AESOP SIGNATURE STORE

บรรยากาศใหม่ของแบรนด์ Aesop บนย่านทองหล่อ จากการออกแบบของสถาปนิกท้องถิ่น Sher Maker ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น แต่กลมกลืนกับคอมมูนิตี้ได้อย่างลงตัว

TEXT: KAWIN RONGKUNPIROM
PHOTO COURTESY OF AESOP

(For English, press here)

เรียกว่าเป็นธรรมเนียมสำหรับแบรนด์ระดับโลกไปแล้วที่เวลาอยากจะสื่อสารกับคนท้องที่ก็จะต้องทำตัวให้กลมกลืนกันไป ซึ่งเรามักเห็นกลยุทธ์ที่แตกต่างหลากหลาย แต่การออกแบบร้าน ไม่ว่าจะเป็นตัวสถาปัตยกรรมหรือการตกแต่งภายในก็ตาม ดูจะเป็นกลยุทธ์การสื่อสารหนึ่งที่ได้รับความนิยมและทรงประสิทธิภาพเสมอ

aesop store

สำหรับ Aesop แบรนด์ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวระดับโลกจากประเทศออสเตรเลีย ก่อนหน้านี้มีพื้นที่ร้านกระจายตัวอยู่ตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ สอดรับไปกับพฤติกรรมการจับจ่ายของคนกรุง แต่ลักษณะพื้นที่ร้านเช่นนี้กลับสร้างข้อจำกัดด้านการออกแบบให้กับแบรนด์หลายประการด้วยกัน ซึ่งประการสำคัญที่สุดก็คือเรื่อง ‘บรรยากาศ’ ที่เป็นอิสระจากความอึดอัด ความเร่งรีบ และความอึกทึก ซึ่งยากจะสร้างได้ในพื้นที่ขนาดเล็กและพลุกพล่าน นำมาซึ่งโจทย์ใหม่ของแบรนด์กับการเปิด signature store แห่งแรกของไทยในย่านทองหล่อ ที่ทางแบรนด์มองว่าเป็นคอมมูนิตี้ที่มีเอกลักษณ์ ประกอบกับลักษณะของพื้นที่โครงการที่ช่วยให้ส่งมอบประสบการณ์ให้ลูกค้าได้เต็มร้อยตามความตั้งใจ

aesop store

Marianne Lardilleux, Head of Store Design, Aesop

“เรามีวิธีการออกแบบที่เชื่อมโยงตัวงานสถาปัตยกรรมกับบริบทของท้องถิ่นนั้นๆ ให้สอดแทรกตัวเราเข้าไป เพื่อสร้างบางอย่างที่มีคุณค่าโดยไม่ทำลายความเป็นหนึ่งเดียวกัน เรามองไปที่พื้นที่โครงการและพยายามเก็บฟาซาดเดิมของอาคารไว้ ใช้ภาษาที่ยึดโยงกันได้เพื่อสื่อถึงสิ่งที่เราให้คุณค่าในงานออกแบบ” Marianne Lardilleux, Head of Store Design จาก Aesop เล่าให้ art4d ฟังถึงทิศทางการออกแบบพื้นที่ร้านของแบรนด์

จะเห็นว่าตัวแปรสำคัญที่ปรากฏในสมการของการออกแบบคือ บริบทของท้องถิ่น ทำให้ signature store ทั่วโลกของ Aesop มีกระบวนทำงานร่วมกันกับสถาปนิกท้องถิ่นเสมอ โดยแบรนด์จะให้โจทย์เป็นเป้าหมาย พร้อมคอยให้คำแนะนำเรื่องรายละเอียดการทำงานที่จำเป็น เพื่อให้แต่ละพื้นที่สามารถใช้งานได้จริงและเป็นไปตามวัตถุประสงค์ ก่อนที่จะปล่อยให้สถาปนิกท้องถิ่นตีความด้วยแนวคิดของพวกเขาเอง

สถาปนิกท้องถิ่นของไทยที่เข้ามารับหน้าที่ออกแบบ signature store แห่งนี้ร่วมกับทางแบรนด์ก็คือ Sher Maker จากจังหวัดเชียงใหม่ ด้วยแนวทางการทำงานของสตูดิโอที่ถ่ายทอดความเป็นพื้นถิ่นและความยั่งยืนได้อย่างชัดเจน ทำให้ดูเหมือนว่าทั้งสองฝั่งต่างก็มองเห็นจุดหมายปลายทางของผลงานในทิศทางเดียวกันโดยอัตโนมัติ

aesop store

aesop store

“เรานิยามว่า Aesop เป็นแบรนด์ที่ใส่ใจและจริงใจ ในตลาดมีแบรนด์ผลิตภัณฑ์ทางความงามไม่มากนักที่เข้าใจเรื่อง ‘ความงามของความไม่สมบูรณ์’ ที่ปรากฏผ่านตัวอาคารหรือการออกแบบ และเมื่อมองลึกลงไป แบรนด์ให้น้ำหนักกับความยั่งยืนทางวิธีคิดเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและความสัมพันธ์ระหว่างแบรนด์และผู้ร่วมงานเป็นอย่างมาก” พัชรดา อินแปลง หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Sher Maker พูดถึงความรู้สึกที่มีต่อแบรนด์ ก่อนจะอธิบายถึงโจทย์ที่ได้รับมา ซึ่งประกอบด้วยการออกแบบพื้นที่ทั้งหมดของร้าน รวมไปถึงของใช้และของตกแต่งต่างๆ ให้สะท้อนความใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนไปพร้อมกัน

นอกจากโจทย์ตั้งต้นแล้ว สถาปนิกยังได้รับวัสดุหลักเป็น พื้นไม้ จากโครงการเก่าในอาคารเดียวกันนี้ โดยปกติแล้ว เรามักจะเห็นกระบวนการทำงานกับวัสดุอย่างเข้มข้นในผลงานเก่าๆ ของ Sher Maker ซึ่งในโปรเจ็กต์นี้ เราได้เห็นกระบวนการจัดการกับวัสดุอย่างเป็นระบบ โดยเริ่มจากขั้นตอนการรื้อไม้ออกมาจัดกลุ่มตามขนาด ทำสารบัญไม้ และคัดหน้าไม้ให้เหมาะสมกับการใช้งานต่อไป โดยแทบไม่ได้บิดเบือนหรือตัดแต่งตัวไม้ให้ต่างไปจากเดิม จนเรียกได้ว่าเป็นการใช้อย่างซื่อตรงตามรูปแบบของไม้ที่มีเสียมากกว่า ในส่วนของโครงสร้างไม้ขนาดใหญ่อย่าง เสาไม้ สถาปนิกได้เดินทางไปค้นหาไม้เหลือใช้ที่มีลักษณะเหมาะสมจาก อำเภอบางบาล จังหวัดอยุธยา มาใช้เพิ่มเติมด้วย

aesop store

ความอบอุ่นและเป็นมิตรของไม้จึงส่งผ่านออกไปยังชุมชนตั้งแต่หน้าร้าน ที่ยกพื้นไม้ขึ้นมาให้อยู่ในระดับที่นั่งได้สบาย เพื่อใช้เป็นจุดนั่งพักคอยและต้อนรับด้วยความรู้สึกของเรือนไทยเดิม ก่อนจะเปิดประตูสู่พื้นที่หลักของร้าน โดยมีเคาน์เตอร์ไม้ตั้งเด่นอยู่กลางร้านที่เห็นได้ถึงกลวิธีการเข้าเดือยมุมแบบท้องถิ่น อุปกรณ์ตกแต่งบนเคาน์เตอร์ถูกปรับแต่งให้ใช้วัสดุในประเทศทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นอ่างล้างมือจากหินแกรนิต หรือฝาปิดกล่องไม้ที่ทดแทนวัสดุโลหะแบบเดิม พื้นที่ฝั่งขวาเรียงตัวด้วยชั้นวางไม้ที่จัดวางผลิตภัณฑ์อย่างเป็นระเบียบ ในขณะที่ฝั่งซ้ายเป็นส่วนบริการและที่นั่ง รวมถึงเส้นทางสู่โซนไฮไลต์ของ signature store แห่งนี้

aesop storeaesop store

ไม้เดิมส่วนใหญ่ถูกนำมาสร้างเป็นพื้นที่ที่มีชื่อเรียกว่า ‘Sensorium’ หรือโซนผลิตภัณฑ์น้ำหอม โดยมีขนาดประมาณหนึ่งในสี่ของร้านทั้งหมด สเปซส่วนนี้ถูกกรุโดยรอบด้วยผนังไม้แบบเรือนฝาไหล หรือผนังไม้สองชั้นที่ตีเว้นช่องสลับกันและสามารถเลื่อนไปมาเพื่อควบคุมแสงและลมได้ ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของเรือนไทยภาคเหนือและภาคกลางตอนบน โดยมีจุดประสงค์ในการควบคุมแสงให้เกิดบรรยากาศสลัวและเป็นส่วนตัวได้ตามต้องการ ทำให้ผู้ใช้งานจดจ่ออยู่กับกลิ่นได้มากยิ่งขึ้น

aesop store

กลางห้อง Sensorium เป็นที่ตั้งของกระบะดินที่จำลองเอาลักษณะและการใช้งานของหลุมไฟในงานสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นเอาไว้ด้วยเช่นกัน โดยนำมาประยุกต์ใช้วางเครื่องหอมและปรุงชาได้ด้วย ช่วยให้รู้สึกสงบและสะท้อนถึงความละเมียดละไมได้พร้อมๆ กัน

กระบวนการสร้างผนังฝาไหลนี้มีความซับซ้อนสูงมาก จนทำให้สถาปนิกตัดสินใจทำ mock-up ในสเกล 1:2 หรือครึ่งหนึ่งของขนาดจริงที่สตูดิโอเลยทีเดียว เพื่อให้ผู้รับเหมาสามารถทำความเข้าใจระบบการก่อรูปและทำให้ผนังเลื่อนได้จริง รวมถึงทำให้เจ้าของโครงการเห็นภาพที่ตรงกันด้วย

aesop store

จากการทำงานร่วมกันของ Aesop และ Sher Maker นี้ เราจึงได้เห็นผลงานที่พยายามหาจุดสมดุลระหว่างความเรียบเนี้ยบกับความไม่สมบูรณ์ ความเป็นเอกลักษณ์กับความกลมกลืน ความอบอุ่นกับความสงบ ผู้สนใจสามารถไปเยี่ยมชม Aesop Signature Store ได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 10.00 – 20.00 น. นอกจากนี้ทางผู้ออกแบบแนะนำมาว่า ถ้ามาเยี่ยมชมช่วงหัวค่ำ จะได้รับความรู้สึกพิเศษและความประทับใจเฉพาะตัวจาก Signature Store แห่งนี้ด้วย

aesop.com
facebook.com/aesop

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *