PLERN-PHLIO-TIL-CHAN

Volunteer camp by Silpakorn, Plern-Phlio-Til-Chan

ภายใต้เงื่อนไขอันจำกัด ทั้งงบประมาณ ระยะเวลา และจำนวนคน art4d ชวนไปสำรวจกันว่า กว่าจะออกมาเป็นผลลัพธ์อย่างที่เห็นกันนี้ ผลงานจากโครงการค่ายอาสาสถาปัตย์ศิลปากร ‘เพลินพลิ้วทิวจัน’ นั้นมีที่มาอย่างไรบ้าง

TEXT: NATHATAI TANGCHADAKORN
PHOTO COURTESY OF FACULTY OF ARCHITECTURE, SILPAKORN UNIVERSITY

(For English, press here)

ถ้าพูดถึงค่ายอาสาของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ทุกคนคงนึกถึงภาพการลงไปทำกิจกรรมในพื้นที่จริงเพื่อเรียนรู้กระบวนการทำงานของเหล่านักศึกษา และหนึ่งในค่ายอาสาที่ได้รับความสนใจมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีมานี้คือค่ายอาสาสถาปัตย์ศิลปากร หรือ ‘โครงการยุวสถาปนิกอาสาพัฒนาชนบท’ นั่นเอง

Volunteer camp by Silpakorn, Plern-Phlio-Til-Chan

ในแง่ของการออกแบบ กระบวนการดีไซน์ของค่ายอาสาสถาปัตย์ศิลปากร หรือ ‘ค่ายอาสา’ นั้นไม่แตกต่างจากกระบวนการทำงานทั่วไปเท่าไหร่นัก สำหรับค่ายอาสา ‘เพลินพลิ้วทิวจัน’ ที่ก่อสร้างกันระหว่างวันที่ 11 – 21 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมานี้เองก็เช่นกัน โดยเริ่มจากการสำรวจไซต์ เก็บข้อมูลพฤติกรรมผู้ใช้งาน สอบถามความต้องการของเจ้าของโครงการ ซึ่งในกรณีนี้คือครูและเด็กๆ ในโรงเรียนวัดซึ้งบน จังหวัดจันทบุรี จากนั้นก็เริ่มสเก็ตช์และเคลียร์แบบก่อสร้าง ดังนั้นในบทความนี้ เราจึงอยากค่อยๆ เล่าถึงที่มาที่ไป และเอกลักษณ์เฉพาะตัวของค่ายอาสาของมหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ใครหลายคนน่าจะเคยสงสัยว่า ทำไมต้องทำค่ายอาสาให้มีดีเทลซับซ้อนขนาดนี้ มากกว่าการเล่าเพียงกระบวนการออกแบบตรงๆ

Volunteer camp by Silpakorn, Plern-Phlio-Til-Chan

Volunteer camp by Silpakorn, Plern-Phlio-Til-Chan

ถ้าลองย้อนกลับไปสัก 5 ปี ตั้งแต่โครงการ ‘คนที ตีตะปู (2561),’ ‘โตนดน้อยเรือนวาฬ (2562),’ ‘เจ็ดเสมียนเขียนต่อ (2564),’ ‘เขาน้อยเรือนลอย (2565)’ จนมาถึง ‘เพลินพลิ้วทิวจัน (2566)’ นอกจากชื่อโครงการที่ตั้งใจให้คล้องจองเหมือนเดิมแล้ว หากมองด้านในจะพบการเปลี่ยนแปลงมากมาย เดิมทีค่ายอาสาของมหาวิทยาลัยศิลปากรจะแบ่งเป็น ทีมช่าง ทีมครัว และทีมครู เนื่องจากโครงการค่ายอาสามักอยู่ในโรงเรียนประถม ทว่าตั้งแต่การเข้ามาของโควิด 19 หลัง ‘เจ็ดเสมียนเขียนไข’ ต้องถูกเลื่อนมาเป็น ‘เจ็ดเสมียนเขียนต่อ’ ก็เหลือเพียงทีมช่างที่สามารถเดินทางลงพื้นที่ ด้วยงบประมาณที่ร่อยหรอ และทุกโรงเรียนที่ไม่อยากให้นักเรียนต้องเสี่ยงจากคนแปลกหน้าจำนวนมาก นำมาสู่การเลือกใช้โครงสร้างไม้ที่มีขนาดหน้าตัดเดียวกันแทบทั้งหมด ซึ่งง่ายต่อการขนย้ายด้วยคนจำนวนน้อยและสามารถจำกัดต้นทุนต่อเนื่องกันทุกปี

Volunteer camp by Silpakorn, Plern-Phlio-Til-Chan

Volunteer camp by Silpakorn, Plern-Phlio-Til-Chan

รูปฟอร์มของอาคารโครงสร้างไม้หลังช่วงโควิดก็แล้วแต่ทีมออกแบบปีนั้นๆ จะสรรสร้าง บางส่วนก็ต้องคำนึงถึงขนาดของ ‘วัสดุที่ได้รับมา’ ประกอบ แล้วค่อยออกแบบฟังก์ชันเสริมที่แตกต่างกันออกไป อาทิ กระดานดำ เก้าอี้ built-in แปลงผัก และสำหรับเพลินพลิ้วทิวจันคือที่นั่งภายนอกซึ่งมีลักษณะคล้ายอัฒจันทร์นั่นเอง

Volunteer camp by Silpakorn, Plern-Phlio-Til-ChanVolunteer camp by Silpakorn, Plern-Phlio-Til-ChanVolunteer camp by Silpakorn, Plern-Phlio-Til-Chan

Volunteer camp by Silpakorn, Plern-Phlio-Til-Chan

เพลินพลิ้วทิวจันทร์เริ่มทดลองประกอบโครงสร้างจริงตั้งแต่ในรั้วมหาวิทยาลัยศิลปากรก่อนออกเดินทาง เพราะปัจจัยด้านจำนวนคนและระยะเวลาที่เหลือเพียง 10 วันรวมการเดินทางไป-กลับ (มีทีมมาคุมการเทพื้นปูนไว้ก่อนล่วงหน้า) จากเดิมที่มีสองสัปดาห์ ทำให้ต้องแน่ใจว่าขั้นตอนหน้างานจะเหลือ error น้อยที่สุดและเป็นงานแห้งล้วนๆ ข้อดีคือคนอื่นๆ ในคณะที่บังเอิญเดินผ่านมาระหว่างการเวิร์กช็อปที่มหาวิทยาลัย ก็สามารถเลี้ยวมาเข้าร่วมได้เลย

Volunteer camp by Silpakorn, Plern-Phlio-Til-Chan

Volunteer camp by Silpakorn, Plern-Phlio-Til-Chan

Volunteer camp by Silpakorn, Plern-Phlio-Til-Chan

โครงสร้างไม้มีขอบเขตของงานที่ควบคุมได้ แต่การต้องควบคุมเองทั้งหมดก็ทำให้หัวเรือหลักซึ่งเป็นนักศึกษาปีสี่จำเป็นต้องเรียนรู้การบริหารจัดการไปด้วย ตั้งแต่ลงดีเทลการเข้าไม้ทุกจุดเพื่อสื่อสารกับเพื่อนในทีมช่าง การประสานงานกับทีมคำนวณโครงสร้าง การทำแบบเพื่อให้ทีมกราฟิกนำไปทำสื่อโปรโมท การสั่งวัสดุเผื่อในกรณีที่บางส่วนหลุด QC การรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นหน้างานต่างๆ นานา วกกลับมาเป็นจุดประสงค์ของการออกค่ายที่แท้จริง คือการเรียนรู้กระบวนการทำงานก่อนลงสนามจริง

เรามีโอกาสได้คุยกับอาจารย์ที่เข้ามาช่วยทำงานในค่ายอาสาสั้นๆ จึงได้รู้ว่า ทุกคนที่มีส่วนร่วมต่างต้องการให้ ‘โครงการยุวสถาปนิกอาสาพัฒนาชนบท’ พัฒนาต่อไปในอนาคต ซึ่งอาจไม่ใช่การขยายขนาดโครงการหรือปรับเปลี่ยนรูปแบบไปจากเดิม เพียงแค่ต้องการให้ค่ายอาสานี้ยังสามารถดำเนินต่อ เป็นพื้นที่ฝึกหัดแก่น้องๆ ผ่านการทำให้โครงการเป็นที่รู้จัก เพื่อเชิญชวนให้คนที่สนใจมาเข้าร่วมในปีต่อๆ ไป

Volunteer camp by Silpakorn, Plern-Phlio-Til-Chan

สำหรับคำตอบของคำถามถึง lighting และหลังคาโปรงแสงในค่ายอาสาที่ดูจะเป็นฟังก์ชันส่วนเกิน ความจริงแล้วทั้งสองสิ่งล้วนมีประโยชน์ในแบบของมันเอง หลังคาโปร่งแสงทำให้ได้แสงธรรมชาติ และทำให้อุณหภูมิในพื้นที่ใช้งานไม่ร้อนอย่างที่ตาเห็นในยามกลางวัน ส่วนแสงไฟในยามกลางคืนซึ่งปลอดผู้ใช้งาน ก็ทำหน้าที่เป็นอุปกรณ์เพิ่มความ photogenic ให้กับอาคาร ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งกดเข้ามาอ่านบทความนี้เพราะเคยเห็นรูปถ่ายกลางคืนสวยๆ ของที่นี่ ก็แปลว่าสิ่งนี้ได้บรรลุวัตถุประสงค์ของมันแล้ว

Volunteer camp by Silpakorn, Plern-Phlio-Til-Chan

facebook.com/architecture.silpakorn
facebook.com/arch.asa.silpakorn
instagram.com/arch.asa.silpakorn

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *