ชมสถาปัตยกรรมยุคโมเดิร์นในย่าน ‘เซาท์สุขุมวิท’ ในกิจกรรมทัวร์โดย art4d และ Creative Lab by MQDC พร้อมฟังเรื่องราวประกอบการเดินชม ไม่ว่าจะเป็นพื้นหลังของย่านสุขุมวิทใต้ หรือเกร็ดประวัติศาสตร์ของสถาปัตยกรรม
TEXT: KITA THAPANAPHANNITIKUK
PHOTO: KETSIREE WONGWAN
(For English, press here)
การมีอยู่ของ True Digital Park และการมาถึงของ Cloud 11 คงเป็นเครื่องยืนยันได้ว่าย่านสุขุมวิทใต้จะกลายเป็นหนึ่งในแกนกลางทางเศรษฐกิจที่สำคัญของกรุงเทพฯ ในอนาคตอย่างไม่ต้องสงสัย ขณะเดียวกัน ย่านสุขุมวิทใต้ หรือ ‘เซาท์สุขุมวิท’ แห่งนี้ยังเต็มไปด้วยอดีตที่น่าสนใจ โดยเฉพาะเรื่องราวของสถาปัตยกรรมยุคโมเดิร์นในประเทศไทยที่ปัจจุบันอยู่ในจุดสุ่มเสี่ยงต่อการพิจารณาคุณค่าภายใต้สายลมของการพัฒนาที่กำลังจะมาถึง
ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2567 ระหว่างเทศกาล Bangkok Design Week ที่ผ่านมา art4d จึงได้ร่วมมือกับ Creative Lab จาก MQDC และ cloud11 จัดกิจกรรม ‘SPACE SEEKING – South Sukhumvit Architectural Tour’ ที่เป็นการพาผู้ที่สนใจในสถาปัตยกรรมและประวัติศาสตร์เดินสำรวจงานสถาปัตยกรรมสมัยโมเดิร์นในย่านเซาท์สุขุมวิท (อันครอบคลุมตั้งแต่ย่านพระโขนงไปจนถึงย่านบางนา) โดยอาคารทั้งหมดที่ผู้เข้าร่วมจะได้เดินสำรวจกันนั้นต่างเป็นอาคารที่ถูกคัดสรรมาโดย วีระพล สิงห์น้อย ช่างภาพสถาปัตยกรรมเจ้าของเพจ foto_momo ซึ่งการเดินทางครั้งนี้ยังมีผู้บรรยายที่ต่างเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านสถาปัตยกรรมและการพัฒนาเมือง ทั้ง ศัลยเวทย์ ประเสริฐวิทยาการ สถาปนิกและผู้ก่อตั้งสตูดิโอ Atelier of Architects พร้อมด้วย บุญชัย เทียนวัง ผู้อำนวยการอาวุโสจากบริษัท Stonehenge
หากจะพูดอย่างง่าย โปรเจ็กต์นี้คือการเดินทางที่ว่าด้วยการพิจารณาอดีตอย่างตั้งใจ เพราะคงไม่มีอะไรน่าเสียดายเท่าการเสียอดีตบางอย่างไปโดยที่เราไม่เคยรู้อะไรเกี่ยวกับมันเลย
ก่อนเริ่มออกเดินทางศัลยเวทย์และบุญชัยเริ่มต้นด้วยการบรรยายสั้นๆ ที่ True Digital Park ก่อนเพื่อสร้างความเข้าใจพื้นฐานสำหรับการดูเมืองรอบตัวเรา โดยเริ่มต้นจากการฉายภาพของกรุงเทพฯ ในภาพรวมก่อนที่จะโฟกัสไปยังย่านเซาท์สุขุมวิทในเชิงกายภาพของเมือง ทั้งในเรื่องความหนาแน่น ระบบขนส่งสาธารณะ พื้นที่สีเขียว ฯลฯ ไปจนถึงด้านประวัติศาสตร์ที่มีจุดเด่นคือการตั้งโรงงานผลิตยาจำนวนมากในช่วงปี พ.ศ. 2510 ก่อนที่จะย่างเข้าสู่เรื่องพัฒนาการของสถาปัตยกรรมในไทยในช่วง mid-century จนมาถึงปัจจุบัน และปิดท้ายด้วยการชี้ให้เห็นถึงองค์ประกอบเด่นๆ ของสถาปัตยกรรมโมเดิร์นรวมถึงสถาปัตยกรรม Brutalist อาทิ รูปแบบของ façade วัสดุ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมสามารถเชื่อมโยงที่มาที่ไปและสร้างความเข้าใจพื้นฐานของแต่ละตึกที่กำลังจะไปดูกันได้ดียิ่งขึ้น
ตึกแรกที่เราไปดูกันคืออาคารฟีฮาแล็บ (1960) อันเคยเป็นทั้งสำนักงานและโรงงานผลิตยาของบริษัท อุดมพร และได้รับการออกแบบโดย ศ.ดร.เรืองศักดิ์ กันตะบุตร (ผู้เป็นคนไทยคนแรกที่ได้เรียนกับ Ludwig Mies van der Rohe) อันมีความน่าสนใจจากความพยายามในการตอนสนองต่อสภาพอากาศของประเทศไทย ทั้งการวางทางเดินล้อมรอบพื้นที่ใช้สอยหลักรอบตัวอาคารรวมถึงการใช้ façade ในด้านนอกอีกชั้นหนึ่งเพื่อป้องกันทั้งฝนและแดด ซึ่ง façade นี้เองที่ถูกวางเป็นจังหวะ ในรูปด้านอาคารยังมีการใช้งานวัสดุที่หาได้ยากได้ช่วงเวลานั้นอย่างอลูมิเนียมที่ทำให้อาคารมีความแตกต่างจากอาคารในช่วงเวลานั้นที่มักมีวัสดุหลักอย่างคอนกรีต
จุดที่เป็นเอกลักษณ์อีกแห่งของอาคารนี้คงอยู่ที่จุด drop off ขนาดใหญ่ด้านหน้า ที่มีการโชว์โครงสร้างพื้นแบบ waffle slab อันแสดงออกถึงการนำเสนอศักยภาพในด้านวิศวกรรมที่ครอบคลุมมิติในเรื่องความงามไปพร้อมๆ กัน แม้ว่าในครั้งนี้เราจะไม่ได้มีโอกาสเข้าไปดูภายในอาคารแบบชัดๆ แต่ด้วยความโดดเด่นในรายละเอียดของสถาปัตยกรรมทำให้อาคารฟีฮาแล็บได้เปิดใช้งานเพื่อให้คนภายนอกเข้ามาดูได้เป็นครั้งคราวเช่นในงาน Collective by Cloud11 ที่จัดขึ้นในปีที่ผ่านมา
ถัดมาไม่ไกลประมาณ 400 เมตร เราได้ไปดูธนาคารกสิกรไทย สาขาสุขุมวิท 101 (N/A) ซึ่งมีความโดดเด่นในการใช้ครีบคอนกรีตแนวตั้งเพื่อบังแสงแดดในส่วนอาคารด้านบน โดยด้านล่างอาคารที่ทำหน้าที่รับส่วนอาคารด้านบน ยังมีลักษณะของโครงสร้างเสาคานที่แตกกิ่งก้านสาขาเชื่อมถึงกัน แม้ในช่วงนั้นธนาคารกสิกรมากกว่าหนึ่งร้อยแห่งได้ถูกออกแบบโดยฝีมือของ รังสรรค์ ต่อสุวรรณ แต่ด้วยเส้นสายที่เป็นครีบคอนกรีตแนวตั้งที่แตกต่างจากเส้นสายของรังสรรค์ ทำให้ทั้งสองคนคาดเดาว่าอาจเป็นฝีมือของพันเอกจิระ ศิลป์กนก ผู้ออกแบบโรงแรมอินทรารีเจนท์ (1971) และโรงหนังสกาล่า (1969) ที่มีผลงานการออกแบบธนาคารกสิกรในช่วงนั้นเช่นกัน
นอกจากสองอาคารที่กล่าวมาข้างต้น เรายังได้ไปดูกับอาคารสามัคคีเภสัช (1964) ที่ด้านหน้าอาคารถูกปิดด้วย ‘Brise Soleil’ หรือแผงกันแดดขนาดใหญ่ในลักษณะกริดทั่วทั้งด้านหน้าของอาคาร รวมถึงยังได้บังเอิญเดินผ่านอาคารพรชัยเทรดดิ้ง (N/A) และใช้เวลาเล็กน้อยเพื่อสำรวจอาคารนี้ ซึ่งมีลักษณะเด่นคือส่วนหัวของอาคารที่ถูกยื่น façade ออกมาเพื่อเพิ่มพื้นที่ใต้ร่มให้กับอาคารเบื้องล่าง (ซึ่งก็ชวนให้นึกถึงอาคารอย่าง Boston City Hall อยู่ไม่น้อย)
ทั้งนี้เองไม่ว่าจะเป็น อาคารฟีฮาแล็บ ธนาคารกสิกรไทย สาขาสุขุมวิท 101 หรืออาคารสามัคคีเภสัช สิ่งสำคัญคือสถาปัตยกรรมเหล่านี้ไม่เพียงแต่เป็นตัวแทนของการออกแบบในช่วง mid-century ของประเทศไทย หากแต่ยังชวนให้เราพิจารณาถึงการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมที่เคยเติบโตในอดีตและดับสูญไปตามกาลเวลา พร้อมทั้งสร้างบทสนทนาทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจตั้งแต่การล้มหายตายจากของบริษัทห้างร้านผู้ผลิตยาไปจนถึงภาพความน่าเชื่อถือของธุรกิจธนาคาร ที่อาจไม่ได้หมายถึงอาคารที่ดูมั่นคงแข็งแรงอีกต่อไปในวันที่ธุรกรรมการเงินเกิดขึ้นใน smartphone มากกว่าการเดินออกไปติดต่อธนาคาร
อาคารในยุคโมเดิร์นของย่านสุขุมวิทใต้นั้นไม่ได้ปรากฏอยู่แค่ในรูปแบบของอาคารสาธารณะหรืออาคารพานิชย์เท่านั้น หากแต่รวมไปถึงศาสนสถานด้วยเช่นกัน ลึกเข้าไปในแขวงสวนหลวง เราได้ลัดเลาะเข้าไปทางหมู่บ้านจัดสรร (จำนวนมาก) ก่อนที่จะได้เข้าไปพบกับมัสยิดอัลกุ๊บรอ (1979) หรือ สุเหร่าใหญ่คลองเคล็ด ที่ตั้งอยู่ข้างริมคลองพระโขนงด้านในชุมชมมัสยิดอัลกุ๊บรอ ซึ่งเป็นมัสยิดประจำชุมชนที่เดิมตั้งขึ้นตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 1 ประมาณปี พ.ศ. 2332 ก่อนที่จะได้รับการสร้างมัสยิดหลังใหม่อันเป็นหลังปัจจุบันหลังจากผ่านไปถึง 200 ปี
ตัวมัสยิดเองก็มีความโดดเด่นที่แตกต่างจากมัสยิดทั่วไปที่มักจะมีลักษณะเป็นโดมที่มีการประดับประดา มัสยิดอัลกุ๊บรอกลับมีลักษณะ space ที่เรียบง่ายและล้อมรอบด้วย façade คอนกรีตโค้งที่ยื่นออกมาในลักษณะสามมิติที่ล้อรูปทรงและจังหวะช่องเปิดไปกับกระจกทรงโค้งแหลม (point arch) ขนาดใหญ่รอบโถงละหมาดที่ช่วยนำแสงธรรมชาติเข้าสู่อาคาร โดยมีหออะซาน (minaret) ด้านหน้าที่มีความเรียวเล็กและมีภาษาทางสถาปัตยกรรมไม่ต่างจากตัวมัสยิด แม้ยังไม่ทราบแน่ชัดถึงผู้ออกแบบ แต่ความบางของคอนกรีตที่มีความหนาไม่ถึง 10 ซม. ซึ่งทำให้ตัวอาคารดูไม่ทึบตันแม้เป็นคอนกรีตทั้งหมด ก็ชวนให้เราคิดว่าผู้ออกแบบท่านนี้ต้องมีทักษะทางด้านวิศวกรรมอยู่พอสมควรเลยทีเดียว
ไม่ไกลจากกันนัก เราแวะมาที่จุดหมายสุดท้ายของการเดินทางครั้งนี้ที่มัสยิดอัลเอี๊ยะติซอม (1970) หรือสุเหร่าใหม่หัวป่าอันเป็นอีกหนึ่งมัสยิดที่ตั้งอยู่ริมฝั่งคลองพระโขนงเช่นกัน ซึ่งตัวมัสยิดแห่งนี่ได้รับการออกแบบโดย ไพจิตร พงษ์พรรฤก สถาปนิกผู้ออกแบบมัสยิดกลางแห่งประเทศไทย โดยมีลักษณะเด่นคือเสารูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดที่ชะลูดขึ้นไปก่อนจะค่อยๆ บิดกลายเป็นคานแบนและประกอบกันเป็นที่ว่างรูปทรงซุ้มโค้งแหลม (point arch) ภายในมัสยิดเองยังมีรายละเอียดของการออกแบบที่แปลกตาทั้งฝ้าหลุมรูปวงกลม และรายละเอียดของ ornament ตามซุ้มโค้งรูปทรงเรขาคณิตจากทองเหลือง และยังมีการสร้างโดมครอบ ณ จุดกึ่งกลางของโถงละหมาดที่มีการแทรกช่องเปิดกระจกเข้าไปในตัวโดมเพื่อรับแสง indirect light เข้าสู่อาคาร
ไม่เพียงแต่สองมัสยิดที่เราได้เข้ามารับชมนั้นจะยังคงความสวยงามและการตอบรับกับระเบียบประเพณีทางศาสนนาภายใต้รูปแบบสถาปัตยกรรมโมเดิร์นเท่านั้น ประเด็นที่ชวนให้เราคิดอีกหนึ่งอย่างคือเรื่องของการ ‘เลื่อนไหลทางวัฒนธรรม’ ที่เกิดขึ้นจากระบบทางสัญจรสาธารณะ มัสยิดสองแห่งเชื่อมต่อถึงกันจากผู้คนที่แบ่งปันคลองพระโขนงในอดีต คนยังคงแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกันอยู่เสมอ และสถาปัตยกรรมก็แลกเปลี่ยนคนเหล่านั้นกันตลอดเวลา อาจจะแตกต่างกันในด้านความรวดเร็วและปริมาณเมื่อเทียบกันระหว่างเรือหางยาวกับรถไฟฟ้าเท่านั้นเอง
“I found Rome a city of brick and left it a city of marble” – Julius Caesar
ข้อความดังกล่าวคือประโยคที่บุญชัยและศัลยเวทย์ได้หยิบมาอ้างอิงในช่วงบทสรุปของการเดินทางในครั้งนี้ เพื่อถามต่อถึงเหล่าผู้ร่วมเดินทางว่า ในสายตาของทุกคนกรุงเทพฯ นั้นก่อร่างขึ้นจากอะไร และกำลังจะเดินหน้าต่อไปกลายเป็นอะไร บนเมืองที่เต็มไปด้วยพลวัตอย่างกรุงเทพฯ ที่สถาปัตยกรรมในอดีตและอนาคตต่างสู้รบเพื่อความอยู่รอดของตัวเองกันตลอดเวลา
แม้กิจกรรม SPACE SEEKING – South Sukhumvit Architectural Tour จะหยิบเอาพื้นที่เพียงเสี้ยวหนึ่งของกรุงเทพฯ อย่างสุขุมวิทใต้มาเป็นกรณีศึกษาเพื่อให้เราได้รู้จักสถาปัตยกรรมในอดีตได้ดียิ่งขึ้น แต่สุดท้ายแล้ว ภาพของเมืองในฝันของเราก็ล้วนอยู่ที่ว่าคุณค่าอะไรที่เรามอบให้สถาปัตยกรรมแต่ละชิ้น บ้างเป็นเรื่องของศักยภาพในทางธุรกิจ บ้างเป็นเรื่องของประวัติศาสตร์ บ้างเป็นความเชื่อมโยงกับชุมชน หรือบ้างแม้แต่เรื่องของความงาม คุณค่าเหล่านี้ที่สังคมส่วนใหญ่เชื่อร่วมกันคงจะนำไปสู่คำตอบของคำถามข้างต้นได้อย่างตรงไปตรงมามากที่สุด แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น เราอาจจะต้องเริ่มจากการรู้ก่อนว่ามันเคยมีคุณค่าแบบใดที่เคยปรากฏขึ้นบ้าง ณ ที่แห่งนี้