สตูดิโอสถาปัตยกรรมและออกแบบภายใน ซึ่งเริ่มต้นจากความหลงใหลในความเรียบง่าย เป็นสากล และความสนใจในศิลปะ สู่สไตล์เฉพาะตัวที่นิยามว่าเป็น ‘การออกเเบบร่วมสมัย’
TEXT: STUDIO MINIMUS
PHOTO: KRIST BOONPILAI
(For English, press here)
WHO
เราคือ Studio Minimus ผู้ให้บริการออกแบบสถาปัตยกรรม และสถาปัตยกรรมภายใน
WHAT
เรามีความเชื่อและความหลงใหลในความเรียบง่าย เหนือกาลเวลา เป็นสากล และศิลปะร่วมสมัย เราออกแบบพื้นที่ว่างที่ไม่แสดงตัวตน ถ่อมตน เผื่อให้ผู้ใช้งานได้แสดงตัวตนผ่านการออกแบบพื้นที่นั้นๆ
WHEN
เริ่มก่อตั้งในปี 2018 และจดทะเบียนบริษัทในปี 2023 ที่ผ่านมา
WHERE
เชียงใหม่และกรุงเทพมหานคร
WHY
เพราะเรารักและหลงใหล อยากรับและส่งบางสิ่งบางอย่างผ่านงานออกแบบสถาปัตยกรรมให้กับโลกใบนี้
คุณนิยามสไตล์การออกแบบของตัวเองไว้อย่างไร
อันที่จริงเรามีความสนใจในสไตล์การออกแบบที่หลากหลาย ถ้าให้นิยามสไตล์การออกแบบของเรา เราอยากจะเรียกตัวเราว่าเป็น การออกแบบร่วมสมัย ซึ่งเป็นความหมายแบบเดียวกันกับงานศิลปะร่วมสมัย (Contemporary Art)
อะไรคือแรงบันดาลใจและหลักการในการทำงานแต่ละครั้ง
แรงบันดาลใจของเรามากจากความฝันของลูกค้าที่บอกเหล่าภาพในจินตนาการให้เราฟัง สตูดิโอของเราเน้นการทำงานร่วมกับลูกค้าแบบสื่อสารสองทาง เราอยากให้ลูกค้ามีส่วนร่วม ได้เข้ามาพูดคุย และที่สำคัญเราเน้นการพูดคุยผ่าน ‘รูปภาพ’ เป็นหลัก เพื่อให้ได้การสื่อสารแบบตรงประเด็น และเข้าใจลูกค้าได้อย่างอย่างแท้จริง
โปรเจ็กต์ไหนที่คุณภูมิใจมากที่สุด เพราะอะไร?
เราภูมิใจในทุกงานที่เราได้ทำเลย เพราะว่าเราตั้งใจทำทุกงานจริงๆ แต่ถ้าจะให้ยกมาสักหนึ่งงานก็อยากจะยกให้โปรเจ็กต์ BoysnBuns ที่นครปฐม เพราะเป็นโปรเจ็กต์ที่ลูกค้าอยากมีพื้นที่แสดงศิลปะ ซึ่งทางสตูดิโอมีความสนใจด้านนี้มากๆ
ชอบความสัมพันธ์ระหว่าง mass and void แบบไหน ลองอธิบายให้ฟังหน่อย
ส่วนตัวชอบรูปแบบความสัมพันธ์ที่ทำให้แสงธรรมชาติเกิดความหมายใหม่ในบริบทต่างๆ ได้มากกว่าเป็นแค่ mass and void เช่นงานของ Tadao Ando, Louis Kahn หรืองานศิลปะของ James Turrell
คุณชอบขั้นตอนไหนระหว่างออกแบบมากที่สุด?
ชอบขั้นตอนการพูดคุยครั้งแรกที่ลูกค้าเล่าความฝันให้เราฟัง แลกเปลี่ยนกับมุมมองการออกแบบของทางสตูดิโอว่าเราจะช่วยทำให้ฝันนั้นเป็นจริงได้อย่างไรบ้าง
ถ้าคุณสามารถเชิญ ‘ครีเอทีฟ’ สักคนไปดื่มกาแฟด้วยกันได้ คุณจะเลือกใครและทำไม
อยากเชิญคุณ Jung Jin-ho แห่ง LABOTORY เพราะอยากเรียนรู้ และมีความสนใจในงานสถาปัตยกรรมของเกาหลีตอนนี้มากๆ