การออกแบบที่ลงตัวของ Harudot Khaoyai จาก IDIN Architects กับการใช้แนวคิด ‘Kirigami’ ในการสร้างพื้นที่เชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อม
TEXT: NATHANICH CHAIDEE
PHOTO: PIAMPHON CHANPIAM
(For English, press here)
Kirigami คือศิลปะการตัดและพับกระดาษของญี่ปุ่น เราอาจจะคุ้นเคยกับคำว่า Origami ที่เป็นศิลปะการพับกระดาษกันเสียมากกว่า แต่ Kirigami ที่ใช้การตัดกระดาษร่วมกันกับการพับช่วยสร้างรูปฟอร์มทางสถาปัตยกรรมได้ชัดเจนกว่าทั้งในเชิงรูปลักษณ์ ต่อยอดถึงการเลือกใช้วัสดุ และกลายเป็นคอนเซปต์ที่ คุณจีรเวช หงสกุล สถาปนิกแห่ง IDIN Architects เลือกนำมาใช้กับสาขาใหม่ของ Harudot Khaoyai by NANA Coffee Roasters ที่เขาใหญ่
แนวความคิดนี้เกิดขึ้นหลังจากที่จีรเวชและทีมงานของ NANA Coffee Roasters ได้เข้ามาเห็นที่ดินผืนนี้ที่เดิมเป็นเนินเขาที่มองลาดลงไปเป็นพื้นที่สะสมต้นไม้ยืนต้นทรงสวยริมทะเลสาบท่ามกลางธรรมชาติป่าเขาใหญ่ของครอบครัว คุณพลากร เกื้อกูลพิพัฒน์ นี่จึงกลายเป็นโจทย์หลักที่ทำให้ทีมออกแบบเสนอไอเดียที่อยากให้ร้านแห่งนี้เป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับคนมาเห็นวิวได้ด้วย ในขณะเดียวกัน ถ้าเราสามารถกรีดพื้นแล้วพับขึ้นมาเพื่อสร้างพื้นที่ส่วนบริการของร้านด้านล่างได้ด้วยก็น่าจะดี ด้วยเหตุผลทางด้านการแยกใช้พื้นที่ระหว่างด้านนอกกับด้านในจึงนำมาสู่การใช้แนวคิด Kirigami ในการสร้างสถาปัตยกรรม
“แบรนด์ Harudot มีเซนส์ของความเป็นญี่ปุ่นในตัวอยู่แล้ว บวกกับไซต์ที่ดินเป็นเนินอีกด้วย เราเลยนึกไปถึง Origami ที่เป็นการพับกระดาษก่อน แต่เอาเข้าจริงจำเป็นต้องมีการกรีดเพื่อสร้างสเปซสำหรับการใช้งาน จึงพบกับคำว่า Kirigami ที่เป็นศิลปะกระดาษแบบญี่ปุ่นที่ใช้การกรีด ตัด แล้วพับ ซึ่งตอนแรกที่ดินผืนนี้เป็นถนนเรียบๆ แล้วกดเข้าไปเป็นทะเลสาบตรงกลาง แต่ถ้าเราสามารถเก็บวิวด้านในสำหรับพื้นที่ส่วนบริการให้เป็นพื้นที่ใต้เนินก็น่าจะดี เราจึงเริ่มจากการยกเนินขึ้นแล้วกรีดเพื่อให้เป็นทางเดินเข้าส่วนบริการที่จะเห็นวิวทิวทัศน์ของระหว่างการใช้งานแบบเต็มตา”
กระบวนการกรีดแล้วพับเริ่มต้นจากการกำหนดทางสัญจรที่เริ่มต้นจากทางเข้าทางเดียวเพื่อเข้าสู่ส่วนคาเฟ่ภายใน ใช้การกรีดแล้วพับระนาบสองเพลนแล้วเสียบเข้าด้วยกันเพื่อสร้างสเปซที่เป็น positive-negative แล้วใช้ประโยชน์ของสเปซเหล่านี้เป็นฟังก์ชันส่วนคาเฟ่ ซึ่งถ้ามองจากผังอาคารจะเห็นเป็นสี่เหลี่ยมเต็มใบ ที่แบ่งตัวอาคารออกเป็นรูปทรงสามเหลี่ยมสองก้อน ซึ่งมีที่มาจากการพับครึ่งของสี่เหลี่ยม ผลจากการพับและตัด เกิดเป็นเหลี่ยมมุมที่แทงเข้าไปในอากาศ และกลายเป็น Focal Point สำหรับมองวิวได้อย่างเต็มตา
จากภายนอก บันไดขนาดใหญ่เปิดต้อนรับเป็นพื้นที่สาธารณะให้ชมวิวได้ โดยมีทางเข้าร้านที่เป็นทางลาดลงท่ามกลางเนินดินสูงเกือบ 5 เมตรเข้าสู่ส่วนต้อนรับภายใน ที่สถาปนิกทดลองหมุนทิศทางของอาคารให้เข้ากับต้นไม้สะสมในพื้นที่จนได้การเปิดออกสู่วิวที่ดีที่สุดของพื้นที่ ด้วยความตั้งใจที่อยากให้อัตราส่วนพื้นที่ภายนอกต่อภายในเป็น 70:30 พื้นที่นั่งของคาเฟ่จึงมีทั้งภายในที่เป็นดับเบิลวอลุ่ม และพื้นที่ภายนอกที่เป็นทั้งแบบกึ่งเอาต์ดอร์และเอาต์ดอร์เต็มๆ
“เมื่อเราใช้การกรีดและพับ แปลว่างานก็ควรจะโชว์แนวคิดของโครงสร้างให้เห็นชัดเจนไปเลย คือให้มองเห็นว่าทุกอย่างเกิดขึ้นจากระนาบที่ก่อตัวเป็นสถาปัตยกรรม บันไดขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นจากการตัดและพับเหมือนกับเป็น Amphitheater จึงทำหน้าที่เป็นทั้งบันได พื้น และหลังคาให้กับโครงการ นี่เลยเป็นเหมือนท่าบังคับที่จะต้องโชว์ความเป็นคอนกรีตเปลือยตั้งแต่ส่วนผนังกันดินในส่วนทางเข้า ไปจนถึงบันไดขนาดใหญ่หล่อในที่ เราจึงเลือกใช้วัสดุคอนกรีตเป็นหลักสำหรับทั้งโครงการ”
ขณะเดียวกันนั้นเองที่สถาปนิกได้พบกับวัสดุใหม่ล่าสุด คือปูนงานโครงสร้าง SCG Low Carbon Cement LC3 สีเนเชอรัลเคลย์ ซึ่งเป็นปูนซีเมนต์ที่พัฒนาขึ้นเป็นทางเลือกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในการผลิต และใช้ในงานก่อสร้างได้ดี ทั้งด้านความแข็งแรง ความทนทานต่อสภาพแวดล้อม และสามารถใช้ได้ทั้งงานโครงสร้างและตกแต่ง ด้วยเนื้อสีของวัสดุที่เป็นสีน้ำตาลอ่อนแบบกาแฟลาเต้ หรือเมื่อโดนแสงเย็นก็กลายเป็นสีชมพูที่เข้ากับคำว่า Haru ที่แปลว่าฤดูใบไม้ผลิในชื่อของ Harudot จึงสวมเข้ากันกับแนวคิดของร้านได้แบบพอดี
Texture เป็นอีกส่วนของรายละเอียดอาคารที่ทีมออกแบบเน้นย้ำ ทีมออกแบบใช้การกระแทกผิวหน้าปูนโชว์หินเหมือนกับเป็นการซ่อนความไม่เนี้ยบด้วยความดิบของวัสดุ โดยแยกออกให้ส่วนที่เป็นโครงสร้างหล่อฉาบด้วยคอนกรีตเรียบโชว์สีของเนื้อวัสดุสีเนเชอรัลเคลย์ สลับกับการกระแทกผิวหน้ากับเสาในบางตำแหน่งตามจังหวะที่ดูแล้วกลมกล่อมพอดี
จากการกรีด ตัด พับ สถาปัตยกรรมภายนอกส่งต่อเข้าสู่งานตกแต่งอาคารภายใน เพราะต้องการรักษาและแสดงแนวความคิดของการกรีดแล้วพับระนาบให้กลายเป็นฟังก์ชั่นอย่างเก้าอี้ ชั้นโชว์เมล็ดกาแฟ หรือเคาน์เตอร์ยาว ผ่านการใช้งานวัสดุที่ทำให้เห็นความต่อเนื่อง ถึงแม้ข้อจำกัดของการใช้งานพื้น ผนัง และฝ้าเพดานจะเป็นตัวกำหนดประเภทของวัสดุ แต่การเลือกรูปลักษณ์ที่ต่อเนื่องกันให้ได้มากที่สุดก็สร้างความรู้สึกต่อแนวความคิดนี้ได้เป็นอย่างดี อย่างบันไดวนที่ให้เห็นพื้นสีขาวเหมือนกับถูกเจาะหายไปแล้วคลี่ขึ้นมาเป็นผนังบันไดที่เชื่อมต่อสองชั้นเข้าด้วยกัน หรือโซนกึ่งเอาต์ดอร์จากพื้นกรวดล้างที่ยกขึ้นมาเป็นโต๊ะเหล็กทำผิวกรวดล้าง ต้องใช้เทคนิคพิเศษในการทำผิววัสดุเพื่อให้เห็นถึงความต่อเนื่อง

พลากร เกื้อกูลพิพัฒน์ (เจ้าของโครงการ HARUDOT KHAOYAI by NANA COFFEE ROASTERS)
“เพราะโจทย์หนึ่งของงานออกแบบอาคารนี้ คือเราต้องการให้ที่นี่เป็นเหมือนจุดหมายปลายทางแห่งใหม่ของเขาใหญ่ที่ให้คนได้เข้ามาเปิดประสบการณ์กับธรรมชาติ และต้นไม้ที่คุณอาชอบมาก” คุณพลากรเล่า “เราจึงอยากให้งานออกแบบคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมกับบรรยากาศตรงนี้ด้วย นี่จึงเป็นอีกโจทย์ที่ให้ทางทีมออกแบบได้ใช้วัสดุซึ่งคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน ซึ่งผมก็ยินดีมากที่ได้เป็นส่วนหนึ่งที่ได้เป็นโครงการแรกในการใช้งานวัสดุคอนกรีต SCG Low Carbon Cement LC3 ซึ่งผมมองว่าการได้โปรโมตวัสดุตัวนี้น่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ได้รณรงค์ให้เกิดการใช้งานวัสดุรักษ์โลกให้มากขึ้น พร้อมกับการสร้างประสบการณ์ที่สมบูรณ์แบบขณะที่ลูกค้าได้เข้ามาใช้บริการเช่นกัน” บัณฑิตสถาปัตยกรรมผู้ผันตัวมาเป็นผู้ประกอบการเล่าถึงแนวคิดรักษ์โลกที่อยู่ในคาเฟ่แห่งนี้
เช่นเดียวกันกับปรัชญาหลักในการทำงานออกแบบของ IDIN Architects ที่คำนึงถึงโลกให้ได้มากที่สุดเท่าที่แต่ละงานจะเอื้ออำนวย “การทำงานของเราพยายามจะอยู่บนพื้นฐานของการลดภาระให้กับโลกอยู่แล้ว ซึ่งส่วนตัวเราไม่ได้มองว่าการรักษ์โลกเป็นเทรนด์นะ แต่มันเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบที่เราจะต้องทำในฐานะสถาปนิกที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่ได้ชื่อว่าบริโภคพลังงานเป็นอันดับต้นๆ ตลอดกระบวนการคิดและออกแบบ เราพยายามหาโซลูชั่นและความเป็นไปได้บางอย่างที่จะทำให้เราโกกรีนได้แบบแนบเนียน”
“แล้วอย่างวัสดุคอนกรีต Low Carbon ในปัจจุบันมีการพัฒนานวัตกรรมทางวัสดุมาโดยตลอดเพื่อช่วยลดคาร์บอนฟุตปรินต์ให้มากขึ้น พร้อมกับมีคุณสมบัติทางการก่อสร้างที่ดีขึ้น เอาจริงมันอาจจะไม่ได้ลดเป็นร้อยเท่า แต่แค่ลดลงและแตกต่างจากเดิมก็ถือว่าเป็นเรื่องดีแล้ว แล้วการที่เราได้ทดลองใช้วัสดุนี้เป็นโครงการแรก ทำให้เราได้ร่วมทดลองคุณสมบัติบางอย่างอย่างเรื่องสีในมุมมองของสถาปนิก ซึ่งเรามองว่า ในอนาคต Low Carbon Cement ตัวนี้อาจจะกลายเป็นปูนมาตรฐานที่ทุกคนต้องใช้งานด้วยซ้ำ”