TOA COLOR DECODING TRENDS 2021

MEET THE 10 NEW COLORS FROM TOA COLOR DECODING TRENDS 2021 WHICH ARE INSPIRED BY THE IN-SIGHT OF 10 THAI LEADING ARCHITECTURAL FIRMS

TEXT: NAPAT CHARITBUTRA
PHOTO COURTESY OF TOA PAINT

(For English, press here)

ช่วงปลายปีถึงต้นปีใหม่ของทุกๆ ปี เป็นที่รู้กันในหมู่ดีไซเนอร์ว่า Pantone จะประกาศสีประจำปี และสื่อทุกเจ้าก็จะประโคมข่าวเกี่ยวกับโทนสีที่ว่า (จนมันเกิดเป็นเทรนด์สีประจำปีเข้าจริงๆ) ว่าแต่แล้วเทรนด์สีของงานออกแบบในประเทศของเราคือสีอะไรล่ะ? นี่คือคำถามสำคัญ และจุดเริ่มต้นของโปรเจ็คต์ TOA COLOR DECODING TRENDS 2021 ที่ TOA ทำงานร่วมกับสถาปนิกทั้งรุ่นใหม่และรุ่นใหญ่กว่า 10 สตูดิโอ


อมตะ หลูไพบูลย์ (Department of ARCHITECTURE Co.) พงศ์ภัทร เอื้อสังคมเศรษฐ์ และปานดวงใจ รุจจนเวท (Anonym) ชนะ สัมพลัง (A49) จีรเวช หงสกุล (IDIN Architects) จูน เซคิโน (Junsekino Architect and Design) กิจธเนศ ขจรรัตนเดช (Tastespace.co) มนัสพงษ์ สงวนวุฒิโรจนา (Hypothesis) PHTAA Living Design วรุตม์ วรวรรณ (Vin Varavarn Architects) และวสุ วิรัชศิลป์ (VaSLab) คือ 10 สตูดิโอที่ให้เกียรติมาร่วมกับ TOA เพื่อหาเทรนด์สีของเมืองไทยปีนี้ เรียกได้ว่าเป็นลิสต์ที่น่าสนใจด้วยเหตุผล 2 ข้อใหญ่ๆ ข้อแรกคือทั้งหมดเป็นสตูดิโอที่มีลายเซ็นของตัวเองชัดเจนมาก และมีวิธีคิด วิธีการและเทคนิคการใช้สีงานสถาปัตยกรรมที่เฉพาะตัว เหตุผลข้อถัดมาคือความหลากหลายของโปรเจ็คต์ที่พวกเขาทำ จะว่าไปแล้วเมื่อทั้ง 10 สตูดิโอมารวมกัน เราจะได้เห็นมุมมองจากผู้เชี่ยวชาญในการออกแบบโปรเจ็คต์ทุกประเภท ตั้งแต่งานสเกลเล็ก (แต่รายละเอียดเยอะ) อย่างบ้านพักอาศัย ร้านอาหาร retail space หรือในสเกลอาคารสาธารณะ ตั้งแต่ห้องสมุด ศูนย์การค้า ศูนย์การเรียนรู้ และหอประชุมขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญระดับประเทศ

ความ “ครบ” ของโปรเจ็คต์ที่กล่าวมานี้เองทำให้เมื่อไอเดียของทั้ง 10 สตูดิโอ มารวมกันแล้วจึงทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “เทรนด์สี” ขึ้นมาจริงๆ อย่างไรก็ดี ก่อนหน้าที่จะไปเล่าถึง 10 เฉดสีใหม่จากผู้นำด้านสีทาอาคารอย่าง TOA กระบวนการทำงานครั้งนีก็น่าสนใจไม่แพ้กัน

เพื่อให้ได้มาซึ่งชุดสีที่น่าสนใจ การทำงานในโปรเจ็คต์นี้ไม่ได้ใช้วิธีสัมภาษณ์ทื่อๆ ว่า “คุณชอบสีอะไรมากที่สุด” แต่ทำโดยการมอบโจทย์ให้สถาปนิกแต่ละสตูดิโอทำ mood board ของตัวเองขึ้นมา ซึ่งด้วยความเปิดกว้างนี้เอง ที่ทำให้เราได้เห็นแรงบันดาลใจเบื้องหลังของการใช้สีในงานสถาปัตยกรรมของสถาปนิกแต่ละสตูดิโอชัดเจนมากขึ้น

mood board ของอมตะ หลูไพบูลย์ เป็นฉากภาพยนตร์หลายซีน เขากล่าวไว้ในแคตตาล็อก ว่า “บางครั้งแรงบันดาลใจในการทำงานสถาปัตยกรรมก็มาจากอะไรที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับงานสถาปัตยกรรม” สำหรับ กิจธเนศ ขจรรัตนเดช จาก Tastespace.co mood board ของเขาเป็นสีจากวัตถุดิบอาหาร ซึ่งสัมพันธ์กันโดยตรงกับโปรเจ็คต์ออกแบบภายในร้านอาหารที่ Tastespace.co เชี่ยวชาญ สตูดิโอรุ่นใหม่อย่าง PHTAA Living Design ทำมาเกินโจทย์ทะลุไปถึง 18 ภาพ น่าจะเป็นเพราะการมีพาร์ทเนอร์ถึง 3 คน ทำให้ mood board นี้เป็นเหมือน pool ที่รวมเอาความสนใจส่วนตัวของทั้งสามคนไว้ด้วยกัน หรือจูน เซคิโน ที่นำช่วงเวลาเช้า – เย็น มาสร้างเส้นเรื่องใน mood board ของตัวเอง สำหรับผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดแคตตาล็อกได้ ที่นี่ 

พลิกดู mood board ของสถาปนิกแต่ละสตูดิโอ เราจะเห็นจุดร่วมทางความคิดหลายข้อ – ความสัมพันธ์ระหว่างวัสดุและสี เอฟเฟ็กต์ที่เกิดขึ้นบนพื้นผิวในแต่ละช่วงเวลาของวัน อารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากสีและผิวสัมผัส และความสัมพันธ์ระหว่างความสนใจส่วนตัวของสถาปนิกแต่ละคนที่สะท้อนออกมาผ่านงานออกแบบ อีกหนึ่งเนื้อหาที่น่าสนใจมากๆ ในแคตตาล็อกเล่มนี้ คือบทสัมภาษณ์ของสถาปนิกแต่ละสตูดิโอ (แคตตาล็อกเล่มนี้มันคือแมกกาซีนชัดๆ!) โดยเฉพาะใน session ระหว่าง TOA กับชนะ สัมพลัง นายกสมาคมสถาปนิกสยามฯ และผู้บริหารแห่ง A49 ที่ให้ความเห็นต่อ “การเปลี่ยนสีของเมือง” ในช่วงหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง (2540) ที่จู่ๆ สถาปนิกก็หันมาใช้สีเทา / ดำกับพื้นผิวภายนอกอาคารกันมากขึ้น ตัดกับสีฟ้าสดของแดดเมืองไทย “คงจะมีหลายเหตุผลที่ทำให้ color code มันเปลี่ยนไป และสีเทาก็เป็นอีกหนึ่งโทนสียอดฮิตสำหรับอาคารในยุคนี้ที่ผสานตัวเองเข้ากับสิ่งแวดล้อมโดยรอบได้ และเป็นสีที่มีความเป็นแฟชั่น อย่างที่เราจะ เห็นได้จากคอนโดมิเนียมหลายๆ แห่งในกรุงเทพฯ”

สีนับร้อยๆ เฉดสีจาก mood board ทั้งหมดนี้ คือหัวเชื้อสำคัญของ 10 เฉดสีใหม่เพื่อการอยู่อาศัยในปี 2021 ผู้เชี่ยวชาญจาก TOA ได้นำสีทั้งหมดมาถอดรหัสและจัดกลุ่มเป็น color flow ที่โชว์ให้เห็นแนวโน้มของสีสันที่มีความสัมพันธ์กับทัศนคติ รสนิยม และบริบทในการอยู่อาศัยในปี 2021 (Trendscope) ซึ่งแบ่งออกมา 5 กลุ่ม นั่นคือ Psychology อิทธิพลของสีที่กระทบต่ออารมณ์ความรู้สึก Culture & Lifestyle แรงบันดาลใจจากศิลปะ Experience ประสบการณ์จากการเดินทาง Element Design สีจากวัสดุธรรมชาติและวัสดุสังเคราะห์ Science สีใหม่ที่เกิดจากการทดลอง

มาถึงผลลัพธ์ของกระบวนการค้นหาเทรนด์สีใหม่ประจำปี 2021 ที่แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ MUTED และ CHROMA ที่ให้ความรู้สึกแตกต่างกันอย่างชัดเจน MUTED คือกลุ่มสีที่มีความเรียบง่ายเป็นเหมือนสีพื้นฐานของการออกแบบ ที่สามารถผสมผสานกับสีอื่นๆ ได้อย่างลงตัว เน้นความสงบนิ่งและบรรยากาศที่ผ่อนคลาย เช่น TOA 21001 Spectacular white สีขาวที่ทำหน้าที่ราวกับ canvas ผืนใหญ่ที่สะท้อนทุกเฉดสีและมีการเปลี่ยนแปลงไปตามเวลาและอุณหภูมิแสง TOA 21002 The Beginning โทนสีครีมที่จะทำให้แดดยามเช้าดูอบอุ่นสวยงามกว่าเดิม หรือสีโทนเข้มอย่าง TOA 21005 Back into Space ที่มีค่าการสะท้อนแสงต่ำกว่าสีอื่นๆ ให้ความรู้สึกสุขุมและสงบนิ่งช่วยให้เราโฟกัสกับงานตรงหน้าได้มากขึ้น

ตรงกันข้ามกับ CHROMA ที่จะเป็นชุดสีที่จัดจ้านมีชีวิตชีวาขึ้นมา ทีมงานของ TOA เล่าให้ art4d ฟังว่าส่วนหนึ่งสีชุดนี้ได้แรงบันดาลใจจากความคิดถึงโลกภายนอก ประเด็นที่น่าสนใจและควรจะบันทึกไว้ตรงนี้คือ CHROMA เป็นชุดสีอันเนื่องมาจากสถานการณ์ COVID-19 ที่ล็อคดาวน์พวกเราให้อยู่ในบ้านเป็นเดือนๆ เฉดสีฟ้าของ TOA 21008 Optimistic Blue, TOA 21009 Power of Soul และ TOA 21010 Dramatic Green มีที่มาจากสีของธรรมชาติ ป่าเขาและท้องฟ้า จากภาพใน mood board ของหลายๆ สตูดิโอ เช่นเดียวกับสีส้ม TOA 21007 Waken Heart ที่ชวนให้นึกถึงแสงพระอาทิตย์ตกดิน คงเดาได้ไม่ยากว่าตอนทำ mood board สถาปนิกหลายๆ ท่าน คงคิดถึงการออกไปใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางธรรมชาติอยู่แน่ๆ

ยังมีอีกหลายเฉดสีทีเดียวที่เล่าไม่หมดในบทความนี้ ในปี 2021 ที่สถานการณ์ COVID-19 ยังไม่ผ่านพ้นไปเสียทีเดียว เราเชื่อว่า 10 เฉดสีใหม่จากโปรเจ็คต์ TOA COLOR DECODING TRENDS 2021 จะเป็นทางเลือกใหม่ๆ ที่น่าสนใจสำหรับการรีเฟรชพื้นที่อยู่อาศัยในยุคที่เราต้องอยู่บ้านกันนานมากขึ้น ประโยชน์อีกอย่างของการเข้าใจเบื้องหลังที่มาของแต่ละสีคือ มันเปิดประตูให้เราหันมาทำความเข้าใจกับสีลึกไปอีกขั้น และการจับคู่สีนับต่อจากนี้จะสนุกขึ้นไปกว่าเดิม

toagroup.com
fb.com/toapaint

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *