YANH RATCHAWAT

chat architects

สัมผัสย่านราชวัตรผ่านโรงแรมใหม่ในโปรเจ็กต์ YANH Ratchawat โปรเจ็กต์ฝีมือ CHAT Architects ซึ่งเกิดจากการรีโนเวทตึกเก่าพร้อมผสมผสานตัวตนที่หลากหลายของย่านเอาไว้ด้วยกันในงานออกแบบ

TEXT: PRATCHAYAPOL LERTWICHA
PHOTO: W WORKSPACE

(For English, press here)

Your Average Neighborhood Hotel คือชื่อเต็มของ YANH แบรนด์โรงแรมใหม่จาก SC ASSET ที่เน้นแทรกตัวเป็นส่วนหนึ่งของย่านที่ตั้ง เปิดโอกาสให้แขกผู้เข้าพักไปสัมผัสชุมชนโดยรอบอย่างเต็มที่ YANH Ratchawat คือโปรเจ็กต์แรกของแบรนด์นี้ ตามอย่างที่ชื่อบอก โครงการตั้งอยู่ในย่านราชวัตร ซึ่งอยู่ถัดออกมาจากแหล่งท่องเที่ยวสำคัญคือเกาะรัตนโกสินทร์ชั้นใน ทำเลนี้อำนวยให้เดินทางไปเที่ยวย่านเมืองเก่าได้สะดวก แต่ขณะเดียวกันก็ยังไม่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเต็มตัว ยังเหลือวิถีชีวิตชาวบ้านให้ได้สัมผัสได้

YanhRatchawat

โครงการนี้ไม่ได้สร้างอาคารขึ้นใหม่ แต่เป็นการรีโนเวทจากอาคารเดิมสามหลังด้วยกัน โดยมีสตูดิโอสถาปัตยกรรม CHAT Architects เป็นผู้ออกแบบ โดยอาคารหลักที่ซ่อนตัวหลังแนวตึกแถวคืออาคารโรงแรมซึ่งเดิมทีเคยเป็นอพาร์ตเมนต์มาก่อน ซึ่งถูกยกเครื่องอาคารใหม่หมดจดโดยยังเก็บโครงสร้างเดิมไว้อยู่ บริเวณหัวมุมอาคารชั้นสองที่เคยเป็นห้องพักได้รับการปรับปรุงเป็นล็อบบีโรงแรม ปลายสุดของห้องคือกระจกบานใหญ่เปิดไปหาความคึกคักจอแจของย่านราชวัตร เคาน์เตอร์ตรงกลางและเก้าอี้ริมกระจกใหญ่ระโยงระยางด้วยเหล็กดัดสีขาวเส้นสายอ่อนช้อย

YanhRatchawatYanhRatchawat
ล็อบบี้ของโรงแรม

ล็อบบี้ของโรงแรม

ก่อนที่จะออกแบบอาคารนี้ CHAT Architects ได้ไปตระเวนศึกษาสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในพื้นที่ราชวัตร เพื่อนำมาผนวกกับงานออกแบบ รังสรรค์บรรยากาศที่บ่งบอกความเป็นย่านราชวัตรออกมา สิ่งที่ CHAT Architects สะดุดตาจากการลงพื้นที่ คือบรรดาสถาปัตยกรรมริมคลองเปรมประชากร และคฤหาสน์รูปแบบโคโลเนียลที่ซ่อนตัวหลังสถานีตำรวจนครบาลดุสิต ความแตกต่างของสองรูปแบบสถาปัตยกรรมที่ปะทะในย่านราชวัตร บันดาลใจให้ CHAT Architects ถอดแก่นของสถาปัตยกรรมทั้งสองรูปแบบ แล้วนำมันมาปะกบเข้าคู่กันภายในโรงแรม เกิดเป็นงานออกแบบลูกผสมที่มีความเฉพาะตัว ชูตัวตนของย่านราชวัตรออกมา 

ลูกกรงและเหล็กดัดที่ชาวบ้านติดตั้งบนประตูสะพานข้ามคลอง คือที่มาของเหล็กดัดที่ประดับประดาในล็อบบี้นี้ ส่วนลวดลายอันอ่อนช้อยคือลวดลายที่ดัดแปลงจากสถาปัตยกรรมโคโลเนียลที่สถาปนิกพบเจอ เป็นการผสมตัวตนที่หลากหลายของย่านเอาไว้ด้วยกัน  

YanhRatchawat

ปัญหาที่ตามตัวอพาร์ตเมนต์เดิมมาคือห้องพักไม่มีทิวทัศน์สวยงามให้ชื่นชม โดยเฉพาะชั้นล่างๆ ที่ประจันหน้ากับด้านหลังของตึกแถว ตัวห้องพักเก่าก็มีขนาดยาวกว่า 10 เมตร ซึ่งยาวจนไม่เหมาะกับห้องพักโรงแรม ปัญหานี้ถูกแก้ด้วยการร่นแนวผนังห้องพักเข้ามาจากส่วนทางเดินอีก 3 เมตร ทำให้ห้องพักมีขนาดเหมาะสม สำหรับเศษพื้นที่ที่เกิดขึ้น สถาปนิกก็เจาะช่องโล่งเชื่อมต่อจากชั้น 2 ถึงชั้นบนสุดเข้าด้วยกัน แล้วเว้นให้เหลือส่วนทางเดิน กลายเป็นสะพานที่เชื่อมต่อทางเดินกับห้องพักเข้าด้วยกัน ช่องโล่งช่วยเปิดรับแสงธรรมชาติให้สาดส่องลงมา ทำให้ทางเดินไม่รู้สึกทึบตัน ทั้งยังช่วยให้อากาศถ่ายเทด้วยวิธีแบบ stack effect หรือการปล่อยให้อากาศร้อนลอยออกไปทางช่องโล่งข้างบน

Yanratchawat

Yanratchawat

Yanratchawat

ส่วนด้านหลังของห้องพักที่ติดกับตึกด้านนอก สถาปนิกทลายกำแพงทึบของห้องน้ำให้กลายเป็นผนังบล็อกแก้ว โอบรับแสงธรรมชาติเข้ามา ลดความอึดอัดของห้องภายใน ส่วนด้านหน้าห้องติดทางเดิน สถาปนิกก็เจาะบานหน้าต่างเปิดรับแสงธรรมชาติและบรรยากาศความคึกคักนอกห้อง ถึงจะเปิดมุมมองออกไปสู่ทางเดิน แต่ห้องก็ยังรักษาความเป็นส่วนตัวได้อยู่จากระยะห่างที่เกิดขึ้น ระหว่างช่องโล่งมีประติมากรรมตกแต่งอลูมิเนียมเบาสีขาวที่ขับเน้นความเชื่อมต่อตั้งแต่ล่างถึงบนให้เราเห็น และเป็นที่รองรับการประดับประดาตกแต่งในโอกาสต่างๆ จะว่าไปแล้ว รูปแบบของพื้นที่ทางเดินข้ามห้องที่เห็น คือการถอดแบบออกมาจากสะพานข้ามคลองเข้าบ้านของผู้คน ซึ่งเป็นพื้นที่เปลี่ยนผ่านระหว่างข้างนอกและข้างใน

Yanratchawat

การปรับเปลี่ยนฟังก์ชันอาคารจากอพาร์ตเมนต์เป็นโรงแรมพ่วงมากับการวางงานระบบใหม่หมดจด สถาปนิกก่อพอกผนังของเสาทางเดินเดิมเพื่อรองรับช่องท่อ พร้อมเพิ่มเติมองค์ประกอบค้ำยันที่ชวนให้ระลึกถึงสถาปัตยกรรมโคโลเนียล ในพื้นที่ทางเดินหน้าห้องพักเป็นพื้นที่โปร่งโล่งขนาดใหญ่ เปิดมุมมองไปสู่คอร์ตและสระว่ายน้ำส่วนกลาง จากทางเดินที่เคยเป็นเพียงพื้นที่เปลี่ยนผ่าน ก็กลายเป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ เป็นส่วนต่อขยายของห้องที่เปิดโอกาสให้พบปะพูดคุยกับแขกเหรื่อคนอื่นๆ ในโรงแรม เฉกเช่นบ้านริมคลองที่มีศาลาริมน้ำต่อขยายการใช้ชีวิตจากภายในสู่ภายนอกบ้าน  

Yanratchawat

Yanratchawat

นอกจากอาคารโรงแรมแล้ว ตึกแถวห้อมล้อมด้านหน้าก็เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเช่นกัน อาคารเหล่านี้ประกอบด้วยร้านอาหาร ร้านกาแฟ และพื้นที่ co-working space เป็นพื้นที่สังสรรค์ของทั้งแขกโรงแรมและคนภายนอก ตึกแถวสามชั้นเหล่านี้เคยได้สมญานามว่า ‘ตึกขาว’ หรือ ‘ตึกห้องน้ำ’ จากคนในท้องที่ เพราะผิวอาคารกรุด้วยกระเบื้องสี่เหลี่ยมสีขาวนวลขนาดเล็กเหมือนกับกระเบื้องแปะห้องน้ำ สถาปนิกยังเก็บผิวกระเบื้องไว้เช่นเดิมที่อาคารชั้นสองและสาม แต่ชั้นล่างสุดสถาปนิกเลาะผิวกระเบื้องออกเนื่องจากกระเบื้องส่วนใหญ่ทรุดโทรมเสียหาย CHAT Architects หวนย้อนตัวตนในอดีตของ ‘ตึกขาว’ ที่เคยเป็นสำนักงานบริษัทไอที ด้วยการใส่ตัวอักษร YANH RATCHAWAT ในรูปแบบ pixel ที่ขอบกันสาด คล้ายกับเป็นป้าย LED ที่มีตัวอักษรวิ่ง

YanhRatchawat

YanhRatchawat

YanhRatchawatYanhRatchawat
สเปซชั้นหนึ่งออกแบบมาให้เชื่อมต่อกับพื้นที่ภายนอกมากที่สุด ทั้งการเปิดโล่งหรือกรุกระจกใสโดยรอบ กระเบื้องโมเสกสี่เหลี่ยมขนาดเล็กแปะอยู่ตามวงกบหน้าต่าง ประตู เป็นดั่งจุด pixel บนหน้าจออิเล็กทรอนิกส์ ชวนระลึกถึงหน้าที่เก่าของตึกคือการเป็นออฟฟิศบริษัทไอที

YanhRatchawat

CHAT Architects เลือกสกัดแก่นของสถาปัตยกรรมในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นสะพานข้ามคลอง บ้านไทย หรือตึกโคโลเนียลมาประยุกต์ใช้ในโรงแรมแห่งนี้เพื่อเก็บงำความเป็นย่าน ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่แสดงให้เห็นว่าการสร้างบรรยากาศความเป็น ‘ย่าน’ นั้นไม่จำเป็นต้องตะโกน 

facebook.com/chatarchitects

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *