วิทยานิพนธ์ 5 เรื่อง จากนิสิตหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (สถาปัตยกรรม) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (BBIT)
(For English, press here)
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิตสาขาวิชาสถาปัตยกรรม (BBIT) มีจุดเด่นของหลักสูตรฯ ในการสรรค์สร้างการออกแบบสถาปัตยกรรมที่เน้นทางด้านนวัตกรรมอาคารเพื่อสิ่งแวดล้อม หรือ ‘Green Innovation’
ในปีการศึกษา 2566 นี้ ได้มีโครงงานสถาปัตยกรรมยั่งยืนที่โดดเด่นในสาขาสถาปัตยกรรม ในการสร้างสรรค์นวัตกรรมอาคารเพื่อสิ่งแวดล้อมดังกล่าวหลายโครงการ เช่น โครงการที่เน้นเกี่ยวกับการออกแบบนวัตกรรมทางด้านแสงสว่าง ได้แก่ ‘โครงการโรงพยาบาลสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษ’ ที่มีแนวคิดให้สัตว์เหมือนกลับบ้านตามธรรมชาติเกิดเป็น ‘บ้านต้นไม้’ และมีการออกแบบเทคนิคแสงธรรมชาติในส่วนที่พักของสัตว์เพื่อให้ได้ค่าแสงที่เหมาะสมกับสัตว์พิเศษแต่ละชนิด และ ‘โครงการสถานเจริญสติเพื่อคนเมือง’ ซึ่งแนวความคิดหลักเป็นการส่งเสริมการพัฒนาความรู้สึกตัวผ่านการใช้งานอาคารโดยมีการเน้นผัสสะและแสงธรรมชาติ
นอกจากนี้ยังมีโครงการที่เน้นทางด้านการออกแบบนวัตกรรมทางด้านเสียงและดนตรี ได้แก่ ‘โครงการศูนย์ดนตรีโลไฟ’ ที่มีการนำลักษณะของดนตรี ‘Lo-fi’ มาออกแบบเป็นสถาปัตยกรรม และมีสร้างสรรค์นวัตกรรมห้องเรียนดนตรีให้ตอบรับกับความต้องการทางด้านเสียงและแสง รวมไปถึงโครงการที่เน้นการออกแบบนวัตกรรมทางด้านสุขภาวะที่ดี หรือ ‘Well-Being Design’ มาปรับใช้กับการออกแบบและพัฒนาโครงการสำหรับชุมชนแออัด ซึ่งได้แก่ ‘โครงการอาคารพักอาศัยชุมชนรถไฟมักกะสัน’ นอกจากนี้ยังมีโครงการที่ออกแบบโดยคำนึงถึงการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อผู้สูงอายุ ซึ่งได้แก่ ‘คอนโดมิเนียมและศูนย์ดูแลสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ’ ดังนั้นโครงการต่างๆ ในปีการศึกษานี้ไม่เพียงแต่เป็นการเน้นการออกแบบสถาปัตยกรรมในมิติใหม่แต่ยังเป็นการส่งเสริมการสร้างสรรค์นวัตกรรมทางด้านอาคารเพื่อสิ่งแวดล้อมให้เกิดขึ้นอีกครั้ง
โรงพยาบาลสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษ
โดย อัญชสา บุญศรี
ปัจจุบันจำนวนประชากรในประเทศไทยที่นิยมเลี้ยงสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งโรงพยาบาลเฉพาะทางสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษในประเทศไทยมีจำนวนน้อย ทำให้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้เลี้ยง โรงพยาบาลนี้คงเป็นสถานที่ที่รองรับการใช้งานของบุคลากรทางการแพทย์ เจ้าของ รวมไปถึงสมาคมสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษและผู้ที่สนใจ ทั้งด้านการรักษาพยาบาลและวิชาการอย่างครบวงจร ลักษณะเด่นของโครงการคือออกแบบโดยใช้แนวคิดให้สัตว์เหมือนกลับบ้านตามธรรมชาติเกิดเป็น ‘บ้านต้นไม้’ เนื่องจากสัตว์เดิมอาศัยอยู่ตามต้นไม้
โครงการนี้ได้นำองค์ประกอบของต้นไม้มาวิเคราะห์ เช่น การแตกตัวของกิ่ง แสงที่ลอดผ่าน โดยจัดกลุ่มอาคารให้โอบล้อมคอร์ทตรงกลาง จากแนวความคิดให้ต้นไม้เป็นแกนกลางเชื่อมพื้นที่ให้ลมสามารถเข้าถึง อีกทั้งมีพื้นที่สีเขียวสอดแทรกตามพื้นที่ใช้งานเกิดความรู้สึกสบาย และเหมาะสมกับสัตว์แต่ละประเภทเพื่อให้เกิดประโยชน์ในการรักษาและฟื้นฟูจากอาการเจ็บป่วย เช่น การใช้แสงธรรมชาติ
นักศึกษา: อัญชสา บุญศรี
อาจารย์ที่ปรึกษา: รองศาสตราจารย์ ดร.นวลวรรณ ทวยเจริญ
ข้อมูลเพิ่มเติม: https://fb.watch/sFoCCfNf0G/
อีเมล: anchasa.b02@gmail.com
สถานเจริญสติเพื่อคนเมือง
โดย ปรานปรียา บุญช่วย
การเจริญสติ คือ การพัฒนาความรู้สึกตัวเพื่อให้เกิดสติ หรือเพื่อให้เกิดความระลึกได้โดยอยู่กับปัจจุบัน มีประโยชน์ทั้งในด้านสุขภาพกาย สุขภาพใจ โดยการเจริญสติสามารถปฏิบัติหลายวิธี เช่น การนั่งกำหนดลมหายใจเข้า-ออก และการออกกำลังกาย โครงการนี้จึงเป็นสถานที่ที่รวบรวมวิธีการเจริญสติที่หลากหลายเพื่อสร้างทางเลือกให้แก่ผู้ที่สนใจ
‘Praise the Light – Shines Through the Mind’ ซึ่งเป็นแนวความคิดหลักในการออกแบบโครงการนี้คือ การส่งเสริมการพัฒนาความรู้สึกตัวผ่านการใช้งานอาคาร โดยมีการเน้นผัสสะ โดยเฉพาะการรับรู้ทางพื้นที่และการส่งเสริมการใช้งานพื้นที่ผ่านความสว่างและแสงธรรมชาติ เช่น การใช้ผนังทอนแสงธรรมชาติที่เข้ามาในอาคารเพื่อให้ได้แสงที่สลัว ส่งเสริมให้เกิดความรู้สึกสงบ และการเจาะช่องแสงบริเวณทางเดินให้สอดคล้องกับการเดินจงกรม
นักศึกษา: ปรานปรียา บุญช่วย
อาจารย์ที่ปรึกษา: รองศาสตราจารย์ ดร.นวลวรรณ ทวยเจริญ
ข้อมูลเพิ่มเติม: https://fb.watch/sGIFABzMyO/
ศูนย์ดนตรีโลไฟ
โดย ธนารีย์ สุพิทักษ์
โครงการ ‘ศูนย์ดนตรีโลไฟ’ มีจุดประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาของความขาดแคลนพื้นที่สำหรับจัดกิจกรรมทางดนตรีที่เข้าถึงง่าย มีพื้นที่รองรับเพียงพอต่อผู้ใช้งาน และมีความพร้อมต่อทุกสภาพอากาศของประเทศไทย รวมถึงการแก้ปัญหาสภาวะทางอารมณ์ของคนในสังคม และสภาวะอารมณ์ที่มั่นคงในการทำกิจกรรมต่างๆ โครงการนี้จึงเป็นศูนย์รวมกิจกรรมทางดนตรีโลไฟทุกประเภท
‘ดนตรีโลไฟ’ เป็นแนวดนตรีที่มีลักษณะของดนตรีที่ประกอบด้วยเสียงธรรมชาติ จึงเหมาะแก่การฟังเพื่อเสริมสร้างสมาธิและความมั่นคงของสภาวะทางอารมณ์ จึงมีการออกแบบพื้นที่ส่วนต่างๆ ภายในโครงการทั้งรูปทรงของตัวอาคาร ผังอาคาร และ landscape ตามแนวคิด Lo-fi high and fly โดยคำนึงถึงการใช้คลื่นเสียงความถี่ต่ำ สีและวัสดุ ที่ให้ความรู้สึกฟุ้ง เบลอ ความเบาสบายจากลักษณะของเพลงโลไฟ และรูปทรงอาคารที่ลอยตัว เพื่อให้ผู้ใช้งานเกิดความรู้สึกนิ่งสงบ ความรู้สึกเสมือนขณะฟังเพลง Lo-fi
นักศึกษา: ธนารีย์ สุพิทักษ์
อาจารย์ที่ปรึกษา: รองศาสตราจารย์ ดร.นวลวรรณ ทวยเจริญ
ข้อมูลเพิ่มเติม: https://www.instagram.com/p/C7GSxjvplT8/
อีเมล: tanaree.sup@gmail.com
อาคารพักอาศัยชุมชนรถไฟมักกะสัน
โดย สาโรจ กงทอง
ปัญหาชุมชนแออัดริมทางรถไฟเป็นปัญหาจากสภาวะทั้งด้านเศรฐกิจและสังคม มีราคาที่พักอาศัยสูงเกินกว่าที่คนมีรายได้น้อยจะครอบครองได้ ทำให้มีการบุกรุกพื้นที่ใกล้แหล่งทำมาหากิน บ้านเรือนขนาดเล็กเรียงรายอย่างแออัด สมาชิกส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชนชั้นแรงงาน สังคมในบริเวณโดยรอบมักมีความเสื่อมโทรม มีปัญหาด้านสังคม และเมื่อการครอบครองพื้นที่ที่ไม่ถูกกฎหมาย ทำให้คนที่อาศัยในพื้นที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบสาธารณูปโภค ระบบสาธารณสุขได้ จึงส่งผลไปถึงสุขภาพจิตของคนในชุมชน
จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้โครงการมีการออกแบบเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ รวมไปถึงปัญหามลภาวะทางอากาศควบคู่ไปด้วย โดยโครงการนี้จะรองรับทั้งคนในพื้นที่ชุมชนเดิม และคนจากพื้นที่ชุมชนข้างเคียงสามารถเข้ามาใช้พื้นที่อำนวยความสะดวกของโครงการได้ เช่น คลินิกชุมชน ศูนย์อาหารชุมชน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และพื้นที่พักอาศัยที่มีมาตรฐานชั้นพื้นฐาน นอกจากนี้โครงการมีการออกแบบโดยใช้แนวคิดเรื่อง ‘Well-Being Design’ มาปรับใช้กับการออกแบบและพัฒนาโครงการทั้งด้านความปลอดภัย ด้านสุขภาวะทั้งด้านกายและจิตใจ เพื่อเป็นต้นแบบการพัฒนาเมืองพร้อมกับดูแลกลุ่มคนเปราะบาง
นักศึกษา: สาโรจ กงทอง
อาจารย์ที่ปรึกษา: รองศาสตราจารย์ ดร. สิงห์ อินทรชูโต
ข้อมูลเพิ่มเติม: https://www.facebook.com/photo/?fbid=884274637055707&set=pcb.884275380388966
อีเมล: Sarot121243001@gmail.com
คอนโดมิเนียมและศูนย์ดูแลสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ
โดย นภัทร์ วิญญกูล
ปัจจุบันสังคมไทยได้เข้าสู่ ‘สังคมผู้สูงอายุ’ (aging society) โดยมีอัตราผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นจากสาเหตุหนุ่มสาวอยู่เป็นโสด และถึงจะแต่งงานก็นิยมไม่มีบุตร เนื่องจากปัญหาหลายๆ อย่าง เช่น ค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น สภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว เป็นต้น จากเหตุการณ์นี้ทำให้ประเทศไทยเริ่มต้นก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและสิ่งที่เปลี่ยนแปลงและตามมาก็คือโอกาสในการสร้างธุรกิจอย่างมากมาย โดยเฉพาะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ดังนั้นการมองหาที่อยู่อาศัยที่เหมาะกับผู้สูงอายุ จึงไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัวเกินไป หนึ่งในที่อยู่อาศัยที่เหมาะแก่ผู้สูงอายุคือ คอนโดมิเนียม แต่คอนโดผู้สูงอายุมีข้อควรพิจารณาดังนี้ ความเหงา ความรู้สึกมีคุณค่า สุขภาพกายและสุขภาพจิต
ดังนั้นจึงจัดทำโครงการคอนโดมิเนียมสำหรับผู้สูงอายุ (Condominium for the elderly) เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุในปัจจุบันและในอนาคตที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย จุดเด่นของคอนโดสำหรับผู้สูงอายุ คือ ทั้งโครงการจะเป็นกลุ่มผู้อาศัยเฉพาะคนสูงวัยหลังเกษียณ มาอยู่รวมกันเป็นชุมชน มีกิจกรรมต่างๆ พื้นที่ส่วนกลางและสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย เช่น คลินิกอายุรกรรม เป็นต้น
นักศึกษา: นภัทร์ วิญญกูล
อาจารย์ที่ปรึกษา: อาจารย์ ดร.ณัฏรี ศรีดารานนท์
ข้อมูลเพิ่มเติม: https://shorturl.asia/U7iqs
อีเมล: Napatwinyagool@gmail.com