SILPA BHIRASRI: 100 YEARS AFTER HIS ARRIVAL IN THAILAND

‘100 ปี ศิลป์สู่สยาม’ ถ่ายทอดชีวประวัติของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี บุคคลสำคัญของวงการศิลปะไทย ในรูปแบบที่แตกต่างด้วยเนื้อหาที่กระชับ ควบคู่กับบรรดาภาพถ่ายจากอดีต

TEXT: SURAWIT BOONJOO
PHOTO: KETSIREE WONGWAN

(For English, press here)

100 ปี ศิลป์สู่สยาม
วิจิตร อภิชาติเกรียงไกร
สำนักวิจัยศิลป์ พีระศรี, 2566
ออกแบบ: สำนักวิจัยศิลป์ พีระศรี / ไทยฟอร์ม สตูดิโอ
ปกแข็ง

‘100 ปี ศิลป์สู่สยาม’ จัดทำขึ้นเนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปี ของการเดินทางมาถึงประเทศไทยและเข้ารับราชการที่กรมศิลปากรของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ในปี พ.ศ. 2466 และต่อมาได้กลายเป็นบุคคลสำคัญผู้มีบทบาทต่อการวางรากฐานสำคัญต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องต่อศิลปวัฒนธรรมไทยในหลากหลายสิ่ง หนังสือตีพิมพ์และเผยแพร่โดยสำนักวิจัยศิลป์ พีระศรี อีกทั้งยังเป็นผู้ออกแบบและจัดทำรูปเล่มร่วมกับไทยฟอร์ม สตูดิโอ โดยมี วิจิตร อภิชาติเกรียงไกร เป็นบรรณาธิการ ซึ่งรวบรวม เรียบเรียง พร้อมนำเสนอเนื้อหาชีวประวัติที่ทั้งแตกต่างและน่าสนจากชุดหนังสือบอกเล่าเรื่องราวชีวิตและการทำงานเล่มอื่น ๆ ด้วยชุดเนื้อหาที่สรุปความไว้อย่างสั้นกระฉับ ควบคู่ไปกับการถ่ายทอดสื่อสารด้วยภาพถ่ายซึ่งรวบรวมจากหลากหลายแหล่งที่มา และจัดเรียงเล่าความใหม่สำหรับเนื้อหาในส่วนแรก

ข้อมูลตลอดทั้งเล่มสามารถแบ่งเนื้อหาได้เป็นสองส่วน คือเรื่องราวส่วนบุคคลในส่วนแรกที่เริ่มต้นบอกเล่าตั้งแต่เรื่องราวชีวิตซึ่งต้องโยกย้ายเดินทางจากประเทศอิตาลี มารับราชการดูแลการปั้นหล่อประติมากรรมในประเทศไทย การศึกษา การทำงาน รวมไปถึงตัวอย่างผลงานประติมากรรมและงานออกแบบอนุสาวรีย์ชิ้นสำคัญ ขณะที่อีกส่วนชี้แนะถึงคุณูปการต่อการวางรากฐานศิลปะสมัยใหม่สู่สังคมไทย ที่นำเสนอด้วยหกคุณูปการของการทำงานเพื่ออุทิศและผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์ของศิลปะไทยให้ทัดเทียมกับนานาประเทศในช่วงเวลาดังกล่าวผ่านหลากหลายประเด็นและส่วนงาน อาทิ บทบาทผู้ก่อตั้งสถาบันศิลปะและขับเคลื่อนแนวทางการศึกษาศิลปะสมัยใหม่ การริเริ่มส่งเสริมการจัดประกวดและการแสดงผลงานศิลปะระดับชาติ ‘ศิลปกรรมแห่งชาติ’ และการตีพิมพ์เผยแพร่งานเขียน ทั้งข้อเขียนและบทความวิจารณ์ และตำราวิชาการ ด้วยรูปแบบบทความที่เรียบเรียงเนื้อหาขึ้นใหม่ในแต่ละที่เคยเผยแพร่โดยกองบรรณาธิการนิตยสาร Art Record ฉบับ 109 ปี ศิลป์ พีระศรี ปี พ.ศ. 2544

ปิดท้ายด้วยบทสัมภาษณ์ที่เสนอถึงมุมมองเรื่องราวชีวิตทั่วไปอันแสนปกติธรรมดาผ่านกรอบสายตาของมาลินี พีระศรี ภรรยาของอาจารย์ศิลป์ และจบเรื่องเล่าด้วยข้อมูลของผลงานซึ่งชวนหวนระลึกถึงการจากไป อย่างอนุสาวรีย์อาจารย์ศิลป์ และป้ายแผ่นหินหลุมศพ ก่อนย้อนกลับประมวลข้อมูลทั้งหมดและถ่ายทอดเพียงเฉพาะส่วนสำคัญระหว่างช่วงชีวิต การศึกษา การทำงาน และการสร้างสรรค์ผลงานนับตั้งแต่เข้ารับราชการอีกครั้ง ต่อเนื่องด้วยข้อมูลผลงานที่ย่นย่อยเป็นผลงานออกแบบอนุสาวรีย์ แบบร่างและออกแบบอนุสาวรีย์ และผลงานประติมากรรมบุคคลในรูปแบบเส้นเวลา ที่ช่วยสรุปเน้นย้ำข้อมูลสำคัญและฉายภาพรวมของช่วงขณะการดำเนินไปตลอดช่วงเวลาชีวิตอีกครั้งหนึ่ง

กรอบกลวิธีการเล่าและถ่ายทอดเรื่องราวของหนังสือ ‘100 ปี ศิลป์สู่สยาม’ ได้เชิญชวนให้ตระหนักถึงความพยายามผลักดัน ประกอบสร้าง และเผยเสนอหลากหลายบทบาทและหน้าที่ของอาจารย์ศิลป์ ที่ก่อประกอบสภาพแวดล้อมศิลปะสมัยสู่สังคมไทยให้สามารถตระหนักรู้และเข้าใจได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งมอบมิติการอ่านรูปแบบใหม่จากการประกอบสร้างของหลากหลายชุดข้อมูล จนอาจกล่าวได้ว่าเป็นการผนวกรวบรวมชุดข้อมูลที่กระจัดกระจาย และเรียงร้อยเสนอเล่าความใหม่ภายใต้มุมมองเฉพาะกาลครั้งนี้เข้าไว้ด้วยกันได้อย่างพอดิบพอดี หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่สามารถขมวดรวมเพื่อเล่าถึงช่วงชีวิต อีกทั้งชี้แนะและเสนอถึงบทบาทของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ต่อการพลิกเปลี่ยนและวางฐานรากให้กับศิลปะสมัยใหม่ของประเทศไทยไว้ค่อนข้างสมบูรณ์และน่าติดตาม ซึ่งจะเป็นประวัติศาสตร์ให้ค้นคว้า ศึกษากันต่อไปในอนาคต

facebook.com/SilpaBhirasriResearchCenter

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *