MATERIAL INNOVATION LAB KMITL

โปรเจ็กต์ปรับปรุงอาคารปฏิบัติการเก่าที่มีอายุกว่า 50 ปีของคณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เพื่อรองรับกิจกรรมที่หลากหลายของนักศึกษา

TEXT: XAROJ PHRAWONG
PHOTO: RUNGKIT CHAROENWAT

(For English, press here)

ในความพยายามของสถาปนิกที่พยายามบอกเล่าเรื่องราวงานที่ตัวเองออกแบบ หนึ่งในหลายๆ วิธีนั้นคือการบอกด้วยความสัมพันธ์ของวัสดุในบริบท แล้วถ้าเป็นสถาปัตยกรรมที่ต้องรองรับกิจกรรมการเรียนสถาปัตยกรรมด้วยนั้น การบอกเล่าเรื่องราวยิ่งต้องเป็นกรณีศึกษาที่ดีให้แก่นักศึกษา ซึ่งหนึ่งในวิธีออกแบบนี้ก็มีคำตอบด้วยการเล่าผ่านงานช่างฝีมือ

material innovation

อาคารปฏิบัติการเก่าที่มีอายุ 50 ปีกว่าของคณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังได้เริ่มมีการปรับปรุงให้รองรับกิจกรรมที่เปลี่ยนไปของนักศึกษา จากเดิมที่เป็นอาคารปฏิบัติงานไม้ สถาปนิกได้เข้าไปสำรวจเพื่อมองหาความเป็นไปได้ในกิจกรรมใหม่ การออกแบบจึงเป็นคำตอบที่มีไว้สำหรับรองรับกิจกรรมหลากหลายที่มีความยืดหยุ่นของนักศึกษาในวันข้างหน้า โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ธีรชัย ลี้สุรพลานนท์ และคณะผู้ออกแบบจากคณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เป็นสถาปนิกเข้ามาดูแลการปรับปรุงให้พื้นที่เก่ามีชีวิตชีวาขึ้นสำหรับนักศึกษาในปัจจุบัน 

material innovation

material innovation

จากพื้นที่เดิมเป็นอาคารชั้นเดียวที่มีโถงโล่งสูง 6 เมตร ได้มีการปรับพื้นที่ใช้ใหม่เป็น 2 ชั้น โดยชั้นที่ 1 เป็นพื้นที่โล่งไว้รองรับกิจกรรมอเนกประสงค์ที่จะเกิดขึ้นเพื่อรองรับการเรียนการสอนเกี่ยวกับการปฏิบัติการด้านวัสดุในงานสถาปัตยกรรม ในส่วนสเปซเปลี่ยนถ่ายก็เป็นการออกแบบบันไดจากพื้นที่ชั้น 1 ไปชั้น 2 ด้วยการสร้างเป็น event stair ทำให้บันไดเป็นทั้งพื้นที่สัญจรในแนวดิ่ง และขณะเดียวกันก็สามารถเป็นที่นั่ง รองรับกิจกรรมอเนกประสงค์ อย่างเช่นเป็นงานปัจฉิมนิเทศของภาควิชาที่เพิ่งจัดไป พื้นที่ชั้น 2 แบ่งออกเป็นห้องปฏิบัติการย่อยเพื่อรองรับกิจกรรมการค้นคว้าทางด้านสถาปัตยกรรม ห้องประชุมขนาดเล็ก และห้องพักอาจารย์ที่จะมาใช้อาคารปฏิบัติการนี้เป็นประจำ

การจัดผังอาคารเป็นไปอย่างเรียบง่ายตรงไปตรงมา เมื่อมองในรูปตัดแล้ว สเปซเป็นลักษณะตัว L ที่เปิดโอกาสให้มีการระบายอากาศร้อนให้ลอยตัวขึ้นจากชั้นที่ 1 ขึ้นไปยังด้านบน และสามารถระบายอากาศร้อนออกได้ทั้งจากผนังอิฐโปร่ง และผนังบานเกล็ดไม้ที่เป็นวัสดุหลักที่หุ้มรอบอาคารอยู่ สถาปนิกเชื่อในการวางผังแบบเดิมที่คำนึงถึงเรื่องทิศทางแดดลมตามรูปแบบสถาปัตยกรรมเมืองร้อน การปรับปรุงส่วนภายนอกจึงคำนึงถึงจังหวะของการเปิดปิดส่วนทึบและโปร่ง ด้านสกัดของอาคารจึงเป็นส่วนทึบเพื่อป้องกันแดดและป้องกันความวุ่นวายจากถนนทางเข้าหลักที่มีการสัญจรจอแจ ในด้านยาวของอาคารเป็นการเปิดออกทั้งทิศเหนือและใต้ด้วยผนังอิฐโปร่งและหน้าต่างบานเกล็ดเพื่อรับลมเข้าและให้ลมออก เกิดการไหลเวียนอากาศที่ดี ผนังด้านทิศเหนือที่แดดส่องเข้ามาน้อย จึงเป็นด้านที่ใช้หน้าต่างบานเกล็ดกระจกใส พร้อมกับเปิดรับมุมมองจากสวนป่าด้านทิศเหนือ

material innovation

material innovationmaterial innovation

ส่วนที่โดดเด่นของอาคารนี้เมื่อปรับปรุงแล้วคือเปลือก เกิดจากแนวคิดที่สถาปนิกต้องการ ‘ผนังหายใจได้’ สิ่งนี้ได้ถูกแสดงออกเป็นผนังอิฐดินเผาโชว์แนวกึ่งทึบกึ่งโปร่ง ด้วยวิธีการก่อสลับแนว โดยแถวแรกจะเป็นการก่อแบบผนังชั้นเดียวเรียงไปตามแนวทั่วไป ส่วนแถวที่สองจะเป็นการก่อด้วยการจับอิฐตั้งฉากกับแถวแรก 90 องศา โดยให้ด้านสั้นของอิฐอยู่ตรงกลางระหว่างรอยต่อของอิฐแถวแรกจนเกิดช่องว่าง 13 เซนติเมตร การก่อผนังแบบนี้ทำให้ผนังมีความพรุน เหมาะกับการระบายอากาศ พร้อมกับแสดงถึงรายละเอียดในการออกแบบที่ใช้วัสดุทั่วไปให้มีลูกเล่นน่าจดจำ

material innovation

material innovationmaterial innovationmaterial innovation

ในส่วนด้านทิศตะวันออกของอาคาร สถาปนิกออกแบบให้เปลือกเป็นผนังไม้เทียมขนาด 6” กรุไล่ระดับ ผนังด้านบนจะติดตั้งผนังเป็นตีเกล็ดทึบในด้านบนตั้งแต่ใต้สันหลังคาลงมา 2.20 เมตรเพื่อป้องกันแดดและฝนสาด จากนั้นตั้งแต่ระดับคานหลังคาลงมาถึงพื้นชั้น 1 เป็นการใช้ผนังบานเกล็ดเว้นระยะ 12 เซนติเมตร แต่มีความพิเศษด้วยการติดตั้งบานเกล็ดให้มีการไล่ความเอียงในองศาต่างๆ กันอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยที่ด้านล่างตั้งแต่พื้นชั้น 1 จะติดตั้งบานเกล็ดเอียง 40 องศา จากนั้นจะค่อยๆ เพิ่มองศาความเอียงจนถึง 85 องศาที่ระดับคานหลังคาในที่สุด ผลลัพธ์ของเปลือกจึงมีรายละเอียดงานช่างที่แสดงตัวแบบไม่โจ่งแจ้งตลอดหลายส่วนของอาคาร อาทิ การออกแบบเสารับหลังคาด้านทิศใต้ที่ใช้เสาไม้แดงขนาด 2”x6” ประกบกันและคั่นด้วยไม้สักประกับขนาด 2”x4” ให้เกิดช่องว่าง จากนั้นจบงานโคนเสาด้วยเหล็กขนาด 100×100 มิลลิเมตร ทำให้เสาดูเบาอย่างน่าสนใจ โดยที่มาของเสาไม้เป็นการดัดแปลงไม้ที่เก็บไว้ในอาคารเดิมหลายปี นำมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์เต็มที่

material innovation

ในวันที่ไปเยือน ผู้เขียนได้พบกับลมพัดระบายอากาศเต็มที่ จนได้เห็นถึงผลลัพธ์ที่สถาปนิกตั้งใจไว้ คำถามสุดท้ายกับสถาปนิกถึงการใช้อิฐดินเผามาเป็นผนังแทนที่จะเลือกวัสดุอื่นที่แสดงความเป็นช่างฝีมือได้เช่นกัน และราคาค่าก่อสร้างที่ถูกกว่า ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธีรชัย ลี้สุรพลานนท์ สถาปนิกงานนี้ได้บอกไว้ว่า

“ที่อาคาร workshop หลังเก่าก็ใช้ผนังอิฐ อาคารในลาดกระบังส่วนใหญ่ก็เป็นผนังอิฐ อิฐที่เลือกใช้ในการปรับปรุงครั้งนี้ เราเลือกใช้อิฐยี่ห้อดั้งเดิม รูปทรงเดิมตั้งแต่แรกสร้างเมื่อ 50 ปีก่อน ที่เราพบจากการรื้อถอนผนังอาคารเดิม เลยเลือกวัสดุที่จะสื่อถึงที่ตั้งได้ ซึ่งก็คืออิฐนี่ล่ะ”

aad.kmitl.ac.th
facebook.com/aadkmitl
facebook.com/StudioPhaSarn

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *