VAN DAMME

(For English, press here)

IJburg เป็นโครงการออกแบบและพัฒนาเมืองใหม่ของนครอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งริเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 1997 โดยเมืองใหม่แห่งนี้สร้างขึ้นบนเกาะเทียมที่สร้างโดยมนุษย์ในทะเลสาบ IJmeer อันเป็นโครงการที่เกิดจากความร่วมมือด้านทุนระหว่างภาครัฐกับเอกชนเพื่อขยับขยายพื้นที่เมือง เพื่อตอบสนองจำนวนประชากรและความต้องการที่อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยตั้งเป้าเพื่อสร้างที่พักอาศัยราว 18,000 หลังคาเรือน เพื่อรองรับประชากรราว 45,000 คน โดยอาคารหลังแรกบน IJburg แล้วเสร็จในปี 2001 มีผู้อยู่อาศัยกลุ่มแรกเริ่มเดินทางเข้าไปในปี 2002¹ จวบจนปัจจุบัน IJburg ก็ยังได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องโดยมีโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ๆ เกิดขึ้นเสมอ รวมไปถึง ‘Jonas’ โครงการที่อยู่อาศัยรวมขนาดใหญ่ โดยนักพัฒนาโครงการ Amvest ออกแบบโดย Orange Architects แห่งนี้ ที่เพิ่งแล้วเสร็จเมื่อปี 2022 ที่ผ่านมา อันเป็นโครงการที่ชูแนวคิดการทำอาคารให้น่าดึงดูด และตอบโจทย์เรื่องการออกแบบที่อยู่อาศัยยั่งยืนไปพร้อมกัน

Jonas เป็นอาคารที่อยู่อาศัยแบบ Mixed-use ขนาดเกือบ 30,000 ตารางเมตร ตั้งอยู่บริเวณท่าเรือ IJburg ประกอบด้วยห้องพักจำนวน 273 ยูนิต แบ่งเป็นห้องเช่าราคาระดับกลาง 190 ยูนิต และห้องแบบซื้อขาด 83 ยูนิต โดยนอกจากส่วนที่พักอาศัย แนวคิดสำคัญของโครงการนี้คือการออกแบบอาคารให้มีพื้นที่ส่วนกลางขนาดใหญ่พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกหลากหลาย ที่ต้องการให้ตอบสนองไม่เพียงแต่ผู้อยู่อาศัยในโครงการเองแต่รวมไปถึงเพื่อนบ้านโดยรอบด้วย หรือคือต้องการให้ Jonas เป็นดังห้องนั่งเล่นของ IJburg ก็ว่าได้

Jonas PlansJonas PlansJonas Plans

ความโดดเด่นของโครงการนี้ประเด็นแรกคือเรื่องรูปลักษณ์ภายนอกอาคาร ที่สถาปนิกซ่อนลูกเล่นขององค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมไว้ภายใต้ façade กระจก ตั้งแต่การวางผังอาคารที่ไม่ได้เป็นรูปร่างสี่เหลี่ยมผืนผ้าตรงๆ แต่มีลักษณะยักและเยื้องในมุมต่างๆ เล็กน้อยคล้ายรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน พร้อมๆ กับการใช้วัสดุ façade เป็นโลหะ Pre-patinated zinc ให้ภาพลักษณ์ที่ดูทันสมัย โดยตัวอาคารยังถูกคว้านเปิดออกในบางมุมเพื่อเผยให้เห็นใจกลางของตัวอาคารที่เว้นช่องว่างเป็นคอร์ทยาร์ดยาวทะลุทะลวงตลอดตัวอาคารอีกด้วย

JonasJonas

Jonas

ในขณะที่รูปทรงอาคารภายนอกมีลักษณะหักเหลี่ยมมุมไม่เป็นสี่เหลี่ยมตรงๆ คอร์ทยาร์ดที่อยู่ภายในก็ยิ่งหักมุมซับซ้อนมากขึ้นไปอีก โดยพื้นที่ภายในนี้ถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าเป็นพื้นที่หุบเขา หรือ ‘Canyon’ ตามลักษณะความแคบและลึกรวมถึงมีพื้นผิวหักเหลี่ยมไปมาของ façade วัสดุไม้ภายใน อันเป็นความตั้งใจของผู้ออกแบบที่ต้องการสร้างความน่าฉงนและให้ประสบการณ์การใช้อาคารที่เปลี่ยนไปจากบรรยากาศเรียบง่ายตรงไปตรงมาภายนอก โดยนอกจากเรื่องของรูปลักษณ์แล้ว พื้นที่คอร์ทยาร์ดนี้ยังถูกออกแบบให้เป็นพื้นที่ส่วนกลางลักษณะเหมือนซอยที่เปิดแชร์ให้สาธารณชนรอบๆ เกาะ IJburg เดินเข้ามาใช้ได้ โดยจะประกอบไปด้วยสวนหย่อม ห้องนั่งเล่น ห้องชมภาพยนตร์ รวมไปถึงร้านค้าและคาเฟ่ต่างๆ ที่เกาะตัวอยู่กับซอยในหุบเขาแห่งนี้ นอกจากนี้ พื้นที่ว่างในใจกลางนี้ยังมีทางลาดที่นำไปสู่พื้นที่ส่วนกลางอื่นที่ชั้นบน ได้แก่ ห้องโยคะ ห้อง study รวมถึงสวนกลางแจ้งบนดาดฟ้า ทั้งหมดนี้เป็นความตั้งใจให้ Jonas อุทิศตัวเองมากกว่าการเป็นอาคารที่พักอาศัยอาคารหนึ่งบนเกาะ และต้องการให้ Jonas ได้เป็นเหมือนจุดรวมพลสำหรับกิจกรรมต่างๆ ของชาวชุมชนโดยรอบนั่นเอง

ภายในอาคาร Jonas โปรเจ็กต์ IJburgภายในอาคาร Jonas โปรเจ็กต์ IJburg
ภายในโครงการ Jonas, IJburgภายในโครงการ Jonas, IJburg

ตั้งแต่ริเริ่มโครงการการสร้างเกาะ IJburg ตัวโครงการทั้งหมดย่อมไม่พ้นที่จะถูกวิพากษ์วิจารณ์จากผู้ไม่เห็นด้วยโดยเฉพาะปีกนักอนุรักษ์ว่าโครงการเป็นการรุกล้ำโลกธรรมชาติด้วยสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ของมนุษย์ ประกอบกับในปัจจุบันที่โลกมีความท้าทายด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมในหลายมิติ จึงไม่น่าแปลกใจที่โครงการการออกแบบใหม่ๆ จะชูประเด็นเรื่องการอยู่อาศัยแบบยั่งยืนมาเป็นประเด็นสำคัญ โครงการ Jonas ก็เป็นหนึ่งในนั้น ที่ยกประเด็นชุมชนคนอยู่อาศัยในแนวทางยั่งยืนรวมถึงการออกแบบสถาปัตยกรรมให้ส่งเสริมสภาพแวดล้อมเดิมมาเป็นจุดขายของโครงการ

พื้นที่ส่วนกลาง Jonas, IJburg

 

พื้นที่ส่วนกลาง Jonas, IJburgพื้นที่ส่วนกลาง Jonas, IJburgพื้นที่ส่วนกลาง Jonas, IJburg

โดยแง่มุมการใส่ใจสภาพแวดล้อมที่ว่านี้ เห็นได้จากการออกแบบให้อาคารมีองค์ประกอบที่ทั้งลดผลกระทบต่อธรรมชาติจากการดำรงชีวิตของมนุษย์ รวมถึงมีองค์ประกอบที่เกื้อหนุนระบบนิเวศน์โดยรอบ ยกตัวอย่างเช่น การออกแบบให้สวนบนดาดฟ้ามีพืชพรรณที่ช่วยลดความเร็วของกระแสน้ำยามฝนตก รวมถึงมีระบบรับและกักเก็บน้ำฝนไว้ในชั้นใต้ดินเพื่อมาหมุนเวียนใช้ในอาคารได้ นอกจากนั้น ก็มีการเลือกพันธุ์ไม้ท้องถิ่น รวมถึงต้นไม้ใหญ่มาปลูกเพิ่มพื้นที่สีเขียวที่ให้ร่มเงาได้จริงในแลนด์สเคปโดยรอบ รวมถึงยังมีการสร้างแนวปะการังสำหรับหอยแมลงภู่โดยรอบอาคาร และมีการออกแบบกำแพงเป็นรังให้กับนกนางแอ่นทราย ซึ่งเป็นสัตว์ประจำถิ่นที่เคยอาศัยโดยรอบแต่ค่อยๆ หายไปเนื่องจากการก่อสร้างอาคารทั้งหลาย

Jonas ในโปรเจ็กต์ IJburg

Jonas ในโปรเจ็กต์ IJburg

Jonas ในโปรเจ็กต์ IJburg

องค์ประกอบทั้งหมดเหล่านี้ตั้งใจที่จะช่วยฟื้นคืนระบบนิเวศให้ได้กลับมาอยู่ในสภาพสมดุลดังเดิมอีกครั้ง ซึ่งคงต้องรอดูกันยาวๆ ว่านี่จะเป็นเรื่องจริง หรือใช้เพียงเพื่อการการโฆษณาเท่านั้น แต่วันนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ของผู้คน ชุมชน สังคม และการรักษาสมดุลของสภาพแวดล้อม เป็นโจทย์ในการออกแบบที่ต้องคำนึงถึงควบคู่กับการออกแบบฟังก์ชันและรูปลักษณ์ที่โดดเด่นดึงดูดสายตาไปแล้วอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

Jonas, IJburg

orangearchitects.nl

_

1 IN SEARCH OF THE RATIONAL CITY โดย Anna Mielnik, หนังสือ Back to the Sense of the City: 11th VCT International monograph, 2016, July, Krakow, หน้า 117 – 128

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *