EARLY YUYEN

Early Yuyen

space+craft เลือกใช้ ‘น้อย’ เพื่อสร้าง ‘มาก’ ในการสร้างคาเฟ่จากของใช้แล้ว ให้กลายเป็นงานออกแบบที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม อย่าง Early Yuyen

TEXT: SURAWIT BOONJOO
PHOTO: PANORAMIC STUDIO

(For English, press  here)

“ทางเจ้าของโครงการถามกับเราว่า หากอยากจะทำคาเฟ่ที่ใช้ของที่ทิ้งหรือไม่ใช้แล้ว 100% จะเป็นไปได้หรือไม่? หรือจากวัสดุทางเลือกที่สามารถนำมา upcycling? และเป้าหมายอีกอย่างหนึ่งก็คือเป็นพื้นที่ showcase ให้คนในชุมชนและผู้ใช้บริการเข้าใจ เรียนรู้ และสัมผัสประสบการณ์กับวัสดุทางเลือกซึ่งสามารถนำมาปรับประยุกต์ใช้งานได้จริง”

บานเหล็กดัด หน้าต่าง และประตูไม้ใช้งานแล้ว องค์ประกอบแสนคุ้นหูคุ้นตาของอาคารที่พักอาศัยถูกนำมาสลับสับหว่างและปะติดปะต่อเข้าด้วยกันภายใต้กรอบโครงสร้างเหล็กสีดำและประตูทางเข้า เพื่อทำหน้าที่เป็นกรอบฉากทางเข้า-ออกของ Early สาขา Yuyen ในโครงการ My Paws Backyard ซอยรามอินทรา 34 (ซอยอยู่เย็น) เขตบางเขน ชานเมืองกรุงเทพมหานคร ผลงานออกแบบโดยสาธิกา เจียรจรูญศรี แห่งออฟฟิศออกแบบสถาปัตยกรรมและตกแต่งภายใน space+craft ภายหลังความสำเร็จในการสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและบริบทพื้นที่โดยรอบในสาขาแรกของพวกเขาที่ตั้งอยู่ ณ หมู่บ้านสัมมากร ถนนรามคำแหง 112 ในครั้งนี้พวกเขาได้ต่อยอดร่วมกับเจ้าของโครงการไปไกลกว่าเดิม ด้วยการปรับปรุงรีโนเวทอาคารเดิมบนกรอบวิธี ‘สร้างให้น้อย ลดให้มาก’ และนำสิ่งมีอยู่ก่อนกลับมาใช้งานให้มากและเกิดประสิทธิภาพอย่างสูงที่สุด

เริ่มต้นจากการสำรวจโครงสร้าง พื้นผิว สิ่งที่เหลืออยู่ของอาคารโรงอาคารเก่า พร้อมกับการจัดเวิร์กช็อปเพื่อการระดมค้นหาความเป็นไปได้ใหม่ในการลดการสร้างมลพิษให้กับสิ่งแวดล้อม นับตั้งแต่การวางทิศทางการก่อสร้างให้น้อยที่สุด ผนวกร่วมไปกับแนววิธีการเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์โครงสร้าง อาทิ การตัดสินใจใช้ตะปูเพื่อยึดแผ่นรีบอร์ด ผนังใหม่เข้ากับผนังอาคารโดยไม่ใช้กาว เพราะต้องการลด carbon footprint ที่กำลังจะเกิดจากการก่อสร้างแบบทั่วไป และเลือกใช้วิธีการดังกล่าวที่ยั่งยืนยิ่งกว่า โดยเมื่อต้องการปรับเปลี่ยนหรือเลิกใช้แล้วก็ยังคงสามารถถอดรื้อย้ายนำวัสดุปกปิดพื้นผิวอาคารเดิมนี้ไปใช้ซ้ำหรือดัดแปลงใช้งานต่อในรูปแบบอื่นได้อย่างยั่งยืนและลด carbon footprint ที่จะก่อขึ้นจากการสร้างใหม่ได้ในอัตราน้อยที่สุดเท่าที่สามารถเป็นไปได้จากการร่วมทำงานกับทีมนักวิจัยที่เชี่ยวชาญ นอกจากนั้นในวงแลกเปลี่ยนนี้ พวกเขายังคงเสาะหาวัสดุทางเลือกสดใหม่ ซึ่งอาจยังไม่เป็นที่คุ้นหูคุ้นตาและใช้งานน้อยในแวดวงวิชาชีพ อย่าง ecobrick อิฐที่ทำมาจากเศษพลาสติกในภาชนะต่างๆ มานำเสนอความเป็นไปได้ของวัสดุก่อสร้างรักษ์โลก ซึ่งล้อรับไปกับวิสัยทัศน์ของผู้ประกอบการได้อย่างพอดิบพอดี ทั้งส่วนการใช้งานตกแต่งโครงสร้างและเฟอร์นิเจอร์

อาคารโรงอาหารพนักงานหลังเดิม พร้อมกับข้าวของและเฟอร์นิเจอร์เหลือทิ้งในพื้นที่ทั้งหมด ถูกนำมาตีความ คัดสรร และเรียบเรียงถ่ายทอดด้วยภาษาการออกแบบใหม่ในทิศทางที่สร้างสรรค์ พื้นกระเบื้องเดิมถูกนำมาทุบให้แตกและใช้เป็นส่วนประกอบกับพื้นหินขัดของอาคารหลังใหม่ อลูมิเนียมที่ไม่ใช้งานถูกนำไปขายเพื่อรีไซเคิล และนำแผ่นกระเบื้องหลังคามาเสริมตกแต่งส่วนบนของโต๊ะตัวใหญ่ ที่ตั้งอยู่บริเวณกลางร้านให้มีลูกเล่นยิ่งขึ้นทั้งจากสีสันและการนำวัสดุเหลือใช้มาจัดการเรียบเรียงไว้อย่างชวนให้นึกสนุก ในขณะเดียวกันการใช้วัสดุขวดแก้วสีเขียวเป็นมือจับประตูทางเข้าร้าน หรือตกแต่งส่วนฐานเคาน์เตอร์ของคาเฟ่ รวมไปถึงการปกปิดผิวอาคารเดิมด้วยแผ่นรีบอร์ดจากกล่องนม วัสดุปิดผิวและตกแต่งทั้งสองชนิดซึ่งเป็นคาแร็กเตอร์สำคัญในสาขาแรกยังคงนำมาใช้สืบต่อผสานตัวตนเดิมเข้ากับร้านสาขาใหม่แห่งนี้ด้วย มากไปกว่านั้นยังถูกนำมาพลิกแพลงใช้ต่อให้โดดเด่นด้วยการตัดแต่งสอดแผ่นรีบอร์ดเป็นโมดูลสลับไป-มาสร้างเส้นสายที่มีพลวัตและยึดแขวนตกแต่งส่วนเพดาน

นอกจากนั้นแล้ว พวกเขายังร่วมทำงานกับ A Thing สตูดิโอออกแบบผู้เชี่ยวชาญด้านเฟอร์นิเจอร์รีไซเคิล โดยการนำเก้าอี้นั่งในไม้ที่มีอยู่ในโรงอาหารเดิม นำมาสร้างสรรค์ออกแบบด้วยกรรมวิธีใหม่ ปรับเย็บคลุมส่วนที่นั่งใหม่ด้วยเศษผ้าที่แตกต่างกัน และใช้เทคนิคถักเชือกเข้ามาช่วยในส่วนของพนักพิง เก้าอี้ไม้สีขาวที่ก่อนหน้าอาจดูธรรมดาจึงกลับได้คืนชีพด้วยสีสันและชีวิตใหม่ สอดรับไปกับงานออกแบบเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหม่ สาธิกาเชิญชวนให้สตูดิโอออกแบบเฟอร์นิเจอร์เรียบเรียงและสรรค์สร้างเก้าอี้นั่งภายนอก อีกทั้งต้องยังคงความเป็น pet-friendly เพื่อให้สามารถตอบรับไปกับกลุ่มผู้ใช้บริการ แผ่นบอร์ดพลาสติกรีไซเคิลจากขยะฝาขวดพลาสติก HDPE สีเขียวสด จึงถูกหยิบนำเสนอผสานกับคาแร็กเตอร์เฉดสีสดใสที่สร้างบรรยากาศให้กับร้าน ประกอบเป็นที่นั่งในลักษณะคล้ายตั่งขนาดย่อมกับแท่นโต๊ะต่อยืนสำหรับวางอาหารและเครื่องดื่ม ทั้งยังติดตั้งล้อเพื่อให้สะดวกต่อการเลื่อนร่วมต่อโต๊ะรองรับรูปแบบการใช้งานที่ลื่นไหลไปพร้อมกัน

ภาพลักษณ์โดยรวมของอาคารสีเขียวหลังนี้ ซึ่งส่งเสริมความเป็นบ้าน แฝงด้วยความขี้เล่นสนุกสนาน นับว่าน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากหากลองพิจารณาการบอกเล่าผ่านชุดคลังศัพท์การออกแบบที่พวกเขาเลือกใช้ ก็จะเห็นถึงการหลอมรวมภาษาที่อาจจะราวกับเป็นคู่ตรงกันข้าม เก่า-ใหม่/ ใช้ซ้ำ-นำกลับมาใช้ใหม่ ลักลั่นต่อกันและกัน กระทั่งสร้างเป็นคาแร็กเตอร์ที่แปลกใหม่ชวนให้ติดตาม ทั้งยังฉายสะท้อนภาพนวัตกรรมแห่งความยังยืนจากการคัดสรรวัสดุและประกอบสร้างเป็นการออกแบบที่สร้างสรรค์แปลกใหม่ กล่าวคือ เริ่มจากการเปิดฉากสร้างบรรยากาศความเป็นบ้านโดยการนำวัสดุที่ดูอบอุ่นมาใช้ซ้ำ และซุกซ่อนการคลุกเคล้าผสมสานสร้างความสนุกสนานไว้ยังพื้นที่ภายใน ซึ่งสามารถสื่อสารได้อย่างหลากหลายทิศทาง ราวกับกำลังบอกเป็นนัยถึงความพยายามสลายแนวคิดในการออกแบบอย่างยั่งยืนตามกรอบเดิมๆ นี่จึงเป็นมากกว่าเพียงคาเฟ่ แต่คือพื้นที่ขนาดกะทัดรัดที่เข้มข้นด้วยแนวคิดซึ่งพยายามผลักดันการเสาะหาภาษาการออกแบบที่ยั่งยืน

spacecraftbkk.com
facebook.com/spacecraft.bangkok

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *