EARLY YEARS PROJECT #7: A CHANGE IN THE PARADIGM

BACC จัดแสดงนิทรรศการ Early Years Project #7 ที่รวบรวมศิลปินรุ่นใหม่มาแสดงผลงานที่สะท้อนสังคมไทยในปัจจุบันผ่านมุมมองของแต่ละคน

TEXT: TUNYAPORN HONGTONG
PHOTO: KETSIREE WONGWAN

(For English, press here)

Early Years Project #7: A change In the paradigm เป็นนิทรรศการที่มี ‘พลัง’ บางอย่างตามสไตล์คนรุ่นใหม่ ส่วนหนึ่งของพลังที่ว่ามาจาก ‘ความสดใหม่’ ทางมุมมองความคิดและการนำเสนออย่างที่ไม่ต้องคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ มากนัก ลักษณะข้อนี้มักพบในผลงานของศิลปินที่เพิ่งเริ่มต้นทำงาน เพราะโดยมากแล้ว เมื่อศิลปินเริ่มเติบโตและเก็บเกี่ยวประสบการณ์มากขึ้น มิติความคิดที่ลุ่มลึกซับซ้อนก็มักมาพร้อมปัจจัยหลายด้านที่เข้ามามีส่วนในกระบวนการสร้างสรรค์ศิลปะ

นิทรรศการครั้งนี้จัดแสดงผลงานของศิลปินรุ่นใหม่ 8 คน ที่ผ่านการคัดเลือกมาอบรมบ่มเพาะในโครงการ Early Years Project โครงการนี้เริ่มต้นและดำเนินการโดยหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยมีจุดประสงค์ผลักดันสนับสนุนศิลปินรุ่นใหม่ให้เติบโตได้อย่างแข็งแรง ซึ่งหากมองย้อนกลับไปใน 7 ปีที่โครงการนี้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง เราก็จะเห็นว่ามีศิลปินอยู่จำนวนหนึ่งที่เคยปรากฏรายชื่ออยู่ใน Early Years ครั้งก่อนๆ หน้า กำลังเติบโตอย่างน่าจับตาในปัจจุบัน

Early Years Project ครั้งนี้มีผลงานน่าสนใจอยู่หลายชิ้น แต่เราจะขอยกมาพูดแค่บางส่วน โดยเน้นผลงานที่น่าจะเข้าถึงผู้ชมในวงกว้างได้มากกว่า ซึ่งก็คืองานที่พูดเกี่ยวกับประเด็นทางสังคม

เริ่มจาก กนกวรรณ สุทธัง กับ ‘หินในข้าว’ (2566) ผลงานที่เริ่มต้นจากความสงสัยใคร่รู้ในเรื่องเล็กน้อยขนาดเท่ากับก้อนกรวดที่เธอบอกว่ามักเจอในข้าวที่กินกันในครอบครัวสมัยที่เธอยังอยู่ที่อุบลราชธานี ครอบครัวของเธอมีอาชีพปลูกข้าวขายและมักเก็บผลผลิตส่วนหนึ่งไว้กินเอง โดยในกระบวนการผลิตข้าวที่กนกวรรณเขียนแจกแจงเป็นไดอะแกรมด้วยลายมือลงบนกระสอบข้าวที่นำมาเย็บต่อกันกลายเป็นป้ายขนาดใหญ่นั้น แสดงให้เห็นว่าหินที่ว่าอาจปะปนเข้ามาในข้าวระหว่างกระบวนการเก็บเกี่ยว ตากข้าว และสีข้าว ซึ่งแม้ก่อนจะนำข้าวมาหุง คนที่บ้านจะพยายามเก็บเศษหินออกแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่เคยเก็บได้หมด ทำให้ทุกครั้งที่นั่งกินข้าวกัน มีอันต้องเคี้ยวโดนหินจนบางครั้งฟันบิ่นหรือฟันแตกก็มี ไม่เหมือน ‘ข้าวกรุงเทพฯ’ ที่เธอบอกว่า พอย้ายเข้ามาแล้วได้กินข้าวที่นี่ ไม่เคยเจอหินเหมือน ‘ข้าวอุบล’ เลยสักที 

‘หินในข้าว’ ของกนกวรรณเป็นผลงานที่ดูสนุก และเราเห็นอารมณ์ขันของเธอจากการเล่าเรื่องผ่านไดอะแกรม เช่น ตอนที่เล่ามาถึงเคี้ยวโดนหินในข้าว “บางคนกินต่อ บางคนฝืนกินต่อ แล้วก็ฟันแตก” จากนั้น “บางคนไปหาหมอ บางคนไม่ไป บางคนรักษาไม่ได้ บางคนรักษาได้ หรือรักษาได้แต่ก็ไม่รักษา” ด้วยเหตุผลต่างๆ เช่น “ไม่มีเวลา กลัวหมอ เงินไม่พอ ฯลฯ” แต่ในเรื่องราวเล็กๆ ของการเจอหินในข้าวและความสนุกในการนำเสนอของเธอนี้เอง เรากลับได้เห็นภาพใหญ่ของสังคมที่ถูกสะท้อนออกมา นั่นคือ คุณภาพชีวิตของคนเมืองและคนต่างจังหวัดที่แตกต่างกันลิบลับ โดยเฉพาะว่ามันย้อนแย้งตรงที่แม้จะเป็นคนปลูกข้าวเองกับมือ แต่กลับได้ข้าวที่คุณภาพแย่กว่าคนที่ซื้อข้าวไปกิน จนเกิดเป็นปัญหาทางสุขภาพ (ฟัน) และเพิ่มภาระทางค่าใช้จ่ายในการรักษา

‘บันทึกชีวิต’ (2566) ของ นอเดียนา บีฮิง มีลักษณะบางอย่างคล้ายกับ ‘หินในข้าว’ นั่นคือ จุดเริ่มต้นของผลงานมาจากประสบการณ์ส่วนตัวของศิลปินเหมือนกัน และการนำเสนอประเด็นจากมุมมองของศิลปินก็สามารถขยายไปถึงภาพของสังคมโดยรวมได้อีกเช่นกัน แต่จะต่างกันก็ตรงที่ขณะที่กนกวรรณสื่อสารออกมาในเชิงขบขัน เสียดสี นอเดียนาเลือกนำเสนอในน้ำเสียงที่ค่อนข้างจริงจัง ซึ่งก็คงเป็นเพราะประสบการณ์ของเธอนั้น มาจากการที่ต้องใช้ชีวิตเข้าๆ ออกๆ โรงพยาบาล เพื่อดูแลพ่อที่ป่วยเป็นโรคไตถึง 4 ปี จนเกิดเป็นความเครียด เช่นเดียวกับผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยอีกหลายคนที่เธอพบเจอในโรงพยาบาล

จากประสบการณ์ตรงนี้ นอเดียนาจึงเกิดความคิดจัดโครงการ ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ที่ชวนผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย มาร่วมกันทำกิจกรรมแลกเปลี่ยนความรู้สึกและทำงานศิลปะโดยวาดภาพลงบนถุงน้ำยาล้างไตใช้แล้ว ที่นำมาทำความสะอาดและเย็บต่อกันเหมือนผืนแคนวาสขนาดใหญ่​ และนอกจากผลงานวาดเส้นของผู้เข้าร่วมกิจกรรมแล้ว ก็ยังมีงานปักที่ศิลปินใช้บอกเล่าความรู้สึกและเรื่องราวของชีวิตต่างๆ ในโรงพยาบาลในเบตง ยะลา

ในฐานะผู้ชม เรามองว่าการคัดเลือกศิลปิน 8 คนนี้ เป็นส่วนผสมที่ลงตัว เพราะในขณะที่ผลงานจำนวนหนึ่งเน้นไปที่การทดลองเกี่ยวกับรูปแบบและเทคนิคการสร้างสรรค์ศิลปะ ในนิทรรศการก็ยังมีผลงานอีกกลุ่มที่เน้นเนื้อหาเกี่ยวกับประเด็นทางสังคมอย่างสองผลงานข้างต้นที่กล่าวไป ส่วนผสมที่ว่าทำให้นิทรรศการเข้าถึงกลุ่มผู้ชมที่หลากหลาย เพราะขณะที่ผลงานกลุ่มแรกน่าจะเป็นเรื่องที่คนทำงาน visual arts จำนวนไม่น้อยที่สนใจ สำหรับผลงานกลุ่มหลัง ไม่จำเป็นต้องเป็นคนทำงานศิลปะก็สามารถเข้าถึงได้ เพราะล้วนเป็นเรื่องราวในสังคมเดียวกับที่พวกเราใช้ชีวิตอยู่

นอกจากนั้น ประเด็นทางสังคมในผลงานแต่ละชิ้นก็ยังหลากหลาย ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการที่ศิลปินทั้ง 8 มีภูมิลำเนาต่างกัน คือมีทั้งศิลปินจากกรุงเทพฯ และปริมณฑล ศิลปินกรุงเทพฯ ที่เกิดและเติบโตในอุบลฯ ศิลปินจากต่างจังหวัด เช่น ชลบุรี ยะลา สุพรรณบุรี และอีกจังหวัดหนึ่งที่เป็นส่วนผสมของเมืองใหญ่ เมืองท่องเที่ยว และต่างจังหวัด คือ เชียงใหม่ ก็มีศิลปินจากคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เข้ารอบมาใน Early Years ปีนี้ถึงสองคน

หนึ่งในสองศิลปินที่ว่าคือ จักรพันธ์ ศรีวิชัย ที่หยิบเอาเรื่องรถไฟฟ้าเชียงใหม่มาพูดถึงผ่านประติมากรรม ‘รถไฟฟ้าล่องหน’ (2566) ที่เขานำเอาราวตากผ้าสเตนเลสมาประกอบเข้ากับล้อยาง 4 ชิ้น เก้าอี้สำนักงานและราวด้านบนห้อยห่วงสเตนเลสกลมลงมาเหมือนกับที่จับในรถไฟฟ้า การที่รถไฟฟ้าของจักรพันธ์นั้น ‘ล่องหน’ มาจากโครงการรถไฟฟ้าเชียงใหม่ที่เริ่มวางแผนจะทำกันมา 20 กว่าปีแล้ว และมีการถกเถียงกันถึงข้อดีข้อเสียและผลกระทบที่อาจมีต่อโครงสร้างสถาปัตยกรรมเก่าแก่ภายในเมือง วิถีชีวิตชุมชน และสิ่งแวดล้อม แต่จนแล้วจนรอดมาถึง พ.ศ. นี้ ชาวเชียงใหม่ก็ยังไม่มีรถไฟฟ้าใช้สักที

นอกจากตัวประติมากรรมที่จัดแสดงในนิทรรศการครั้งนี้ ยังมีวิดีโอจัดวางอีก 4 ชิ้น ที่ฉายภาพให้เห็นว่าจักรพันธ์และเพื่อนๆ เข็นเอาประติมากรรมชิ้นนี้ไปตามเส้นทางต่างๆ ที่คาดว่าจะเป็นเส้นทางรถไฟฟ้าที่มีแผนจะสร้างขึ้นในเชียงใหม่ โดยการเอาความแปลกประหลาดเข้าไปก่อกวนพื้นที่สาธารณะนี้น่าจะก่อให้เกิดบทสนทนาในชุมชนเกี่ยวกับโครงการขนส่งมวลชนนี้ได้มากขึ้น นอกจากนั้นยังมีวิดีโออีกชิ้นหนึ่งที่เหมือนกับการจำลองภาพที่ผู้โดยสารเห็นเมื่อมองออกไปนอกหน้าต่างรถไฟฟ้าขณะที่รถแล่นไปตามเส้นทาง พร้อมเสียงประกาศในรถที่อาจทำให้ผู้ชมได้ฉุกคิดมากขึ้นอีก เช่น ‘Please mind the gap between hope and concern’

ในจำนวนศิลปินทั้ง 8 วัชรนนท์ สินวราวัฒน์ เป็นคนที่เราเคยเห็นผลงานมาก่อนหน้ามากที่สุด โดยเฉพาะจากนิทรรศการเดี่ยวของเขา ‘The Boundary of Solitude’ ที่จัดแสดงไปเมื่อปีที่แล้วที่ SAC Gallery การรับชมผลงานของวัชรนนท์สำหรับเราจึงต่างจากเพื่อนร่วมรุ่น Early Years ของเขาคนอื่นๆ ตรงที่นี่ไม่ใช่การทำความรู้จักเขาเป็นครั้งแรก แต่เป็นการติดตามความต่อเนื่องในการทำงานศิลปะของเขา

ผลงานวิดีโอจัดวางของวัชรนนท์ ชื่อ ‘ธรณีนี่นี้ เป็นพยาน’ (2567) มี backdrop เป็นภาพถ่ายแลนด์สเคปรูปภูเขาที่มีหิมะปกคลุมและเงาสะท้อนอยู่ในน้ำ เรียกความสนใจจากผู้ชมได้เป็นอันดับแรก ภาพภาพนี้ให้ความรู้สึกสวยงามจนเกินความจริง ซึ่งเมื่อเดินเข้าไปดูผลงานของเขาใกล้ๆ เราก็จะเจอกับ essay film อีกสองจอที่มีเนื้อหาเสมือนอยู่ก้ำกึ่งระหว่างเรื่องจริงและเรื่องแต่งอีกเช่นกัน essay film ทั้งสองจอฉายภาพแลนด์สเคปอีกเช่นกัน แต่ชิ้นหนึ่งบรรยายด้วยเรื่องเล่าที่มีอิทธิพลต่อสังคมไทยมายาวนาน นั่นคือ ความเชื่อเรื่องที่คนไทยมาจากเทือกเขาอัลไต (โดยใน essay film ชิ้นนี้เล่าให้เห็นว่าถ้าคนไทยจะเดินทางมาจากเทือกเขาอัลไตจริงๆ จะต้องผ่านอะไรมาบ้าง) ส่วนอีกชิ้นเป็นเรื่องเล่าของสังคมและการเมืองไทยในเวลาร่วมสมัย

เช่นเดียวกับเพื่อนศิลปินกลุ่มหนึ่งใน Early Years ปีนี้ ศิลปะของวัชรนนท์เองก็เริ่มต้นมาจากความสนใจในรูปแบบหนึ่งของศิลปะ นั่นคือ ภาพแลนด์สเคปของชนบท โดยเขาเคยบอกกับ art4d ไว้ว่า เขาสนใจว่าภาพแลนด์สเคปในแง่ที่ว่ามันทำงานกับการรับรู้และความคิดเรายังไง ทำไมคนที่ไม่เคยอยู่ชนบทถึงวาดภาพมันออกมาได้อัตโนมัติ ทำไมหลายคนถึงมองชนบทเป็นเหมือนยูโทเปีย แต่จากคำถามและการทดลองกับภาพแลนด์สเคปนี้ เขาพาเราตั้งคำถามต่อไปไกลถึงความคิดความเชื่อของเราทุกคนว่าอาจเกิดจากการหล่อหลอมจากปัจจัยบางอย่างในสังคม ที่บ้างเราก็อาจรู้ตัว บ้างไม่รู้ตัว

Early Years ปีนี้จัดเป็นโครงการอีกปีหนึ่งที่น่าสนใจ และจากที่ดูผลงานทั้งหมด เราคาดและหวังว่าจะได้เห็นชื่อของศิลปินเหล่านี้อีกในอนาคต พร้อมการเติบโตของพวกเขา

นิทรรศการ Early Years Project #7: A change In the paradigm จัดแสดงระหว่างวันที่ 10 มกราคม – 12 พฤษภาคม 2567 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ชั้น 7

bacc.or.th
facebook.com/baccpage

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *