VAC LIBRARY

FARMING ARCHITECTS, A VIETNAM-BASED ARCHITECTURE FIRM, HAS COME UP WITH AN INTERESTING WAY TO MOTIVATE PEOPLE TO SPEND TIME OUTSIDE OF THEIR HOMES AND ENJOY THE FRESH AIR IN HANOI WITH VAC LIBRARY

TEXT: SUTEE NAKARAKORNKUL
PHOTO: THAI THACH / VIET DUNG AN

(For English, press here)

ในขณะที่ไวรัสโควิด-19 กลายเป็นหัวข้อใหญ่ที่ทุกคนพูดถึงในระยะที่ผ่านมา ภัยคุกคามด้านสุขภาพที่เราอาจจะเผลอ “การ์ดตก” กันมาสักพัก อย่างมลพิษทางอากาศ ก็ควรจะได้รับการพูดถึงมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญด้วยเช่นกัน หากจำกันได้ มนุษย์กรุงเทพฯ บางรายหันมาสวมหน้ากากกันมาก่อนสักพักแล้ว เพราะเมื่อปลายปีก่อน ค่าฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพฯ นั้นเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วภายในเวลาสั้นๆ ในทำนองเดียวกับเชียงใหม่ที่ต้องเผชิญกับปัญหาหมอกพิษจากไฟป่าอยู่เป็นระยะ

เมื่อขยับออกมาดูในละแวกใกล้เคียง ฮานอย เมืองหลวงของเวียดนามเอง ก็ประสบชะตากรรมไม่ต่างไปจากบ้านเรานัก จนดูราวกับว่าเป็นเรื่องธรรมดาไปเสียแล้วที่สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นกับเมืองใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะกับเมืองที่มีการพัฒนาทางอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว คำถามที่ตามมาก็คือ ในฐานะนักออกแบบเราจะสามารถทำอะไรกับเรื่องนี้ได้บ้าง?

Farming Architects บริษัทออกแบบสถาปัตยกรรมจากเวียดนาม อาจจะไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้ตรงๆ แต่พวกเขามีวิธีจูงใจให้คนออกมาใช้เวลา และสูดอากาศนอกบ้านได้อย่างน่าสนใจ VAC Library เป็นโปรเจ็คต์ทดลองออกแบบห้องสมุดสำหรับเด็กๆ ภายในพื้นที่ 55 ตารางเมตร ประกอบไปด้วย 4 โปรแกรม ได้แก่ แปลงผักสวนครัว บ่อปลาคาร์พ กรงเลี้ยงไก่ และห้องสมุด (ที่ดูแล้วเหมือนศาลาหนังสือมากกว่า) ด้วยความตั้งใจของสถาปนิกที่ต้องการสร้างระบบนิเวศจำลองให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ถึงการอยู่ร่วมกับธรรมชาติในเมือง และตระหนักถึงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน

โครงสร้างหลักของห้องสมุดเป็นโครงสร้างไม้แบบกริด (timber grid structure) ที่เอื้อให้เด็กๆ ขยับขยายกล้ามเนื้อปีนป่ายเล่นได้ หากรู้สึกเบื่อกับการอ่านหนังสือขึ้นมา ตัวโครงสร้างไม้ถูกออกแบบในระบบโมดูลาร์ ที่สามารถปรับเปลี่ยนรูปทรงได้อย่างยืดหยุ่นในกรณีที่นำไปวางไว้ในที่อื่นๆ เช่น โรงเรียน หรือสวนสาธารณะ พื้นที่ภายในติดตั้งโคมไฟส่องสว่างยามค่ำคืน และกระถางสำหรับปลูกผักสวนครัวแนวตั้ง ติดกันเป็นสระน้ำและกรงเลี้ยงไก่ ที่เด็กๆ สามารถใช้เวลาสังเกตการณ์ธรรมชาติได้อย่างรื่นรมย์ใจ แต่เอาเข้าจริง ก็ไม่แน่ใจว่าเด็กๆ จะทนอ่านหนังสือพลางดมขี้ไก่ไปพลางได้อย่างไร

เอาเป็นว่า ตัวโปรแกรมถูกออกแบบมาในลักษณะนี้ ตามชื่อ VAC ที่มาจากคำในภาษาเวียดนาม 3 คำ ประกอบด้วย Vườn (เวือน) แปลว่า สวน Ao (เอา) แปลว่า บ่อน้ำ และ Chuồng (ชวง) ที่แปลว่า กรง ทั้งสามอย่างนี้อยู่ร่วมกันภายใต้ความสัมพันธ์ที่มีชื่อเรียกว่า ระบบเกษตรแบบผสมผสานที่พึ่งพากันได้ โดยมีอควาโปนิกส์  (Aquaponics) เป็นกลไกสำคัญของระบบนิเวศจำลองนี้

อควาโปนิกส์ คือระบบการหมุนเวียนทรัพยากรด้วยความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยกัน โดยมี “น้ำ” เป็นส่วนสำคัญ เช่น การดึงน้ำในบ่อปลาขึ้นมาใช้รดแปลงผัก ส่วนของเสียจากบ่อปลาที่ถูกย่อยด้วยไนไตรท์แบคทีเรียก็จะกลายมาเป็นสารอาหารชั้นดีในการนำไปทำเป็นปุ๋ย ขณะที่กรงเลี้ยงไก่ก็จะให้ประโยชน์ในแง่ของการนำมูลไปทำเป็นปุ๋ยคอก และเก็บไข่ไก่มากินได้ (ซึ่งน่าสนใจว่าเด็กๆ ได้มีส่วนร่วมกับกระบวนการพวกนี้มากน้อยเท่าไร) นอกจากนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับไอเดียเรื่องพลังงานหมุนเวียน ปั๊มน้ำบ่อปลายังใช้กระแสไฟฟ้าจากแผงโซล่าเซลล์ที่ติดตั้งไว้บนหลังคาของห้องสมุดอีกด้วย

ถึงแม้ว่าจะมีข้อสังเกตในเรื่องความสามารถในการป้องกันฝน ทนความร้อนจากแดด รวมไปถึงความสะดวกสบายต่อการนั่งเป็นเวลานานๆ แต่นับว่าโปรเจ็คต์ทดลองนี้เป็นความพยายามดึงเอาวิถีแบบชนบทมาปรับเข้ากับการใช้เวลาว่างแบบคนเมืองได้อย่างน่าสนใจ แถมยังช่วยปลูกฝังความคิดเรื่องความยั่งยืนให้กับเด็กๆ แบบไม่ต้องยัดเยียดจนเกินงามได้ดีอีกต่างหาก ส่วนในแง่ของความสำเร็จแบบเป็นรูปธรรม โปรเจ็คต์นี้ได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 100 รายชื่อของ Greatest Places 2019 ที่คัดเลือกโดยนิตยสาร Time

ขณะนี้ VAC Library เปิดมาได้ราวๆ 1 ปี แล้ว ไม่รู้ว่าห้องสมุดมีชีวิตแห่งนี้จะเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยอย่างไรบ้าง หากใครอยู่ใกล้หรือมีโอกาสผ่านไปที่เมืองฮานอย แล้วอยากแวะไปดู VAC Library ตั้งอยู่ที่ An Hung New Urban Area, Duong Noi, Hà Đông

farmingarchitects.com

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *