IN MEMORY OF THE GOOD OLD DAYS, CHATRI LADALALITSAKUL ADDS THE ACCENT OF A NORTHERN CARPENTER TO HIS CONTEMPORARY HOUSE IN BANGKOK
TEXT: JAKSIN NOYRAIPHOOM
PHOTO: KETSIREE WONGWAN
(For English, press here)
เพราะพื้นที่ “เมือง” คือศูนย์กลางความเจริญในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะเมืองของประเทศไทยในอดีต ซึ่งมีระดับการพัฒนาแตกต่างกับพื้นที่ชนบทค่อนข้างมาก จากความเหลื่อมล้ำดังกล่าว จึงไม่แปลกที่กว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ชาวชนบทไทยจำนวนมากต่างพากันอพยพเข้าสู่เมืองใหญ่โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร เพื่อแสวงหาโอกาสที่ดีกว่าในการดำเนินชีวิต จวบจนเวลาผ่านไป ชาวชนบทส่วนใหญ่ที่อพยพเข้ามาในครานั้น ได้พากันลงหลักปักฐานอาศัยอยู่ในเมืองอย่างถาวร และใช้ชีวิตอย่างคนเมือง จนกลายเป็นชาวเมืองในที่สุด ในบรรดาชาวชนบทที่ได้ปรับเปลี่ยนตัวเองให้กลายเป็นชาวเมืองเหล่านั้น มีจำนวนมากที่ได้ละทิ้งวิถีชีวิตแบบชนบทไปอย่างสิ้นเชิง โดยปล่อยให้เป็นเรื่องราวในอดีตที่ไม่มีวันหวนกลับคืน หากแต่มีขาวชนบทอยู่จำนวนไม่น้อยเช่นกันที่ยังคงให้ความสำคัญกับเรื่องราวในอดีตเหล่านั้น โดยพยายามนำพาให้มาผสมผสานเข้ากับวิถีชีวิตในปัจจุบัน และบ่อยครั้งที่ผลลัพธ์จากการผสมผสานดังกล่าว ได้ถูกแสดงออกมาในรูปของสถาปัตยกรรมและที่อยู่อาศัยในเขตเมือง ดังเช่นที่พบในบ้านต้นศิลป์
บ้านต้นศิลป์ ตั้งอยู่ในย่านชุมชนพักอาศัยบริเวณถนนพระราม 2 ซอย 33 แถบกรุงเทพฝั่งตะวันตก ความเป็นมาของบ้านหลังนี้เริ่มขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2551 จากการที่ตัวของ ชาตรี ลดาลลิตสกุล ซึ่งเป็นทั้งเจ้าของบ้านและสถาปนิก ต้องการที่จะออกแบบบ้านเพื่อใช้อยู่อาศัยเอง สิ่งแรกที่เขานึกถึงคือบรรยากาศของเรือนพื้นถิ่นภาคเหนือ (เฮือนคนเมือง) ซึ่งเขาผูกพันมาตั้งแต่ครั้งยังเป็นเด็ก แต่ด้วยความที่เขาได้ย้ายเข้ามาพำนักอยู่ในกรุงเทพกว่า 40 ปีมาแล้ว จนได้กลายเป็นชาวเมืองกรุงไปโดยสมบูรณ์ ทำให้ชาตรีตัดสินใจออกแบบบ้านหลังนี้ให้มีลักษณะของสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ (บ้านในเมือง) ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของตนในปัจจุบันมากกว่า หากแต่ยังคงไม่ทิ้งกลิ่นอายของความเป็นเรือนแบบภาคเหนือ ที่สามารถเชื่อมโยงและบอกเล่าเรื่องราวในอดีตที่ตนผูกพันเอาไว้ได้
“บ้านหลังนี้ไม่ใช่สถาปัตยกรรมที่งอกเงยขึ้นมาจากอดีต แต่เป็นสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ที่สร้างขึ้นใหม่ แต่มีกลิ่นอายของอดีต… คือวิถีชีวิตเราเปลี่ยนไปแล้ว ตอนนี้เราเป็นคนเมือง แต่ว่าเราก็ยังจำอะไรบางอย่างที่มันเป็นความสุขในตอนที่เราอยู่บ้านของเราในต่างจังหวัดสมัยก่อนได้ มันเป็นกลิ่นอาย ผมก็นึกถึงสิ่งเหล่านั้นตอนที่ออกแบบบ้านหลังนี้” ชาตรีกล่าวถึงที่มาของแนวคิดในการออกแบบ
พื้นที่ใช้สอยทั้งหมดภายในบ้านต้นศิลป์ มีขนาดประมาณ 600 ตารางเมตร โดยเป็นส่วนผสมระหว่างพื้นที่พักอาศัยและพื้นที่ทำงานเข้าไว้ด้วยกัน ในชั้น 1 ทางฝั่งตะวันออกของตัวบ้านเป็นที่ตั้งของห้องอเนกประสงค์และห้องสอนดนตรี ฝั่งตะวันตกเป็นที่ตั้งของห้องพักผ่อน ครัว ส่วนซักล้าง และที่จอดรถ คั่นกลางด้วยโถงขนาดใหญ่ที่มีลักษณะเปิดโล่งและมีบรรยากาศคล้ายกับใต้ถุนของเรือนพื้นถิ่นภาคเหนือ ชั้น 2 ฝั่งตะวันออกเป็นที่ตั้งของห้องอ่านหนังสือและห้องทำงาน ส่วนกลางของบ้านเป็นสำนักงานของ บริษัท ต้นศิลป์สถาปนิก ในขณะที่ฝั่งตะวันตกเป็นที่ตั้งของพื้นที่ส่วนตัวคือ ห้องนอน 2 ห้อง และชั้น 3 เป็นที่ตั้งของห้องอเนกประสงค์ขนาดใหญ่ ที่สามารถปรับเปลี่ยนการใช้งานได้อย่างหลากหลาย โดยพื้นที่ใช้งานทั้งหมดถูกจัดวางโดยมีรูปแบบเรียบง่าย ที่สัมพันธ์กับพฤติกรรมการใช้งานของตนเองและสมาชิกภายในครอบครัวซึ่งผู้ออกแบบมีความเข้าใจเป็นอย่างดี
แม้ด้วยรูปทรงและโครงของตัวอาคารโดยรวมจะใช้ภาษาสถาปัตยกรรมสมัยใหม่เป็นสื่อในการเล่าเรื่องเป็นหลัก หากแต่ผู้ออกแบบได้มีการนำกลิ่นอายของความเป็นชนบทแบบภาคเหนือเข้ามาแทรกไว้ในหลายส่วน ผ่านการหยิบยืมรูปลักษณ์จากองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมของเรือนพื้นถิ่นภาคเหนือมาใช้ ทำให้บ้านหลังนี้ีมีกลิ่นอายของการโหยหาอดีต (nostalgia) แบบภาคเหนือ อันเป็นเสน่ห์ที่เป็นเอกลักษณ์แตกต่างจากบ้านสมัยใหม่ที่พบเห็นได้โดยส่วนใหญ่
การหยิบยืมองค์ประกอบของเรือนพื้นถิ่นภาคเหนือมาใช้นั้น มีทั้งส่วนที่ผู้ออกแบบนำมาใช้แบบ “อิงประโยชน์ใช้สอย” คือการนำองค์ประกอบรูปแบบเดิมมาใช้งานในหน้าที่เดิม เช่น บันไดที่ใช้ขึ้นชั้น 2 จากนอกตัวบ้าน ที่มีรูปลักษณ์และรูปแบบการใช้งานคล้ายบันไดเรือนภาคเหนือ หรือแผงไม้ขัดแตะที่ใช้สำหรับกันแดดบริเวณระเบียงชั้น 2 ของบ้าน ซึ่งมีการใช้งานเช่นเดียวกับฝาไม้ในสมัยก่อน นอกจากนี้ยังมีการนำองค์ประกอบมาใช้ในแบบ “อิงสุนทรียะ” คือนำเฉพาะรูปลักษณ์ที่สวยงามมาทำการปรับเปลี่ยนการใช้งานให้เข้ากับวิถีชีวิตในปัจจุบัน เช่น ส่วนโถงบริเวณชั้น 1 ซึ่งหยิบยืมรูปแบบของใต้ถุนเรือนภาคเหนือมา แต่ไม่ได้มีการใช้งานเช่นเดียวกับใต้ถุนสมัยก่อนเสียทีเดียว ถือเป็นการนำใต้ถุนแบบเดิมให้มาอยู่ในความหมายใหม่ๆ
อีกองค์ประกอบหนึ่งที่ช่วยให้บ้านหลังนี้มีกลิ่นอายที่เชื่อมโยงสู่จิตวิญญาณแบบภาคเหนือได้ดีคือ การนำไม้มาใช้เป็นวัสดุตกแต่งอาคาร ทั้งในส่วนของพื้น ผนัง ฝ้าเพดาน รวมทั้งเฟอร์นิเจอร์แบบ built-in ทำให้เกิดความรู้สึกที่อบอุ่นใกล้เคียงกับเรือนพื้นถิ่นภาคเหนือ โดยไม้ทั้งหมดเป็นไม้เก่าที่ถูกนำมาใช้โดยไม่ทำสี และถูกนำมาประกอบเข้าด้วยกันโดยยังคงความดิบเอาไว้ เนื่องจากผู้ออกแบบต้องการจะให้เป็นความงามที่เกิดจาก “ลายมือช่างชาวบ้าน” ที่ถูกสื่อสารออกมาอย่างซื่อและตรงไปตรงมา ผสานกับการใช้วัสดุประกอบอื่นๆ เช่น ผนังและโครงสร้างคอนกรีตเปลือยผิว ช่วยขับเน้นให้เกิดพลังของสัจนิยม (realism) ด้วยการนำเสนอสภาพวัสดุอย่างที่เป็น โดยผ่านการปรุงแต่งน้อยที่สุด ถือเป็นความงามที่เกิดจากงานของช่างชาวบ้านในคราบของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นร่วมสมัย
“ความจริงแล้วงานชิ้นนี้ไม่มีท่าทีเก๋ๆ อะไร ไม้ดิบๆ แสดงถึงความเป็นท้องถิ่น ความเป็นชาวบ้าน ความหยาบคือลายมือของท้องถิ่น คือตัวตนของความเป็นบ้านนอกที่ผมอยากจะบอก โดยใช้วิธีแบบชาวบ้าน” ชาตรีสรุปภาพรวมของผลงานชิ้นนี้
ในปี ค.ศ. 2014 องค์การสหประชาชาติได้ทำการสำรวจประชากรโลกและพบว่า ในทุกวันนี้ประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองนั้นมีสัดส่วนมากกว่าประชากรที่อาศัยในชนบท และสัดส่วนนี้ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนในอนาคตอันใกล้มีแนวโน้มที่ประชากรส่วนใหญ่ของโลกจะอาศัยอยู่ในเมือง จากรูปการเช่นนี้ จึงมีแนวโน้มที่วิถีชีวิตแบบชนบทรวมทั้งสถาปัตยกรรมของชาวชนบทมีโอกาสจะถูกละทิ้งมากยิ่งขึ้น เนื่องจากไม่สามารถตอบสนองวิถีการดำรงชีวิตในปัจจุบันได้อีกต่อไป บ้านต้นศิลป์จึงถือเป็นตัวอย่างที่ดีของการนำพาคุณค่าแบบชนบทที่กำลังจะถูกหลงลืมให้มาสู่ปัจจุบัน โดยปรับให้เข้ากับวิถีและการดำเนินชีวิตแบบคนเมือง เกิดเป็นสถาปัตยกรรมร่วมสมัย ที่ผสมผสานจิตวิญญาณของชาวเมืองและชาวชนบทเข้าไว้ด้วยกัน
บทความจาก art4d No. 223 มีนาคม 2015