THE ARCHITECTURE OF PARASITE

IN THIS ESSAY, WE INVITE YOU TO HAVE A LOOK CLOSELY AT THE SET DESIGN OF BONG JOON-HO’S ‘PARASITE’ AGAIN AND TRACE ALL THE MESSAGES THAT WERE HIDDEN IN THIS SPECIFIC LANGUAGE OF ARCHITECTURE

TEXT: PONGTHORN SANGTHONG
PHOTO COURTESY OF PARASITE EXCEPT AS NOTED

Parasite ภาพยนตร์รางวัลปาล์มทองคำจากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ สัญชาติเกาหลีใต้ของผู้กำกับ Bong Joon-ho ถูกเขียนถึงในประเด็นสังคมการเมืองไปก็มากอยู่ ด้วยสัญญะที่หนังจงใจใส่มาและประเด็นที่เข้มข้น บวกกับการดำเนินเรื่องที่สนุก (เกินวิสัย “หนังรางวัล”) ทำให้การตีความและบทวิเคราะห์ของหนังผุดตามมาเป็นวงกว้าง ในเมื่อหลายคนเลือกหยิบแว่นตาที่ต่างกันออกไปเพื่อมองหนังเรื่องนี้ ผู้เขียนจึงขอหยิบแว่นของคนที่ถูกฝึกมาในโรงเรียนสถาปัตยกรรมขึ้นมาใช้สำหรับการอ่าน Parasite บ้าง

คงไม่ต้องเท้าความเนื้อเรื่องมากมาย ครอบครัวคิมที่ขัดสนปลอมแปลงแฝงตัวเข้าไปทำงานในบ้านเศรษฐีของครอบครัวพัค จากห้องรูหนูใต้ดินของบ้านคิม ผู้กำกับพาคนดูไปสู่บ้านคนรวยที่อยู่สูงกว่า (อยู่สูงกว่าจริงๆ เพราะต้องขึ้นเขาไป) มีรสนิยมกว่า บ้านของครอบครัวพัคถูกย้ำอยู่หลายครั้งว่าออกแบบโดยนัมกุง สถาปนิกชั้นยอดที่ตั้งใจจะออกแบบบ้านหลังนี้ให้เป็นบ้านของตนเอง แต่จับพลัดจับผลูอย่างไรไม่รู้ถึงตกเป็นของครอบครัวพัค

© 2019 CJ ENM CORPORATION, BARUNSON E&A

Le Corbusier สถาปนิกชั้นครูได้เสนอแนวความคิดเกี่ยวกับลักษณะของสถาปัตยกรรมโมเดิร์นไว้ 5 ประการ หนึ่งในนั้นคือการเปิดหน้าต่างกระจกเป็นช่องยาว เพราะผนังไม่ได้มีหน้าที่รับน้ำหนักอีกต่อไป การเปิดช่องเหล่านี้นำแสงสว่างจากธรรมชาติเข้าสู่อาคารมากขึ้น นำภูมิทัศน์งดงามเข้ามามากขึ้น นำคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าบ้านมืดๆ เข้ามามากขึ้น บ้านของครอบครัวพัคที่มีห้องนั่งเล่นติดกระจกใสบานใหญ่นำแสงอบอุ่นและวิวสวนสวยที่บรรจงรักษาสะท้อนคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าอย่างชัดเจน กลับกันกับห้อง (เกือบ) ใต้ดินของบ้านคิม ช่องเปิดที่พอมีคือหน้าต่างที่พอเปิดแล้วสายตาจะอยู่เสมอระดับถนนพอดี ทิวทัศน์ที่จะได้เห็นประจำคือคนเมามาปัสสาวะเรี่ยราด ไม่น่าแปลกใจที่ชนชั้นปรสิตอยากไขว่คว้าโอกาสที่ดีกว่า ในเมื่อช่องเปิดของบ้านไม่ได้นำมาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดีเท่าไรนัก

กระจกบานใหญ่ของบ้านพัคนอกจากจะบ่งบอกถึงชีวิตที่สุขสบายกว่า มันยังเป็นองค์ประกอบที่สะท้อนสัญญะทุนนิยมที่หนังจิกกัดด้วย กระจกใสนั้นแม้จะให้ความรู้สึกโปร่ง โล่ง เบา ใสสะอาด แต่ถ้าไม่หมั่นเช็ดถูก็จะเลอะเปื้อนไม่สมฐานะเศรษฐี การใช้เงินจ้างคนมาธำรงความสะอาดให้กับกระจกจึงตามมา อีกทั้งการเปิดช่องเปิดใหญ่ขนาดนั้น จำเป็นจะต้องมีเนื้อที่บ้านที่ห่างจากสายตาคนนอกมากพอที่จะสร้างความเป็นส่วนตัว มีพื้นที่ภายนอกที่เป็นส่วนตัว อีกทั้งยังสะท้อนรสนิยมในการชื่นชมงานศิลป์ เพราะนอกจากจะสะสมงานศิลปะแล้ว บ้านพัคยังมีกระจกบานใหญ่ไว้แทนกรอบภาพหรือจอพาโนรามิกขนาดใหญ่ให้ชื่นชมทิวทัศน์ที่งามเหมือนภาพวาด หรือชมกิจกรรมภายนอกราวกับชมภาพยนตร์ เป็นรางวัลเล็กๆ น้อยๆ หลังจากคุณพัคเลิกจากงานธุรกิจ ลูกๆ กลับจากโรงเรียน และคุณนายพัคสั่งงานในบ้านเสร็จ

แต่กระนั้นบ้านก็ยังมีมุมเร้นลับที่แม้แต่คุณพัคก็ไม่รู้ว่ามีอยู่ นั่นคือห้องใต้ดินที่ไม่มีช่องเปิดนำแสงหรือคุณภาพชีวิตใดๆ ซึ่งมีปรสิตตัวเก่าจับจองอยู่ เหตุด้วยนัมกุงผู้รับบทเจ้าของบ้านเดิมควบกับสถาปนิกได้ออกแบบมันไว้เพื่อกันภัยนิวเคลียร์จากเกาหลีเหนือ แต่เขาเก็บไว้เป็นความลับเพราะมันไม่คู่ควรจะมาอยู่กับงานออกแบบที่ควรเป็นงานชิ้นเอกหลังนี้ ปกปิดมันจากสายตาผู้คนเพราะเป็นพื้นที่ใช้สอยที่ภาพลักษณ์ตรงกันข้ามกับความเป็นบ้านหรูอยู่สบายโดยสิ้นเชิง ถ้าความลับนี้ถูกเปิดเผย ภาพฝันถึงงานที่สมบูรณ์แบบของสถาปนิกตามความคาดหวังของผู้คนก็ต้องถูกทำลายลง น่าอับอายเกินไปสำหรับนักออกแบบ แถมท้ายที่สุดการใช้งานของมันยังถูกเปลี่ยนจากการหลบภัยนิวเคลียร์มาให้ปรสิตใช้หลบเจ้าหนี้ การมีอยู่ของมันจึงยิ่งน่าขันมากกว่าเดิม


© 2019 CJ ENM CORPORATION, BARUNSON E&A

นอกจาก Parasite จะเล่าเรื่องราวระหว่างชนชั้น หากอ่านระหว่างบรรทัดก็จะพบว่าหนังใช้สเปซของงานออกแบบบอกเล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างผู้ออกแบบ ความคาดหวังของผู้ออกแบบ และการใช้งานพื้นที่ที่เกิดขึ้นจริง น่าประหลาดใจที่งานโปรดักชั่นดีไซน์ส่วนใหญ่ของหนังนั้นถูกเซ็ตขึ้น เพราะนอกจากจะถูกออกแบบให้ตีความเชิงสัญญะได้แล้ว มันยังสมจริงน่าเชื่อถือในการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีเลวต่างกันสุดขั้วขึ้นมาเพื่อช่วยขับประเด็นและบทที่จัดจ้านไปจนสุดทาง

festival-cannes.com/gisaengchung

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *