FROM AMSTERDAM WITH LOVE

IN 2013, CHAVALIT SOEMPRUNGSUK RETURNS TO BANGKOK TO SHARE NOT ONLY HIS WORKS BUT ALSO THE STUDIO THAT NURTURED THEM. THE EXHIBITION AT THE RATCHADAMNOEN CONTEMPORARY ART CENTER PROVIDES A BEHIND THE SCENES LOOK AT BOTH ARTIST AND WORKS

TEXT: REBECCA VICKERS
PHOTO: KETSIREE WONGWAN

(For English, press here)

มีเหตุผลมากมายในการทำงานศิลปะที่นอกเหนือจากเรื่องของความต้องการเป็นที่ยอมรับยกย่องหรือคำชม มันเป็นเรื่องของความสุขที่มีอยู่ในการทำงาน ความอยากรู้อยากเห็นเกี่ยวกับวัสดุ ความรู้สึกเติมเต็มที่ได้จากการแสดงออกด้วยมือของเราเองเท่านั้น หรืออาจจะเกิดจากเหตุผลส่วนใหญ่ที่ไม่อาจจะประนีประนอม ความต้องการที่ไม่รู้จักเหน็ดจักเหนื่อยที่จะค้นหาผ่านกระบวนการสร้างสรรค์และเคารพต่อการทำงานเช่นเดียวกับการฝึกฝน แต่เหตุผลเหล่านี้จะกลายมาเป็นแรงขับเคลื่อนความสนใจในระยะหนึ่งหรือว่ามันจะส่งผลให้กลายเป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่ และยาวนานกว่างานอดิเรก มันจะถึงขั้นที่ว่าสามารถกำหนดทิศทางในการดำเนินชีวิตให้กับคนคนหนึ่งได้หรือไม่

สำหรับ ชวลิต เสริมปรุงสุข แล้ว ความรักที่มีต่อการทำงานศิลปะเท่าที่เขาจำได้ ก็คือว่าการทำงานศิลปะเป็นเป้าหมายเดียวที่ควรค่าแก่การใฝ่หา เป็นเป้าหมายและวิถีทางเดียวที่เป็นไปได้ “ผมเกิดมาเพื่อเป็นศิลปินไม่ใช่อย่างอื่น ผมไม่สามารถจะมีชีวิตอยู่ได้โดยไม่มีศิลปะ ผมรู้มาตั้งแต่ตอนเป็นเด็กแล้วว่ามันเป็นสิ่งเดียวที่ผมจะทำได้ คนบางคนอาจจะทำอะไรต่อมิอะไรได้หลายอย่าง พวกเขาเก่ง แต่ผมไม่เก่ง ผมความจำไม่ดี ภาษาก็แย่ คณิตศาสตร์ยิ่งแย่ใหญ่ ผมจำอะไรไม่ค่อยได้ แต่มีสิ่งหนึ่งที่ผมรู้ก็คือผมอยากจะทำงานศิลปะ มันเป็นชีวิตของผม เป็นทั้งหมดของชีวิต ผมเกิดมาเพื่อจะเป็นศิลปิน และก็จะตายอย่างศิลปิน มันง่ายๆ อย่างนั้น”

ชวลิตจบการศึกษาจากคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากรเมื่อปี 2505 ซึ่งเขาได้เรียนกับอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ก่อนที่จะย้ายไปศึกษาต่อที่ Rijksakademie van beeldende kunsten (ราชวิทยาลัยทางด้านทัศนศิลป์) ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในปี 2506 ชวลิตอธิบายว่าที่เขาต้องการอาศัยอยู่ในยุโรปก็เพราะว่า “ผมไม่เห็นอนาคตที่แท้จริงสำหรับศิลปินในประเทศไทย ในสมัยนั้น ประเทศไทยไม่ใช่ที่ที่เหมาะสำหรับศิลปินที่จะอยู่ในฐานะศิลปิน” แต่เวลาที่เขาอยู่กับสถาบันศิลปะที่อัมสเตอร์ดัมนั้นค่อนข้างสั้นเพราะเขามีความคิดเห็นไม่ลงรอยกับอาจารย์ด้วยความที่ยังเด็กและเชื่อมั่นในหนทางของเขา จึงทำให้ถูกให้ออกจากสถาบัน “อาจารย์ให้ผมไปวาดรูปวัวในทุ่ง และให้เก็บรายละเอียดขนทุกเส้นของวัวมาให้ได้ ในตอนนั้นผมไม่อยากจะทำอย่างนั้น อาจารย์ชาวดัตช์ในสมัยนั้นเป็นพวกหัวโบราณ และเขาไม่ยอมรับผลงานของผม ถ้าผมจะวาดรูปด้วยเส้นเพียงไม่กี่เส้น ผมไม่เห็นประโยชน์ที่จะเถียงกับเขา หลังจากนั้นผมก็ได้งานทำ ผมทำโน่นทำนี่ไปเรื่อยตอนนั้น และก็ต้องหาเวลาทำงานศิลปะของผมไปด้วย เวลาของผมแบ่งครึ่งต่อครึ่ง หลังจากนั้น 4 ปี ผมได้ยื่นเรื่องเพื่อขอเข้าไปอยู่ในระบบอุปถัมภ์ศิลปินของรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ ระบบอุปถัมภ์ศิลปินนี้เริ่มขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อรัฐบาลตระหนักว่าศิลปินได้ถูกทอดทิ้งให้อดตาย อย่างเช่น Van Gogh และอีกหลายคน เมื่อตระหนักถึงความผิดพลาดและได้เรียนรู้บทเรียน ก็เลยจัดตั้งระบบอุปถัมภ์ศิลปินขึ้นมาเพื่อที่ว่าศิลปินจะได้ใช้ชีวิตเพื่อสร้างผลงานทางศิลปะโดยไม่ต้องพะวงกับการหาเงิน โดยการให้เงินเดือนตลอดทั้งปีจะได้ทำงานศิลปะอย่างเดียว” ในปี 2513 ชวลิตจึงเป็นศิลปินชาวไทยคนแรกและคนเดียวที่ได้รับคัดเลือกให้ได้เข้ามาอยู่ในระบบอุปถัมภ์ของรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ “เลยทำให้ผมมีเวลาทำงานศิลปะได้อย่างอิสระ นับว่าเป็นความโชคดีของผม”

ชวลิตอยู่ในระบบอุปถัมภ์ศิลปินของรัฐบาลเกือบ 20 ปี โดยทำงานศิลปะอย่างจริงจังในสตูดิโอที่เรียบง่ายในอัมสเตอร์ดัม อ๊อซ เขตหนึ่งในอัมสเตอร์ดัมซึ่งประกอบไปด้วย ซีเบิร์กและแขวงใกล้เคียง และเป็นที่ที่เขายังคงอาศัยและทำงานอยู่ต่อมาอีก 50 ปี ในขณะที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าผลงานในยุคปัจจุบันของศิลปินนั้นน่าประทับใจมาก แต่ผลงานที่สั่งสมมาอีก 2,000 กว่าชิ้นที่ศิลปินได้รังสรรค์มาตลอดระยะเวลาการทำงานซึ่งมีความหลากหลายรูปแบบและเทคนิค ทั้งภาพเขียน ภาพพิมพ์ สื่อผสม ศิลปะจัดวาง และประติมากรรม ต่างก็มีคุณค่าอย่างไม่ต้องสงสัย ความมุ่งมั่นในการทำงานศิลปะของชวลิตนั้นน่ายกย่องไม่แพ้กัน ผลงานของเขามีการพัฒนาไปพร้อมๆ กับการดำเนินชีวิต เพราะชีวิตของเขาก็คืองาน “ศิลปะไม่สามารถที่จะประนีประนอม และจะไปประนีประนอมกับใคร คุณไม่สามารถทำมันครึ่งๆ กลางๆ คุณต้องทำมันให้สุดขั้ว คุณต้องอุทิศตัวร้อยเปอร์เซ็นต์ พันเปอร์เซ็นต์”

ผลงานศิลปะที่ทรงคุณค่าและน่ายกย่องของชวลิตจัดแสดงอยู่ที่หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน กรุงเทพฯ นิทรรศการ ‘In Amsterdam with Chavalit Soemprungsuk’ เกิดขึ้นโดยศิลปินติดต่อกับทางสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ที่จะบริจาคไม่เฉพาะผลงานทั้งชีวิตของเขาแต่รวมถึง สตูดิโอ หนังสือที่เขาเก็บสะสมมากกว่าพันเล่ม ข้าวของส่วนตัวและบันทึกความทรงจำเกี่ยวกับชีวิตและการทำงานในฐานะศิลปินตลอดชีวิตที่ผ่านมาให้แก่คนไทย “ผมต้องการให้คนไทยได้เห็นว่าผมมีความเป็นอยู่อย่างไรในอัมสเตอร์ดัม และการใช้ชีวิตในการทำงานของผมในช่วงตลอดเวลา 50 ปีที่ผ่านมา คุณจะได้สัมผัส ได้กลิ่นอายของบรรยากาศ ได้รับรู้ความรู้สึก ทุกสิ่งทุกอย่างว่าผมอยู่อย่างไร ผมหวังว่ามันจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับศิลปินรุ่นใหม่ ให้กับคนไทยได้เห็นว่ามันเป็นอย่างไรในการใช้ชีวิตกับศิลปะ”


การนำเสนอวิถีชีวิตของศิลปินในรูปแบบของนิทรรศการนั้นจะทำได้อย่างไร คำตอบก็คือ แม้ว่าจะค่อนข้างลำบากในการที่จะจัดทำ จัดเก็บของทั้งหมด ทุกรอยเท้าของเส้นทาง และจัดแสดงทุกอย่าง ผลงาน
ทุกชิ้นของชวลิต ของใช้ส่วนตัว ของสะสม และพื้นที่สตูดิโอได้รับการรื้อออกอย่างระมัดระวัง ห่อบรรจุทีละชิ้น และส่งตรงจากอัมสเตอร์ดัมมายังประเทศไทย ภาพเขียนจำนวนหลายพันชิ้น หนังสือหลายร้อยเล่ม อุปกรณ์ศิลปะ โต๊ะทำงาน เก้าอี้อ่านหนังสือ สมุดสเก็ตช์ บันทึกความทรงจำ และกระดาษโน๊ตต่างๆ ทุกอย่างเอามาหมด ตัวนิทรรศการได้มีการจัดสร้างบนพื้นที่ของหอศิลป์ให้เหมือนสตูดิโอ โดยการนำเอาของทุกอย่างมาประกอบและจัดวางให้เหมือนอย่างที่ที่มันเคยเป็น เมื่อเดินเข้ามาในหอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน จะรู้สึกเหมือนว่าได้มาอยู่ ‘ในอัมสเตอร์ดัมกับชวลิต เสริมปรุงสุข’ “เรารื้อทุกอย่างลง จดบันทึกสิ่งของทุกชิ้น และนำมาจัดวางใหม่เหมือนอย่างที่มันเคยเป็น มันเหมือนกับว่า เมื่อคุณอยู่ข้างนอก คุณอยู่ในประเทศไทย แต่เมื่อคุณมาถึงที่จัดนิทรรศการ คุณได้มาอยู่ในอัมสเตอร์ดัม คุณจะได้สัมผัสบรรยากาศอย่างเดียวกับที่ผมเคยอยู่ ไม่มีอะไรแตกต่าง ทุกอย่างจริงๆ แม้แต่รอยขีดข่วนบนบันไดที่สุนัขของผมวิ่งขึ้นวิ่งลง ทุกอย่างเป็นอย่างที่ผมเคยอาศัยอยู่ นั่นคือแนวคิด”

ภายในพื้นที่จัดนิทรรศการผู้ชมจะรู้สึกเหมือนกับเข้าไปสำรวจบ้านคนแปลกหน้าตอนที่เขาไม่อยู่บ้าน ทุกอย่างตั้งแต่หนังสือที่วางทิ้งไว้ข้างเก้าอี้อ่านหนังสือ และของกระจุกกระจิกที่อยู่ตรงนั้นตรงนี้ ทำให้เกิดความรู้สึกไม่เป็นระเบียบซึ่งไม่สามารถจะปรุงแต่งขึ้นมาเองได้ แต่นอกจากความรู้สึกที่เหมือนกับเข้าไปอยู่ในสตูดิโอและบ้านคนอื่น สิ่งของเหล่านี้ยังได้ให้อะไรมากกว่านั้น มันมาด้วยกันเพื่อสร้างกรอบการแสดงงานศิลปะประมาณ 200 ชิ้น ซึ่งมีทั้งภาพเขียน ภาพพิมพ์ ดรออิ้ง ประติมากรรม และงานจัดวาง ซึ่งแตกต่างจากงานรีโทรสเป็คทีฟทั่วๆ ไป ที่มักจะจัดแสดงงานเรียงตามช่วงเวลา หรืออิงตามหัวข้อที่จัด ผลงานของชวลิตจะติดตั้งโดยให้มันเกื้อหนุนกันและกัน โดยการนำเสนอให้เห็นวิถีชีวิตที่สรรค์สร้างมันขึ้นมา เหมือนโน๊ตเพลง เครื่องดนตรี และผู้แต่ง ที่จะต้องอยู่ด้วยกัน ทุกสิ่งทุกอย่างก็อยู่ด้วยกันที่นั่น

ชวลิตอธิบายว่า ภายหลังนิทรรศการเสร็จสิ้นลงแล้ว เขาตั้งใจที่จะยังคงทำงานต่อไป ยังสร้างสรรค์งานต่อไป แต่วางแผนว่าจะลองท้าทายในการพัฒนางานที่ปราศจากรูปแบบของวัตถุ “ผมทำงานหนักมาตลอด และทำมาหลายอย่างมาก แต่ตอนนี้ผมมีที่ที่จะเก็บรักษาผลงานของผมแล้ว ชีวิตมันสั้น ผมไม่ต้องการที่จะสร้างงานที่เป็นกายภาพขึ้นมาอีกแล้ว ผม 74 แล้ว ไม่ใช่ 40 ผมไม่แข็งแรงเหมือนแต่ก่อน และเริ่มช้าลง แต่ผมเป็นคนกระตือรือร้นมาก ผมยังอยากจะทำอะไรที่ไม่จำเป็นที่จะต้องทำมันขึ้นมาเป็นวัตถุจริงๆ มันจะได้ไม่เป็นภาระ

เมื่อดูนิทรรศการ ‘In Amsterdam with Chavalit Soemprungsuk’ แล้วจะเห็นว่าภัณฑารักษ์ได้นำคอลเล็คชั่นขนาดใหญ่มารวมไว้ด้วยกัน และเป็นสิ่งต่างๆ ที่ชวลิตต้องการจะเป็นอิสระจากมัน เพื่อที่จะก้าวข้ามอดีตไปข้างหน้า นิทรรศการได้รวบรวมเอาไว้ซึ่งสาระสำคัญ แรงบันดาลใจ เรื่องราวของชีวิต ของที่ประเมินค่าไม่ได้ และมีเอกลักษณ์ ซึ่งยิ่งใหญ่กว่าสิ่งที่มันบรรจุอยู่ภายในรูปแบบของวัสดุหรือวัตถุนั้นๆ ด้วยเหตุนี้ ถ้าชวลิตปรารถนาที่จะพัฒนาการทำงานศิลปะที่ปลดปล่อยจากการทำงานให้ออกมาทางกายภาพ และไปสรรค์สร้างผลงานที่ไม่ยึดติดกับรูปแบบ บางทีเขาอาจจะบรรลุจุดประสงค์นั้นแล้วก็ได้ นิทรรศการนี้อาจจะมิได้เป็นเพียงการรับใช้ก้าวสุดท้ายของการทำงานศิลปะที่เขาเคยทำมาก่อน แต่มันยังอาจจะเป็นก้าวแรกของทิศทางการทำงานใหม่ของเขาอีกด้วย

 

fb.com/chavalit.soemprungsuk
fb.com/ChavalitFestival

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *