LIVIST RESORT PHETCHABUN

A CLOSER LOOK INTO THE DESIGN OF LIVIST RESORT PHETCHABUN WHERE ‘WIND’ IS AN INTEGRAL ELEMENT THE ARCHITECT USES TO CREATE A SPECIAL EXPERIENCE FOR KHAO KOR’S VISITORS

TEXT: PRATCHAYAPOL LERTWICHA
PHOTO: PAPON KASETTRATAT EXCEPT AS NOTED

(For English, press here)

เพราะ “โรงแรม” ในปัจจุบันไม่ได้มีสถานะเป็นแค่ “ที่พักชั่วคราว” ที่นักท่องเที่ยวแวะเวียนมาเพื่อพักผ่อนและเตรียมความพร้อมออกไปเที่ยวในวันถัดไป แต่ยังเป็นสถานที่สำคัญที่ช่วยมอบประสบการณ์การท่องเที่ยวที่สมบูรณ์ให้กับผู้ใช้แต่ละคนได้ Livist Resort Phetchabun ก็เป็นอีกโครงการหนึ่งที่เกิดขึ้นเพื่อเติมเต็มประสบการณ์ดังกล่าว โดยนอกจากโรงแรมขนาดพื้นที่กว่า 4,000 ตารางเมตร แห่งนี้จะถูกสร้างขึ้นเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการไปชื่นชมความงามของทะเลหมอกบน “เขาค้อ” สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดเพชรบูรณ์ ยังเป็นผลงานล่าสุดโดย POAR | Patchara + Ornnicha ARchitects ที่มีดีไซน์โดดเด่นและแตกต่างอย่างลงตัวทีเดียว

การที่สถาปนิกตั้งชื่อของโรงแรมว่า Livist ตามคำว่า Livistona ซึ่งเป็นชื่อทางวิทยาศาสตร์ของต้นค้อ (และเป็นเหตุผลว่าทำไมที่นั่นจึงถูกเรียกว่าเขาค้อ) สะท้อนความตั้งใจของพวกเขาที่ต้องการยกให้สถานที่ท่องเที่ยวประจำจังหวัดแห่งนั้นเป็นใจกลางสำคัญของการออกแบบรายละเอียดทางสถาปัตยกรรมต่างๆ ยิ่งไปกว่านั้น การที่พื้นที่โครงการมีลักษณะของลมและภูมิอากาศที่เฉพาะตัว จึงทำให้ “ลม” กลายมาเป็นอีกตัวแปรหลักที่สถาปนิกใช้ประกอบการออกแบบ เพื่อสร้างประสบการณ์พักผ่อนที่พิเศษขึ้นไปอีกขั้นให้กับแขกผู้เข้าพักด้วย

PATCHARA WONGBOONSIN

PATCHARA WONGBOONSIN

ส่วนอาคารของโรงแรม Livist Resort Phetchabun ซึ่งมีความยาวประมาณ 99 เมตร ถูกวางในแนวทิศตะวันตกเฉียงใต้-ตะวันออกเฉียงเหนือ และหันหน้าห้องพักไปทางทิศตะวันตกเพื่อเปิดรับทิวทัศน์ที่สวยงามของเขาค้อ สถาปนิกใช้ลมสร้างความพิเศษให้กับอาคารด้วยการยกฝ้าเพดานของพื้นที่บริเวณชั้นที่ 1 ซึ่งประกอบด้วย ล็อบบี ร้านอาหาร และบาร์ ให้มีความสูงถึง 7 เมตร พร้อมกับออกแบบให้เป็นพื้นที่เปิด (open air) และสร้างระนาบผนังทึบให้น้อยที่สุด เพื่อเปิดรับลมให้ถ่ายเทได้อย่างเต็มที่ ซึ่งทำให้ได้อากาศที่เย็นสบายจนไม่ต้องพึ่งเครื่องปรับอากาศเลย นอกจากนี้ ยังมีดีเทลที่น่าสนใจอื่นๆ เช่น การออกแบบให้ฝ้าเพดานเฉียงเปิดไปทางทิศรับลมเพื่อบรรเทาความรุนแรงของลมที่พัดเข้ามา หรือการใช้พื้นทรายล้างสีดำกำหนดส่วนพื้นที่ใช้งานในชั้น 1 แทนกำแพงที่หายไป

ขึ้นมาชั้นบนที่ส่วนห้องพัก สถาปนิกยังคงพาลมมาเป็นตัวช่วยในการออกแบบเช่นกัน โดยแต่ละห้องจะมีการบิดออกจากแกนทำมุม 30 องศา พร้อมทั้งเว้นระยะของแต่ละห้องออกมา 1.20 เมตร เพื่อสร้างช่องโล่งที่ทำให้ลมสามารถไหลผ่านระหว่างอาคาร และสร้างความเป็นส่วนตัวระหว่างห้องพัก ขณะเดียวกันช่องโล่งที่เกิดขึ้นนี้ยังถูกออกแบบให้เป็นระเบียงที่ผู้เข้าพักสามารถนั่งเล่นรับลมและชมทิวทัศน์เขาค้อได้อีกด้วย

ประสบการณ์ที่แตกต่างยังเผยให้เห็นในรายละเอียดการออกแบบห้องพัก ซึ่งถูกออกแบบให้มีความยาว 7 เมตร พร้อมกระจกใสบานใหญ่ในความยาวเดียวกันเพื่อเปิดรับบรรยากาศของเขาค้อเข้ามาอย่างเต็มที่ การตกแต่งภายในที่ดูเรียบง่ายนี้ได้แอบซ่อนความพิเศษไว้ที่การเลือกใช้วัสดุท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เช่น พื้นหินขัดสีดำที่เกิดจากการใช้หินสีดำจากโรงโม่ในเพชรบูรณ์ ไม้สักในส่วนงานสถาปัตยกรรมที่ได้จากป่าปลูกในท้องที่ หรืองานคอนกรีตที่ได้ช่างท้องถิ่นที่มีความเชี่ยวชาญจากเจ้าของโครงการมาร่วมสร้างสรรค์ผลงาน

ห้องพักแต่ละห้องนั้นไม่ได้ถูกออกแบบให้มีเพียงรูปแบบเดียว แต่มีความหลากหลายตามมุมมองและข้อจำกัดด้านการใช้งานที่แตกต่างกันไป เช่น การใส่พื้นที่อ่างอาบน้ำริมหน้าต่างในห้องพักบริเวณชั้นบนที่มีมุมมองพ้นอาคารข้างเคียง เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถเพลิดเพลินกับมุมมองเขาค้ออย่างเต็มที่ หรือในห้องพักบริเวณชั้นที่ 6 บางห้องที่ติดข้อจำกัดจากการมีอยู่ของห้องเครื่องสระว่ายน้ำชั้นดาดฟ้า ก็ถูกปรับให้มีลักษณะเป็นพื้นที่เปิดโล่งแบบ double volume ที่เปิดรับวิวของเขาค้อได้มากที่สุดในโรงแรม ขณะที่พื้นที่ส่วนกลางอย่าง สระว่ายน้ำแบบ infinity pool บริเวณชั้นดาดฟ้า และสระว่ายน้ำที่บริเวณชั้นล่างซึ่งมาพร้อมกับกระถางต้นไม้บังแดดรูปทรงพีระมิดคว่ำอันประหลาดตา ก็เกิดจากความคิดของสถาปนิกที่ต้องการสร้างพื้นที่กิจกรรมให้กับผู้เข้าพักหลังจากกลับจากการชมทะเลหมอกบนเขาค้อในยามเช้า

 

 

PATCHARA WONGBOONSIN

การออกแบบโครงสร้างสำหรับอาคารก็มีรายละเอียดที่น่าสนใจไม่แพ้กัน โดยสถาปนิกเลือกใช้เสาและคานแบบพาดช่วงกว้าง ที่วางแนวคานพาดเฉียงไปมาตามการวางของห้อง และออกแบบให้โครงสร้างหลักของอาคารทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นคานหลักแนวยาว หรือเสา สามารถเห็นได้อย่างชัดเจนจากภายนอก เมื่อนำโครงสร้างคอนกรีตที่เผยตัวออกมาชัดเจนประกอบเข้ากับห้องพักที่ดูเป็นกล่องเหล็กสีดำ ก็ทำให้เกิดภาพราวกับว่าห้องพักเป็นกล่องเล็กๆ ที่ถูกสอดแทรกอยู่ระหว่างโครงสร้างคอนกรีตเหล่านั้น ขณะเดียวกันก็แสดงให้เห็นถึงการแยกขาดจากกันของห้องพักทั้งแกนตั้งและแกนนอน จนเหมือนเป็นการสร้างห้องพักแบบ “วิลล่า” ขึ้นมาในโรงแรมแนวตั้งเลยทีเดียว

แม้ในแวบแรก Livist Resort Phetchabun จะดูแปลกตาด้วยเส้นสายขององค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมต่างๆ แต่พอได้ลงไปพิจารณาในรายละเอียด ก็จะพบว่าเส้นสายเหล่านั้นต่างก็ถูกสร้างขึ้นด้วยเหตุผลทั้งสิ้น ไม่ว่าจะด้วยลม หรือด้วยหัวใจหลักของโรงแรมอย่าง “เขาค้อ” ก็ตาม นี่จึงถือเป็นอีกหนึ่งผลงานออกแบบโดย POAR ที่สามารถสร้างประสบการณ์ที่แตกต่างแต่ลงตัวในเวลาเดียวกันได้เป็นอย่างดี

poar.co
fb.com/poar.company

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *