เยี่ยมชมนิทรรศการเกี่ยวกับอักษร-ภาพ-กราฟิก ที่ 21_21 DESIGN SIGHT ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งรวบรวมผลงานออกแบบกราฟิกร่วมสมัยตั้งแต่ปลายยุค 1980 มาจนถึงยุคดิจิทัล
TEXT: PAKPOOM LAMOONPAN
PHOTO CREDIT AS NOTED
(For English, press here)
เป็นที่รู้กันว่าหมุดหมายสำคัญสำหรับคนชอบงานดีไซน์ในโตเกียว ที่มีสเปซมากมายแสดงงานแย่งผู้ชมกันอยู่นั้น 21_21 DESIGN SIGHT ที่รปปงงิถือว่าเป็นตัวจบ นอกจากตัวอาคารที่ออกแบบโดย ทาดาโอะ อันโดะ หรืองานนิทรรศการที่หลากหลายที่ถูกจัดขึ้นในธีมของ ‘ชีวิตประจำวัน’ ที่มองในมุมมองของดีไซน์ หัวข้อที่เคยจัดก็มีอย่าง น้ำ ธรรมชาติ ผู้คน กระดูก ข้าว วิศวกรรมเมือง โฟล์กอาร์ต แมลง และกระบวนการสร้างสรรค์ต่างๆ โดยมีไดเรกเตอร์ที่เชี่ยวชาญในงานออกแบบสาขานั้นๆ มาช่วยจัดหมุนเวียนไปให้มีความน่าสนใจระดับคนต่อคิวยาวรอเข้าชมได้อยู่เสมอๆ ยิ่งถ้าโชคดีได้ไปในช่วงงานใหญ่ ยิ่งถือว่าเป็นที่ที่จะได้เปิดหูเปิดตา คุ้มค่าการจ่ายค่าเข้าชมมากๆ
ล่าสุดที่นี่ได้มีนิทรรศการใหญ่ในด้านงานออกแบบกราฟิก Modes and Characters: Poetics of Graphic Design หรือในชื่อญี่ปุ่นแปลตรงๆ ง่ายๆ กว่าคือ ‘moji – image – graphic (อักษร-ภาพ-กราฟิก) exhibition’ โดยมีหัวเรือใหญ่สามคนคือ Kiyonori Muroga, Tetsuya Goto และ Kensaku Kato มาเป็นไดเรกเตอร์ โดยที่ Muroga มีเครดิตมาจากการเป็นบรรณาธิการนิตยสาร IDEA มาหลายปี โดย IDEA คือนิตยสารที่เป็นแรงผลักดันสำคัญในการนำเสนองานของกราฟิกดีไซเนอร์ทั้งในและนอกญี่ปุ่นมาตั้งแต่ปี 1953 และเพิ่งครบรอบ 70 ปีไปเมื่อปีที่แล้ว ด้วยสายสัมพันธ์และข้อมูลมหาศาลที่ IDEA มีมานี้เอง ทำให้สามารถรวบรวมผลงานสำคัญๆ ของดีไซเนอร์เบอร์ต้นๆ ของญี่ปุ่นมาจัดแสดงได้เกือบครบ
ฟังชื่อดูโปสเตอร์ผ่านๆ แม้ว่าจะดูเหมือนนิทรรศการที่เน้นไปที่ประวัติศาสตร์ของตัวอักษรและการออกแบบตัวเขียนของญี่ปุ่น แต่หลังจากเดินผ่านห้องแรกที่แนะนำระบบการเขียนของอักษรญี่ปุ่น คันจิ ฮิรากานะ คาตากานะ และงานภาพพิมพ์สมัยโบราณและกราฟิกช่วงหลังสงครามโลกแล้ว ในห้องแสดงงานหลักที่เราได้เห็นคือบรรดางานออกแบบกราฟิกร่วมสมัยที่ถูกรวบรวมไว้ประเดประดังมาอย่างท่วมท้น ผลจาก desktop publishing ที่มีมาตั้งแต่ปลายยุค 1980 ซึ่งเป็นกลายเป็นกระบวนการหลักในการทำงานออกแบบสิ่งพิมพ์จากคอมพิวเตอร์ ไล่ผ่านปี 2000 ที่เป็นช่วงเวลาที่อินเทอร์เน็ตเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางสังคมที่สำคัญ และมีผลกับการออกแบบให้กับสื่อใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นตามมา ตัวชิ้นงานครอบคลุมแทบทุกอย่างที่เป็นงานกราฟิกดีไซน์ ฟอนต์ หนังสือ โลโก้ โปสเตอร์ แพกเกจจิ้ง ไปจนถึงภาพ emoji และงานโฆษณา
โดยมีกลุ่มดีไซเนอร์ 54 ราย ถูกจัดหมวดหมู่เป็น 13 หัวข้อ ที่เราจะได้เห็นทั้งงานจากคนที่ทดลองกับฟอนต์และโปรแกรมสร้างงานออกแบบตั้งแต่ยุคแรกๆ จนถึงดีไซเนอร์รุ่นใหม่ๆ ที่เป็นคนที่เกิดมาในยุคดิจิทัลแล้ว เราจะได้เห็นทั้งงานที่ค่อยๆ เปลี่ยนไปตามเทคโนโลยีและสังคม รวมทั้งคนที่ไม่ยอมจำนนกับเทรนด์ใดๆ สร้างงานที่ตั้งคำถามและท้าทายกับขนบมาอยู่ในที่เดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น Experimental Jetset, M/M (paris), Kashiwa Sato, Taku Satoh, John Warwicker (Tomato), The Designers Republic, Noritake, Kazunari Hattori, Kenya Hara, Bunpei Yorifuji, Wang Zhihong, Issay Kitagawa Sulki & Min Hideki Nakajima, Masayoshi Nakajo และอีกมากมาย
งานนี้ยังจัดอยู่จนถึงวันที่ 10 มีนาคมนี้ ใครได้มีโอกาสไปไม่อยากให้พลาดจริงๆ นานๆ ทีจะได้เห็นงานนิทรรศการที่เกี่ยวกับงานกราฟิกดีไซน์ที่จัดสเกลใหญ่ขนาดนี้ได้