NO GOD NO KING ONLY HUMAN

หนังสือที่รวบรวมภาพของเหตุการณ์ที่เกิดในการชุมนุมต่างๆ ในไทยช่วงปี 2020 – 2022 ซึ่งไล่เรียงเนื้อหาตามบรรยากาศของการต่อสู้ท่ามกลางแรงเสียดทานจากรัฐ

TEXT: KITA THAPANAPHANNITIKUL
PHOTO: KETSIREE WONGWAN

(For English, press here

Korn Karava

Photographs by
Asadawut Boonlitsak
Peerapon Boonyakiat
Patipat Janthong
Tanakit Kitsanayunyong
Varuth Pongsapipatt
Natthapol Suebkraphan
Natthawut Taeja
Laila Tahe
Tanagon Thipprasert
Peera Vorapreechapanich

Karava publishing, 2022
24.6 x 23.1 cm
Paperback 192 pages
ISBN 978-616-594-230-0

หลังจากอ่านจบ คำถามที่เกิดขึ้นคือ เราจะอธิบายหนังสือเกือบสองร้อยหน้าที่พยายามบอกเล่าห้วงเวลาแห่งการต่อสู้บนท้องถนนของประชาชนคนเดินดินได้อย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับหนังสือที่ไม่มีข้อความอธิบายแม้แต่คำเดียว

หนังสือ No God No King Only Human จาก Karava Publishing คือ Photobook ที่รวบรวมภาพถ่ายจาก 10 ช่างภาพที่ได้เก็บภาพของเหตุการณ์ที่เกิดในการชุมนุมต่างๆ ตั้งแต่ช่วงปี 2020 – 2022 อันเป็นช่วงเวลาที่ประชาชนแสดงความไม่พอใจกับรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจมาจากการรัฐประหารเมื่อปี 2014 กอปรกับการเกิดปรากฏการณ์ ‘ทะลุเพดาน’ จากข้อเรียกร้องของเยาวชนอย่างการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ในพื้นที่สาธารณะ จนนำไปสู่การเปลี่ยนภูมิทัศน์ของการเมืองในประเทศไทยและกระบวนทัศน์ทางสังคมในแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ซึ่งเหตุการณ์ช่วงนี้ก็ได้นำไปสู่ข้อเรียกร้องอื่นๆ ในวงกว้าง อาทิ ความเท่าเทียมทางเพศ การศึกษา ฯลฯ นอกเหนือจากหนังสือเล่มนี้จะเป็นเหมือนจดหมายเหตุที่การบันทึกประวัติศาสตร์ของหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุดของสังคมไทย อีกทั้งรูปแบบของหนังสือ Photobook ยังชวนให้เราพิจารณาถึงบทบาทของ ‘รูปถ่าย’ ในฐานะสื่อกลางที่นำส่งมวลอารมณ์และปรากฏการณ์ ณ สถานที่จริง และกระบวนการทำงานของรูปภาพที่เป็นมากกว่าแค่ข้อมูลของแสงที่ถูกบันทึกลงเซ็นเซอร์ของกล้องถ่ายรูปเท่านั้น

โครงสร้างของหนังสือเล่มนี้มีการจัดเรียงเนื้อหาที่ไม่ได้เรียงต่อกันตามช่วงเวลาและสถานที่ แต่เป็นการค่อยๆ ไล่เรียงบรรยากาศความรู้สึกของการต่อสู้ เริ่มต้นจากภาพของการประท้วงที่เป็นไปอย่างสบายๆ อย่างการรวมตัวของผู้คนหรือกิจกรรมอย่าง ‘วิ่งไล่ลุง’ ก่อนที่จะค่อยๆ ไล่เรียงเนื้อหาไปสู่การปะทะกันที่ทวีความรุนแรงขึ้นของผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่รัฐ อย่างการชุมนุมของคณะราษฎรบนแยกปทุมวันที่มีการฉีดน้ำแรงดันสูงใส่ผู้ชุมนุมหรือการปะทะในครั้งต่างๆ บนสมรภูมิเดือดอย่างแยกดินแดง

หลังจากปาเข้าไปรอบที่สามที่เราได้อ่านหนังสือเล่มนี้ เราเริ่มเข้าใจว่า ‘รูปภาพ’ นั้นไม่ได้เป็นเพียงสื่อกลางที่ถ่ายทอดเนื้อหาการต่อสู้และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ตัวมันเองก็เป็นเนื้อหาเช่นเดียวกัน วิธีที่ช่างภาพได้รูปภาพมานั้นยังแสดงถึงนิยามของการต่อสู้ที่เปลี่ยนไปในช่วงเวลา ในช่วงแรกที่การชุมนุมประท้วงต่างๆได้ก่อตัวขึ้น การต่อสู้นั้นอาจหมายถึงเรื่องของวาจาและสัญญะต่างๆ ที่เหล่าผู้ประท้วงพากันครีเอตด้วยความสนุกสนานและอารมณ์ขัน รูปภาพในส่วนนี้จึงมีความชัด มีการจัดวางองค์ประกอบที่ถูกคิดมาอย่างใจเย็น แต่เมื่อแรงเสียดทานในที่ชุมนุมมีมากขึ้น การต่อสู้ได้เปลี่ยนความหมายไปเป็นความรุนแรงบนสถานการณ์ที่คาดเดาไม่ได้ ในช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยเปลวไฟ เสียงกรีดร้อง และความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่รัฐที่ไม่รู้จะมาในรูปแบบใด ซึ่งรูปภาพในช่วงเวลานี้เต็มไปด้วยความรีบร้อน ความเบลอ ที่เกิดจากเหล่าช่างภาพที่จำเป็นต้องหนีตายไม่ต่างจากผู้ชุมนุม (อันอาจหมายถึงคนๆ เดียวกัน)

ประเด็นสำคัญของหนังสือเล่มนี้อยู่ที่ช่วงเวลาหลังจากได้พลิกอ่านจนจบ จากภาพเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น คำถามคือ เราควรจะรู้สึกอย่างไรและทำอย่างไรกับมันต่อ หากลองดูในหนังสือ Regarding the Pain of the Others (2003) ผู้เขียน Susan Sontag ได้ชี้ให้เราเห็นถึงกระบวนการจัดการกับความรู้สึกที่มีต่อเนื้อหาภาพข่าวของความรุนแรงผ่านการคิดถึงต้นกำเนิด และผลกระทบของภาพข่าวนั้น ‘จริงจัง’ มากกว่าภาพที่เราได้เห็นตรงหน้า ในกรณีของหนังสือเล่มนี้ที่ไม่ได้มีการอธิบายด้วยคำพูดหรือข้อความใดๆ ในเล่ม เนื้อหาของการจัดวางหน้ากระดาษ ที่ว่าง หรือแม้แต่ความปลาบปลื้มในฐานะ ‘Resistance Art’ นั้นอาจเป็นเพียงแค่เรื่องรอง สิ่งที่เป็นแก่นหลักจริงๆ นั้นอยู่ที่เนื้อหาของการต่อสู้และข้อเรียกร้องที่สั่นคลอนความมั่นคงจนนำไปสู่การปราบปรามมากกว่า นั่นรวมไปถึงประเด็นอื่นๆ ที่ตามมาหลังการชุมนุม อาทิ การลอยนวลพ้นผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ การบังคับใช้กฏหมายอย่างไม่เป็นธรรม รวมถึงในวันนี้ที่ข้อเรียกร้องเหล่านี้ทะลุขึ้นไปบนเวทีใหญ่อย่างศาลหรือรัฐสภาที่ฟาดฟันกันด้วยกฏหมาย หรือศัพท์แสงทางวิชาการ เราอยากให้ผู้อ่านทุกท่านย้อนนึกถึงการต่อสู้ที่ครั้งหนึ่งได้เริ่มต้นขึ้นบนถนนจากเยาวชนและคนธรรมดา ในช่วงเวลาแรกเริ่มที่ข้อเรียกร้องเหล่านั้นนำพามาซึ่งปลอกกระสุน เปลี่ยนสายฝนให้กลายเป็นเปลวไฟ ในเวลาที่เรือนร่างของหญิงชายได้กลายเป็นอาวุธชิ้นสุดท้ายเพื่อปกป้องอนาคตของตัวเอง

ไม่ว่าเราจะต้องเลือกตั้งกันอีกกี่หน เราเชื่อว่า การต่อสู้ก็ยังคงดำเนินต่อจนกว่าข้อเรียกร้องของประชาชนจะได้รับการเติมเต็ม เหนือสิ่งอื่นใด หนังสือเล่มนี้ได้ย้ำเตือนกับเราทุกคนว่า ทุกการเปลี่ยนแปลงมีที่มาเสมอ และสิ่งนี้ถูกย้ำเตือนใน quote บนหน้าสุดท้ายอันเป็นข้อความหนึ่งเดียวของหนังสือเล่มนี้ ;

Without pain, there is thus also no revolution
No departure from the old, no history.
บย็อง-ชุล ฮัน (Byung-Chul Han)

ไม่มีคำอวยพรจากฟากฟ้า ไม่มีท่านผู้มาโปรด มีแต่ประชาชนทั้งหลายที่ยังคงแลกทุกอย่างเพื่ออนาคตของพวกเขาเองจวบจนปัจจุบัน และเมื่อวันแห่งการเปลี่ยนแปลงมาถึง อย่าลืมกล่าวขอบคุณกับเหล่าผู้คนที่นำพาเรามาถึงจุดหมาย แม้บางคนนั้นจะมิได้อยู่เพื่อเฉลิมฉลองความสำเร็จด้วยก็ตาม

facebook.com/karavapublishing

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *