ชมผลงานของเหล่านักศึกษาจากงานประกวดโดยผู้สนับสนุนหลัก CPAC Green Solution ที่ใช้เทคโนโลยีมาสร้างสรรค์อาคารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
TEXT: PRATCHAYAPOL LERTWICHA
PHOTO: WORAPAS DUSADEEWIJAI EXCEPT AS NOTED
หมดเวลาเถียงกันแล้วว่าการทำอาคารรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องจำเป็นไหม เพราะโลกของเรากำลังปั่นป่วนจากภาวะโลกรวน (climate change) อยู่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้อีกแล้ว โดยสถิติของ United Nations Environment Program ในปี 2019 บอกว่า 39% ของการปล่อยคาร์บอนทั่วโลกมาจากสิ่งปลูกสร้าง เรื่องนี้ยิ่งตอกย้ำว่า ถึงเวลาแล้วที่วงการการออกแบบและก่อสร้างต้องจริงจังกับการรักษ์โลกกันเสียที
ในฐานะผู้นำนวัตกรรมก่อสร้างครบวงจรของไทย CPAC Green Solution จึงร่วมมือกับ BIMobject Thailand แพลทฟอร์มโมเดลสามมิติวัสดุก่อสร้างและสินค้าตกแต่ง จัดการประกวดแบบ BIMobject Green Design Competition 2023 ขึ้นมา เพื่อเฟ้นหาไอเดียการออกแบบอาคารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแบบรอบด้าน ตั้งแต่การเลือกใช้วัสดุ การก่อสร้าง ไปถึงงานระบบประกอบอาคาร การจัดการของเสีย หรือการรื้อถอนอาคารในอนาคต งานนี้เปิดกว้างรับผลงานจากนักศึกษาทั้งสถาปัตยกรรม วิศวกรรม และสาขาที่เกี่ยวข้อง
นอกจากจะตัดสินจากแนวคิดการออกแบบแล้ว งานประกวดครั้งนี้ยังพิจารณาด้วยว่าแต่ละทีมผู้เข้าแข่งขันใช้เทคโนโลยี Building Information Modeling หรือ BIM และโปรแกรมอย่างเช่น Autodesk Forma, KITCARBON มาวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อสร้างสรรค์อาคารที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ หรือ Net Zero Building ได้อย่างละเอียดรอบคอบหรือเปล่า
ฟังแล้วดูเป็นเรื่องท้าทายกับนักศึกษามากเลยทีเดียว แต่การประกวดก็ไม่ได้ปล่อยให้นักศึกษาเคว้งคว้าง เพราะมี workshop เรื่องอาคารเขียว และ BIM ติดอาวุธให้ผู้เข้าประกวดทุกคน หลังกระบวนการ workshop ก็คือการคัดเลือกผลงานอย่างเข้มข้น จนได้ผู้ชนะของการประกวด มาดูกันว่าไอเดียอาคารรักษ์โลกที่โดนใจคณะกรรมการมีทีเด็ดอย่างไรกันบ้าง
รางวัลชนะเลิศ ทีม คบเด็กตึกเขียว
สมาชิกในทีม: ธีร์ธวัช เกียวกุล, อัชญา อินทรสงเคราะห์, ศศมน พูลพิพัฒน์, รุจิรา ปานผล, วีรดา สนธิโพธิ์ จาก คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ทีมคบเด็กตึกเขียว หันมาตั้งคำถามกับอาคารที่เราคุ้นเคยกันดีในชีวิตประจำวันอย่างร้านสะดวกซื้อ ว่าจะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้หรือเปล่า ด้วยการดีไซน์ต้นแบบร้านสะดวกขึ้นมาใหม่
“มินิมาร์ทในไทยสมัยนี้มีจำนวนเยอะมาก เราเดินสามสี่ก้าวก็เจอกับร้านสะดวกซื้อแล้ว มันสะดวกสบาย แต่ก็ปล่อยคาร์บอนออกมาเยอะ เราเลยมองว่าถ้าจะออกแบบร้านให้ลดการปล่อยคาร์บอนได้ยังไง เพื่อทำให้โลกดีขึ้นได้” ทีมคบเด็กตึกเขียว เล่าถึงไอเดียตั้งต้น
ทีมเลือกวางต้นแบบของร้านสะดวกซื้อไว้ที่ใจกลางเมืองขอนแก่นซึ่งเป็นย่านที่จอแจ การออกแบบ เริ่มจากการร่นแนวอาคารมาจากแนวถนน พร้อมปลูกต้นไม้ด้านหน้าเพื่อลดทอนเสียงและกรองฝุ่น
ฟอร์มของอาคารเป็นหลังคาเพิงหมาแหงนที่ซ้อนกันสามชั้น มีช่องเว้นว่างเปิดรับแสงแบบ indirect light หรือแสงที่ไม่ได้ส่องมาตรงๆ เพื่อลดความร้อน ชายคาหลังคายื่นยาวลดทอนแสงแดดที่สาดเข้าอาคาร โดยที่บนผืนหลังคาขนาดใหญ่นี้มีการสูบน้ำฝนที่กับเก็บไว้มารดบนหลังคาเพื่อลดอุณหภูมิ ซึ่งยังสามารถเก็บกักน้ำในส่วนนี้ที่ใช้แล้วมาบำบัดเพื่อใช้ใหม่ได้อีกครั้งด้วย
ช่องเปิดของอาคารเจาะตามการศึกษาทิศทางลมอย่างละเอียด ด้วยโปรแกรม Autodesk Forma และ Windmee ในแง่วัสดุ ทีมเลือกใช้สินค้าและบริการจาก CPAC Green Solution คือ CPAC Precast Concrete System Solution และ CPAC 3D Printing Solution ซึ่งปล่อยคาร์บอนน้อยกว่าคอนกรีตธรรมดา นอกจากนั้นแล้วก็ยังหยิบเหล็กเกรด B และไม้เนื้อแข็งค่าคาร์บอนต่ำมาใช้ เพราะสามารถถอดแล้วเอาไปใช้ใหม่ได้โดยไม่เกิดขยะ
รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ทีม Inner Circle Architects
สมาชิกในทีม: ธนภัทร จินวงษ์, ศราวิน กาญจนาคม, ปรัชญ์ โรจนพานิช จาก คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปฏิพล ศักดิ์ธนวัฒน์ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“อาคารที่เปิด 24 ชั่วโมง จะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร” คือโจทย์ท้าทายที่ทีม Inner Circle Architects อยากพุ่งชน
ทีมสร้างสรรค์อาคารในชื่อ OASIS ที่เป็นทั้ง co-working space เปิดตลอด 24 ชั่วโมง เป็นทั้ง hostel และส่วน retail โดยอาคารตั้งอยู่ในย่านสีลม
กลยุทธที่ Inner Circle Architects ใช้งานเพื่อลดพลังงานอาคารมีหลายอย่างด้วยกัน อย่างแรกคือการวางผังอาคาร และการติดตั้งแผงกันแดดโดยใช้ข้อมูลการวิเคราะห์แสงแดดจากโปรแกรม Autodesk Forma
กระบวนท่าต่อมาคือการติดตั้ง solar cell บนอาคารเพื่อผลิตพลังงานทดแทน นอกจากนั้น น้ำฝนที่ตกลงหลังคาจะถูกกับเก็บเพื่อนำไปบำบัดแล้วหมุนเวียนมาใช้ใหม่ ตรงกลางอาคารมีปล่องที่เจาะช่องเปิดข้างบน เอื้อให้เกิดการระบายของอากาศตามธรรมชาติ
ส่วนวัสดุอาคาร ในส่วนทึบของอาคารใช้ผนังสำเร็จรูป จาก CPAC Green Solution คือ CPAC Fully Precast ที่ลดการปล่อยคาร์บอน ส่วนกระจกกรุด้วย BSG Glass รุ่น Solar X Max ที่ลดทอนความร้อนและให้คุณภาพแสงสว่างที่เหมาะสมกับอาคาร ส่วนปล่องกลางอาคารกรุด้วยไม้เก่าที่มีค่าการปล่อยคาร์บอนต่ำเช่นกัน
รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ทีม SPEAR STUDIO
สมาชิกในทีม: ต้นฉบับ จรูญโรจน์ และพิชญาวีร์ วงศ์ถิรพร จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
หลายคนอาจมองว่าช่องว่างระหว่างตึกแถวที่เกิดจากการทุบตึกเดิมเป็นแค่ช่องว่างธรรมดา แต่สำหรับต้นฉบับ และพิชญาวีร์ จากทีม SPEAR STUDIO ช่องว่างนี้คือโอกาสสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้กับเมือง และให้กับโลก
“เวลาเราเดินในกรุงเทพฯ เราจะเห็นตึกแถวโทรมๆ ที่ในอนาคตจะถูกทุบทำลาย เราเลยคิดว่า ถ้าเกิดมันมีสิ่งก่อสร้างใหม่ขึ้นมา ก็คงจะดีถ้าสิ่งก่อสร้างนี้จะช่วยให้โลกดีขึ้นได้” ต้นฉบับ และพิชญาวีร์ เล่าแนวคิด
โปรเจ็กต์ของทีม SPEAR STUDIO คือ PLERN SHOPHOUSE ตึกแถวบนถนนมิตรพันธ์ ซึ่งเป็นต้นแบบของตึกแถวใหม่ที่เป็นมิตรทั้งกับคนใช้ และสิ่งแวดล้อม
SPEAR STUDIO ตั้งใจให้ PLERN SHOPHOUSE เป็นคาเฟ่ ที่นั่งทำงาน และที่จัดนิทรรศการ ต้อนรับทุกคนให้เข้ามาแวะเวียน จากข้อมูลการวิเคราะห์ทิศทางลม แสงอาทิตย์ และมลภาวะทางเสียง ในโปรแกรม Autodesk Forma ทีม SPEAR STUDIO จึงเลือกถอยร่นอาคารจากแนวถนน พร้อมติดแผง facade และต้นไม้หน้าอาคารเพื่อลดทอนเสียง กลางอาคารเจาะช่องโล่งเชื่อมแต่ละชั้นเข้าด้วยกัน เป็นการเปิดรับแสงธรรมชาติ และเปิดโอกาสให้ลมธรรมชาติไหลเวียนภายใน
ด้านหน้าและด้านหลังอาคารเจาะช่องเปิดเพื่อให้อากาศถ่ายเทเช่นกัน facade ที่ติดหน้าอาคารควบคุมด้วยระบบเซนเซอร์ ทำให้ปรับการเปิดปิดได้ ตอบรับกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง บนหลังคาติดตั้ง solar cell ผลิตกระแสไฟฟ้า รวมถึงน้ำฝนที่ร่วงหล่นลงมาก็ถูกกักเก็บ และปล่อยไหลเป็นน้ำรดต้นไม้บน facade
SPEAR STUDIO ใส่ใจกับวัสดุอาคารไม่แพ้ทีมอื่นๆ บาน facade ทำจากไม้ป่าปลูก ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมต่างจากการตัดไม้จากป่าธรรมชาติ ผนังและคานเลือกใช้ผนังและคานสำเร็จรูปจาก CPAC Green Solution เพื่อลดเศษขยะจากการก่อสร้าง ผนังกระจกกรุด้วย กระจก BSG Solar X Max ที่ทอนความร้อนจากภายนอก พร้อมยังสะท้อนแสงต่ำ ไม่ต้องกลัวว่าจะรบกวนตึกแถวข้างๆ
รางวัล Green Circular ทีม ZAB-KERN
สมาชิกในทีม: เฟื่องลดา วันทองสุข, ชุติมา อันแสน, จักรพงษ์ เวียงรัตน์ และโอมนันท์ แมดพิมาย จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมืองและนฤมิตศิลป์ มหาวิทยาลัยสารคาม
รางวัล Green Circular คือรางวัลพิเศษสนับสนุนโดย CPAC Green Solution ที่มอบกับทีมที่ออกแบบระบบ waste management หรือการจัดการขยะภายในโครงการได้เหมาะสมที่สุด และรางวัลนี้ก็ตกเป็นของทีม ZAB-KERN กับงานออกแบบ ‘ร้านแจ่วฮ้อนสารคาม’
ร้านแจ่วฮ้อนสารคามแห่งนี้ ไม่ได้เป็นแค่ร้านอาหาร เพราะเป็นทั้งฟาร์มเลี้ยงวัว ปลูกพืชพันธุ์ เพื่อนำวัตถุดิบมาปรุงอาหารอย่างสดใหม่แบบ farm to table “ที่มหาสารคามดังเรื่องร้านแจ่วฮ้อน เราเลยอยากเอาเรื่องนี้มานำเสนอเพราะเป็นเรื่องใกล้ตัวพวกเรา” ทีม ZAB-KERN บอกถึงเหตุผลที่ทำร้านแจ่วฮ้อนมาเสิร์ฟในการประกวด
อาคารทั้งหมดแบ่งโซนเป็นจุดชมวิว สะพานไม้ชมท้องนา และอาคารร้านอาหารหลัก ตัวอาคารหลักออกแบบหลังคาแยกระดับเพื่อรับแสงธรรมชาติ เช่นเดียวกันกับพื้นเรือนที่มีเล่นระดับ เพื่อให้ลมระบายได้ดี วัสดุประกอบอาคารเน้นวัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น เช่น ไม้เก่า อิฐศิลาแลง เป็นการลดคาร์บอนที่เกิดจากการขนส่ง ทีมยังลงไปถึงดีเทลการเข้าไม้ที่ไม่ต้องพึ่งตะปู ลดการใช้วัสดุก่อสร้างสิ้นเปลือง
จุดแข็งของทีม ZAB-KERN ที่แตกต่างไปจากทีมอื่นๆ จนกินใจคณะกรรมการก็คือระบบการจัดการขยะในโครงการ ทีมมองว่าการทำแจ่วฮ้อนแบบเดิมๆ ทำให้เกิดขยะตั้งแต่พ่อค้าขายวัตถุดิบ คนทำปศุสัตว์ ไปจนถึงพ่อค้า แม่ครัว และลูกค้าที่กินอาหาร ทีมจึงพลิกแนวคิดเสียใหม่ ด้วยการทำระบบแยกขยะมูลสัตว์ เศษหญ้าเศษฟาง รวมไปถึงเศษอาหารในโครงการ เพื่อกักเก็บและนำไปแปรรูปใหม่เป็นก๊าซชีวภาพสำหรับปรุงอาหาร หรือปุ๋ยหมักอินทรีย์เพื่อการเพาะปลูก
ถึงโลกจะกำลังเผชิญปัญหาภาวะโลกรวน แต่เมื่อเห็นพลังคนรุ่นใหม่จากการประกวด BIMobject Green Design Competition 2023 ก็เบาใจขึ้นได้ว่า อย่างน้อยเรายังมีหวังจะเห็นโลกที่ดีขึ้นในอนาคต เชื่อเป็นอย่างมากเลยว่า ในการประกวดแบบปีหน้า เราก็จะได้เห็นพลังของคนรุ่นใหม่ ที่พร้อมสร้างสรรค์ผลงานเพื่อโลกที่ดีแบบนี้อีกเช่นกัน