THROUGH THE ROYAL EYES

GLASS PLATE NEGATIVES: STORIES THAT TRANSCEND TIME, FEATURES WORKS OF PHOTOGRAPHS TAKEN BY MEMBERS OF THE ROYAL FAMILY AND THEIR ENTOURAGE. CAPTURED ON GLASS FILM, THE 102 PHOTOGRAPHS TELL STORIES ENCOMPASSING THE PERIOD BETWEEN THE REIGN OF KING RAMA IV AND KING RAMA VII

TEXT: NUTDANAI SONGSRIWILAI
PHOTO COURTESY OF BACC

(For English, press here)

ภาพถ่ายเป็นเหมือนเครื่องบันทึกเรื่องราวอดีตให้ดำรงอยู่ ในทุกครั้งที่ภาพถูกอ่าน เรื่องราวหรือเวลาภายในภาพจะกลับมาดำเนินต่ออีกครั้ง และภาพถ่ายเหล่านั้นจะสร้างความจริงอีกชุดขึ้นมาในพื้นที่ของตนเอง การนำเสนอภาพประวัติศาสตร์จึงเป็นทั้งการนำเสนอหลักฐาน เป็นบันทึกความทรงจำ และยังเป็นเครื่องหมายแสดงการดำรงอยู่ของกาลเวลาที่ล่วงเลยผ่านมา ในสถานการณ์ที่ภาพถูกนำมาจัดแสดง กาลเวลาจากห้วงประวัติศาสตร์จะตลบม้วน กลับมาซ้อนทับกับปัจจุบันและบอกเล่าเรื่องราวอีกส่วนหนึ่งเพื่อให้ผู้ชมปัจจุบันได้ประกอบสร้างอดีต ร่วมกับการนำภาพจากอดีตมาประกอบสร้างภาพของปัจจุบัน

นิทรรศการ ฟิล์มกระจก : เรื่องราวเหนือกาลเวลา (จัดที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร) นำเสนอภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ ภาพที่ถ่ายโดยพระบรมวงศานุวงศ์ รวมไปถึงผู้ติดตามและข้าราชบริพาร จากฟิล์มกระจกจำนวน 102 ภาพ แบ่งเรื่องราวทั้งหมดออกเป็น 4 ส่วน ในช่วงรัชสมัยรัชกาลที่ 4 – 7 โดยให้ชื่อต้นแต่ละส่วนว่า “บรรพ” ตั้งแต่ ปฐมบรรพ ไปจนถึง จตุตถบรรพ เล่าเรื่องตั้งแต่การเสด็จประพาสหัวเมืองของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว วิถีชีวิตของผู้คนในกรุงเทพฯ ช่วงเวลาที่วัฒนธรรมตะวันตกหลั่งไหลเข้ามา ไปจนถึงช่วงเวลาแห่งการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของสยามในช่วงท้ายที่สุดของนิทรรศการ

ส่วนแรกของนิทรรศการหรือ “ปฐมบรรพ” เป็นการเล่าถึงการเสด็จประพาสหัวเมืองต่างๆ ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นอกจากวิถีชีวิตของชาวบ้าน ภาพอีกกลุ่มที่น่าสนใจคงจะเป็นภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ที่ถ่ายไปยังประชาชนที่พร้อมใจกันมองออกมานอกตัวภาพ (พูดง่ายๆ คือมองกล้องอย่างพร้อมเพียง) เครื่องแต่งกายของประชาชนที่พร้อมใจใส่เสื้อขาว (หรืออาจจะขาวเพราะเป็นภาพขาวดำ?) น่าเสียดายที่เราไม่สามารถระบุว่าใครเป็นใครในภาพ หรือกำลังทำสิ่งใด

เมื่อผู้ชมออกจากห้องจัดแสดงห้องแรก จะพบกับผนังโค้งที่มีภาพถ่ายแขวนตลอดผนัง (ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนแรกที่ผู้ชมส่วนใหญ่จะเดินชม) ภาพถ่ายส่วนนี้เล่าเรื่องราวระหว่างการเดินทาง รวมถึงภาพถ่ายจากการสลับบทบาทให้พระบรมวงศานุวงศ์ผู้ติดตามแสดงเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อยผู้มากับพระยาโบราณบุรานุรักษ์ที่สนทนากับชาวบ้าน เพื่อปลีกตัวไปแอบถ่ายภาพจากอีกมุมหนึ่ง ซึ่งทำให้เราได้เห็นมุมมองจากด้านหลังของวงสนทนา และเมื่อผู้ชมหันกลับไปด้านหลัง ก็จะพบกับส่วนจัดแสดงอีกส่วนที่ตัวงานพยายามขับเน้นความเศร้าโศก ด้วยการจัดแสดงรูปภาพความสูญเสียพระราชบุตรและพระราชธิดาอย่างต่อเนื่อง อันเป็นการสิ้นสุดของการประพาสและสิ้นสุดในส่วนปฐมบรรพ

มีข้อสังเกตเรื่องการจัดการพื้นที่ที่เราอยากจะบันทึกไว้ตรงนี้ นั่นคือ “การเจาะ” ช่องกำแพงให้ผู้ชมสามารถเดินทะลุเข้ามาส่วนของพื้นที่ที่สองได้ เป็นทางสัญจรที่สองนอกเหนือจากการเดินเลียบกำแพงโค้ง สิ่งนี้เป็นประโยชน์ต่อการรับชมมาก เพราะทำให้ภาพสุดท้ายในส่วน “ปฐมบรรพ” นั้นเชื่อมต่อกับภาพแรกของ “ทุติยบรรพ” ส่วนที่สองของนิทรรศการที่ว่าด้วยวิถีชีวิตและสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไปในกรุงเทพฯ ได้อย่างพอดิบพอดี

ต่อมาในส่วน “ตติยบรรพ” เป็นชุดภาพถ่ายที่เล่าเรื่องการมาถึงของวัฒนธรรมตะวันตก ซึ่งทำให้เราเห็นความแตกต่างทางชนชั้นของคนไทยและชาวต่างชาติที่เข้ามายังสยามในขณะนั้น ทั้งภาพของสระว่ายน้ำที่ราชตฤณมัยสมาคม หรือห้าง ย.ร. อันเดร รับสั่งสินค้าจากต่างประเทศและค้ารถ ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรกในไทย ส่วนภาพที่พูดถึง “ความต่าง” ได้ชัดที่สุดคงจะเป็นสองภาพที่จัดแสดงข้างกันบริเวณกำแพงโค้ง ระหว่างภาพหมู่นักเรียนโรงเรียนเซนต์คาเบรียล (นักเรียนส่วนใหญ่ไม่ใช่คนไทยและอยู่ในชุดเครื่องแบบชัดเจน) กับภาพหมู่นักเรียน โรงเรียนบาลีไวยากรณ์ (ใส่เพียงชุดสุภาพ) และภาพถัดมา ภาพของหมู่นักเรียนโรงเรียนวัดสวนนอก โรงเรียนสำหรับหม่อมเจ้าและบุตรข้าราชบริพารในสำนักพระอัครชายาเธอ กรมขุนสุทธาสินีนาฏที่กลายเป็นตัวเปรียบเทียบให้เห็นถึงความต่าง สะท้อนให้เห็นถึงการศึกษา ที่ลดหลั่นจากชั้นเจ้าลงมาถึงประชาชน และค่านิยมเรื่องเพศ ชนชั้น สิทธิ หรือแม้แต่เรื่องเครื่องแบบนักเรียนที่ส่งผลต่อมาถึงปัจจุบัน ต้องขอบคุณภัณฑารักษ์ ท่านผู้หญิง สิริกิติยา เจนเซน ที่ทำให้เห็นความแตกต่างได้ชัดเจนเพียงนี้

ส่วนสุดท้าย “จตุตถบรรพ” เป็นภาพที่แสดงถึงความเจริญที่เกิดขึ้นต่อจากช่วงเวลาก่อนหน้าไม่นาน มีภาพที่เป็นหมุดหมายสำคัญของความเจริญคือ ภาพสถานีกรุงเทพฯ ชุดภาพการก่อสร้างศาลาเฉลิมกรุง ตั้งแต่โมเดล จนกระทั่งอาคารสร้างเสร็จ อีกส่วนที่เห็นได้ชัดคือ การให้ความสำคัญด้านงานโบราณคดีที่มากขึ้น เห็นได้จากภาพการเสด็จทอดพระเนตรโบราณสถานที่สำคัญจำนวนมากของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เช่น เขาพระวิหาร ภาพทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ตั้งบนกองหินก่อนถูกโจรกรรม เรื่องราวในส่วนจตุตถบรรพนี้ โดยมากจะเป็นภาพการเสด็จทอดพระเนตรหรือตรวจงานตามหัวเมืองต่างๆ ของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ และในส่วนสุดท้ายผู้ชมจะได้พบกับภาพของวัดและพระที่มีข้อมูลระบุไม่มากนัก

เมื่อเดินชมงานมาถึงปลายทางแล้วหันหลังกลับไป เราจะพบว่าภาพจำนวนมากที่ถูกเรียงร้อยต่อกันได้สร้างเรื่องราวและมิติจำเพาะของตนขึ้นมาในพื้นที่แห่งปัจจุบัน อดีตได้โอกาสกลับมาตลบหลังปัจจุบันด้วยประวัติศาสตร์ชุดใหม่ตามทรรศนะของผู้ชมที่เพิ่งถูกสร้างขึ้น และเวลาที่หยุดนิ่งก็กลับมาเดินต่ออีกครั้งด้วยสายตาของปัจจุบัน เมื่อสายตาสองเวลามาทับซ้อนกันบนภาพถ่าย การอ่านภาพจึงจำต้องอ่านซ้ำและอ่านย้อนตัวภาพ และจะแตกต่างกันไปตามแต่สายตาที่เข้ามาอ่านภาพแต่ละภาพ ในภาพเดียวกันจึงอาจเล่าเรื่องราวไม่เหมือนกันตามแต่ตัวผู้ชม และในนิทรรศการเดียวกันผู้ชมอาจให้ความสนใจแตกต่างกันไปตามแต่เรื่องราวของตน เรื่องราวที่ข้ามกาลเวลาจากอดีตมาบอกเล่าตนเองซ้ำจึงเล่าซ้ำเรื่องของตนเองในแบบฉบับที่ผู้ชมเป็นผู้เล่าเรื่องราวด้วยตนเอง อดีตและปัจจุบันจึงอาจกำลังมาบรรจบ หรืออาจกำลังยั่วล้อกันเหมือนมิติที่คู่ขนานกันไปจนสุดทางในนิทรรศการ ฟิล์มกระจก : เรื่องราวเหนือกาลเวลา

nat.go.th
fb.com/NationalArchivesofThailand
bacc.or.th

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *