FREITAG STORE SILOM BY PRONTO

Photo: Adisorn Ruangsiridecha

SUPERMACHINE STUDIO INTEGRATES THAI PLAYFULNESS IN THE DESIGN OF THIS FREITAG STORE

TEXT: PRATARN TEERATADA
PHOTO: KETSIREE WONGWAN EXCEPT AS NOTED

(For English, press here)

“ซันนี่ (ชนาสิญจ์ สัจจเทพ) เจ้าของ PRONTO จีบให้มาออกแบบที่สีลมเมื่อกลางๆ ปีที่แล้ว จริงๆ เคยคุยกันตั้งหลายปีก่อนหน้านี้แล้วตั้งแต่เค้าเริ่มทำสาขาสยาม แต่ตอนนั้นที่ซูริคเค้าทำเอง คราวนี้จะว่าโชคดีในช่วงโควิดก็ได้ ที่ headquarters คงมาดูแลลำบากก็เลยเปิดโอกาสให้ local studio อย่างเราได้ลุย แต่ก็ต้องผ่านการ defend แนวคิดต่างๆละเอียดมาก เรียกว่าทุกเม็ด ทำให้เราเข้าใจแบรนด์ที่ครองใจคนมากมายทั่วโลกอย่าง FREITAG มากขึ้นนะ”

Photo: Gunny

แจ็ค-ปิตุพงษ์ เชาวกุล หัวขบวนของ Supermachine Studio เล่าให้ฟังถึงการเดินทางมาพบกันระหว่างเขา และแบรนด์ดังสัญชาติสวิส ที่คนทั่วโลกจดจำในเรื่องการ recycle และความเป็น กระเป๋าผ้าใบที่มีลายไม่ซ้ำกัน และมีเพียงใบเดียวในโลกเท่านั้น (one-off bags and accessories) เรื่องความแข็งแรงของแบรนด์นั้นคงไม่ต้องสาธยายกันมาก งานนี้จึงมีความท้าทายอย่างยิ่ง ทั้งในแง่ของการต่อยอดตำนานที่โลกรับรู้กันดีอยู่แล้ว และการสอดใส่ความสนุกสนานแบบไทยๆ ที่ เป็น signature ของ Supermachine Studio มาโดยตลอด 

headquarters ของ FREITAG ที่เมืองซูริค สวิตเซอร์แลนด์หรือที่รู้จักดีในนาม Logistics warehouse ถือเป็นต้นแบบของงานอินทีเรียดีไซน์ของ FREITAG ที่กระจายอยู่ทั่วโลก ลักษณะสำคัญคือ มีความเป็นพื้นที่โรงงานผลิตอุตสาหกรรม มีโต๊ะสีเขียวทำหน้าที่เป็น center stage มีกำแพงหรือชั้น เป็นลิ้นชักกล่องกระดาษเรียงเป็นแนวตั้งให้เหล่าแฟนคลับเลือกแบบที่โดนใจ ตรงกับเสียงเรียกร้องข้างในของตน ซึ่งต้องบอกว่าเป็นการตัดสินใจเลือกกระเป๋าที่ยากมากจริงๆ 

“ความคิดผมตอนแรกเมื่อเห็น site ก็ง่ายๆ ร้านที่สีลมก็เล็กๆ แต่บังเอิญเพดานค่อนข้างสูง เราก็อยากให้คนเข้ามาแล้วเห็นกำแพงกล่อง FREITAG ขาวเรียงกันอยู่เต็มผนังจากพื้นถึงฝ้า ซ้ายไปขวา แบบในหนัง The Matrix ตอนที่คีนูเลือกปืนเยอะๆ ซึ่งก็ไม่ได้แปลกอะไรเพราะมีบางสาขาอย่าง Basel ก็ทำดิสเพลย์สูงชนฝ้าแล้วใช้บันไดลิงให้คนปีนขึ้นไปเลือก ตอนแรกเราเสนออะไรเนิร์ดๆ แบบ Supermachine ให้ทำบันไดแบบ balcony style ติดล้อเลื่อนได้โดยใช้จอยสติ๊กเลื่อนซ้ายขวา คำถามคือถ้าเลือกนานทำไง คนรอคิวแย่เลย เราก็เลยเปลี่ยนมาเสนอระบบกล้องนำวิถีให้คนที่อยู่ข้างล่างเลือกกระเป๋าที่อยู่สูงๆ ไปพลางๆ ก่อน คือเนิร์ดมาก ตอนนั้นร้านที่อัมสเตอร์ดัมกำลังจะเปิด ก็มีพวก crazy machine ทำนองนี้เหมือนกัน แต่พอมาดู context ของเมืองไทยที่มีติ่ง FREITAG อยู่เยอะมาก ไอ้ machine เนิร์ดๆ ของเรามันฮาแต่อาจจะไม่ practical ก็เลยกลับมาที่การใส่ชั้นลอยเข้าไป แต่ก็ไม่อยากให้มันใหญ่โตบังกำแพงกระเป๋า ก็เลยทำเป็นโครงสร้างแขวนจากเพดานลงมา ซึ่งพอร้านเปิดแล้วเราไปเดินดูของกันอยู่ข้างบนกับกันนี่ (น้องที่ออฟฟิศที่ดูแลงานนี้) ยังรู้สึกคิดถูกแล้วที่เอาชั้นลอยมาใส่ เพราะลูกค้า FREITAG เลือกของนาน ดึงกล่องเข้าๆ ออกๆ อยู่นั่นแหละ ดูจากพฤติกรรมเราเองได้เป็นตัวอย่าง คืออยากได้ไปหมดนั่นแหละ”

ความสนุกอยู่ตรงที่ FREITAG ทุกๆ สาขาย่อย จะมีความพยายามทำให้ทุกๆ สาขาให้มีคาแร็คเตอร์ของความเป็น local ด้วย โดยมีแกนไอเดียที่แสดงออกมาผ่านองค์ประกอบหลักหรือ signature element ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ซึ่งมันช่างเข้าทาง Supermachine เสียเหลือเกิน

Photo: Adisorn Ruangsiridecha

“พอเราใส่ชั้นลอย มีบันไดเล็กๆ พาคนขึ้นไปได้แล้ว กันนี่เลยเสนอให้มีคนกระโดดรูดลงมาทางเสาสแตนเลสเลยละกัน ไหนๆ ก็อยู่ที่สีลมถิ่นของเสาสแตนเลสอยู่แล้ว ที่ headquarters เขาก็ชอบกันใหญ่ แล้วก็พากันต่อยอดด้วยการไปจีบคนที่เค้าทำนวมยิมนาสติกขาย ให้ทำ crashing pad ให้ แล้วทางทีมก็ไปหาเอาทาร์ป (ผ้าใบ) ที่มีอยู่ที่โรงงานมาหุ้ม อะไรเล็กๆ น้อยๆ พวกนี้มันเป็นกระบวนการทำงานในฝันของดีไซเนอร์เลย ป้ายหน้าร้านก็ทำนองเดียวกันมีคนที่รู้มือกันที่สวิสทำให้โดย upcycling ขึ้นมาจากกรอบอะลูมิเนียมใช้แล้ว เค้าใส่ความพยายาม ลงไปในการ collaborate จริงๆ”

“ส่วนในฝั่งของเมืองไทย เราตามหาวัสดุ countertop อยู่พักใหญ่ ต้องบอกก่อนว่าระบบชั้นโชว์หลักๆ ของ F-store จะถูกออกแบบ และผลิตที่สวิสทั้งหมด ราง ลิ้นชัก กล่องใส่สินค้า ไฟ ฯลฯ เป็นระบบมากๆ เราดีไซน์จนจบแล้วที่สำนักงานใหญ่จะแตกรายละเอียดออกมา ส่งผลิตแล้วก็ส่งมาให้ติดตั้ง แต่ชิ้นใหญ่อย่าง countertop เราต้องหามาเอง ส่วนนี้ได้ทางพี่อาร์ม “ทะเลจร” มาช่วย แก upcycling พวกเศษยางอยู่แล้ว หนึ่งในการทดลองที่แกเคยทำคือการเอาเศษยางที่เกิดจากการ เอายางรถบรรทุกเก่ามาอัดใหม่ให้เป็นแผ่นกระเบื้องปูพื้น เอาไปคุยให้ทางฝรั่งฟังเค้าชอบมาก เพราะแนวคิดมันตรง กับสินค้าเค้าพอดี “From trucks to bags””

ถึงจะเป็นงานทำร้านเล็กๆ แต่แจ็คเล่ายาวด้วยความสนุก ส่วนสุดท้ายคือส่วนที่เรียกว่า Sweat Yourself ซึ่งเป็นคอนเซ็ปต์ที่ประสบความสำเร็จมากของ FREITAG ซึ่งหมายถึงส่วน DIY นั่นเอง ไอเดียคือลูกค้าได้ออกแรงทำกระเป๋าด้วยตัวเอง ซึ่งต้องบอกว่าเป็นพื้นที่ที่มีอยู่ไม่กี่สาขาในโลก 

“พื้นที่มันเล็กเราเลยออกแบบให้ตัวดิสเพลย์ที่ใช้เลือกวัตถุดิบเป็นกล่องที่ติดรอกให้ยกขึ้นลงได้ กดลงมาก็เป็น display shelf ยกขึ้นไปก็เป็น pod กลไกก็บ้านๆ ใช้มอเตอร์ที่ใช้เปิดปิดประตูเหล็กม้วนทั่วๆ ไป มันก็ฮาดีผมว่า primitive machine ของ Supermachine ก็ดูใช้กับ pragmatism ของ FREITAG ได้

แนวคิด post-industrial warehouse ที่ Corsin Zarn วางคอนเซ็ปท์ไว้ให้ร้าน FREITAG ทุกๆ สาขาในโลก ได้รับการตีความ และต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ให้กับแบรนด์กระเป๋ารีไซเคิลที่โด่งดังที่สุดในโลกแบรนด์นี้โดย Supermachine Studio ของไทยเรา ได้ผลลัพธ์ที่เนียนตา แฮปปี้กันทุกฝ่าย ช่วงนี้คงจะต้องนัดเข้าชมล่วงหน้าไปก่อน ถ้าใจเย็นหน่อยอีกไม่นานคงสามารถเปิดตามปกติได้ เชื่อว่าคนทะลักแน่นอน อย่างที่แจ็คบอกนั่นแหละ “แฟนคลับแต่ละรายนั้นเลือกของนานมาก”

supermachine.wordpress.com
facebook.com/Supermachine-studio
facebook.com/freitagbyprontobkk

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *