THE GOOD PLACE

Photo: mongjeng

ชุดภาพถ่ายสีสันฉูดฉาดของผู้คน สัตว์ สิ่งของที่อยู่ภายในหนังสือเล่มนี้จะนำพาผู้อ่านไปติดตาม 2 ด้านของเมืองพาราณสี ทั้งฝั่งอันศักดิ์สิทธิ์และฝั่งอันเป็นมลทิน

TEXT: SURAWIT BOONJOO
PHOTO CREDIT AS NOTED

(For English, press here

The Good Place
ARC Press, 2023
Hardcover Foil Stamping, Offset Printing
18.5 x 25.4 cm
136 pages
Design by Pariwat Anantachina
Cover typography by Kamonlak Sukchai

กันต์รพี โชคไพบูลย์ เป็นช่างภาพแนวสตรีทผู้ร่วมก่อตั้ง Arc Tribe นิตยสารดิจิทัลและ Arc Press สำนักพิมพ์อิสระ ผลงานของเขาส่วนใหญ่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากความสนใจของเขาที่มีต่อภาพยนตร์ไซไฟ สิ่งมีชีวิตนอกโลก และเรื่องราวความลี้ลับทางจิตวิญญาณ รูปแบบภาพถ่ายของกันต์รพีมักจะส่องสะท้อนขึ้นจากความเป็นจริงในละคร อีกทั้งสร้างความรู้สึกเหนือจริง บอกเล่าผ่านการเล่นโวหาร พร้อมไปกับห้วงอารมณ์ขันที่มืดมิด 

ชุดผลงานภาพถ่าย ‘The Good Place’ ก็เกิดต่อเนื่องขึ้นจากความสนใจในเรื่องราวของสิ่งมีชีวิตต่างดาวที่ในบางบริบทได้มีส่วนคาบเกี่ยวสัมพันธ์ไปกับบางส่วนในศาสนาฮินดู ขอบเขตของการบรรจบกันระหว่างสิ่งเหนือธรรมชาติและความเชื่อทางศาสนา เป็นจุดเริ่มต้นนำเขาเดินทางลงพื้นที่ศึกษา ร่วมกับการทำงานถ่ายภาพที่สะสมหลากหลายช่วงเวลาของเรื่องราวระหว่างการเดินทางกว่า 4 ครั้ง ณ เมืองพาราณสี ประเทศอินเดีย กันต์รพีเล่าว่า ชุดภาพถ่ายเหล่านี้ในหนังสืออาจเรียกได้ว่า เป็นหมุดหมายสำคัญของการนิยามรูปแบบ แนวทาง และท่วงทำนองโวหารของภาพถ่ายของเขาที่ได้นำเขากลับมาเริ่มต้นถ่ายภาพอย่างจริงจังอีกครั้ง ภายหลังการพยายามถกถามถึงแนวทางการทำงานถ่ายภาพและกระบวนการทำงานของตนเอง

Photo: Surawit Boonjoo

The Good Place เป็นหนังสือที่โดดเด่นด้วยพื้นผิวภายนอกซึ่งตลอดทั้งเล่มเป็นสีเงินเงาสะท้อน พร้อมกับขนาดอันพอดิบพอดีไปกับชุดภาพถ่ายสีสันฉูดฉาดของผู้คน สัตว์ สิ่งของ และบรรยากาศของเมืองพาราณสี ที่กันต์รพีได้พบเจอ ในหนังสือเล่มนี้ เขาเสนอบอกเล่าด้วยการร้อยเรียงภาพถ่ายและเรื่องราวให้หยอกเย้าและเลียนล้อไปกับภูมิทัศน์ของเมืองอันศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ ที่แบ่งแยกพื้นที่เป็นสองฝากฝั่ง สวรรค์อันศักดิ์สิทธิ์และดินแดนแห่งความตาย ด้วยแม่น้ำคงคา ภาพถ่ายผู้คน เทพเจ้า หรือสิ่งอื่นที่เกี่ยวเนื่องสื่อแทนฟากฝั่งอันศักดิ์สิทธิ์ ที่ได้รับการหล่อเลี้ยง และแทรกเป็นแก่นด้วยภาพถ่ายของแม่น้ำคงคา ที่คั่นแยกชุดภาพตรงข้าม ปีศาจ สิ่งไม่ดี ซึ่งทำหน้าที่แทนภาพลักษณ์ของฟากฝั่งอันเป็นมลทิน อย่างไรก็ตาม การเรียงร้อยภาพและเรื่องราวดังกล่าว ก็ได้บอกเล่าด้วยการละไว้อย่างหลวมๆ เช่นเดียวกันกับแนวคิดการเวียนว่ายตายเกิดที่ทำงานสอดประสานอย่างบางเบาร่วมไปพร้อมกัน โดยในท้ายที่สุด ภาพและเรื่องราวเหล่านั้นก็จะสามารถถูกอ่าน พร้อมกับสร้างต่อให้สมบูรณ์และกลายเป็นอื่นอยู่เสมอ 

Photo: Surawit Boonjoo

หนังสือจัดพิมพ์ในจำนวนจำกัดเพียง 200 เล่ม ในรูปแบบปกแข็งซึ่งออกแบบอักษรสำหรับปกโดยศิลปินช่างภาพหญิง กมลลักษณ์ สุขชัย และออกแบบสิ่งพิมพ์โดย ปริวัฒน์ อนันตชินะ กราฟิกดีไซเนอร์ที่มีผลงานดิจิทัลคอลลาจซึ่งปะติดปะต่อภาพและเรื่องราวเป็นภาพแทน ผลงานบางภาพจากชุดผลงานในเล่มเคยจัดแสดงเป็นส่วนหนึ่งในนิทรรศการภาพถ่ายชื่อเดียวกันกับหนังสือ ที่ HOP Hup of Photography ระหว่างวันที่11 กุมภาพันธ์ – 9 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา ด้วยชุดภาพถ่ายที่วางเรียงต่อเนื่องกันตลอดทั้งเล่มโดยปราศจากคำบอกเล่าใด ๆ 

Photo: mongjeng

กันต์รพีต้องการเผยเสนอให้เห็นถึงมนตร์เสน่ห์ของเมืองแห่งนี้ด้วยการถ่ายทอดถึงวิถีปฏิบัติของผู้คนที่เกี่ยวสัมพันธ์และขับเคลื่อนด้วยแนวทางปรัชญาซึ่งฝังลึกภายในสังคมและวัฒนธรรมอินเดียอันเป็นแก่นแท้ของเมือง ภาพถ่ายที่เรียงร้อยกันนี้ได้ฉายสะท้อนถึงการผสานรวมสิ่งเหนือธรรมชาติ ซึ่งซึมซาบร่วมเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตประจำของผู้คน/ สัตว์/ สิ่งของ พร้อมไปกับการผูกร้อยความเชื่อพระเวทโบราณและระบบวรรณะที่สร้างลักษณะเฉพาะให้กับเมือง หนังสือจึงสามารถแสดงโวหารการสนทนาร่วมระหว่างความเชื่อ คน สัตว์ และสิ่งของของเมืองศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ไว้อย่างไม่เหมือนใครและชวนติดตามอย่างยิ่ง

facebook.com/arcpressstore
facebook.com/kanrapeechokk

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *