SAWITA POONSATIEN

Photo: Ketsiree Wongwan

ทำความรู้จักการทำงานของ ศวิตา พูลเสถียร ในฐานะช่างภาพข่าว ที่เดินตามความสนใจของตัวเองจนกลายเป็นผู้บันทึกเสี้ยววินาทีของเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองต่างๆ ในประเทศไทย

TEXT: NATHATAI TANGCHADAKORN
PHOTO: SAWITA POONSATIEN EXCEPT AS NOTED

(For English, press here)

ในมิติของงานออกแบบและสถาปัตยกรรม เราอาจไม่เคยได้ยินชื่อของ เพ้นท์-ศวิตา พูลเสถียร ในฐานะช่างภาพ แต่ถ้าเป็นในโลกโซเชียลมีเดียที่เรายกโทรศัพท์ขึ้นไถผ่านอยู่ทุกวัน หลายคนคงต้องเคยเห็นภาพของศวิตาที่เป็นไวรัลกันมาบ้าง อาทิ รูป ‘ทิม-พิธา ชูหนึ่งนิ้ว’, ‘ไอซ์-รักชนก เบะปาก’ หรือภาพควันจากปืนใหญ่ที่คลุ้งโขมงขึ้นเป็นรูปอะไรบางอย่าง ที่หลายคนคงเคยเห็นแต่ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ถ่าย

ศวิตา พูลเสถียรศวิตา พูลเสถียร

ศวิตา พูลเสถียร

ปัจจุบันศวิตาเป็นช่างภาพข่าวในกองข่าวไทยของ THE STANDARD และเป็นที่รู้จักจากอารมณ์ขันในภาพของเธอ เดิมทีศวิตาสนใจในศาสตร์การทำภาพยนตร์ ทว่าหันเหมาทางการถ่ายภาพนิ่ง โดยหลังจากเริ่มต้นเส้นทางการสะสมผลงานผ่านเพจเฟซบุ๊กของตัวเองระหว่างเรียน ศวิตาก็เลือกตะลุยเส้นทางสายนักข่าวเป็นครั้งแรกด้วยการยื่นฝึกงานกับ THE STANDARD และลงเอยด้วยการทำงานมาอย่างต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งด้วยผลงานอันเตะตาสาธารณะชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพเหตุการณ์ทางการเมืองทั้งหลายแหล่ที่บางรูปก็เรียกเสียงขำขันได้มากเสียจนแพร่กระจายกันไปในวงกว้าง ในขณะที่บางรูปก็สะท้อนสัญญะบางอย่างออกมาให้คนทั่วไปอย่างเราๆ ตีความ เธอจึงกลายเป็นที่สนใจในฐานะ ‘ช่างภาพข่าวหญิง’ ที่หาตัวจับยากในวงการแสนสมบุกสมบันนี้

ศวิตา พูลเสถียร

art4d: ในฐานะนักข่าวสายการเมืองเป็นหลัก คุณจัดการกับความ bias ยังไงบ้าง

Sawita Poonsatien: คิดว่าทุกคนมีความชอบส่วนตัวอยู่แล้ว หลายภาพของเราที่มันออกมาเป็นมีม (meme) จนไวรัล สุดท้ายแล้วก็ยังอยู่บนบรรทัดฐานของความเป็นจริง เราไม่ได้ใช้สีหน้าในการบิดเบือนสาร บางครั้งอาจจะถ่ายเสี้ยววินาทีนั้นมาได้ แต่ถ้าภาพนี้ปล่อยออกไปแล้วมันจะทำให้ความหมายของภาพมีการบิดเบือนเราก็ไม่เลือกใช้ เช่น เราเคยไปถ่ายภาพนายกเศรษฐากับน้องหยกที่เขามายืนถือป้ายเชิงสัญลักษณ์ ในบริบทนั้นนายกฯ อาจจะเกิดปากแห้ง มีการเลียริมฝีปากตัวเอง ถ้าเราเก็บโมเมนต์นั้นมาจะกลายเป็นภาพนายกเศรษฐาแลบลิ้นใส่น้อง เราก็ไม่เอาภาพมาใช้ แม้ภาพนั้นจะเกิดขึ้นจริง เราถ่ายได้จริง ไม่ได้เมคขึ้นมา แต่บางเหตุการณ์อาจทำให้เกิดการเข้าใจผิดได้

ศวิตา พูลเสถียร

art4d: มีงานไหนที่ขอออกไปถ่ายเองแล้วรู้สึกว่าน่าสนใจบ้าง

SP: ช่วงโควิดมีหลายงานที่พอเราลงไปทำข่าวแล้วได้รับการเปลี่ยนแปลง จะมีงานที่ไปถ่ายคนรอฉีดวัคซีนที่ทุกคนอาจจะพอคุ้นกันอยู่แล้ว ตอนเราเข้าไปถ่ายมันดูแออัด แต่เช้าอีกวันหนึ่งสภาพตรงนั้นก็เปลี่ยนไป

หมายที่เราลองไปเกาะติดระหว่างช่วงโควิดอีกอันหนึ่งก็คือแคมป์ของคนงานต่างชาติ เขาถูกล็อคดาวน์ไม่ให้ออกไปไหนเลยประมาณ 30 วัน ตอนนั้นเราลองดูตรงแคมป์วัดไผ่ตันที่ใกล้เรา ซึ่งค่อนข้างเสี่ยงเพราะในตัวแคมป์มีคนติดโควิดแล้วประมาณครึ่งหนึ่ง แต่เราอยากจะเข้าไปให้ทุกคนเห็นว่าการล็อคดาวน์แคมป์มันเป็นอย่างไร แล้วเขาใช้ชีวิตอยู่กันยังไงบ้าง หลังไปฝังตัวอยู่ประมาณหนึ่งวันก็ได้ออกมาเป็นภาพชุดหนึ่ง เรารู้สึกว่าชิ้นนี้ก็เป็นอีกงานที่ทำให้ได้รู้เรื่องเชิงลึก เรื่องวงใน ได้เข้าไปดูชีวิตพวกเขาด้วยตัวเอง รู้สึกว่าเป็นอีกงานหนึ่งที่ไม่ได้ถ่ายในรูปแบบเดิมๆ

ศวิตา พูลเสถียรศวิตา พูลเสถียร
ศวิตา พูลเสถียร

แคมป์วัดไผ่ตัน (2564)

ศวิตา พูลเสถียร

แคมป์วัดไผ่ตัน (2564)

art4d: เคยมีข่าวที่ต้องรอนานๆ และรอแบบไม่รู้ว่าผลลัพธ์สุดท้ายจะเป็นยังไงไหม

SP: หมายที่เกี่ยวกับนักโทษหรือศาล หรือพูดเป็นภาษาคนทำงานข่าวจะเรียกกันว่า ‘หมายเหนื่อยน้อยคอยนาน’ คือข่าวที่เราถ่ายแค่แป๊บเดียวแต่ต้องใช้เวลาคอยทั้งวัน ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดๆ เช่น พวกหมายปล่อยตัวนักโทษทางการเมืองจากเรือนจำ สมมติเขาบอกว่าเขาจะปล่อยตัวคนนี้ เย็นนี้ตอนห้าโมงแน่นอน พวกนักข่าวก็จะเริ่มอัปเดตกันว่าศาลเขายื่นหนังสือหรือยัง เราก็จะประเมินกันเองว่าถ้ายังไม่ยื่นหนังสือก่อนเวลาราชการ จะต้องกลายเป็นไปปล่อยตัวอีกวันแทนแล้วนะ แถมบางทีในกลุ่มคนที่ไปรอ คนนี้บอกอีกอย่างคนนั้นก็บอกอีกอย่าง สุดท้ายเราก็ต้องรอจนถึงที่สุด หรือปกติเราคิดว่าสุดท้ายเขาก็ต้องปล่อยเวลาราชการ เลทสุดห้าโมงใช่ไหม ความจริงงานบางงานก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้น เคยรอถึงสี่ห้าทุ่มกว่าจะปล่อยตัวก็มี

ศวิตา พูลเสถียร

art4d: ประโยคที่ได้ยินคุณพูดบ่อยๆ คือ อยากถ่ายภาพที่เซ็ตไม่ได้ เคยเจอเหตุการณ์ไหนที่เซ็ตอะไรไม่ได้เลย

SP: คิดว่าหมายปล่อยตัวนักการเมืองนี่แหละ การที่เราจะปล่อยตัวนักโทษออกจากเรือนจำ ลักษณะเหตุการณ์คือบางคนก็เดินออกมา บางคนก็นั่งรถออกมา ถ้านั่งรถออกมาแล้วปล่อยตัวตอนเย็น ในรถจะมืดมากจนมองไม่เห็นว่าเป็นใคร ซึ่งบางคนเขาไม่เปิดกระจกให้เราถ่ายก็มี หรือต่อให้บางคนใจดีเปิดกระจกลง ทุกคนก็จะพุ่งเข้าไปเหมือนซอมบี้เพราะอยากได้ภาพ ถ้าคนหนึ่งยกกล้องปุ๊บพื้นที่ถ่ายก็แทบจะถูกบังหมดแล้ว เราเคยไปหมายประมาณนี้แล้วสุดท้ายได้รูปมาแค่ใบสองใบ สุดท้ายก็ต้องใช้เท่าที่มี

ศวิตา พูลเสถียร

art4d: เวลาออกไปถ่ายหมาย หรือกิจกรรมที่ไม่มีสัญญาณที่บ่งบอกได้ว่ามันจบแล้วนะ ปกติก็คือใช้เซนส์นักข่าวเอาเลยหรือเปล่า

SP: ถ้าที่เราใช้พูดกันเองกับเพื่อนสนิทก็คือ ‘วันนี้อิ่มแล้ว’ หมายถึงเราได้ภาพที่โอเคแล้วในระดับหนึ่ง และถึงอยู่ต่อก็น่าจะไม่มีเหตุการณ์ที่มากกว่านี้แล้ว ส่วนพวกหมายม็อบที่อาจจะมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นเราก็ต้องคอยประเมินสถานการณ์เอง บางทีเราตัดสินใจไม่ได้ก็อาจจะต้องปรึกษาบก.ว่าพอแล้วไหม กลับเลยไหม หรือถ้ามันอันตรายเกินไปจะยังไงต่อ ส่วนตัวของกองที่เราอยู่ถ้ามันอันตรายเกินเขาก็จะประเมินว่ามันไม่คุ้มเสี่ยง ให้ซื้อภาพจากพวกเอเจนซี่มาใช้แทน พวก Thai News Pix, Getty อะไรอย่างนี้

art4d: นิสัยช่างสังเกตที่เป็นอาวุธประจำตัวของนักข่าว เคยส่งผลย้อนกลับมาในชีวิตประจำวันไหม

SP: ส่วนตัวจะเป็นคนที่ค่อนข้างรักสัตว์ บางทีพอเราช่างสังเกตมากจนเกินไปเลยชอบเผลอเห็นซากสัตว์ที่ตายอยู่ข้างถนน เพราะเราขับมอเตอร์ไซค์ด้วย บางทีนกพิราบตาย หนูถูกเหยียบอะไรอย่างนี้ เราไม่ได้อยากเห็นนะ แต่เราแค่ช่างสังเกตมากจนเกินไป จนหลายครั้งเราต้องไปเห็นอะไรที่ไม่ได้อยากจะเห็น

art4d: นอกจากการถ่ายภาพข่าวที่มีคนเป็นองค์ประกอบหลัก เคยลองถ่ายอะไรมาบ้าง

SP: เคยถ่ายอาหาร ถ่าย packshot ตอนเข้า THE STANDARD แรกๆ ที่ยังฝึกงานอยู่ เราบอกเขาไปว่าเรามาฝึกกองหลักแต่ก็ยังอยากลองงานอื่นด้วย ถ้ากองไหนคนไม่พอก็เรียกได้ถ้าเป็นภาพนิ่ง ตอนนั้นได้ไปถ่ายพวกร้านกาแฟแล้วก็อาหารนั่นนี่ แต่รู้สึกว่ามันไม่ใช่ ไม่สนุก พอไม่มีคนแล้วเราไปต่อไม่ถูกว่าเราจะจัดองค์ประกอบยังไง ด้วยความที่เราอาจจะยังเพิ่งเริ่มกับมัน (การถ่ายอาหาร) ด้วย แต่เรารู้สึกไม่สนุกไปแล้วก็เลยไม่ทำต่อ ถ้าสมมติเราลองไปจริงจังกับมันนานกว่านี้เราอาจจะทำได้ดีก็ได้ แต่ว่าใน first impression รู้สึกไม่ใช่

ศวิตา พูลเสถียร

art4d: การพยายามถ่ายภาพที่สอดแทรกมุมขำๆ เข้าไปในภาพ นับว่าเป็นงานอดิเรกส่วนตัวไหม

SP: เราบังเอิญเห็นมากกว่า อาจจะด้วยความที่เราเสพอะไรพวกนี้มาเยอะ ตั้งแต่ม.ต้นจะมีพวกเพจโรงเรียนคอยถ่ายภาพนักกีฬาในโรงเรียนหรือว่ากิจกรรมต่างๆ ใช่ไหม แล้วบางทีมันมีจังหวะที่ตลกโดยไม่ได้ตั้งใจ พอเราซึมซับตรงนั้นมาเยอะเวลาเราออกไปถ่ายพอเห็นปุ๊บก็จะคิดได้ทันที มุมนี้มันใช่นี่หว่า เหมือนมีมอันนี้เลย เรารู้สึกว่าภาพมีมมันทรงพลังในการสื่อสารนะ สมมติภาพเดิมแค่เปลี่ยน text ก็ฮาเป็นอีกเรื่องหนึ่งได้แล้ว เราเลยรู้สึกว่ามันเจ๋งดี พอทำงานแล้วเราก็รู้สึกว่าการสอดแทรกความขำขันตรงนี้เข้าไป น่าจะทำให้ผู้เสพรู้สึกว่าภาพเราโดดเด่น แล้วก็คนดูจะได้มีอารมณ์ร่วมด้วย

ศวิตา พูลเสถียร

ศวิตา พูลเสถียรศวิตา พูลเสถียร

ศวิตา พูลเสถียร

art4d: ตอนนี้ในฐานะช่างภาพข่าว มีมุมมองอย่างไรกับภาพยนตร์

SP: เหมือนที่เขาพูดกันว่า ‘ถ้าเรียนทำหนังแล้วจะดูหนังไม่สนุกอีกต่อไป’ ถ้าเป็นตอนเรียนพอดูแล้วเราก็จะคิดนั่นคิดนี่ มุมแบบนี้มันถ่ายยังไง แต่ตอนนี้เราเสพเฉยๆ ได้แล้ว อาจจะมีบ้างว่ามุมหรือซีนนี้ในหนังมันดูทรงพลัง ดูมีความหมาย บางทีเราก็ปรับมุมเหล่านั้นมาใช้ในงานเราบ้าง ส่วนตัวสนใจซีรีส์สืบสวนหรือเรื่องที่เนื้อหาเกี่ยวกับการแก้แค้น ด้วย mood ที่ใกล้เคียงกับบริบทของงานเรา อย่างหนังเกี่ยวกับการเมือง หรือซีรีส์ที่เน้นอาชีพใดอาชีพหนึ่ง เช่น ซีนผู้พิพากษาเดินมาขึ้นศาล บางซีนมันไม่ใช่ซีนที่เห็นได้บ่อย

ศวิตา พูลเสถียร

มื้ออาหารก่อน MOU จัดตั้งรัฐบาล (2566)

มีซีนหนึ่งที่เราประทับใจจากเรื่อง ‘Twenty Five Twenty One’ ไม่เชิงว่าประทับใจแต่สะท้อนใจมากกว่า ตอนท้ายๆ เรื่องจะมีฉากที่โกยูริมเลือกเปลี่ยนสัญชาติแล้วโดนแรงจากสังคมกดดัน บวกกับโดนนักข่าวไล่ตามจนต้องหนีมาหานางเอก เราดูแล้วเราก็แอบคิดตามเหมือนกันว่าตัวเองเคยทำตัวอย่างนั้น (นักข่าวที่ไล่ตามโกยูริม) ไหม ซึ่งเราไม่อยากเป็นแบบนั้น หลังจากนั้นเลยย้อนกลับมา aware ตัวเองมากขึ้นเวลาทำงาน

ศวิตา พูลเสถียร

ศวิตา พูลเสถียร

art4d: อาชีพช่างภาพข่าวมีผลต่อสุขภาพบ้างไหม

SP: อาชีพนี้ต้องแบกของค่อนข้างหนักเลยมีอาการปวดบ่าปวดไหล่ตามมาอยู่แล้ว ถ้าสมมติว่าเราถ่ายแนวอื่น เราอาจจะพกแค่กล้องแต่ไม่ต้องพกโน้ตบุ๊ก ซึ่งพอเราทำงานแนวนี้ เราต้องก็พกกล้อง, พกเลนส์มากกว่าหนึ่งตัว แล้วก็พกที่ชาร์จ พก macbook ไว้ที่หลังตลอดเวลาด้วย อีกอย่างคือสายตาที่ต้องโดนแดดกับลมปะทะตลอด เราเลยต้องใส่หมวกกับแว่นกรองแสงติดตัว แล้วเลนส์ก็ต้องเปลี่ยนสีเป็นสีดำได้ ช่วงที่ฝุ่นเยอะก็จะทำงานลำบากขึ้นไปอีก

art4d: ทิศทางด้านอาชีพในอนาคต

SP: คิดว่าคงถ่ายภาพแนวนี้ต่อไป คือตอนนี้เราทำงานภายใต้กองข่าวไทยซึ่งทำเนื้อหาหลักเกี่ยวกับการเมืองสังคม แล้วก็มีได้ถ่ายภาพบันเทิงกับกีฬาบ้าง แต่ว่าถ้าถามถึงอนาคตก็อยากจะถ่ายกีฬาหรืองานบันเทิงให้มากขึ้น อยากจะฝึกให้ได้ทุกแนวบนพื้นฐานของการทำงานข่าว แค่ตอนนี้ เราอยู่ under กองนี้มันก็เลยถ่ายการเมืองเยอะ แต่จริงๆ เราชอบหมด

ศวิตา พูลเสถียร

ศวิตา พูลเสถียร

art4d: อยากฝากอะไรถึงคนที่อยากจะเข้ามาทำอาชีพนี้

SP: ให้เริ่มจากถ่ายอะไรใกล้ตัวก่อนเลย พยายามเพิ่มความช่างสังเกตให้ตัวเอง แล้วก็ไม่ต้องไปรอจังหวะ หรือรอว่าจะไปเที่ยวที่ไหน อาจจะแค่ถ่ายกิจกรรมหรืออีเวนต์ที่ใกล้ตัวหรือตั้งโจทย์ให้ตัวเองก็ได้ เพื่อให้วันนั้นเราได้ออกไปถ่ายภาพ หลักๆ หัวใจของงานสายข่าวคงเป็นภาพที่ออกมาแล้วเล่าเรื่องได้ สมมุติว่านักข่าวเขามีหน้าที่พิมพ์ข้อความบรรยายประกอบข่าวเพื่อเล่าว่าใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร เราก็ต้องพยายามทำให้ภาพของเราสามารถเล่าเรื่องได้โดยที่แทบจะไม่ต้องอ่าน text ด้วยซ้ำ ถ้าเราทำตรงนี้ได้ ส่วนตัวคิดว่ามันมาต่อยอดได้ไม่ยาก

ศวิตา พูลเสถียร

facebook.com/paintsawita
instagram.com/sawitaaaaa

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *