บ้านที่ความพิเศษไม่ได้จบอยู่ที่คอร์ทซึ่งช่วยสร้างความเชื่อมต่อกับธรรมชาติ แต่รวมถึงเหล่าพื้นที่ semi-outdoor ที่ถูกสอดแทรกเข้ามาเพื่อตอบรับวิถีชีวิตของเจ้าของบ้าน
TEXT: NATHATAI TANGCHADAKORN
PHOTO: DOF SKY | GROUND and SOOPAKORN SRISAKUL
(For English, press here)
บ้านไทรคู่ เป็นบ้านที่มีที่มาจากโจทย์ตั้งต้นง่ายๆ อย่างการเป็นพื้นที่วิ่งเล่นให้ลูกระหว่างเติบโต ซึ่งพื้นที่ว่างได้รับการออกแบบให้ขยายและแทรกซึมเข้ามาสู่พื้นที่ภายในบ้าน บนความต้องการการใช้ชีวิตแบบ outdoor ที่ใกล้ชิดกับธรรมชาติของเจ้าของบ้าน
ต้นไทรสองต้นที่เกี่ยวกระหวัดเคียงคู่กันในธรรมชาติอย่างอิสระอยู่ใจกลางพื้นที่ เป็นจุดเริ่มต้นการออกแบบของ พงศ์ภัทร เอื้อสังคมเศรษฐ์ และ ปานดวงใจ รุจจนเวท จาก Anonym Studio ตัวบ้านได้รับการวางผังล้อมต้นไทรคู่นี้ เพื่อเปิดพื้นที่โล่งและมุมมองที่เชื่อมต่อจากทุกส่วนในบ้านเข้าหาพื้นที่ส่วนกลาง โดยมีพื้นชั้น 2 ในรูปแบบของโครงสร้าง flat slab คอนกรีตเปลือยผิวหนา 40 ซม. ยาวตลอดแนว ทำหน้าที่ปกคลุมและเชื่อมต่อทุกฟังก์ชันเข้าด้วยกันทางสายตา พื้นคอนกรีตนี้ทำหน้าที่เป็นชายคาคอยคุ้มครองพื้นที่ shaded area ที่แทรกตัวอยู่ตลอดบริเวณตัวบ้าน ผ่านการวางผังที่สลับจังหวะของพื้นที่ภายในและภายนอก ให้ผู้อยู่อาศัยได้สัมผัสบรรยากาศภายนอกภายใต้ร่มเงาได้ตลอดเวลา
“เจ้าของบ้านบอกว่าชอบใช้ชีวิต outdoor ซึ่งจะต่างจากบ้านในกรุงเทพทั่วไปที่เข้าประตูมาแล้วก็อยู่ภายในบ้านเป็นหลัก แต่บ้านหลังนี้คนในบ้านเข้าแล้วก็ออกจากห้องต่างๆ อยู่ตลอดเวลา ซึ่งมันก็จะมีเรื่องที่ต้องคิดเพิ่มขึ้น อย่างเวลาล็อกประตูจะล็อกยังไง ถอดรองเท้า ใส่รองเท้าตรงไหน แต่เจ้าของบอกว่าชอบการใช้พื้นที่แบบนี้” ปานดวงใจเล่าถึงที่มา
เมื่อผ่านรั้วผนัง rammed earth เข้ามา ตัวบ้านแบ่งพื้นที่เป็น 2 คอร์ทคือคอร์ทไทรคู่และคอร์ทเล็ก มีโซนห้องนั่งเล่น ทำหน้าที่เป็นใจกลางของบ้าน ด้านหนึ่งของห้องนั่งเล่นเชื่อมต่อกับโซนพักอาศัยของพ่อแม่ซึ่งสร้างบรรยากาศด้วยคอร์ทเล็ก พร้อมสวนครัวที่เป็นกิจกรรมเสริม ขณะเดียวกันอีกด้านก็เชื่อมต่อไปยังโซนสอนดำน้ำแบบ invitation only อันประกอบด้วยสระว่ายน้ำความลึกสูงสุด 3 เมตร ห้อง workshop สำหรับเก็บอุปกรณ์ไตรกีฬาส่วนตัวของเจ้าของบ้าน และ lounge รับรองแขก ในชื่อเล่นว่า mancave ซึ่งเห็นต้นไทรคู่อย่างชัดเจน โดยแต่ละฟังก์ชันถูกคั่นด้วยพื้นที่กึ่งภายนอก สร้างผังพื้นที่หลวมและผ่อนคลาย ก่อให้เกิดบรรยากาศสบายๆ และพื้นที่ semi-outdoor ให้เด็กน้อยได้วิ่งเล่นอย่างอิสระพร้อมๆ กับการสร้างระยะทางให้แต่ละฟังก์ชันอยู่ห่างจากกันอย่างชัดเจน จนเกิดความเป็นส่วนตัวของแต่ละส่วนไปด้วยในเวลาเดียวกัน
ช่องที่เว้นว่าง และระยะห่างระหว่างสิ่งต่างๆ ถูกเน้นให้ชัดเจนในมิติของการเลือกใช้วัสดุและการก่อสร้างที่มีความเนี้ยบ ตั้งแต่แผ่น flat slab คอนกรีตที่เรียบสนิทปราศจากท่อและองค์ประกอบของงานระบบ ผ่านการค่อยๆ เทหล่อในที่ไปทีละส่วนพร้อมกับการเก็บงานระบบให้ซ่อนอยู่ภายในความหนาของคอนกรีตระหว่างการก่อสร้าง นอกจากนี้ยังมีเสาหลอกที่แนบเนียนไปกับเสาโครงสร้างจริง รวมถึงฝ้าคอนกรีตที่ปาดเฉียงไปหา skylight ในส่วน mancave ซึ่งทั้งเสาและฝ้าล้วนทำหน้าที่ซ่อนงานระบบไว้เช่นเดียวกัน
องค์ประกอบต่างๆ ถูกจัดวางให้แยกจากกันภายใต้แผ่นพื้นคอนกรีตที่ดูหนาหนักบนเพดานชั้น 1 ทว่าสอดแทรกด้วยผนังกระจกเต็มผืนที่ให้ความรู้สึกบางเบาและมองทะลุผ่านได้ เป็นการเปิดพื้นที่ให้สเปซระหว่างพื้นและเพดานได้แสดงตัวออกมาอย่างชัดเจน รวมไปถึงช่องว่างเล็กๆ ในบริเวณที่วัสดุต่างชนิดมาบรรจบกัน จังหวะการจัดวางของความทึบตันและช่องว่างเหล่านี้เองที่ทำให้บ้านดูเบาสบาย ส่วนการรับมือกับสภาพแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นจากวิถีชีวิตใกล้ชิดธรรมชาติของเจ้าของบ้าน ก็ส่งผลไปถึงการเลือกใช้วัสดุในส่วนต่างๆ โดยเฉพาะพื้นซึ่งเป็นส่วนที่มีโอกาสสึกหรอหนักที่สุด สถาปนิกเลือกใช้พื้นขัดมันที่ง่ายต่อการดูแลและทำความสะอาด แล้วใช้วัสดุอื่นมาร่วมสร้าง pattern แยกพื้นที่ semi-outdoor และพื้นที่ indoor ออกจากกันจากมุมต่างๆ ของบ้าน แม้ภาพต้นไทรคู่ที่ถูก frame ผ่านกรอบหน้าต่างอย่างพอดิบพอดีนั้นอยู่ในมุมที่แตกต่างกันออกไป แท้จริงแล้วต้นไทรคู่นี้เองทำหน้าที่เชื่อมทุกคนและบ้านทั้งหลังเข้าด้วยกัน บนจังหวะและระยะห่างที่เปิดโอกาสให้ทุกคนในบ้านได้เลือกใช้พื้นที่ของตัวเอง และเลือกใช้เวลาร่วมกันได้ ให้ชีวิตได้เติบโตอย่างอิสระแต่ยังเกาะเกี่ยวกันไป คล้ายกิ่งไทรคู่ที่ตั้งอยู่ใจกลาง