สนทนากับ Sarah Okafor นักออกแบบรุ่นใหม่เชื้อสายไนจีเรียน แอฟริกัน อเมริกัน และไทย ที่มุ่งมั่นส่งต่อความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อผู้คน และต่อโลก กับโครงการวิทยานิพนธ์ของเธอที่เสาะหาวิธีแก้ปัญหาขยะอาหาร
TEXT: SURAWIT BOONJOO
PHOTO CREDIT AS NOTED
(For English, press here)
‘ปันรัก รักษ์โลก/ Share the Love, Save the World’ เป็นโครงการวิทยานิพนธ์ของ Sarah Okafor นักศึกษาจากภาควิชาการออกแบบผลิตภัณฑ์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (AAU) ที่กลายมาเป็นหนังสือซึ่งเล่าถึงเรื่องราวและประสบการณ์จากการทำวิทยานิพนธ์ สอดแทรกข้อคิดที่สร้างแรงบันดาลใจ ตลอดกระบวนการทำงานในโครงการนี้ หนังสือเล่มนี้ผลิต จัดพิมพ์ และเผยแพร่ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง art4d กับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (AAU) เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองครบรอบ 25 ปี ของการก่อตั้ง AAU
Okafor เป็นนักออกแบบรุ่นใหม่เชื้อสายไนจีเรียน แอฟริกัน อเมริกัน และไทย ผู้มุ่งมั่นอุทิศตนอย่างกระตือรือร้นให้กับการหยิบยื่น ส่งต่อความเห็นอกเห็นใจให้เกิดขึ้นแก่กัน ด้วยหลากหลายสถานการณ์และเรื่องราวที่เธอได้พบเห็นและเรียนรู้ อีกทั้งจากภูมิหลังทางครอบครัวที่มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และภูมิหลังทางวัฒนธรรมอันหลากหลาย นับเป็นส่วนสำคัญที่หล่อหลอมประกอบสร้างตัวตนและความคิด อันก่อร่างขึ้นเป็นกรอบมุมมองที่ส่งเสริมให้เธอเข้าใจในความงดงามของความหลากหลาย พลังของการเชื่อมโยง-โยกย้ายข้ามวัฒนธรรม และพลังของความรัก ความเห็นอกเห็นใจ ซึ่งประกอบรวมเป็นโครงการนี้ขึ้นมา
art4d: ช่วยเล่าถึงที่มาที่ไปของโครงการได้ไหม?
Sarah Okafor: โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพิเศษในโอกาสเฉลิมฉลองครบรอบ 25 ปี ของการก่อตั้งคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ สำหรับจุดเริ่มต้นของความคิดของงานออกแบบนี้ เกิดขึ้นจากความสนใจในการจัดการรับมือกับปัญหาขยะอาหารซึ่งเกิดขึ้นโดยทั่วไปในหลากหลายพื้นที่ ด้วยกระบวนการเสริมสร้างแรงบันดาลใจให้แต่ละบุคคลยอมรับและตระหนักรู้ถึงประเด็นเล็กๆ ประเด็นหนึ่งที่พวกเราได้ปล่อยปละละเลยมาตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา
นอกจากนั้นแล้ว โครงการนี้ยังพยายามนำเสนอมุมมองบนกรอบของความคิด ความตระหนักถึงศักยภาพของการเปลี่ยนแปลง ผลักดันให้ทุกคนมีส่วนร่วม ถึงแม้ว่าจะเป็นการกระทำเพียงเล็กน้อยก็ตาม โดยใช้รูปแบบ วิธีการที่ให้ความสำคัญกับการหยิบยื่นความรักให้แก่กัน และการก่อให้เกิดการตระหนักรู้ ที่สามารถนำไปสู่การบรรลุถึงเป้าหมาย ซึ่งจะเข้ามามีส่วนในการรับมือแก้ไขและหาทางออกให้กับปัญหานี้ให้ปรากฏเป็นรูปธรรม และเพื่อการส่งเสริมคุณค่าหลักที่ได้พูดไปแล้ว
โครงการที่มาจากแนวคิดริเริ่มนี้ จึงพยายามบอกเล่าและนำเสนอภาพสะท้อนของผลกระทบจากความพยายามเฉพาะบุคคล อีกทั้งยังชี้แนะให้เกิดความเข้าใจและสัมผัสได้ผ่านมุมมองภาพในจินตนาการที่บอกเล่าถึงการขับเคลื่อนแบบองค์รวมภายใต้เป้าหมายในการจัดการรับมือกับการลดขยะอาหาร ด้วยทิศทางของความคิดเช่นนี้เอง โครงการนี้จึงมุ่งที่จะมีส่วนร่วมในการสรรค์สร้างโลกที่ยั่งยืน พร้อมกับเสริมสร้างความเห็นอกเห็นใจระหว่างบุคคลให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น
art4d: การเรียนการสอนที่ AAU ตอนที่คุณเรียนอยู่เป็นอย่างไร?
SO: ฉันคิดว่าตลอดเวลาของการศึกษาที่ AAU คือช่วงของการผสมผสานระหว่างความท้าทายและผลตอบรับที่ได้กลับมา ในช่วงที่เรียนที่ AAU นั้น ฉันได้รู้จักกับบางส่วนของตัวเองที่ไม่เคยมีใคร แม้แต่ตัวฉันเอง ได้รับรู้มาก่อน ประกอบกับประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้ระหว่างการก้าวข้ามอุปสรรคที่พบ ก็เป็นอีกส่วนที่ช่วยให้ฉันตระหนักรู้ว่าตัวเองมีความสามารถที่ยืดหยุ่นต่อการปรับตัวและรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ คือเมื่อเผชิญกับความล้มเหลว ฉันจะลุกขึ้นได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งแข็งแกร่งยิ่งกว่าเดิม โดยฉันไม่เคยรู้เลยว่าฉันมีทักษะนี้ซุกซ่อนอยู่ในตัวอยู่แล้วมาโดยตลอด การออกท่องไปตามเส้นทางของการศึกษานี้ สำหรับฉันจึงเต็มไปด้วยการปรับพัฒนาต่อยอดกระบวนการออกแบบและโครงการจำนวนมาก ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากความหลงใหลในการออกแบบอันลึกซึ้งของฉัน และความสนใจในการแสวงหาหนทางการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก
art4d: โครงการได้รับผลตอบรับอย่างไร และคุณเห็นถึงโอกาสที่จะปรับปรุงพัฒนาโครงการต่อไปหรือไม่?
SO: แนวคิดและความคิดริเริ่มของโครงการซึ่งได้รับผลตอบรับในทิศทางที่ดี แน่นอนว่า ความพยายามของโครงการนี้มีศักยภาพที่จะพัฒนาต่อยอดขึ้นไปอีกขั้นได้ ฉันยังเชื่อมั่นว่า เมื่อมีความรักเป็นแรงผลักดัน ความรักก็ควรถูกส่งต่อและขยายขอบเขตออกไปทั่วทุกที่ของโลก โดยไม่มีเรื่องของพรมแดนใดๆ
art4d: ในมุมมองของคุณ หนังสือเล่มนี้มีความน่าสนใจอย่างไร และผู้อ่านจะได้อะไรจากหนังสือ?
SO: ฉันเชื่อว่าคนที่อ่านหนังสือเล่มนี้จะสามารถเพิ่มพูนประสบการณ์ผ่านชุดข้อมูลเชิงลึกที่บอกเล่าถึงความท้าทาย ซึ่งฉันได้เผชิญระหว่างการเรียนชั้นปีสุดท้ายของมหาวิทยาลัยในฐานะนักศึกษาวิชาออกแบบคนหนึ่ง ฉันคาดหวังว่าคนอ่านจะสามารถตระหนักรู้และเข้าใจได้ว่า สิ่งต่างๆ ที่เราจะต้องประสบพบเจอตลอดช่วงชีวิตจริงนั้น มันมากมายเกินกว่าแค่การย่างเท้าเดินเล่นไปบนหนทางที่ราบรื่น
อย่างไรก็ตาม หากเรายึดมั่นในความเพียรพยายาม สิ่งนี้ก็จะเข้ามาช่วยพลิกผัน เบนนำเรากลับสู่หนทาง ที่ปลายสุดมีรางวัลอันเกินความคาดหมายซึ่งเราได้คิดไว้แต่แรกรอคอยเราอยู่ เป้าประสงค์ของการถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านี้คือต้องการสร้างความเข้าใจถึงกระบวนการสร้างงานออกแบบได้อย่างครอบคลุม ผ่านการเน้นย้ำถึงศักยภาพของกระบวนการข้างต้น ซึ่งกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่มีความหมาย
แง่มุมน่าสนใจที่สุดของหนังสือเล่มนี้สำหรับฉันก็คือการถ่ายทอดเรื่องราวการเดินทางที่ฉันประสบพบเจอ ควบคู่ไปกับผลกระทบจากความท้าทายในอดีต ซึ่งสร้างการเปลี่ยนแปลงให้บางสิ่งบางอย่างต่างออกไป ที่ส่งผลโดยตรงต่อลักษณะนิสัยของฉัน ฉันอยากให้คนอ่านเกิดความเห็นอกเห็นใจร่วมไปกับภาพในมุมมองของฉัน และฉันมั่นใจว่าคนที่เคยเผชิญหน้ากับการต่อสู้ดิ้นรนที่คล้ายกัน ก็จะพบกับเสียงสะท้อนกลับมาจากประสบการณ์ของฉัน
แน่นอนว่าเราทุกคนสามารถค้นพบความหวังและได้รับแรงบันดาลใจท่ามกลางอุปสรรคที่ฉันได้ฟันฝ่า และสิ่งสำคัญที่เราจะต้องทำความเข้าใจก็คือ การก้าวข้ามความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงที่จะส่งผลกระทบตามมานั้นอยู่ไม่ไกลเกินไขว่คว้า เราทุกคนล้วนมีศักยภาพที่จะเป็นผู้นำได้ในอนาคต และก็ไม่มีเหตุผลอะไรเลยที่จะดูแคลนทักษะความสามารถของตัวเราเอง
art4d: คุณมีความคิดเห็นอย่างไรกับบทบาทของนักออกแบบต่อสังคมและโลก?
SO: ในความคิดของฉัน นักออกแบบมีหน้าที่เป็นผู้แทนของสังคม และผลงานการออกแบบของเราก็ทำหน้าที่เป็นวิธีในการรับมือกับประเด็นเรื่องราวปัญหาต่างๆ ที่สังคมต้องเผชิญ เราเป็นตัวแทนของผู้คน และบางครั้งเราก็เป็นกระบอกเสียงให้กับคนอื่น เมื่อเราพูดคุยหรือแสดงออกผ่านงานออกแบบที่เราสร้างสรรค์ เราก็คือเสียงของหลากหลายผู้คน
เสียงที่เราใช้เพื่อนำพาไปสู่การเปลี่ยนแปลงจะอยู่ภายใต้รูปลักษณ์ของการออกแบบที่เราสร้าง หลายคนอาจมองข้ามงานออกแบบที่เราสร้างขึ้น รวมไปถึงกระบวนการต่างๆ ที่เราดำเนินการผ่านมา หากแต่เรายังคงถือครองบทบาทสำคัญของโลกไว้ เรามีส่วนร่วมในการประกอบสร้างโลกใบนี้ขึ้นมา และหากมองไปรอบๆ ทุกสิ่งที่เราสวมใส่และสัมผัส ล้วนถูกสร้างขึ้นโดยนักออกแบบ
ดังนั้นเราจึงเป็นผู้แบกรับความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่ในการสร้างและปรับเปลี่ยนโลกนี้ และเราก็ยังเป็นผู้กำหนดร่างภาพของอนาคตที่จะกำลังจะเกิดขึ้นด้วย นั่นคือเหตุผลที่ซึ่งฉันรู้สึกว่าจะต้องมีความรับผิดชอบอย่างสูงต่อการสร้างผลกระทบที่ยั่งยืนให้กับโครงการนี้ซึ่งจะยังดำรงอยู่สืบต่อไปจากรุ่นสู่รุ่น ฉันต้องการให้โครงการนี้สะท้อนและส่งเสียงต่อให้กับผู้อื่น และอีกหลายคนที่กำลังดำเนินชีวิตอย่างดิ้นรน เพื่อสื่อสารแทนพวกเขา อีกทั้งสร้างความตระหนักรู้ถึงความรักอันเป็นสิ่งที่พวกเขาต้องการ ร่วมไปกับการสนับสนุนหยิบยื่นให้แก่โลก ประกอบกับการส่งเสียงสะท้อนนั้นให้ดังกึกก้องถึงเรา สิ่งต่างๆ ล้วนจำเป็นต้องถูกเปลี่ยนแปลง และมันจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ เรา นักออกแบบส่งเสียงแห่งการสร้างสรรค์เพื่อทำให้เกิดประโยชน์อันงดงาม
ด้วยแนวคิดของ Sarah Okafor ที่ต้องการผลักดันความคิดอย่างตรงไปตรงมาตลอดทั้งเล่ม ประกอบกับกระบวนการออกแบบที่ถูกตั้งใจทำให้เบาบางในสถานะเครื่องมือหุ้มห่อเรื่องราว ก็เอื้อให้เกิดการตระหนักรับรู้และอ่านบางสิ่งบางอย่างได้ในหลากหลายระนาบมิติที่ทั้งสมบูรณ์แบบและไม่สมบูรณ์ อาจกล่าวได้ว่า หนังสือเล่มนี้จะนำเราก้าวข้ามขอบเขตมุมมองการรับรู้แบบเดิม เป็นตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจของความมุ่งมั่นที่จะมีส่วนร่วมแก้ปัญหาเร่งด่วนของโลก ในการจัดการขยะและให้ข้อมูลที่มีส่วนสำคัญต่อความเข้าใจของเราเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน
arch.au.edu
facebook.com/arch.au.edu
thezerobooks.com/share-the-love-save-the-world