SANTI LAWRACHAWEE, GRAPHIC DESIGNER AND CO-FOUNDER OF PRACTICAL DESIGN STUDIO, EXPLORES AND DIVES DEEP INTO THE TRACE OF HIS MEMORIES OF THE PAST DECADE IN HIS LATEST EXHIBITION FEATURING A SERIES OF BLACK AND WHITE PHOTOGRAPHY CAPTURING THE LINE OF THE RIVER AS WELL AS HIS LARGE AND THICK NOTEBOOK
TEXT: SUTEE NAKARAKORNKUL
PHOTO: KETSIREE WONGWAN EXCEPT AS NOTED
(For English, press here)
สมุดบันทึก กับ ภาพถ่ายการเดินทาง เป็นวัตถุทางความทรงจำสองชิ้นที่ขับเคลื่อนเรื่องราวทั้งหมดใน MemOyoU (Memorandum Of Understanding) นิทรรศการเดี่ยวล่าสุดของ อาจารย์ติ๊ก–สันติ ลอรัชวีกราฟิกดีไซเนอร์ผู้ร่วมก่อตั้งสตูดิโอ Practical Design Studio
ส่วนหนึ่งจากความทรงจำคัดสรรของเขาในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา งอกเงยออกมาเป็นซีรีส์ภาพถ่ายขาว-ดำ ที่บันทึกภาพแม่น้ำระหว่างการเดินทางในหลากหลายสถานที่ทั่วโลก และสมุดบันทึกเล่มหนาๆ ที่ยากต่อการเปิดอ่าน
ดูเหมือนว่าภายใน CASE Space Revolution สถานที่จัดแสดงนิทรรศการ จะถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นกล่องกักเก็บความทรงจำของ อ.สันติ ไปแบบกลายๆ ภาพถ่ายพื้นผิวแม่น้ำ ชวนให้เรานึกถึงงานก่อนหน้านี้ของ อ.สันติ ที่รับหน้าที่ออกแบบหนังสือ สิทธารถะ ฉบับ BOOK LOVER ให้กับสำนักพิมพ์ openbooks ในปี 2016 หรือหากย้อนไปไกลกว่านั้นอีกหน่อย ในปี 2013 อ.สันติ เคยเอาบันทึกเล่มหนาเกือบ 100 เซนติเมตร ไปจัดแสดงในนิทรรศการ ‘สถานพักตากอากาศ’ ที่หอศิลป์กรุงเทพฯ มาแล้วเช่นกัน
ทำไมต้องเป็นภาพของผิวน้ำ? เราสงสัยว่าทำไมไม่เป็นภาพ landscape ที่เห็นบรรยากาศรอบกว้าง
“เพราะว่าจริงๆ ผมอาจจะไม่ได้สนใจมัน แต่สนใจ abstract ของแม่น้ำ ที่เป็นกายภาพที่ไม่เคยเหมือนกันเลยในทุกวินาที พอเราตัดตัว context ทั้งหมด แล้วมันเหลือแค่นี้ ผมคิดว่านี่เป็นจุดที่ผมรู้สึกบางอย่างกับมัน เพราะมันไม่ได้ให้อะไรกับเรา แต่มันพาเรากลับเข้าไปในสิ่งที่เรามีอยู่ บางทีอาจจะลืมบ้าง อาจจะทำตกบ้าง มันอาจจะเป็นภาพที่ทำให้เราคิดหลายๆ เรื่องได้อีกมาก” อ.สันติ บอกกับ art4d
ในแง่นี้ ภาพถ่ายแม่น้ำจึงไม่ได้เป็นแค่ภาพของแม่น้ำอีกต่อไป แต่กลายมาเป็นสิ่งแทนความทรงจำบางอย่าง อาจจะเป็นความรู้สึกก่อนกดชัตเตอร์กล้อง ความประทับใจใน movement ของน้ำ หรืออาจเป็นมุมมองในเชิงปรัชญาที่ว่าด้วยการเป็นเส้นทางของชีวิต และอาจจะเป็นอะไรๆ อีกหลายอย่างได้เช่นกัน มุมมองที่ว่านี้ถูกขยายความออกมาเป็นชุดงานประติมากรรม epoxy ใส รูปแม่น้ำจำนวน 4 ชิ้น ที่หากเราเข้าไปมองใกล้ๆ จะเห็นดรอว์อิ้งคำว่า Freedom, Dream, Love และ Truth จมอยู่ข้างใต้ เป็นเหมือนอนุสรณ์ของคำทั้งสี่
วิชวลของแม่น้ำยังถูกลดทอนไปอยู่ในฟอร์มอื่นๆ เป็นเกาะ เป็นปริมาตรต่างๆ พิมพ์ลายลงบนสันหนังสือเล่มหนาเตอะ ซึ่งเป็นการรวบรวมสิ่งที่ อ.สันติ โน้ตเอาไว้ในรอบ 10 ปี ทั้งจากสมุดบันทึกและเศษกระดาษ
“เบื้องต้นนี่เป็นหนังสือที่ต้องการจัดเก็บความทรงจำของเรา โดยการที่เราจัดระเบียบ และไม่ได้ออกแบบให้ตัวเองต้องกลับมาอ่านอีกครั้ง ผมเป็นคนสายตาสองประเภทคือสั้นยาว ก็เลือกที่จะใช้ตัวหนังสือที่ผมอ่านไม่ไหว เพราะผมเองก็ไม่ได้อยากจะอ่านมันในแบบเดิม เป็นการสร้างอุปสรรคในการอ่านให้กับตัวเอง สร้างอุปสรรคกับการเปิดให้ตัวเอง เพื่อที่เราจะได้มองมันเป็นวัตถุจัดเก็บ”
เมื่ออยู่ในสภาพของการจัดเก็บ สันหนังสือเล่มนี้เลยมีความสำคัญและมีความหนามากเป็นพิเศษ ก่อนจะเน้นย้ำถึงการถูกทะนุถนอมดูแล ด้วยการติดตั้งไว้ในเคสกล่องไม้เป็นอย่างดี
มาถึงตรงนี้ เราเริ่มมองเห็นภาพชัดขึ้นว่านิทรรศการนี้มีความเป็นส่วนตัวอยู่มากพอสมควร แต่ก็ยังไม่วายสงสัย ถาม อ.สันติ ต่อว่าอะไรคือส่วนที่ยากที่สุดของการทำนิทรรศการนี้ “ยากทางความรู้สึกที่ต้องกลับไปเรื่องเก่า เราต้องกลับไปเลือก กลับไปเรียบเรียง เหมือนคุณเก็บอะไรบางอย่างไว้อย่างเป็นระเบียบแล้ว แล้วคุณก็รื้อมันออกมา บางเรื่องมันก็จบไปแล้ว เรื่องบางเรื่องมันก็จางไปจากเราแล้ว แต่บางอย่างก็ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งถามว่าดีไหม มันก็ดีนะ”
เราลองเดินย้อนกลับขึ้นไปที่ชั้นลอยเพื่อดูภาพแม่น้ำชัดๆ อีกครั้ง ด้วยความรู้สึกว่าอยากจะได้อะไรเป็นของตัวเองติดไม้ติดมือกลับไปบ้าง ก่อนจะนึกขึ้นได้ว่าป่านนี้รอบๆ แม่น้ำ Thames คงจะขวักไขว่ไปด้วยผู้คนที่เริ่มจะกลับมาใช้ชีวิตแบบปกติกันแล้ว ยิ้มหัวเราะให้ตัวเองแบบเจื่อนๆ เพราะยังไม่กล้านึกถึงอะไรแบบนั้นภายใต้สถานการณ์ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ ณ ตอนนี้ มองย้อนกลับไปก็พบว่าอดีตของเราช่างคลุมเครือ กระจัดกระจาย และไม่เคยได้ถูกจัดการอย่างเป็นระบบระเบียบเลย ราวกับว่าติดอยู่กับอะไรบางอย่างมานานนับ 7 ปี หรืออาจจะนานกว่านั้น นี่สินะความรู้สึกที่ว่า เมื่อมองไม่เห็นอนาคต ภาพของอดีตเลยชัดขึ้นกว่าเดิม
MemOyoU จัดแสดงที่ CASE Space Revolution ระหว่างวันที่ 13 พฤษภาคม – 31 สิงหาคม 2564 สามารถเข้าเยี่ยมชมได้ผ่านการนัดหมายที่ 085-4926422 / email: case.spacerevolution@gmail.com / LINE ID: manipa.j