การดิ้นให้หลุดจากกรอบของกฎหมายที่คอยจำกัดการออกแบบอาจเป็นไปไม่ได้ ทว่าการออกแบบภายใน ‘กรอบ’ นั้นไม่จำเป็นต้องน่าเบื่อ บ้านจากสตูดิโอ PHTAA Living Design หลังนี้ เป็นบ้านทรงสี่เหลี่ยมที่สามารถแสดงตัวตนของเจ้าของบ้านได้เป็นอย่างดี
ป้ายกำกับ: double-space
KALM PENTHOUSE ARI
โครงการ low-rise condominium ที่สร้างความน่าสนใจด้วยแนวคิดที่แตกต่าง แนวทางการออกแบบ ‘Product design lead’ ที่ใช้สถาปัตยกรรมและคุณภาพการอยู่อาศัยเป็นที่ตั้ง ทำให้ทีมพัฒนาโครงการและ PAON Architects สถาปนิกผู้ออกแบบเชื่อว่า โครงการนี้จะขายได้ด้วยตัวเอง
TINY TIN HOUSE
บ้านที่ RAD studios หยิบ ‘กระป๋อง’ มาเป็นไอเดียหลักในการออกแบบ เพื่อตอบรับข้อจำกัดของที่ดินและทัศนียภาพที่ไม่น่ามอง และตอบโจทย์สำคัญอย่างการสร้างองค์ประกอบทางสายตาที่สวยงามให้แก่ผู้อยู่อาศัย
TEXT: KORRAKOT LORDKAM
PHOTO: SOFOGRAPHY
(For English, press here)
ในซอกซอยซับซ้อนของย่านที่อยู่อาศัยหนึ่งในแขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร บ้านสีขาวเรียบโล่งตั้งเด่นแตกต่างจากบรรดาบ้านหลังอื่นในละแวก แม้แต่ในที่ดินเดิมของบ้านหลังนี้เอง ก็เรียงรายไปด้วยกลุ่มบ้านเก่าหลายหลังของครอบครัวใหญ่ ซึ่งประกอบไปด้วยบ้านของสมาชิกหลายคนที่อยู่อาศัยในที่ดินผืนใหญ่ผืนนี้ด้วยกัน ด้วยความผูกพันของเจ้าของบ้านกับที่อยู่อาศัยเดิม ทำให้เขาเลือกลงหลักบ้านหลังใหม่ในที่ตั้งเก่าแทนการย้ายออก ในบริบทของที่ตั้งที่ท้าทายทั้งด้านขนาดที่ดินอันจำกัด รวมถึงด้านทัศนะวิสัยรอบบ้านที่ค่อนข้างเก่า ขาดการดูแลรักษาและภาพรวมดูแตกต่างกันเป็นอย่างมาก อันยากจะให้ความรู้สึกสุนทรีย์ในการอยู่อาศัย
Tiny Tin House ถูกตั้งชื่อตามชื่อเล่นของผู้เป็นเจ้าของบ้าน และตามคอนเซ็ปต์การออกแบบที่สถาปนิก RAD studios เป็นผู้วางไว้ ปวัน ฤทธิพงศ์ สถาปนิกผู้ออกแบบ เปรียบเทียบสภาพที่ตั้งและบ้านหลังใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นกับกระป๋องบรรจุอาหาร ที่สำหรับเขาน่าสนใจทั้งในแง่รูปลักษณ์และความสามารถของการเป็นบรรจุภัณฑ์ ปวันกล่าวว่า
“เรามองหาสิ่งต่างๆ รอบตัวว่า อะไรบ้างที่มันสามารถจุฟังก์ชันได้มากมายอยู่ในที่ที่อันเล็กนิดเดียว เราก็เลยมองไปถึงกระป๋องใส่อาหารต่างๆ ที่บางทีเราเปิดกระป๋องออกมาแล้วเราเทออกมา ของภายในมันดูเยอะมากกว่าที่ภายนอกเรามองเห็น เราคิดว่ามันน่าสนใจ กลายเป็นแรงบันดาลใจ และคิดว่ามันนำมาเล่นกับสถาปัตยกรรมได้”
จากคอนเซ็ปต์นี้ ปวันกล่าวว่า ที่ดินขนาดราวเพียง 10 คูณ 13 เมตร เป็นความท้าทายแรกของการบรรจุพื้นที่ใช้สอยต่างๆ ของครอบครัวใหม่ให้เพียงพอและต้องได้คุณภาพดีเทียบเท่าบ้านหลังใหญ่ “กระป๋อง” ในที่นี้จึงได้เข้ามาเป็นคอนเซ็ปต์ที่ส่งผลต่อทั้งด้านรูปลักษณ์ภายนอกและต่อพื้นที่ใช้สอยภายใน โดยลักษณะของกระป๋องที่ปิดทึบเป็นลักษณะนำมาเป็นลักษณะเด่นของตัวสถาปัตยกรรม ที่สอดคล้องกับการตอบสนองต่อบริบทที่ไม่น่ามองได้ด้วย แต่ด้วยความเป็นที่อยู่อาศัย อาคารจึงจำเป็นต้องแบ่งรับแบ่งสู้ระหว่างการเปิดรับสภาพแวดล้อม และการปิดทึบบดบังสิ่งที่ไม่ต้องการ การเปิดรับและเชื่อมต่อกับภายนอกบ้านในบางด้านที่เหมาะสม และปิดบังตัวเองจากสิ่งแวดล้อมที่ไม่พึงประสงค์ในด้านที่เหลือ จึงเป็นความท้าทายหนึ่งด้านบริบทที่ส่งผลต่อการออกแบบโดยรวมของที่พักอาศัยแห่งนี้ ดังที่สถาปนิกอธิบายว่า
“บริบทส่งผลกระทบเยอะมาก ทั้งขนาดที่ดินที่เล็กมาก แล้วก็สภาพแวดล้อมที่ค่อนข้างไม่น่าดู แต่เราเอามาเป็นความท้าทายว่าเราจะสร้างอะไรดีๆ ขึ้นมาได้อย่างไร ผมใช้คำว่ามันบันดาลใจเรา ว่าทำอย่างไรให้ทำบ้านที่ปิดแบบนี้แล้วได้คุณภาพการอยู่อาศัยที่ดีที่สุด ให้เหมือนบ้านใหญ่ที่สามารถดีไซน์บนที่โล่ง หรือที่สภาพที่ตั้งที่ดีกว่านี้ได้”
ในเบื้องต้น บ้านพักอาศัย 3 ชั้นขนาดราว 350 ตารางเมตร หลังนี้ถูกออกแบบให้มีลักษณะเป็นบ้านกล่องสี่เหลี่ยมสีขาว เรียบโล่งโดยตลอดทุกทิศทาง และปราศจากองค์ประกอบตกแต่งหรือส่วนยื่นเกินใดๆ ความเหลี่ยมและโล่งเรียบที่ภายนอกนี้ ถูกลดทอนโดยแนวคิดการนำลักษณะของ “กระป๋อง” มาใช้ในบริเวณแรกสุดคือทางเข้าบ้านเพื่อสร้างความโดดเด่น โดยมุมบ้านด้านทางเข้าได้ถูกคว้านให้โค้งเว้า ลึกและซ้อนเข้าไปใต้ตัวบ้านชั้นบนที่ยังคงความเป็นกล่อง เกิดเป็นองค์ประกอบที่สร้างความโดดเด่นในแง่รูปลักษณ์ให้กับทางเข้าบ้าน และยังมีประโยชน์โดยได้สร้างระยะร่นให้กับประตูบ้าน เกิดระยะห่างให้ประตูไม่ตั้งชิดกับพื้นที่ภายนอกมากเกินไป
เมื่อเดินเข้าสู่ภายในตัวบ้าน จะพบโถงต้อนรับเล็กๆ เป็นส่วนตู้รองเท้า ต่อจากนั้นขึ้นมาจะเป็นโถงนั่งเล่นหลัก ซึ่งเป็นส่วนใช้สอยต่อมาที่แนวคิดเรื่อง “กระป๋อง” ถูกนำมาประยุกต์ใช้อย่างเห็นได้ชัดที่สุด ดังจะเห็นได้จากลักษณะของสเปซที่ถูกออกแบบให้เป็นรูปแบบโถงวงกลม มีลักษณะเด่นคือการเป็นโถงฝ้าสูงแบบ double volume โดยมีบันไดเชื่อมต่อไปยังชั้น 2 ที่บริเวณกึ่งกลาง ลักษณะของโถงเช่นนี้ ปวันกล่าวว่าเป็นแนวคิดของการแทรกความโปร่งโล่งเข้าไปในที่อยู่อาศัยที่มีพื้นที่ใช้สอยจำกัดให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โถงนั่งเล่นที่ประกบด้วย pantry ที่เจ้าของบ้านจะใช้อยู่อาศัยเป็นส่วนใหญ่นี้ ยังมีช่องเปิดขนาดใหญ่ที่ถูกกำหนดไว้ในมุมหนึ่งเพื่อสร้างความปลอดโปร่งและเชื่อมต่อระหว่างภายในกับภายนอกตามแนวความคิดหลัก อันเป็นมุมที่ต่อเนื่องออกไปยังที่ว่างระหว่างบ้านข้างๆ ที่กว้างขวางพอ และไม่มีภาพกวนสายตาจนเกินไป เช่นเดียวกับในส่วน pantry ก็ได้รับการออกแบบให้มีช่องเปิดขนาดย่อมเป็นของตัวเองในตำแหน่งที่ไม่มีสิ่งใดรบกวนสายตาที่ภายนอกด้วย
บนชั้นสองจะเป็นพื้นที่ที่เป็นส่วนตัวมากขึ้น ประกอบไปด้วยห้องนอนสองห้อง และห้องทำงานหนึ่งห้องที่จัดวางชิดไปกับโถง double space ที่ต่อเนื่องมาจากข้างล่าง ห้องทำงานอันเป็นอีกส่วนพื้นที่ใช้สอยที่เจ้าของบ้านจะใช้เวลาภายในห้องนี้มาก จึงเป็นพื้นที่อีกส่วนที่สถาปนิกต้องการสอดแทรกความโปร่งโล่งให้มากที่สุด แนวคิด double space ถูกนำมาใช้อีกครั้ง ที่ท้ายที่สุดส่งผลให้ห้องที่มีลักษณะเป็นห้องแคบแต่ยาว ถูกกรุด้วยผนังกระจกสูงโปร่งด้านหนึ่งเพื่อรับทิวทัศน์และแสงธรรมชาติจากภายนอกได้เต็มที่เพื่อลดความคับแคบ และแน่นอนว่าตำแหน่งของช่องเปิดขนาดใหญ่ด้านนี้ก็จะสอดคล้องกับทัศนียภาพภายนอก อันเป็นด้านที่ทิวทัศน์ปลอดโปร่งกว่าด้านอื่นที่หันหน้าชนบ้านหลังข้างเคียง
ส่วนสุดท้าย ชั้น 3 เป็นชั้นที่อุทิศให้ห้องนอนมาสเตอร์ของเจ้าของบ้านผู้กำลังเริ่มสร้างครอบครัว โดยมีเฉพาะผนังของห้องอ่างอาบน้ำที่เอื้อให้กรุหน้าต่างบานใหญ่สร้างความพิเศษด้านทิวทัศน์ ส่วนที่เหลือบนชั้นนี้ ถูกออกแบบให้เป็นลานดาดฟ้ารูปวงกลม อันเป็นอีกหนึ่ง “กระป๋อง” ที่ถูกบรรจุในลักษณะของพื้นที่ใช้สอยเพื่อการสันทนาการของครอบครัว ลานวงกลมนี้จึงนอกจากจะให้ประโยชน์ด้านหน้าที่ใช้สอยแล้ว รูปลักษณ์อันพิเศษก็ยังให้ความรู้สึกในความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันด้านคอนเซ็ปต์ อันสอดคล้องต่อเนื่องไปทั่วทั้งบ้านหลังเล็กอีกด้วย
สำหรับการออกแบบภายใน สถาปนิกได้คงเอกลักษณ์ความเรียบโล่งไว้เป็นเอกลักษณ์สำคัญ มีบ้างบางองค์ประกอบ เช่น ช่องทางเดิน หรือฉากกั้นห้อง ที่ถูกออกแบบโดยเล่นกับเส้นโค้งหรือซุ้มโค้งแบบ Arch สร้างความรู้สึกสนุกสนานขึ้นในหลายจุด รวมถึงในหลายส่วนก็มีการซ่อนลูกเล่นทางกราฟิกดีไซน์หรือลูกเล่นทางวัสดุไว้เบื้องหลังรูปลักษณ์ภายนอกที่เรียบโล่ง แต่โดยรวม ความคมชัดของเส้นสายที่ชัดเจน เช่นเดียวกับรูปลักษณ์ภายนอกของตัวสถาปัตยกรรม ก็ยังเป็นเอกลักษณ์ที่ชัดเจนที่สุดของบ้านหลังนี้ อาจกล่าวได้ว่าลักษณะการออกแบบสถาปัตยกรรมโดยคำนึงถึงรูปทรง เส้นสาย และความสอดคล้องต่อเนื่องขององค์ประกอบทางสายตา นั้นเป็นเอกลักษณ์ที่แท้ของบ้านหลังนี้
อาคารที่ถูกออกแบบโดยให้คำนึงถึงการสอดคล้องกันขององค์ประกอบทางสายตาเป็นสำคัญ อาจเป็นแนวทางของสถาปัตยกรรมที่เดินเข้าใกล้ความเป็นภาพวาดหรือภาพศิลปะสองมิติมากขึ้น ที่ความงามหรือความเข้มข้นของชิ้นงานในหลายแง่เกิดจากความสอดคล้องกันขององค์ประกอบศิลป์ อย่างที่ปวันยกตัวอย่างถึงการออกแบบเส้นสายอันคดโค้งแต่สอดคล้องกันของบันไดบ้านในโถงกลาง รวมถึงผลลัพธ์ของปรากฏการณ์ของแสงและเงาอันแหลมคมที่เกิดขึ้นบนอาคารที่ภายนอก ที่เขาอธิบายว่า “เราคิดค่อนข้างเป็นสองมิติมาก ในแต่ละส่วนเราดูสัดส่วนเป็นส่วนๆ ไป แล้วเอาแต่ละส่วนมาประกอบกัน” บ้านสีขาวเรียบโล่งอย่าง Tiny Tin House จึงเป็นตัวอย่างอันดีของบ้านที่แฝงการออกแบบที่คำถึงถึงผลกระทบทางสายตา มากพอๆ กับคุณภาพของสเปซ และคุณภาพการอยู่อาศัยของผู้อยู่ในภาพรวม