กาจวิศว์ ริเริ่มวนิชย์ จาก Physicalist พลิกฟื้นบ้านและโรงกลึงเก่าของครอบครัวขึ้นใหม่ภายใต้แนวคิด ‘regeneration’
TEXT: NATHATAI TANGCHADAKORN
PHOTO CREDIT AS NOTED
(For English, press here)
“นี่ถือว่าเป็นโปรเจกต์รีโนเวทหรือเปล่า” คือคำถามแรกที่เราถาม กาจวิศว์ ริเริ่มวนิชย์ ผู้ออกแบบ อาศัย รวมถึงนั่งทำงานที่นี่ เนื่องจากเคยมีโอกาสได้เวียนมาเยี่ยมที่นี่ขณะกำลังก่อสร้างอยู่บ้าง และรู้สึกว่ารูปลักษณ์ของมันไม่ได้แตกต่างจากเดิมเหมือนอาคารที่เพิ่งถูกปรับปรุงใหม่หลังอื่นๆ เพียงแต่มีฟังก์ชันเพิ่มเติมอย่างคาเฟ่ Vanich House และ Airbnb เล็กๆ ชื่อ The Mechanic’s Room ที่ทำให้สเปซมีชีวิตชีวา และมีผู้ใช้งานเข้ามาหลายประเภทมากขึ้น

Photo: Kukkong Thirathonrongkiat
ย้อนไปสมัยก่อน พื้นที่แห่งนี้คืออาคารโครงสร้างไม้ที่แบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งคือโรงกลึง อู่หลียุ่นเชียง ส่วนหนึ่งคือบ้านสองชั้นที่กาจวิศว์ได้เติบโตขึ้น หลังโรงกลึงปิดตัวลง กาจวิศว์เองเกิดความคิดที่อยากจะซ่อมแซมอาคารเพื่อนำกลับมาใช้งานมันใหม่อีกครั้ง ทั้งในฐานะที่อยู่อาศัย รวมถึงที่ตั้งออฟฟิศของ Physicalist สตูดิโอออกแบบสถาปัตยกรรมที่เขาเป็น co-founder โดยกระบวนการออกแบบของโปรเจกต์นี้เริ่มต้นจากความตั้งใจในการซ่อมแซมล้วนๆ ฟังก์ชันต่างๆ ที่เพิ่มเติมมานั้นล้วนแต่เป็นไอเดียที่โผล่ผุดขึ้นมาในช่วงระหว่างการก่อสร้างจริงมากกว่า

Photo: Kukkong Thirathonrongkiat
ประเด็นหลักของการออกแบบที่แห่งนี่ขึ้นมาใหม่คือคำว่า ‘regeneration’ ซึ่งไม่ใช่การพลิกการใช้งานและรูปแบบสเปซไปโดยสิ้นเชิงหรือทำจนใหม่เอี่ยมอ่อง เพียงแค่ทำให้อาคารหลังนี้กลายเป็นของคนรุ่นปัจจุบัน โรงกลึงที่เป็นโครงสร้างลองสแปนสูงโปร่งคลุมทับด้วยหลังคาผืนใหญ่ได้รับการคงลักษณะเดิมไว้ พื้นที่ชั้นหนึ่งซึ่งเมื่อก่อนเคยเป็นที่ตั้งเครื่องยนต์กลไกต่างๆ ต่อเนื่องกับ common area ของสมาชิกในบ้านจนแทบแยกไม่ออก มาตอนนี้แม้จะปรับเปลี่ยนฟังก์ชันเป็นไป ก็ยังคงความโปร่งโล่งของพื้นที่ที่เชื่อมถึงกันโดยไร้ผนังไว้

Vanich House และ Physicalists เมื่อมองจากที่จอดรถ | Photo: Ketsiree Wongwan
Physicalist ตัดสินใจดีดบ้านไม้สองชั้นทั้งหลังให้ได้ระดับ เสาไม้หล่อฐานรากและตอม่อปูนเพิ่มเข้าไปใหม่ ด้าน façade เก่าของบ้านได้ต่อเติมระแนงเข้าไปทดแทนส่วนที่จมดินจนผุพัง หลังคาผืนใหญ่ที่เคยต้องใช้ระบบรอกเลื่อนแผ่นสังกะสีออกเพื่อรับแสงในบางช่วง ก็ซ่อมโครงสร้างและเปลี่ยนจังหวะของวัสดุมุงให้มีส่วนที่เปิดรับแสงสลับกันไป ปัดเป่าบรรยากาศมืดทึบของโรงกลึงทิ้งด้วยแสงธรรมชาติ โดยกาจวิศว์ยังออกแบบให้แนวหลังคานี้สอดคล้องกับสวนเล็กๆ ด้านล่างในบริเวณบ้านอีกด้วย

living area | Photo: Kukkong Thirathonrongkiat
ชั้นล่างของโปรเจกต์ถูกจัดเป็นสามส่วน ได้แก่ ที่จอดรถ คาเฟ่ Vanich House และพื้นที่อยู่อาศัย โดยคาเฟ่และพื้นที่นั่งเล่นของบ้านอยู่บริเวณใต้ถุนอาคาร ส่วนที่จอดรถอยู่ในพื้นที่โรงกลึงเก่าที่เคลียร์ของออกเรียบร้อย จุดที่น่าสนใจของความสัมพันธ์ระหว่างสามฟังก์ชันนี้คือมันไม่ได้แยกตัวจากกันโดยสิ้นเชิง Vanich House และพื้นที่นั่งเล่นวางตัวอยู่ติดกันโดยที่ไม่มีผนังคั่นกลาง ทว่าใช้ ‘กองของเก่า’ เป็นตัวแบ่งขอบเขตที่ได้ทั้งการบดบังมุมมองและสร้างระยะห่าง ส่วนด้านหลังก็ใช้โซ่เหล็กกั้นอย่างง่ายๆ เพื่อเปิดรับแสงและบรรยากาศจากที่จอดรถ ซึ่งอาจจะฟังดูแปลก แต่สเปซอันมีเอกลักษณ์ของโรงกลึงที่ประกอบขึ้นจากคานเหล็กก็สร้างทิวทัศน์ที่สวยงามไปอีกแบบ

Vanich House | Photo: Kukkong Thirathonrongkiat

Vanich House | Photo: Kukkong Thirathonrongkiat
เฟอร์นิเจอร์ภายในคาเฟ่ล้วนเป็นของที่นี่มาตั้งแต่แรก ไม่ว่าจะเป็นตั่ง โต๊ะ หรือเก้าอี้ และเพิ่มเคาน์เตอร์ปูนเปลือยผิวขรุขระมาตั้งต้อนรับลูกค้าที่ผ่านไปมา ซึ่งเป็นความจงใจของครอบครัวสถาปนิกครอบครัวนี้ที่อยากทิ้งร่องรอยไว้ ด้วยวิชาชีพของนักออกแบบที่ต้องนำเสนองานเนี้ยบๆ ให้ลูกค้าตลอดเวลา แง่มุมนี้จึงไม่ได้มีให้เห็นบ่อยนัก อีกทั้งการเลือกใช้วัสดุอย่างคอนกรีต พื้นอิฐและผนังไม้ก็ดูแล้วเข้ากันได้อย่างกลมกลืน

Physicalist | Photo: Soopakorn Srisakul

Physicalist | Photo: Ketsiree Wongwan
บนชั้นสองของที่นี่เก็บโซนด้านในไว้เป็นพื้นที่พักอาศัย ในขณะที่ด้านหน้าเป็นครัวและที่ทำงานของสตูดิโอสถาปัตยกรรม Physicalist ทีมออกแบบใช้โครงเหล็กบางและกระจกปิดล้อมพื้นที่ทำงานซึ่งภายในเป็นพื้นไม้และเสาไม้เก่า โดยโครงเหล็กออกแบบให้สามารถติดตั้งชั้นวางของเข้าไปได้ และมีดีเทลระหว่างโครงกับผนังด้านบนเพื่อขับเน้นให้เกิดความรู้สึกโปร่งเบา

Physicalist | Photo: Soopakorn Srisakul

Physicalist | Photo: Kukkong Thirathonrongkiat
ผนังกระจกรอบสตูดิโอถูก setback เข้ามาจากขอบอาคาร 1 เมตร แล้วเปลี่ยนพื้นรอบนอกเป็นพื้นตะแกรงเหล็กฉีก แสงที่ส่องผ่านมาจากการหลังคาจึงสามารถทะลุลงสู่ชั้นล่าง นอกจากนี้การเว้นระยะได้ช่วยเพิ่มความเป็นส่วนให้กับสตูดิโอที่ต้องการสมาธิในการทำงานกลางย่านชุมชนอีกด้วย

Photo: Kukkong Thirathonrongkiat

Photo: Ketsiree Wongwan
สำหรับ common area ของชั้นบนอย่างพื้นที่รับประทานอาหารกึ่งภายนอกนั้นมีลักษณะเป็น transition space ก่อนเข้าสตูดิโอที่ใช้รับแขกได้ ทั้งยังมีสะพานไม้ที่ทอดตัวเชื่อมต่อไปยังโซนพักอาศัย จึงเป็นจุดที่ทีม Physicalist และสมาชิกในครอบครัวสามารถสลับกันมาใช้งานตามช่วงเวลา และด้วยตำแหน่งที่อยู่เหนือทางเข้าบ้านพอดิบพอดี ทีมออกแบบจึงเจาะคอร์ทตรงกลางไว้สังเกตแขกหน้าประตูบ้านได้จากโต๊ะอาหาร ซึ่งเป็นการเพิ่มปริมาณแสงที่ลงสู่ด้านล่างอีกทางหนึ่ง

The Mechanic’s Room | Photo: Soopakorn Srisakul

The Mechanic’s Room | Photo: Soopakorn Srisakul

The Mechanic’s Room | Photo: Kukkong Thirathonrongkiat
นอกจากนี้ยังมีแง่มุมอื่นๆ ซ่อนอยู่อีกมากมายในโปรเจกต์ ตั้งแต่การทำงานระบบของบ้านใหม่ การปรับปรุงอดีตห้องพักคนงานเป็นห้องพักสำหรับนักท่องเที่ยวในชื่อ The Mechanic’s Room หรือการนำไม้ปูฝ้าที่พบโดยบังเอิญระหว่างการรื้อมากรุเป็นผนังห้องนอน การแยกองค์ประกอบเก่าและองค์ประกอบใหม่เหล่านี้ดูไปแล้วอาจมองออกอย่างรวดเร็วว่ามีที่มาจากคนละช่วงเวลา แต่เมื่ออยู่ด้วยกันกลับไม่รู้สึกแปลกหน้า คงเพราะสิ่งสำคัญที่ถูกส่งต่อมายังเหมือนเดิม
“ที่นี่เรียกว่าอะไร” ก่อนกลับเราถามกาจวิศว์ เพราะทั้ง Physicalist และ Vanich House ต่างเป็นเพียงชื่อของส่วนหนึ่งของสถานที่แห่งนี้ ทว่าคำตอบของผู้ออกแบบที่นี่ก็ยังเป็นทั้ง 2 ชื่อนี้ที่แยกจากกันไม่ขาด เป็นพื้นที่ที่ถูกสร้างขึ้นโดยเขา ในช่วงเวลาปัจจุบันของเขา ภายใต้นิยามของ ‘regeneration’ ที่ไม่ได้เป็นการยกเครื่องอาคารทั้งในเชิงความหมายหรือการใช้งานอย่างพลิกฝ่ามือ ยืนยันจากหลักฐานที่ว่าบ้านหลังนี้เองก็ยังคงต้อนรับแขกเหรื่อที่ผ่านไปมาด้วยป้าย ‘หลียุ่นเชียง’ ควบคู่ไปกับชิงช้าตัวเดิมที่มีชีวิตมาอย่างเนิ่นนาน

หลียุ่นเชียง | Photo: Kukkong Thirathonrongkiat
physicalist-architects.com
facebook.com/Physicalistarchitects