ทำความรู้จักกับ Jarrod Lim ผ่านแนวทางการออกแบบของเขาสู่บูธ AHEC ในนิทรรศการ The International Furniture Manufacturing Component (IFMAC) เพื่อค้นหาความเป็นไปได้ของ ‘เฟอร์นิเจอร์ไม้’
TEXT: NATHATAI TANGCHADAKORN
PHOTO COURTESY OF AMERICAN HARDWOOD EXPORT COUNCIL (AHEC)
(For English, press here)
Jarrod Lim เป็นนักออกแบบลูกครึ่งออสเตรเลีย-สิงคโปร์ ที่ย้ายมาอาศัยและตั้งสตูดิโอออกแบบในสิงคโปร์ งานออกแบบของเขาล้วนยึดประสบการณ์ของมนุษย์เป็นจุดศูนย์กลาง ไม่ว่าจะเป็นงานเฟอร์นิเจอร์ งานออกแบบอินทีเรีย นิทรรศการต่างๆ การออกแบบพื้นที่สาธารณะให้คนจำนวนมากเข้ามาใช้งาน ไปจนถึงการทำแบรนด์ดิ้ง
สตูดิโอของ Lim ชื่นชอบการสำรวจความเป็นไปได้ของงานออกแบบในหลายสาขา แต่สิ่งที่เขาให้ความสนใจมากเป็นพิเศษคืองานเฟอร์นิเจอร์ที่มีความใกล้ชิดกับมนุษย์ งานของ Lim มีความประณีต แต่ในขณะเดียวกันก็มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เขามักใช้เวลาอยู่กับวัสดุเพื่อทำความเข้าใจวิธีการทำงานร่วมกับวัสดุนั้นๆ ก่อเกิดเป็นเรื่องราวอันน่าหลงใหลของเฟอร์นิเจอร์แต่ละชิ้น
“งานชิ้นนี้ผมแกะให้เห็นเนื้อในของไม้ เพื่อแสดงคุณสมบัติของวัสดุที่เปลี่ยนแปลงไปจนถึงชั้นในของไม้เพราะกระบวนการ thermal modification ที่การอบเนื้อไม้ช่วยไล่ความชื้นออกไป ทำให้ไม้เหมาะแก่การนำมาใช้ในสภาพอากาศร้อนชื้นของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้นด้วย” Lim กล่าวถึงผลงานชุด Kyon Ottoman and Side Table ที่เขาทำร่วมกับช่างฝีมือจาก Omega Mas ในอินโดนีเซีย
เมื่อไม่นานมานี้ Lim ยังได้เป็นผู้ออกแบบบูธให้ AHEC ในนิทรรศการ The International Furniture Manufacturing Component Exhibition (IFMAC) ที่จัดขึ้นในจากาตาร์อีกด้วย ภายใต้คำขอให้ ‘แสดงความเป็นไปได้ในการสร้างสรรค์ไม้เนื้อแข็งอเมริกัน’ ซึ่งก็ถือว่าตรงกับการเสาะหาความเป็นไปได้ของสิ่งต่างๆ รอบตัวที่สตูดิโอทำมาตลอดพอดิบพอดี บวกกับคุณภาพของ American Hardwood ที่มีในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมถึงสีและลายไม้ที่หลากหลาย อย่าง Red Oak และ White Oak ที่นิยมกันทั่วไป และไม้เมเปิลกับเชอร์รี่ที่เพิ่งได้รับความสนใจในช่วงนี้ งานนี้จึงเรียกได้ว่าเข้ามือ Lim พอดิบพอดี “เรามักจะถูกลูกค้าขอให้ดีไซน์ในหลายแง่มุม นั่นทำให้ผมมีโอกาสได้ลองสำรวจว่าอะไรที่ทำแล้วใช้งานได้บ้าง บางทีก็มีโอกาสได้ลองทำไอเดียที่เคยคิดไว้ในหัวให้มันมีชีวิตขึ้นมา”
งานของ Lim ไม่ใช่แค่ผลลัพธ์ที่มาจากการสรรหาแนวคิดที่แปลกใหม่บนพื้นฐานของการใช้งานจริงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงรายละเอียดในส่วนที่เล็กที่สุดเพื่อให้ทุกโปรเจ็กต์มีเสน่ห์ที่แตกต่างกัน “ถ้าคุณลองเข้ามาดูใกล้ๆ งานชิ้นนี้คุณจะเห็นเส้นระหว่างข้อต่อหลายจุด เส้นพวกนี้คือสิ่งที่นำไปสู่รูปร่างหน้าตาของเฟอร์นิเจอร์อย่างที่ผมต้องการ เพราะมีประสบการณ์ในฐานะช่างด้วย ผมจึงสามารถสาธิตให้ผู้ผลิตดูได้เลยว่าต้องใช้เครื่องเจียรและอุปกรณ์ต่างๆ อย่างไร เพื่อให้ได้ผลสุดท้ายแบบไหน” Lim กล่าวเสริมถึงเฟอร์นิเจอร์ Kellan dining chair
อีกมุมหนึ่งที่นักออกแบบทุกคนต้องเคยเจอคือการตอบรับความต้องการของลูกค้า สตูดิโอของ Lim เองก็ไม่ขาดตกบกพร่องในจุดนี้เช่นเดียวกัน “ช่วงที่ผมสนใจการสร้างสรรค์งานในสไตล์เรียบง่าย มีลูกค้าจากอเมริกาเหนือหลายคนที่เข้ามามองหาเฟอร์นิเจอร์ที่ให้ความรู้สึกมั่นคง แน่นอนว่าดีไซน์ตามปกติมีความแข็งแรงเพียงพออยู่แล้ว ผมยังเพิ่มดีไซน์บางส่วนและปรับรูปลักษณ์ให้ขับเน้นความแข็งแกร่งและมั่นคงขึ้นอีก การทำแบบนี้แม้ว่าจะขัดกับสไตล์การทำงานของตัวเองไปบ้าง แต่ก็เปิดโอกาสให้ผมได้ก้าวออกจาก safe zone ไปลองทบทวนมุมมองที่มีต่อการออกแบบของตัวเองดูใหม่”
“ในฐานะนักออกแบบแล้ว การใช้เวลาค่อยๆ ทำความเข้าใจกับวัสดุเป็นเรื่องที่สำคัญ ไม้แต่ละประเภท แต่ละขนาด ทั้งความหนาและความยาวที่แตกต่างกันล้วนส่งผลกับคุณภาพของไม้ ถ้านักออกแบบรู้จักวัสดุในมือดีพอ มันก็จะช่วยลดความสิ้นเปลืองและต้นทุนการผลิตลง ทำให้เราสามารถโฟกัสไปที่ความยั่งยืนได้พร้อมกับความสวยงามและความคงทนในคราวเดียว” Lim ทิ้งท้าย