หนังสือจาก Rupert Mann ที่รวบรวมผลงานกราฟฟิตีกว่า 140 ชิ้นที่เปิดประวัติศาสตร์สตรีทอาร์ทในกรุงเทพฯ ที่ดำเนินควบคู่ไปกับความฟอนเฟะของการพัฒนาเมือง โดยเฉพาะโครงการโฮปเวลล์
TEXT: PRATARN TEERATADA
PHOTO: KETSIREE WONGWAN
(For English, press here)
Rupert Mann
River Books, 2022
6.83 x 1.17 x 9.54 inches
256 pages
Paperback
ISBN 978-6-164-51061-6
โครงการโฮปเวลล์ คือ ‘บาดแผล’ ‘ฝันร้าย’ และ ‘ร่องรอย’ ทางประวัติศาสตร์ ที่เคยเป็นความหวังเชิดหน้าชูตาในการพัฒนาเมืองให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมชาติตะวันตก กลับกลายเป็นสัญลักษณ์ของความล้มเหลวในเชิงบริหาร ความถดถอยทางเศรษฐกิจ การเติบโตของระบอบเผด็จการ และผลพวงจากการฉ้อราษฎร์บังหลวง
‘สตรีทอาร์ตกับกราฟฟิตีในกรุงเทพฯ และ ณ โฮปเวลล์ ความหวังที่หายไป’ เป็นหนังสือรวบรวมภาพงานกราฟฟิตี 140 ภาพ ที่ดำเนินเรื่องควบคู่กับเมือง แนวแท่งอนุสรณ์ร้าง และคลองลับ เนื้อหาที่แข็งแรงที่สุดของบันทึกเล่มนี้นอกจากงานกราฟฟิตีสไตล์ไทยที่อัดแน่นสะใจคอสตรีทอาร์ตแล้ว ยังมีบทสนทนากับเหล่าศิลปินตัวจี๊ดทั้งหลาย อาทิ Bonus TMC “โฮปเวลล์เป็นร่องรอยของสถาปัตยกรรมในช่วงหนึ่งแล้วมันก็มีประวัติศาสตร์ของตนเอง”
Alex Face “รู้ไหมว่าทำไมเราถึงไปพ่นสีที่นั่น เราเห็นป้ายอยู่บนเสาเขียนเป็นภาษาไทยว่า ‘มาพ่นสีกัน เสาพวกนี้อยู่ที่นี่มา 20 ปี แบบไม่มีประโยชน์ ดังนั้นถ้าคุณเป็นศิลปิน โปรดออกมาทำงานที่นี่’ ผมก็แบบว่า ‘เอ๊ะ ไงนะ’ ผมไม่รู้หรอกว่าใครเป็นคนเอาป้ายไปวางที่นั่น แต่เอาวะ ออกไปพ่นสีดีกว่า”
HEADACHE “สำหรับผม ผมแค่ทำงานศิลปะมากขึ้นเรื่อยๆ พวกทำกราฟฟิตีมักพูดว่า ‘โอ้ศิลปะลายฉลุ stencil ทำได้ง่ายๆ ใครๆ ก็ทำได้’ ถ้าคุณตามงานศิลปะของผมนะ ผมทำงานชิ้นใหม่สัปดาห์ต่อสัปดาห์ ทำยากขึ้นยากขึ้นด้วยนะ คุณน่ะไม่มีทางทำได้หรอก แบบนี้แหละคือวิธีพิสูจน์ผลงานศิลปะของคุณ”
Rupert Mann ช่างภาพและผู้ชำนาญด้านมรดกทางวัฒนธรรม ใช้เวลา 5 ปี รวบรวมงานกราฟฟิตีทั่วเมืองกรุงเทพฯ มาไว้ในหนังสือเล่มนี้ ผลงานของเขาไม่เพียงแต่จะเป็นหนังสือที่มีคุณค่าทางศิลปะแนวสตรีทอาร์ตแล้ว มันยังเป็นบันทึกประวัติศาสตร์การพัฒนาเมืองกรุงเทพฯ ร่วมกับศิลปินข้างถนนของประเทศไทยด้วยเช่นกัน