THE PYRAMID OF TIRANA

Pyramid of Tirana

โปรเจ็กต์ปรับปรุงอนุสรณ์สถานเก่าของอดีตผู้นำเผด็จการ ให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีสำหรับเยาวชนในประเทศแอลเบเนีย ที่ MVRDV ลงมือกำจัดภาพลักษณ์เก่าๆ จนกลายเป็นอาคารของทุกคน

TEXT: SANTIPAP RITRUECHAI
PHOTO: OSSIP VAN DUIVENBODE

(For English, press here)

The Pyramid of Tirana เป็นโครงการปรับปรุงอาคารพิพิธภัณฑ์ของผู้นำลัทธิสังคมนิยม Enver Hoxha แห่งเมืองติรานา ประเทศแอลเบเนีย ออกแบบและปรับปรุงโดยกลุ่มสถาปนิกยอดฝีมือจากเนเธอร์แลนด์ อย่าง MVRDV

ย้อนกลับไปในปี 1988 The Pyramid of Tirana เดิมมีชื่อว่า Enver Hoxha Museum เป็นผลงานของรัฐบาลแห่งรัฐสังคมนิยม ที่ใช้งบประมาณในการก่อสร้างที่มหาศาล สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงและเชิดชูเกียรติให้แห่งผู้นำแห่งรัฐ Enver Hoxha ตัวอาคารถูกสร้างขึ้น 3 ปีให้หลังการจากไปของเขาในปี 1985 โดยแนวคิดการออกแบบอาคารที่มีลักษณะเป็นอนุสรณ์สถาน วางอยู่บนฐานขั้นบันไดโครงสร้างคอนกรีตรูปทรงคล้ายพีระมิดความสูงเกือบ 20 เมตร ประกอบกับฉากหลังที่เป็นภูเขา Dajti ที่เป็นภูเขาประจำเมืองแห่งเมืองติราน่า

Pyramid of Tirana

การออกแบบตัวสถาปัตยกรรมและการออกแบบภูมิทัศน์โดยรอบถูกออกแบบอยู่บนพื้นฐานแนวคิดการออกแบบแบบสมมาตร เมื่อมองจากตรงกลางด้านหน้าอาคารแล้ว องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมทั้งด้านซ้ายและด้านขวาจะมีรูปแบบและขนาดที่เท่ากัน ซึ่งเป็นรูปแบบการออกแบบที่ต้องการจะนำเสนอความเชื่อมั่น ยิ่งใหญ่ และมั่นคง ทำให้ภาษาทางสถาปัตยกรรมเป็นภาพตัวแทนของการโฆษณาชวนเชื่อ ที่ทำให้ทุกคนในสังคมมีความเชื่อมั่นภายใต้การปกครองระบอบสังคมนิยม

Pyramid of Tirana

หลังจากการล่มสลายของรัฐสังคมนิยม อาคารพิพิธภัณฑ์ก็ถูกปรับเปลี่ยนการใช้งานใหม่เป็นศูนย์ประชุมและศูนย์จัดแสดง และในปี 1999 อาคารถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นศูนย์บัญชาการแห่งกองกำลังนาโต้ในสงคราม Kosovo หลังจากที่อาคารถูกปรับเปลี่ยนไปใช้งานในหลากหลายรูปแบบและหลายช่วงเวลาโดยที่ไม่มีแบบแผนการปรับปรุงที่ชัดเจนส่งผลให้อาคารมีความเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็วเป็นอาคารร้างที่กลายเป็นแหล่งซ่องสุมที่ไม่พึงปรารถนาของเมืองติราน่าไปอย่างน่าเสียดาย

Pyramid of Tirana

ถึงแม้ว่าบทบาทและความสำคัญของระบอบรัฐสังคมนิยมจะค่อยๆ หายไปตามช่วงวัยของผู้คน เหมือนกับตัวอาคารพิพิธภัณฑ์ที่ถูกทิ้งร้างจนบทบาทและความสำคัญก็ลดน้อยลงไปตามกาลเวลา ในขณะเดียวกันตัวอาคารก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของภาพจำและหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของเมืองติราน่าไปเสียแล้ว ทำให้เกิดโครงการที่จะรื้อฟื้นอาคารให้กลับมาใช้ประโยชน์ได้อีกครั้ง แต่ในครั้งนี้อาคารจะถูกพลิกโฉมและนำเสนอในรูปแบบที่สอดคล้องกับยุคสมัยใหม่และยังเป็นหมุดหมายทางประวัติศาสตร์ของเมืองในเวลาเดียวกัน

Pyramid of Tirana

Pyramid of Tirana

Pyramid of TiranaPyramid of TiranaPyramid of Tirana

Winy Maas ผู้ร่วมก่อตั้ง MVRDV และหนึ่งในทีมผู้ออกแบบพูดถึงโครงการนี้ไว้ว่าครั้งแรกที่เขาได้เห็นความยิ่งใหญ่ของรูปทรงทางสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นนี้ และมีเด็กๆ วิ่งเล่นปีนป่ายอยู่บนอาคารที่เหมือนเป็นพื้นที่ชุมนุมของชุมชนของเมือง ทำให้เขารู้สึกประทับใจ ภาพที่เกิดขึ้นนี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งที่ถูกเรียบเรียงเป็นงานออกแบบโครงการนี้

แนวความคิดการปรับปรุงหลักของโครงการคือการสร้างศูนย์การเรียนรู้ในด้านเทคโนโลยีให้กับเด็ก เยาวชน และผู้คนของเมืองติราน่า ในโครงการชื่อ The Pyramid of Tirana ฟังก์ชันการใช้งานภายในอาคารเป็นศูนย์การเรียนรู้โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยี (Multifunctional Technology Education Center) โดยสถาบันไม่แสวงผลกำไร TUMO แห่งเมืองติราน่า โดยจะเป็นสถานที่เรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีได้ฟรีสำหรับเด็กอายุระหว่าง 12 ถึง 18 ปี โดยหลักสูตรมุ่งเน้นไปที่การสอนแบบบูรณาการ ที่ประกอบไปด้วยการสอนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ การสร้างหุ่นยนต์ การสร้างภาพเคลื่อนไหว 3 มิติ ดนตรี และการถ่ายทำภาพยนตร์ นอกจากนี้กล่องสีสดใสที่กระจายตัวอยู่รอบๆ พีระมิดก็ถูกออกแบบให้เป็นห้องเช่าประกอบไปด้วย ร้านกาแฟ ร้านอาหาร ออฟฟิศสตาร์ทอัป สตูดิโอ และอื่นๆ

Pyramid of Tirana

Pyramid of Tirana

ในขั้นตอนของกระบวนการออกแบบนั้น ทีมสถาปนิกได้พยายามลดทอน ทำลาย และรื้อภาพสถาปัตยกรรมที่เคยเป็นจุดศูนย์กลางเพื่อตัวบุคคล มาสร้างความหมายใหม่ให้อาคารเพื่อที่อาคารจะสามารถเป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับทุกคนได้อย่างแท้จริง โดยขั้นตอนการออกแบบแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอนหลักๆ คือ

ขั้นตอนแรกคือการรื้อถอนองค์ประกอบที่ทึบ ตัดออกเหลือไว้แค่โครงสร้างคานคอนกรีตที่ทำหน้าที่เป็นโครงสร้างหลักและ หลังคาให้กับอาคาร โดยเหตุผลที่รื้อส่วนที่ทึบตันออกมีอยู่ประเด็นสำคัญ 2 ประเด็น ประเด็นแรก คือเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเข้าถึงอาคาร จากแบบเดิมที่เข้าออกได้ทางด้านหน้าแค่ทางเดียว ทีมสถาปนิกได้รื้อและสร้างทางเข้าออกรอบอาคารแบบ 360 องศา เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้คนสามารถเข้ามาใช้งานได้อย่างง่าย สะท้อนเป็นนัยว่าอาคารคือพื้นที่สำหรับทุกคน ประเด็นที่สอง คือเรื่องของการสร้างช่องเปิดเพื่อเพิ่มปริมาณของแสงธรรมชาติให้สามารถเข้าถึงภายในอาคาร นอกจากจะช่วยลดการใช้พลังงานแสงสว่างในตอนกลางวันแล้ว ยังเป็นช่องที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการไหลเวียนของอากาศภายในอาคารอีกด้วย

Pyramid of TiranaPyramid of Tirana

ขั้นตอนต่อมาคือการสร้างบันไดบนแนวแผ่นหลังคาคอนกรีตเดิม ขั้นตอนนี้ถือเป็นหนึ่งไฮไลต์ของการออกแบบเลยก็ว่าได้ เพราะนอกจากจะใช้เป็นทางเดินที่ทุกคนสามารถขึ้นไปนั่งเล่นเพื่อชมทัศนียภาพของเมืองแล้ว ยังสามารถมองเข้าไปเห็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นภายในอาคารได้อีกด้วย มากไปกว่านั้น การออกแบบทางสัญจรไม่ได้ถูกออกแบบเพื่อให้คนสามารถเข้าไปถึงจุดศูนย์กลางหรือยอดพีระมิดได้อย่างเดียวเท่านั้น ในระหว่างทางจะมีทางเดินรองเล็กๆ ที่เชื่อมทางเดินหลักเข้าหากัน เมื่อมองจากด้านบนแล้วจะเห็นได้ว่าทางเดินทั้งหมดเชื่อมหากันเป็นลักษณะของใยแมงมุม ทำให้ทุกพื้นที่สามารถเชื่อมโยงเข้าหากันได้

อีกหนึ่งหนึ่งไฮไลต์ ก็คือ ‘ทางสไลเดอร์’ ที่อยู่ระหว่างทางเดินที่เด็กสามารถเข้าไปเล่นได้ ความจริงแล้วไอเดียการทำทางสไลเดอร์ไม่ได้เกิดจากทีมผู้ออกแบบแต่ต้น แต่เป็นกิจกรรมที่เด็กในเมืองมาวิ่งเล่นตั้งแต่ก่อนที่ทางทีมสถาปนิกจะเข้ามาปรับปรุง หลังจากการเก็บข้อมูลเบื้องต้นเพื่อการออกแบบแล้ว ทางทีมสถาปนิกก็ไม่ลืมที่จะใส่ฟังก์ชันที่เป็นทางสไลเดอร์กลับเข้าไปด้วย

Pyramid of TiranaPyramid of Tirana
Pyramid of Tirana

Pyramid of Tirana

สำหรับขั้นตอนที่สามคือการสร้างกล่องสี่เหลี่ยมสีสดใส วางตัวอย่างไม่เป็นระเบียบทั้งภายนอกและภายใน การกระจายตัวของกล่องเป็นการเปิดอาณาเขตพื้นที่ของโครงการให้กระจายออกสู่สาธารณะ จากอาคารเดิมที่เป็นรูปทรงทึบตัน สมมาตร และรวมศูนย์ ถูกลดทอนความหมายออกไปด้วยการเล่นเรื่องสีที่สดใส การวางองค์ประกอบที่ไม่เป็นระเบียบที่ทำลายความสมมาตร และเพิ่มความเป็นมิตรให้แก่ตัวอาคารและบริบทโดยรอบด้วย

ทางทีมสถาปนิกมุ่งเน้นที่จะสร้างบรรยากาศแห่งความสนุกสนานให้เหมือนเป็นพื้นที่ของงานเทศกาลของเมือง ส่วนเรื่องหลักการการใช้สีจะแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือสีที่มีความเข้มข้นมากกว่าจะถูกใช้กับกล่องที่จัดอยู่ภายในอาคาร ส่วนสีที่ใช้ภายนอกจะมีความเข้มของสีที่เบาบางกว่าเพื่อไม่ให้ความเข้มของสีไปรบกวนบริบทภายนอกมากจนเกินไป

Pyramid of Tirana

Pyramid of Tirana

The Pyramid of Tirana แสดงให้เห็นถึงการปรับปรุงเพื่อตอบโจทย์การใช้งานสมัยใหม่ที่ยังคงหลงเหลือหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้อดีตของเมืองพร้อมกับการเรียนรู้ทักษะสมัยใหม่ นอกจากนี้ The Pyramid ยังเป็นหนึ่งในผลงานที่โดดเด่นในด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยการไม่ทำลายอาคารเดิมแต่ใช้ไอเดียและความคิดสร้างสรรค์มาต่อยอดและเพิ่มคุณค่าให้แก่ตัวสถาปัตยกรรมในมิติที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้

Pyramid of Tirana

หากวิเคราะห์ในเชิงรายละเอียดแล้วนั้น สิ่งที่สร้างเพิ่มขึ้นมาใหม่มีเพียงแค่ส่วนที่เป็นกล่องสีเท่านั้น นอกจากนั้นองค์ประกอบส่วนใหญ่ ทีมสถาปนิกเลือกที่จะเก็บโครงสร้างเดิมไว้แล้วใช้เทคนิคการออกแบบอย่างมีกลยุทธ์มาเพิ่มมูลค่าและให้ความหมายใหม่กับตัวสถาปัตยกรรมแทน ปัจจุบันนี้ The Pyramid of Tirana ก็ยังคงทำหน้าที่เป็นอนุสรณ์สถาน เหมือนกับหน้าที่ของมันที่มันเคยเป็นในอดีต แต่ไม่ใช่อนุสรณ์สถานในความหมายของการเชิดชูตัวบุคคลอีกต่อไป หากแต่เป็นอนุสรณ์สถานที่เป็นพื้นที่สาธารณะของทุกคนอย่างแท้จริง

Pyramid of TiranaPyramid of Tirana

mvrdv.com

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *