KALM PENTHOUSE ARI

โครงการ low-rise condominium ที่สร้างความน่าสนใจด้วยแนวคิดที่แตกต่าง แนวทางการออกแบบ ‘Product design lead’ ที่ใช้สถาปัตยกรรมและคุณภาพการอยู่อาศัยเป็นที่ตั้ง ทำให้ทีมพัฒนาโครงการและ PAON Architects สถาปนิกผู้ออกแบบเชื่อว่า โครงการนี้จะขายได้ด้วยตัวเอง

TEXT: KORRAKOT LORDKAM
PHOTO: DOF SKY|GROUND

(For English, press here)

หนึ่งในย่านที่มีตัวเลือกโครงการที่อยู่อาศัยหลากหลายอย่างย่านอารีย์ คอนโดมิเนียมใกล้รถไฟฟ้าน่าจะเป็นตัวเลือกแรกๆ เนื่องด้วยเหตุผลเรื่องความสะดวกเวลาผู้คนมองหาหรือพูดถึงที่พักอาศัยในย่านเมืองที่เติบโตต่อเนื่องอย่างย่านนี้ อย่างไรก็ตาม อาจต้องเว้นให้กับ ‘Kalm Penthouse Ari’ โครงการ low-rise ระดับบนที่เลือกตั้งในที่ดินลึกถัดเข้าไปในซอยอารีย์สัมพันธ์ 2 ที่ยอมแลกความใกล้สถานีรถไฟฟ้า กับความสงบและความเป็นส่วนตัวภายในละแวกที่อยู่อาศัยท่ามกลางกลุ่มบ้านเดี่ยวทั้งหลาย แต่มากกว่าแง่มุมเรื่องตำแหน่งที่ตั้ง คุณภาพของงานออกแบบและองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้โครงการแห่งนี้แตกต่างจากหลายโครงการในย่านนี้เช่นกัน

Kalm Penthouse Ari

Kalm Penthouse Ari ออกแบบโดย PAON Architects นำโดย ชานนท์ เพชรแสงงาม และรุ้งนภา โดร์มิเออ ทั้งสองเล่าว่า โครงการนี้มีความพิเศษตรงที่พวกเขาได้มีฐานะเป็นหนึ่งในพาร์ทเนอร์ของทีมผู้พัฒนาโครงการ Cast Estate Development Co., Ltd. ด้วย ข้อดีแรก คือทำให้พวกเขามีส่วนในการตัดสินใจเรื่องดีไซน์ในโครงการมากขึ้น แต่ที่สำคัญ คือพวกเขาก็ได้มีส่วนร่วมผลักดันโครงการไปในทิศทางที่ใช้สถาปัตยกรรมและคุณภาพการอยู่อาศัยเป็นที่ตั้ง อันเป็นทิศทางที่พวกเขาต้องการเห็นในตลาดอสังหาริมทรัพย์มากขึ้น โดยชานนท์ได้เล่าถึงที่มาที่ไปของโครงการนี้ว่า

โครงการนี้เป็นโครงการ ‘Product design lead’ คือโดยทั่วไปเวลาจะมีโครงการคอนโดฯ ขึ้นมา ส่วนใหญ่จะเป็น ‘Business lead’ หมายถึง เดเวลอปเปอร์จะเริ่มจากกำหนดโครงการมาเลยว่า คอนโดฯ นี้จะทำห้องขนาดเท่าไหร่ 30 ตารางเมตร หรือ 60 ตารางเมตร เพื่อคนอยู่แบบไหน เจนฯ Y เจนฯ Z มิลเลนเนียล หรือเทรนด์ตอนนี้เป็นแบบไหน โดยกำหนดโจทย์จากผลิตภัณฑ์โครงการที่มีอยู่แล้ว และขายดีในตลาด แต่ใช้มาร์เก็ตติงมาเล่าเรื่องให้ดูแตกต่าง มีคอนเซ็ปต์หรือเรื่องเล่าที่แตกต่างจากโครงการอื่น ทั้งๆ ที่ห้องคล้ายกัน หรือมีขนาดเท่าๆ กัน”

แต่ของเราไม่ได้มองภาพนั้น เรามองว่าถ้าจะสร้างพื้นที่แบบที่เป็นบ้าน ให้คนอยู่อาศัยในตัวเมืองได้ พื้นที่ของเราจะเล็กหรือใหญ่ได้แค่ไหน เราเริ่มจากโจทย์ว่า เท่าไหร่คือเล็กที่สุดที่ยังรู้สึกเป็นบ้านอยู่

Kalm Penthouse Ari

Kalm Penthouse Ari

ชานนท์เล่าต่อว่า รูปแบบห้องที่พวกเขาพบว่าตลาดยังต้องการมาก และเป็นขนาดห้องที่อยู่อาศัยได้สบายจนสามารถลบภาพห้องแบบคอนโดมิเนียมออกไปจนให้ความรู้สึกว่าเป็นบ้านได้ คือห้องแบบ 2 ห้องนอนที่ขนาดราว 100 ตารางเมตรขึ้นไป ชานนท์กล่าวว่าพวกเขาเริ่มต้นพัฒนาโครงการจากโครงร่างความคิดเรื่องรูปแบบห้องที่ว่านี้ จนนำมาซึ่งผลลัพธ์เป็นโครงการ low-rise ที่แตกต่างจากในท้องตลาดหลายประการ

ที่เด่นชัดที่สุดอย่างแรก คือแนวทางการออกแบบโครงการโดยยึดขนาดห้องเป็นหลักก่อนปริมาณห้อง ทำให้คอนโดมิเนียมแห่งนี้ประกอบด้วยยูนิตทั้งหมดเพียง 23 ยูนิต มีขนาดอยู่ที่ตั้งแต่ราว 80 จนถึงราว 160 ตารางเมตร โดยส่วนใหญ่อยู่ที่ 100 – 120 ตารางเมตร ประเภทยูนิตทั้งหมดที่ว่านี้ จะเน้นไปที่ห้องที่มีห้องนอน 2 ห้องขึ้นไป อันเป็นแนวทางที่สถาปนิกกล่าวว่าเป็นการตอบสนองกลุ่มเป้าหมายที่มองหาคอนโดมิเนียมเพื่อใช้อยู่จริงมากกว่าลงทุน

Kalm Penthouse Ari

Kalm Penthouse AriKalm Penthouse AriKalm Penthouse Ari
ต่อมา สิ่งที่ย้ำจุดมุ่งหมายของการสร้างโครงการบ้านตอบสนองผู้ต้องการอยู่อาศัยมากกว่าเก็งกำไร คือการกำหนดให้จำนวนชั้นของโครงการมีทั้งหมดเพียง 7 ชั้น จากความเป็นไปได้ปกติของโครงการ low-rise ในประเทศไทยที่เกือบทั้งหมดจะมุ่งออกแบบที่ 8 ชั้น เนื่องจากข้อกำหนดด้านกฎหมายประกอบกับความเป็นไปได้ของการทำห้องให้มีจำนวนสูงสุด ชานนท์กล่าวว่า แนวทางที่ทำกันเป็นมาตรฐานจะทำให้ระยะพื้นถึงฝ้าของห้องพักอยู่ที่ราว 2.4 เมตร ซึ่งสำหรับโครงการนี้การทำห้องขนาดใหญ่ภายใต้ระยะฝ้าที่ทำกันในมาตรฐานเดิมจะทำให้ห้องพักรู้สึกแคบและอึดอัดมากกว่าปกติ โครงการนี้จึงสำเร็จออกมาเป็นโครงการที่มี 7 ชั้น เอื้อให้ทำระยะพื้นถึงฝ้าได้สูงถึง 2.85 เมตร แต่สิ่งที่ต้องแลกมาก็คือการลดปริมาณสิ่งอำนวยความสะดวกส่วนกลาง ที่ชานนท์กล่าวต่อว่า เป็นการแลกพื้นที่ให้ขนาดและความสบายของการอยู่อาศัยภายในห้อง (ที่เหมือนเป็นบ้านไปแล้ว) อันจะช่วยลดความจำเป็นของผู้อยู่ในการพึ่งพาพื้นที่ภายนอกในการใช้ชีวิตนั่นเอง

คุณภาพและความสบายของการใช้ชีวิตในห้องที่ว่านี้ ปรากฏในหลายรายละเอียดในเชิงงานออกแบบ อันก็เป็นอีกส่วนที่ช่วยสร้างความต่างให้กับโครงการนี้เช่นกัน ที่โดดเด่นที่สุดเห็นจะเป็นการวางออกแบบผังพื้นอาคารแต่ละชั้นให้ไม่เหมือนโดยสลับกันระหว่างชั้นเลขคู่และเลขคี่ อันจะทำให้แต่ละห้องก็เกิดผังพื้นที่แตกต่างหลากหลายขึ้นด้วย ข้อดีคือได้ตอบสนองความต้องการที่ต่างของการใช้ชีวิตของลูกค้าแต่ละคน แต่ความไม่ซ้ำกันของแต่ละชั้นก็เป็นความท้าทายที่สถาปนิกต้องประนีประนอมทั้งในแง่ระยะเวลาและราคาค่าก่อสร้างที่ย่อมเพิ่มขึ้น ซึ่งไม่อาจเทียบเท่ากับโครงการที่ทุกอย่างซ้ำกันเป็นแบบแผนได้ รวมถึงการทำความเข้าใจในแง่การขาย ที่ก็ต้องการการสื่อสารที่ชัดเจนมากขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงทั้งต่อลูกค้าและโดยเฉพาะกับผู้ลงทุน

Kalm Penthouse AriKalm Penthouse AriKalm Penthouse Ari
อย่างไรก็ตาม ชานนท์ก็กล่าวว่าพวกเขายังเชื่อมั่นในการผลักประเด็นเรื่องงานออกแบบและสถาปัตยกรรมให้เป็นเป็นแง่มุมหลักของการพัฒนาโครงการ โดยในรายละเอียด แง่ต่างในเชิงการออกแบบก็มีแฝงอยู่ในรายละเอียดของผังพื้นแต่ละห้องด้วย ยกตัวอย่างเช่น การออกแบบให้ห้องแต่ละห้องมีส่วนเปลี่ยนผ่านเล็กๆ หรือเป็น foyer ก่อนเข้าถึงส่วนหลักของห้องพัก การเอื้อพื้นที่ให้โถงนั่งเล่นกับรับประทานอาหารกว้างขวางพอจนไม่รู้สึกว่าทั้งหมดเป็นห้องแคบ รวมถึงการออกแบบส่วนห้องน้ำกับ walk-in closet ให้ผู้อยู่ใช้งานพร้อมกันได้ในช่วงเวลาเร่งด่วน เหล่านี้เป็นลักษณะพื้นฐานที่ห้องทุกห้องมีร่วมกัน แต่แตกต่างกันไปตามทิศทางและตำแหน่งของแต่ละห้อง

Kalm Penthouse AriKalm Penthouse Ari
Kalm Penthouse AriKalm Penthouse AriKalm Penthouse Ari
Kalm Penthouse Ari

แต่ที่โดดเด่นจนถึงส่งผลต่อสถาปัตยกรรมในภาพรวมมากที่สุด กล่าวได้ว่าคือการออกแบบห้องหัวมุมอาคารที่มีโถง double space ให้ผังพื้นสับหว่างกันระหว่างชั้นเลขคู่และเลขคี่ กล่าวคือ สถาปนิกได้ออกแบบให้โถง double space ของชั้นหนึ่งยื่นกินพื้นที่ขึ้นไปยังอีกชั้นหนึ่ง ในตำแหน่งที่ตั้งใจเว้าไม่ให้ชนพื้นที่ใช้สอยของชั้นบน โดยใช้เทคนิคสับหว่างผังกันเหมือนเป็นตัวต่อ สลับยื่นส่วน double space ขึ้นต่อกันเรื่อยไป

Kalm Penthouse Ari

วิธีนี้นอกจากจะทำให้ได้ห้องประเภท double space ในจำนวนที่ต้องการโดยยังคงความสูงอันจำกัดของอาคารไว้ได้ ยังได้ผลด้าน façade ที่แสดงความแตกต่างจากโครงการที่ออกแบบจากผังห้องแบบปกติอย่างชัดเจนด้วย สำคัญกว่านั้น วิธีการนี้จะทำให้ได้พื้นที่ระเบียงด้านนอกที่เป็น double volume เช่นกัน อันเป็นอีกไฮไลท์ที่สร้างความแตกต่างทั้งด้านภาพลักษณ์และคุณภาพการใช้สอยอาคาร ดังที่ชานนท์อธิบายว่า

จริงๆ ระเบียงกับต้นไม้ เป็นสิ่งที่เดเวลอปเปอร์ไม่ชอบเลย เพราะเขามองว่าระเบียงมันเป็นของไม่คุ้ม คนซื้อร้อยตารางเมตรอาจไม่อยากได้ระเบียง แต่อยากได้พื้นที่ภายในห้องมากกว่า แต่เรามองว่าจริงๆ ห้องของเราทำระเบียงที่มันใช้งานได้จริง การทำ façade ที่มีพื้นที่ให้ต้นไม้ หนึ่งเลยมันช่วยสกรีนในเรื่องของความเป็นส่วนตัว แล้วก็ทำให้รู้สึกสดชื่นขึ้น ทำให้รู้สึกเหมือนอยู่บ้านมากขึ้น และพอเรามีสวนเล็กๆ อยู่ที่หน้าบ้านของเราแต่ละห้องแล้ว นอกจากจะเป็นประโยชน์กับคนในห้องนั้น ก็ยังให้ประโยชน์กับเพื่อนบ้านด้วย คนที่ผ่านไปผ่านมาหรือเพื่อนบ้านที่รอบๆ ยังเป็นบ้านสองชั้นอยู่ เราได้ให้ façade ที่มีต้นไม้เยอะๆ มันก็ทำให้เพื่อนบ้านมีประโยชน์ไปด้วย คือให้ประโยชน์ในเชิง urban design ไปด้วย

Kalm Penthouse AriKalm Penthouse Ari
ท้ายที่สุด ชานนท์ได้สรุปว่าที่นี่เป็นแนวทางการพัฒนาโครงการที่ให้สินค้าได้ขายตัวเอง โดยไม่จำเป็นหรือพึ่งพาการเล่าเรื่องให้น้อยที่สุด วิธีนี้แม้จะเป็นการทำสินค้าแบบตลาดเฉพาะกลุ่มมาก แต่ก็เป็นแนวทางที่พวกเขาคิดว่ากรุงเทพฯ ยังขาด และเป็นแนวทางที่มีความหมาย ที่ได้บรรจุและนำเสนอคุณภาพเชิงงานออกแบบแบบที่อาจไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้งนั้นเอง

paon-architects.com
facebook.com/paonarchitects

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *