ANANDA CHALARDCHAROEN SHEDS LIGHT ON THE ABANDONED BUILDING ON MAITRI CHIT ROAD AND WELCOMES A BOUTIQUE HOTEL TO THE OLD TOWN DISTRICT, WHICH RETELLS THE HISTORY OF BANGKOK
TEXT: HARISADHI LEELAYUWAPAN
PHOTO: KETSIREE WONGWAN
(For English, press here)
“The Mustang Blu เกิดขึ้นจากความชอบที่มีต่ออาคารเก่า พื้นที่ภายในของอาคารโบราณ และประสบการณ์จากโรงแรมเดิม The Mustang Nero ที่เราเคยทำ เราจึงมองหาอาคารเก่าขนาดกำลังพอเหมาะกับโรงแรมขนาดเล็ก” อนันดา ฉลาดเจริญ สไตล์ลิสต์ โชว์ไดเรกเตอร์ และผู้ก่อตั้งโรงแรมในเครือ The Mustang กล่าวถึงแรงบันดาลใจ และความรักที่มีต่อของวินเทจ รวมไปถึงอาคารโบราณ อันเป็นจุดเริ่มต้นให้เธอตั้งใจพลิกฟื้นนอาคารเก่าขนาด 900 ตารางเมตรหลังนี้ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง
“ด้วยความตั้งใจแรกที่อยากจะนำอาคารเก่าหรือตึกร้างในกรุงเทพฯ ที่มีความสวยงามกลับมาใช้ประโยชน์อีกครั้งในรูปแบบโรงเเรม เราเลยออกสำรวจอาคารต่างๆ ในกรุงเทพฯ ไปร่วมร้อยเเห่งได้ซึ่งก็มีเพียง 2-3 เเห่งเท่านั้นที่เราชอบ โดยสำหรับการเลือกอาคารเก่าเพื่อมาทำโรงแรม เราจะดูที่ประโยชน์ใช้สอยในอาคารเป็นหลัก คืออาคารต้องสามารถวางฟังก์ชั่นได้เหมาะสม งานระบบต้องสามารถปรับปรุงได้ ถึงอาคารจะสวยขนาดไหน แต่ถ้าไม่เอื้อประโยชน์ต่อเเขกที่จะเข้าพัก เราก็ต้องตัดใจกับอาคารนั้นไป”
สำหรับอาคารเก่าซึ่งเป็นที่ตั้งของ The Mustang Blu นั้น เดิมเคยถูกใช้เป็นสถานอาบอบนวดมาก่อน ซึ่งด้วยรูปแบบของธุรกิจที่ไม่เหมาะกับสภาพสังคมปัจจุบัน โครงการรีโนเวทอาคารพาณิชย์ที่เคยเป็นอาบอบนวด ‘คลีโอพัตรา’ เดิมจึงเริ่มขึ้น ในเวลาเพียง 5 เดือน
สิ่งที่ทำให้อนันดาสะดุดตากับอาคารพาณิชย์ที่ตั้งอยู่บนถนนไมตรีจิตต์ ในย่านเยาวราชแห่งนี้ ก็คือ façade ภายนอกอาคารที่เป็นรูปแบบของสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียล และระเบียงรูปทรงครึ่งวงกลม ขณะที่พื้นที่ภายในเดิมซึ่งถูกแปรสภาพการใช้งานมาอย่างโชกโชนนั้น แตกต่างไปจากภายนอกอาคารอย่างมาก จนเราเองอาจจะจินตนาการถึงหน้าตาอาคารเดิมได้ยาก ทั้งการที่พื้นที่ทั้งหมดถูกกั้นด้วยผนังทึบ รวมไปถึงหน้าต่างและช่องแสงเดิม จนทำให้ไม่มีแสงธรรมชาติเล็ดลอดเข้ามาในอาคารหลังนี้นานหลายทศวรรษ
ถ้าลองย้อนดู จะพบว่าอาคารหลังนี้อยู่คู่กับประวัติศาสตร์ของกรุงเทพฯ มายาวนาน จากเดิมที่ถูกออกแบบมาเพื่อใช้เป็นธนาคาร ก่อนจะถูกใช้เป็นโรงพยาบาลชั่วคราว จนในที่สุดถูกดัดแปลงมาเป็นสถานอาบอบนวดนานกว่า 50-60 ปี เมื่อจะต้องปรับปรุงอาคารเพื่อใช้เป็นโรงแรม อนันดาซึ่งรับหน้าที่เป็นผู้ออกแบบ The Mustang Blu แห่งนี้ด้วย จึงตั้งใจที่จะรื้ออาคารให้กลับไปสู่สภาพเดิม เพื่อค้นหาว่าหากอาคารหลังนี้ไม่มีสิ่งแปลกปลอมแทรกอยู่แล้ว มันจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร อนันดาเริ่มต้นจากการหาความเป็น original ของงานสถาปัตยกรรม เพื่อใช้เป็นแก่นในการอนุรักษ์อาคารให้ใกล้เคียงกับสภาพเดิมกับเมื่อครั้งที่มันเคยเป็นธนาคารมากที่สุด โดยเธอค่อยๆ ทำความรู้จักกับอาคารผ่านการรื้อสิ่งที่ถูกต่อเติมทับถมตลอดระยะเวลากว่าร้อยปีที่ผ่านมา “การรื้อ” จึงเป็นกระบวนการสำคัญกระบวนการแรกที่สร้างกรอบการทำงานในการปลุกอาคารหลังนี้ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง
ระหว่างการรื้อถอนองค์ประกอบต่างๆ ที่ถูกต่อเติม ไม่ว่าจะเป็นผนังเบา ฝ้าเพดาน ตลอดจนผนังปูนที่สร้างขึ้นเพื่อปิดช่องแสงหน้าต่างและทางเข้าออกหลักของประตูเดิม ซึ่งกินเวลาร่วม 2 เดือน อาคารก็ค่อยๆ เผยความงามที่ซุกซ่อนอยู่ออกมา เพดานโค้งสไตล์โคโลเนียลที่เคยซ่อนอยู่เหนือฝ้าเพดานได้กลับมาอวดโฉมใหม่อีกครั้ง ขณะที่การค้นพบโดมขนาดใหญ่ที่ซ่อนอยู่เหนือฝ้าของชั้น 3 ซึ่งเป็นชั้นบนสุดของอาคารก็สร้างความตื่นเต้นให้กับการรื้อถอนนี้ไม่แพ้กัน ฝ้าที่แตกร้าวตามกาลเวลาทำาให้อนันดาได้เจอเข้ากับโดมช่องแสงที่เป็นตัวเชื่อมต่อกับโถงกลางของอาคารทั้งสามชั้น เมื่อเริ่มรื้อสิ่งแปลกปลอมทั้งกระเบื้องและเสื่อน้ำมันออก พื้นไม้เดิมที่ซ่อนอยู่ซึ่งถูกคัดรอบเป็นวงกลมกลายเป็นสิ่งที่นำให้ผู้ออกแบบได้พบกับ void เดิมของอาคาร ซึ่งนี่คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอตัดสินใจได้ว่าจะให้อาคารเปิดเผยตัวตนในแบบที่มันเคยเป็นในรูปแบบใด ด้วยการเลือกให้คุณค่ากับสถาปัตยกรรมเดิม
เพราะวัตถุประสงค์ในการทำโรงแรมแบบฉบับ The Mustang คือความต้องการอนุรักษ์อาคารเก่า การมองหาความงามแบบดั้งเดิมจึงเป็นเหตุผลหลักในการทำงาน เมื่อการรื้อถอนดำเนินไปได้ประมาณ 30% อนันดาจึงเริ่มเห็นภาพว่าอยากจะสร้างอะไรให้กับอาคารแห่งนี้ การออกแบบโรงแรมจึงเป็นเหมือนกับการแก้ปัญหาหน้างานให้สอดคล้องกับสิ่งที่พบเพื่อให้พอดีกับสิ่งที่ตั้งใจออกแบบไว้แต่แรก เมื่อเลือกที่จะเก็บทุกอย่างให้เหมือนเดิมแล้ว หลักในการออกแบบตกแต่งภายในของ The Mustang Blu จึงเป็น “สิ่งที่พังเราก็ซ่อม” ผนังปูนที่หลุดร่อนก็ซ่อมคืนสภาพ เสาก็ซ่อมรอยแตกร้าว ประตูหน้าต่างเดิมกว่า 200 บาน ก็ถูกซ่อมแซมเท่าที่จะทำได้ส่วนที่ขาดหายก็ทำเลียนแบบของเดิม ทุกร่องรอยบนผนังที่เปรียบเสมือนเรื่องเล่าจากกาลเวลาถูกเก็บพื้นผิวเดิมไว้ทั้งหมด โดยเลือกที่จะทำสีใหม่ให้เข้ากัน ส่วน façade ซึ่งเป็นสิ่งแรกที่สร้างความประทับใจต่ออาคารหลังนี้ให้กับผู้คนที่สัญจรผ่านไปมา ก็ถูกปรับปรุงให้คงสภาพเดิมไว้ให้มากที่สุดด้วยการซ่อมแซม โป้วส่วนที่สึกหรอ ไม่ทาสีใหม่ พร้อมๆ กับเน้นการออกแบบแสงสว่างเพื่อสร้างบรรยากาศสำหรับช่วงเวลากลางคืนซึ่งทำให้อาคารยังคงกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกับชุมชน
ในแง่การวางผังอาคาร พื้นที่ชั้นติดถนนถูกแบ่งเป็น 2 ฝั่งที่เชื่อมทะลุเข้าหากัน เปิดประตูต้อนรับผู้มาเยือนจากทั้ง 2 ฝั่งให้เหมือนรูปแบบการใช้อาคารเดิมเมื่อครั้งเป็นธนาคาร พื้นที่ชั้นล่างนี้ส่วนหนึ่งถูกใช้เป็นล็อบบี้ต้อนรับเเขกที่เข้าพัก ขณะที่อีกส่วนถูกใช้เป็นห้องรับเเขกสำหรับนั่งพักคอย และเป็นโต๊ะอาหารเช้า
กลิ่นยาจีนโบราณที่คุ้นชินจากการเดินเล่นในย่านเยาวราช คือแรงบันดาลใจในการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ชิ้นหลักอย่างเคาน์เตอร์สำหรับ check-in รูปแบบของลิ้นชักยาจีนถูกนำมาเป็นฉากหลัง ห้องซื้อตั๋วรถไฟโบราณที่ได้แรงบันดาลใจมาจากสถานีรถไฟหัวลำโพง ที่อยู่ในละแวกรอบข้างของโรงแรมก็ถูกออกเเบบใหม่ สร้างภาพจดจำให้กับจุดต้อนรับ จับเอากลิ่นอายในย่านมาเก็บเล็กผสมน้อยให้ผสานกันจนลงตัว ผสมรวมกับสัตว์สตาฟซึ่งเป็นของสะสมของอนันดา ที่ช่วยสะท้อนคาแร็คเตอร์หลักของโรงแรมในเครือ The Mustang ออกมาได้เป็นอย่างดี
ด้วยความที่เป็นอาคารเก่า การรับน้ำหนักของอาคารจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึง เหตุนี้เองที่ทำให้การใช้อิฐเป็นวัสดุกั้นห้องจึงไม่เหมาะสมนัก อนันดาในฐานะผู้ออกแบบจึงเลือกใช้แผ่นยิปซัมอย่างหนา และผนังซับเสียงเป็นวัสดุหลักแทน อย่างไรก็ตาม การพบ void วงกลมเดิมของอาคารส่งผลต่อการวางผังห้องพักเป็นอย่างมาก เพราะผนังของห้องพักที่อยู่รอบๆ นั้นจะต้องถูกกั้นเป็นรูปทรงวงกลม ซึ่งไม่สอดคล้องกับคุณสมบัติของแผ่นยิปซัมและแผ่นซับเสียงที่ยากต่อการดัดโค้งสักเท่าไร ด้วยเหตุนี้ เธอจึงจัดการกับข้อจำกัดดังกล่าวด้วยการใช้อุปกรณ์เหล็กสำหรับดัดโค้งแผ่นยิปซัม ที่ใช้ระยะเวลาในการดัดต่อแผ่นราว 2 ชั่วโมงก่อนใช้งานจริง มาเป็นตัวช่วยในการทำงาน ซึ่งนับเป็นวิธีการที่ดีที่สุดที่จะทำให้ยังสามารถสร้างผนังโค้งขึ้นได้ตามต้องการแม้คุณสมบัติโดยตรงของวัสดุจะไม่เอื้ออำนวย แถมผลที่ได้ยังช่วยเน้นให้โดมอันเป็นส่วนประกอบสำคัญของสถาปัตยกรรมชิ้นนี้เด่นชัดขึ้น
ห้องพักของ The Mustang Blu มี 2 ขนาด คือ ห้องขนาดใหญ่ 60 ตารางเมตร ในชื่อ ‘Mafia Blu’ ซึ่งตั้งอยู่ที่มุมอาคารส่วนที่เป็นรูปทรงสามเหลี่ยม และมาพร้อมกับระเบียงที่สามารถเห็นวิวบริบทรอบอาคารอันเป็นเส้นทางสัญจรระหว่างสถานีรถไฟหัวลำโพงไปเยาวราช ขณะที่ห้องขนาดเล็ก 30 ตารางเมตร จะถูกวางผังตามพื้นที่รอบๆ โดมของอาคาร ซึ่งนอกจากจะทำให้ห้องทุกห้องไม่เป็นสี่เหลี่ยมสมมาตร เหมือนห้องพักโรงแรมทั่วไปแล้ว การตกแต่งยังทำให้แต่ละห้องมีคาแร็คเตอร์เฉพาะตัวที่แตกต่างกันด้วย การวางตัวของอาคารที่ทอดยาวขนานกับถนนไมตรีจิตต์ทำให้ห้องพักที่อยู่แต่ละฝั่งสามารถรับรู้สิ่งที่เป็นปัจเจกของชุมชนได้ต่างกัน ห้องพักที่ติดริมถนนก็จะคึกคักจอแจ ส่วนห้องพักที่ติดกับชุมชนก็จะสามารถมองเห็นวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนในระแวกนี้ ที่เราอาจเผลอได้ยินการพูดคุยกันของชาวบ้านเป็นภาษาไทยบ้าง ภาษาจีนบ้าง สลับกันไป
“กรุงเทพฯ มีอาคารเก่าที่สวยอยู่มาก แต่กลับไม่ถูกนำมาใช้ (มันน่าเสียดายที่) อาคารทรงคุณค่าหลายหลังต้องถูกทุบทิ้งไปเพราะไม่มีใครเห็นความสำคัญ” อนันดาทิ้งท้าย