PRACHATHIPATYPE

Photo: Pratchayapol Lertwicha

พูดคุยกับกราฟิกดีไซเนอร์ผู้ใช้การออกแบบตัวอักษรเป็นอาวุธในการเรียกร้องประชาธิปไตยไทย รวมไปถึงหนังสือล่าสุดของเขา MOB TYPE ที่บันทึกเรื่องราวการต่อสู้ผ่านตัวอักษรและศิลปะ

TEXT: PRATCHAYAPOL LERTWICHA
PHOTO COURTESY OF PRACHATHIPATYPE EXCEPT AS NOTED

(For English, press here

สองปีที่ผ่านมาเป็นช่วงที่การเมืองไทยสุดจะร้อนระอุ เพราะเกิดคลื่นการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยจากประชาชนไทยในทั่วทุกสารทิศ  ในช่วงนั้น ชื่อของ PrachathipaType น่าจะปรากฎอยู่ในฟีด social network ของใครหลายคน เพราะผลงานออกแบบอักษรของเขาจิกกัดสังคมได้อย่างเจ็บแสบ ทำเอาหลายคนอดแชร์ไม่ไหว เช่น ‘33712’ ฟอนต์ที่ตั้งคำถามกับงบประมาณสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือ ‘หัวหาย’ ฟอนต์ที่ลบส่วนหัวของตัวอักษรออกไปหมด ตอบโต้เหตุการณ์ สว. คว่ำร่างรัฐธรรมนูญที่ประชาชนเรือนแสนร่วมลงชื่อสนับสนุน

ก่อนหน้านี้ ชายเบื้องหลัง PrachathipaType คือเป็นเพียงกราฟิกดีไซเนอร์ธรรมดาๆ แต่ด้วยสถานการณ์การเมืองที่เดือดพล่าน เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้เขาสร้างตัวตนขึ้นมาใหม่ภายใต้ชุดสีดำทะมึนและหน้ากากปกคลุมใบหน้า พร้อมชื่อ PrachathipaType ที่บอกว่า อาวุธในการต่อสู้ของเขา คือการออกแบบตัวอักษร

ตอนนี้การออกมาเรียกร้องของประชาชนอาจไม่ได้เข้มข้นเช่นแต่ก่อน แต่คลื่นลมแห่งความหวังก็ยังพัดพาอยู่เรื่อยๆ อย่างไม่ขาดสาย ปีนี้ PrachathipaType สานต่อกระแสลมด้วยการออกหนังสือ ‘MOB TYPE – บันทึกการต่อสู้ของประชาชนผ่านศิลปะตัวอักษร’ ที่บันทึกผลงานและเหตุการณ์สำคัญในช่วงสองปีที่ผ่านมาผ่านมุมมองตัวอักษร เราเลยถือโอกาสนี้พูดคุยกับ PrachathipaType ตั้งแต่จุดเริ่มต้นไปจนถึงผลงานหนังสือเล่มนี้

มารู้จักกับ PrachathipaType ไปพร้อมๆ กัน

art4d: PrachathipaType กำเนิดขึ้นมาได้อย่างไร

PrachathipaType: เท้าความไปถึงตอนเด็กๆ เราเป็นคนสนใจวัฒนธรรมไทย ถึงกับเคยแสดงโขนในโรงเรียน พอเราดูสนใจอะไรไทยๆ แม่ก็บอกว่าน่าจะลองอ่านนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ซึ่งนิตยสารนี้ไม่ได้มีแค่ศิลปวัฒนธรรม มันนำเสนออีกแง่มุมของประวัติศาสตร์ กลายเป็นว่าเราได้รู้ว่าศิลปะกับการเมืองหรือว่าประวัติศาสตร์มันมีหลายแนวทาง อันนี้มันทำให้เกิด question mark ขึ้นมาในหัวของเด็กมัธยมคนหนึ่ง

Photo: Pratchayapol Lertwicha

แล้วช่วงที่เราไปเรียนปริญญาโทที่อังกฤษ ช่วงนั้นเรามีบทสนทนากับคนหลายๆ ประเทศ มันทำให้เราโดนถามสิ่งที่เราไม่เคยถาม เช่น “ทำไมคุณพูดถึงราชวงศ์เยอะจัง พวกเขาใกล้ชิดกับชีวิตคุณขนาดนั้นเลยเหรอ?” หรือ “ทำไมคุณต้องเรียนราชาศัพท์ ในชีวิตคุณจะได้พูดคุยกับเจ้าบ่อยขนาดนั้นเหรอ?” เราก็เลยเริ่มตั้งคำถามกับ identity ของประเทศที่ผูกกับชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ หรือสิ่งต่างๆ ที่มันฝังอยู่ในจิตใต้สำนึกคนไทย

ตอนสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงในปี 2553 เราเห็นเพื่อนที่เป็นคนน่ารักกับทุกคน แต่ว่าเขาโอเคกับคนที่โดนฆ่าตายในเมือง เราก็คิดว่า เฮ้ย ต่อให้เขาเห็นไม่เหมือนเรา มันเป็นเหตุแห่งความชอบธรรมให้ฆ่ากันได้เลยเหรอ ตอนช่วงม็อบกปปส. เรามีเด็กฝึกงานต่างชาติ เราก็เลี้ยงส่งเขาด้วยการให้ของขวัญพร้อมถ่ายรูปด้วยพร็อบขำๆ เช่น ผูกธงชาติ แขวนนกหวีด แต่คนรู้จักของเราเขาโกรธมากว่าเอาธงชาติมาล้อเล่นเลยเหรอ 

สรุปทั้งหลายทั้งปวงมันทำให้เกิดคำถามที่สั่นคลอนความเชื่อเรา ทีนี้ประมาณปี 2562  ที่การประท้วงรัฐบาลไทยเริ่มระอุขึ้น เราเห็น Rap Against Dictatorship และ Headache Stencil เปิดรับผลงานจากศิลปินมาจัดนิทรรศการชื่อ Uncensored เราเลยส่งผลงานไป พอจัดแสดงงานมันก็ได้พูดคุยกับคนในนั้น เจอคนที่รู้สึกร่วมกันว่าบ้านเมืองมันไม่โอเค มันเลยผลักดันให้เราอยากทำอะไรสักอย่าง

แต่เราก็รู้สึกว่า ถ้าเริ่มทำอะไรที่การเมืองมากขึ้น เราก็ห่วงการงานที่เราต้องทำเดิมอยู่ เลยคิดว่าต้องมี identity ใหม่ ต่อมาคือเราคิดว่าจะพูดเรื่องการเมืองด้วยรูปแบบอะไรดีที่มันไม่เหมือนใคร และต้องเป็นพื้นที่ให้เราทดลองในฐานะดีไซเนอร์ด้วย เราเลยเลือกแสดงออกผ่านตัวอักษร 

ส่วนเพจ PrachathipaType มาเริ่มต้นหลังม็อบ ‘19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร’ ตอนนั้น Headache Stencil เขาจะไปพ่นคำว่าศักดินาจงพินาศเป็นทางม้าลายบนถนนราชดำเนิน แต่เขาไม่รู้จะใช้ฟอนต์อะไร เราเลยบอกว่าโอเค เดี๋ยวช่วยคิดให้ เสร็จแล้วเราก็ไปพ่นตอนกลางคืนด้วย มันก็สนุกดี พองานนี้ออกไปที่เพจของ Headache แค่ไม่กี่ชั่วโมง ก็มี engagement เยอะมาก เขาบอกถ้าขนาดนี้ ให้เราลองเปิดเพจเองดูเลยละกัน

art4d: ตัวอักษรมีความพิเศษอย่างไร คุณถึงเลือกแสดงออกผ่านวิธีนี้

Prachathipatype: เราเป็นคนชอบตัวอักษรอยู่แล้ว เพราะตัวอักษรมันพิเศษตรงที่มันคือพาหนะของข้อความ มันช่วยให้คนรับรู้ข้อความหรือเนื้อหานั้นๆ ผ่านความรู้สึก อย่างเช่นเวลาเราดื่มไวน์ ถ้าเราเห็นว่าแก้วมันดูดี เราก็จะตั้งใจดื่มมันอย่างละเอียดมากขึ้น ค่อยๆ ดม ค่อยๆ จิบ แล้วรับรู้มัน และตัวอักษรก็ช่วยสื่อสารตัวตนหรือบรรจุเนื้อหาทางประวัติศาสตร์อะไรบางอย่างด้วย เช่น อักษร Blackletter ที่แพร่หลายในเยอรมัน พอเห็นก็จะรู้สึกถึงความเป็นเยอรมัน 

อีกเหตุผลหนึ่งคือเรารู้สึกว่างานออกแบบ งานศิลปะในไทยมันผูกติดกับสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ไปเยอะ มีการประกวดฟอนต์เพื่อพ่อ ทุกสิ่งทุกอย่างถ้าพ่วงคำว่าเฉลิมพระเกียรติแล้วมันถูกต้องหมด  

แต่คนที่ตั้งคำถามกับสถาบันเหล่านี้กลับโดนถล่ม อย่างเช่น งานภาพเขียนภิกษุสันดานกา หรืองานพระพุทธรูปอุลตร้าแมน ทั้งที่ประเทศมันควรรับความหลากหลายได้มากกว่านี้หรือเปล่า เราเลยคิดว่าตัวอักษรมันตั้งคำถามกับสิ่งเหล่านี้ได้ไหม

art4d: คุณมีวิธีเลือกประเด็นสื่อสารอย่างไร และมีกระบวนการอะไรบ้างในการผลิตงาน

PrachathipaType: ไม่ได้มีกระบวนการอะไรมาก เป็นการ respond กับข่าวสารและอารมณ์ของเราตรงนั้นมากกว่า อย่างเช่นงานชุดทางม้าลาย เป็นชุดตัวอักษรที่เคยออกแบบไว้แล้ว พอได้โอกาสก็มาดัดแปลงให้เหมาะสมกับการพ่น 

งานหัวหาย มาจากตอนที่ iLaw รวบรวมรายชื่อประชาชนแก้รัฐธรรมนูญได้แสนกว่าชื่อแล้ว สว. ปรับตก ก็มีคนโพสว่าเหมือนประชาชนโดนตัดหัวเพราะเขาไม่เห็นหัวประชาชนเลย น้องในทีมเลยบอกว่า ทำไมเราไม่ตัดหัวฟอนต์ไปทั้งฟอนต์เลย อันนั้นทำเร็วมาก 

ส่วน 33712 อันนี้โกรธ ตอนนั้นเราเห็นคนเดือดร้อนจากโควิดมากมายแล้วทำไมเงินงบประมาณหมื่นสามพันกว่าล้านถึงถูกจัดสรรให้สถาบันกษัตริย์มากขนาดนั้น  เราโกรธ แต่ไม่อยากโต้ตอบแบบตะโกน เราอยากแซะกลับมากกว่า เลยลองเอากราฟิกจากกราฟที่คุณเบญจา แสงจันทร์ อภิปรายในสภามาลองทำเป็นคำ ตอนแรกเป็นคำว่างบประมาณ แต่เรารู้สึกว่ามันยังไม่คมคาย คิดไปคิดมาเลยได้คำว่าพอเพียง เป็นคำที่รู้สึกสตรองมาก เพราะ คนไทยถูกปลูกฝังจากสถาบันฯ มาตลอดให้พอเพียง แต่การใช้งบประมาณอย่างนี้มันช่างขัดแย้งกับหลักการมาก พอทำออกมาแล้วปล่อยออกไป 2 นาทีได้ไปหลายร้อยไลค์ เราเลยต่อยอดคำนี้มาเป็นชุดตัวอักษร 

art4d: น่าสนใจว่าคุณเลือกไม่สื่อสารด้วยวิธีที่เกรี้ยวกราด แต่เลือกจะแซะแทน ทำไมถึงเลือกวิธีนี้ 

PrachathipaType: ผมรู้สึกไม่อยากเป็นส่วนหนึ่งของการกระพือความโกรธ เรารู้สึกว่าถ้าทำงานโหดๆ ให้สังคมที่กำลังโกรธแค้น เราอาจไม่ได้อะไรมากจากความโกรธแค้นนั้น นอกจากจิตใจที่บั่นทอน เราอยากชวนมองเรื่องที่น่าโมโหให้มันหัวเราะแบบขมขื่นได้ หรือทำให้คนสามารถตั้งคำถามได้ ทำให้เห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันเหลวไหลแค่ไหน มันน่าจะดีกว่า 

ลองดูชาร์ลี แชปลิน สิ เขาแสดงตลกโดยที่ติดหนวดหลิมแบบฮิตเลอร์ เหมือนมันลดความศักดิ์สิทธิ์ของฮิตเลอร์ลง เหมือนกับโปรเจ็คต์ 33712 ที่ลดทอนความศักดิ์สิทธิ์ของคำว่าพอเพียงลง

art4d: ที่เราสังเกตได้อีกอย่างคืองานของคุณจะไม่ได้พูดตรงๆ โต้งๆ

PrachathipaType: ใช่ๆ อย่างเช่นงานแบบเรียนพยัญชนะไทยที่เราแทนประเด็นต่างๆ เข้ากับตัวอักษร อย่างเช่น ตัว ษ. ภาษี ที่อยากพูดเรื่องการใช้ภาษีไม่คุ้มค่า เราเลยคิดว่าจะหาลุคไหนที่พูดเรื่องเงินได้ หรือว่า ล. ล้มล้าง รื้อโครงสร้างที่สั่นคลอน เราก็หาสัญลักษณ์มาแทนเรื่องนี้ เช่น การทำลายอนุสาวรีย์ 

art4d: ล่าสุดคุณทำหนังสือชื่อ ‘MOB TYPE – บันทึกการต่อสู้ของประชาชนผ่านศิลปะตัวอักษร’ เล่าให้ฟังหน่อยได้ไหมว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร

PrachathipaType: ตอนแรกคิดว่าอยากทำหนังสือ type specimen ของ PrachathipaType สมัยก่อนมีอินเตอร์เน็ต ค่ายฟอนต์จะชอบทำสิ่งพิมพ์คล้ายแคตตาล็อกโชว์ฟอนต์ของตัวเอง แต่ตอนหลังหนังสือ type specimen ก็ยังผลิตอยู่เพื่อเป็นของสะสมหรือโชว์ดีเทลการใช้งาน

แต่ผมคิดว่า ฟอนต์เราไม่ได้สำคัญอะไรขนาดนั้นในสังคมภาพใหญ่ ที่สำคัญกว่าคือ แต่ละตัวอักษรมีเรื่องราวอย่างไร หรือทำเพื่อเป็นการตอบโต้เหตุการณ์อะไรมากกว่า ผมคิดว่าตรงนี้สำคัญกว่าถ้าเราจะให้มันมีหนังสือเล่มหนึ่งขึ้นมาเพื่อเก็บเป็นหลักฐานประวัติศาสตร์

พอคิดว่าเราควรจะบันทึกเรื่องราวการเมืองมากกว่าตัวอักษร ต่อมาก็ค่อยๆ ขยายขึ้นไปอีกว่า มันควรจะรวมฟอนต์ของคนอื่นด้วย ต่อมาขยายไปอีกว่ามันควรจะรวมการแสดงออกด้วยตัวอักษรที่ไม่ใช่ฟอนต์ด้วย อาจจะเป็น lettering หรือกรอบ profile หรือตัวอักษรที่ปรากฎตามป้ายผ้า ตามถนน ในม็อบ มันก็ค่อยๆ ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ

และมีช่วงหนึ่งเราไปเจอคำถามลูกศิษย์ที่เราสอนกราฟิกดีไซน์ เขาลอยๆ ขึ้นมาว่าทำไมไม่มีหนังสือเกี่ยวกับ typography เป็นภาษาไทยเลย เราก็สะดุ้ง เพราะว่ามันไม่ค่อยมีหนังสือด้านนี้ มันเลยสะกิดในใจว่า ถ้าเราทำหนังสือ typography ภาษาไทยที่อธิบายสถานการณ์การเมืองด้วย จะเป็นโปรเจ็คต์ที่ unique มาก

ในขณะเดียวกันเราอยากให้หนังสือนี้ราคาไม่แพง คนสามารถหาซื้อได้ แต่ก็มีคุณภาพที่ดีทั้งการพิมพ์ กระดาษ และเราอยากให้หนังสือนี้ย่อยง่าย ไม่ได้เป็นหนังสือสำหรับนักเรียนออกแบบอ่าน แต่คนทั่วไปอ่านไม่รู้เรื่อง เนื้อหาข้างในเลยเขียนไม่ยาวมากเหมือนโพสในโซเชียลมีเดีย อ่านจบไวๆ แต่รู้เรื่อง เข้าใจว่ามันมีเหตุการณ์อะไรขึ้นจึงมีแบบอักษรนี้ แบบอักษรนี้มีคุณสมบัติอย่างไร 

หนังสือนี้ก็เป้าหมายคล้ายๆ กับการทำ PrachathipaType ส่วนหนึ่งคือเราอยากให้สังคมของคนที่ไม่ใช่ designer ได้เห็นว่างานออกแบบก็ทำหน้าที่ในการเรียกร้อง ขับเคลื่อน ได้ด้วย และทำให้คนที่สนใจ typography สนใจ design มาเห็นแง่มุมทางการเมืองในตัวอักษร หนังสือเลยเป็นตัวเชื่อมความคิดหรือบทสนทนาต่างๆ ได้ 

สรุปแล้วคือรูปแบบนี้มันมีคุณค่าต่อตัวเองและสังคมมากกว่าการทำ type specimen เฉยๆ เราเลยคิดว่าแบบนี้มันตอบโจทย์ตัวเองได้รอบทิศ ก็เลยโอเค ทำโว้ย (ลากเสียง) 

art4d: ทำไมเลือกสื่อสารในรูปแบบหนังสือ ทั้งๆ ที่เดี๋ยวนี้มีตัวเลือกมากมายเช่นการโพสบนอินเตอร์เน็ต

PrachathipaType: ผมอาจเป็นคนจากยุคที่เชื่อในหนังสือ เชื่อในความถาวรของหนังสือ และความจับต้องได้ การโพสในโซเชียลมีเดียมันโผล่มาแล้วมันก็หายไปกับ timeline แต่หนังสือมันง่ายต่อการหาและค้นคว้าข้อมูล

art4d: เห็นว่าหนังสือนี้มีการพูดถึงเหตุการณ์อื่นๆ นอกจากการแสดงผลงานฟอนต์ด้วย มีวิธีคัดเลือกเนื้อหาต่างๆ ลงเล่มอย่างไรบ้าง 

PrachathipaType: มันก็มาจากประเด็นที่ผมสนใจ และคัดจาก movement ที่ใช้งานศิลปะหรือการออกแบบในการเรียกร้องขับเคลื่อน ผมจะสนใจ movement ที่ไม่ใช่แบบ top down แต่เป็นจาก bottom up  ตัวอย่างที่ผมชอบก็คือฟอนต์ ‘ประเทศทวย’ ผมคิดว่ามันเป็นฟอนต์ที่น่าสนใจมากเพราะตอนแรกมันเกิดจากลายมือช่างสักที่เชียงใหม่ แล้วหลายกลุ่มการเมืองก็เอาไปใช้ ไปหัดเขียนลายมือของช่างคนนี้ ต่อมาก็มีบริษัทฟอนต์เอาไปทำ digital font แล้วกลุ่มเด็กม็อบก็เอา digital font นี้ไปใช้ต่อด้วย ฟอนต์นี้เลยน่าสนใจมาก เพราะมันเติบโตแบบ organic แล้วมีเส้นทางการเติบโตที่น่าสนใจ รู้สึกว่าไม่บันทึกไว้ไม่ได้

art4d: มองว่าลักษณะตัวอักษรที่อยู่ในการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยช่วง 2 ปีที่ผ่านมามีลักษณะเป็นอย่างไรบ้าง 

PrachathipaType: ผมมองว่าตัวหนังสือในม็อบจะตอบจริตนักเรียน นักศึกษา เพราะคนในม็อบที่ผ่านมาส่วนใหญ่เป็นเยาวชน อย่างข้อเรียกร้อง 10 ข้อจากนักศึกษาธรรมศาสตร์ ตอนแรกพิมพ์ด้วยฟอนต์สารบัญ เป็นเอกสารทางการ แต่ก็มีคนสรุปออกมาในรูปแบบ lecture note นอกจากนั้นเราก็จะเห็นตัวอักษรที่มีน้ำเสียงของความเกรี้ยวกราด ทำออกมาอย่างรวดเร็วว่องไว มีสัดส่วนที่อ่านง่ายบนหน้าจอ electronic เพราะคนเดี๋ยวนี้ใช้มือถือกันเยอะ 

แต่ถ้าดูงานจากคนอีกฝั่ง ก็เห็นความวิจิตรบรรจง ความประณีต เส้นสายย้วยๆ ซึ่งก็ตรงกับจริตของ audience ฝั่งอนุรักษนิยม

art4d: ที่ผ่านมามีคนออกมาพูดกันเยอะว่าถ้าประเทศไทยมีความเป็นประชาธิปไตย มันจะส่งผลดีกับประเทศในด้านต่างๆ เราเลยอยากถามคุณว่า ความเป็นประชาธิปไตยส่งผลดีกับงานดีไซน์อย่างไร

PrachathipaType: ถ้าให้ตอบในมุมประวัติศาสตร์ของกราฟิกดีไซน์ ในสารคดี Graphic Means: A History of Graphic Design Production ธีมที่มีอยู่ตลอดเรื่องเลยคือ Democratization of Tools เมื่อก่อนการที่คุณจะออกแบบทำงานพิมพ์เพื่อเผยแพร่ความคิดอะไรบางอย่าง คุณต้องมีทุน มีเครื่องจักร มีกำลังคน รวมถึงมีอำนาจในการสั่งผลิต แต่ว่าสุดท้ายเครื่องมือเหล่านั้นก็ถูกลงเรื่อยๆ ใช้งานขึ้นเรื่อยๆ คนทั่วไปก็สามารถสื่อสารความคิดและแลกเปลี่ยนมุมมองอะไรต่างๆ ได้ 

ถ้ามาโฟกัสที่ตัวอักษรไทย ตอนที่เจ้าฟ้ากรมพระยานริศฯ คิดค้นการเขียนตัวอักษรด้วยปากกาหัวตัดที่เป็นเครื่องมือฝรั่ง มันก็เริ่มต้นด้วยการเขียนบนตาลปัตร ที่เอาไปใช้ในราชพิธี หรือศาสนาพิธี  แต่พอคนเริ่มเข้าถึงปากกาแบบนี้มากขึ้น และวิธีเขียนแบบนี้ ตัวอักษรก็ไปอยู่หน้าโรงรับจำนำในที่สุด 

ผมเชื่อว่าถ้าเราอยู่ในสังคมที่องค์ความรู้ไม่ได้ผูกติดกับโครงสร้างอำนาจ งานออกแบบมันจะเจริญเติบโตงอกงาม แผ่ขยายไปเรื่อยๆ และเราจะเปิดกว้างยอมรับความเปลี่ยนแปลงและยอมรับความหลากหลายได้มากกว่านี้  เรื่องนี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะงานออกแบบ แต่มันรวมถึงศาสตร์อื่นๆ เช่น fine art หรือ perfomance art

art4d: สุดท้ายเราอยากถามคุณว่า ภาพของประเทศไทยในอนาคตที่คุณอยากเห็นเป็นอย่างไร

PrachathipaType:  เราอยากเห็นประเทศไทยเป็นประเทศที่ตัดสินคนกันด้วยความสามารถ ไม่ใช่เส้นสายหรือสังกัด  และเราอยากเห็นการบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียม ตอนนี้สังคมเรามีความเหลื่อมล้ำ ทุนผูกขาด มันยากกับคนรุ่นหลังที่จะสร้างตัวขึ้นมาในระบบที่มีข้อจำกัดมากกว่าคนรุ่นก่อน ถ้าสังคมมันแฟร์ ทุกคนก็มีโอกาสเติบโตตามศักยภาพได้เหมือนกัน ผมว่ามันน่าจะดีกว่าเยอะ

ติดตาม  PrachathipaType หรือสั่งซื้อหนังสือ ‘MOB TYPE – บันทึกการต่อสู้ของประชาชนผ่านศิลปะตัวอักษร’ ได้ที่

fb.com/PrachathipaType

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *