PAT PATARANUTAPORN

Pat PataranutapornPhoto courtesy of Pat Pataranutaporn

นั่งคุยกับนักวิจัยชาวไทยจาก MIT Media Lab ไม่ว่าจะเป็นเรื่องตัวเขาเอง เรื่องราวในแล็บ รวมถึงการทำความเข้าใจ AI ผ่านมุมมองของนักวิจัย

TEXT: NATHATAI TANGCHADAKORN
PHOTO CREDIT AS NOTED

(For English, press here)

ท่ามกลางความคิดเห็นอันหลากหลายของผู้คนที่มีต่อ AI (Artificial Intelligence) หรือปัญญาประดิษฐ์ art4d มีโอกาสได้พูดคุยกับ พัทน์ ภัทรนุธาพร คนไทยซึ่งกำลังศึกษาต่อและทำงานอยู่ใน MIT Media Lab แห่ง Massachusetts Institute of Technology ซึ่งถือเป็นศูนย์ค้นคว้าวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เนื่องในโอกาสที่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA จัดกิจกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ CREATIVE BUSINESS CONNEXT โดยภายในงาน พัทน์ ก็มาเป็นหนึ่งในสปีกเกอร์ของ Creativities Unfold ในธีม ‘VISIONAIRE: Reminisce/The Way Forward – แปลงอดีต เปลี่ยนวิสัยทัศน์อนาคต’

Pat Pataranutaporn

Photo: Ketsiree Wongwan

Pat Pataranutaporn

Photo: Ketsiree Wongwan

หากให้แนะนำกันสั้นๆ พัทน์เป็นเด็กสงขลาที่ปัจจุบันกำลังทำวิจัยอยู่ในกลุ่มย่อยของ Media Lab ที่ชื่อว่า Fluid Interfaces โดยพัทน์เคยเข้าร่วมโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชน (Junior Science Talent Project – JSTP) ตั้งแต่อยู่ชั้นมัธยมต้น ทั้งยังร่วมก่อตั้ง Futuristic Research Group (Freak Lab) ในไทย และก่อนจะมาถึง MIT พัทน์เข้าศึกษาปริญญาตรีที่ College of Liberal Arts and Sciences, Arizona State University ที่ฟังชื่อก็รู้ว่าความชอบในทั้งศิลปะและวิทยาการของเขาไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นเร็วๆ นี้

Pat Pataranutaporn

‘Making Food with the Mind : Connecting Food 3D Printer with BCI’ หนึ่งในโปรเจ็กต์ที่พัทน์มีส่วนร่วมในการพัฒนาก่อนจะเข้า MIT Media Lab | Photo courtesy of Pat Pataranutaporn

ในบทความนี้ art4d สำรวจความคิดเห็นในเวลานี้ของพัทน์ ซึ่งค้นคว้าศาสตร์ทั้ง 2 แขนง โดยพัทน์เชื่อว่า AI ไม่ใช่สิ่งที่จะมาแทนที่มนุษย์ แต่ควรจะเป็นสิ่งที่ช่วยส่งเสริมมนุษย์ รวมถึงมีแนวความคิดว่าการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่าง AI และมนุษย์เป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กับการพัฒนา AI ให้ฉลาดขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะจุดมุ่งหมายของ AI ไม่ใช่การก้าวล้ำจนทิ้งมนุษย์ไว้ข้างหลัง แต่จะพัฒนา ‘ปัญญา’ เหล่านี้อย่างไรให้ผลักดันมนุษย์ล่ะ? พัทน์จึงสนใจใน IA (Intelligence Augmentation) มากกว่า AI (Artificial Intelligence)

art4d: จุดเริ่มต้นของการเข้าไปที่ MIT Media Lab เริ่มจากตรงไหน

Pat Pataranutaporn: เริ่มมาจากที่ตอนเด็กๆ เราชอบ science fiction คือพวกโดเรมอนกับ Iron Man รู้สึกว่าวิทยาศาสตร์มันคือการทำอะไรที่ futuristic คืออะไรที่เป็นอนาคต สร้างไทม์แมชชีน สร้างไดโนเสาร์ แล้วก็สงสัยว่าทำไมโรงเรียนเราไม่ได้เรียนวิทยาศาสตร์แบบนั้น ทำไมเราเรียนในห้องเรียนแทนที่จะเป็นเหมือนในเรื่องโดเรมอน เหมือนกับโนบิตะที่ได้เกรดศูนย์ในโรงเรียน แต่ก็ได้ไปผจญภัยในอวกาศหรือที่ต่างๆ ซึ่งก็เลยเกิดคำถามมาตลอดว่าทำไมวิทยาศาสตร์ในห้องเรียนกับในหนังที่เราดูมันต่างกัน แล้วก็มาค้นพบว่าจริงๆ ก็มีคนที่ทำงานวิทยาศาสตร์แบบล้ำๆ แบบในหนังอยู่ด้วย อย่างที่ MIT นอกจากที่ Media Lab ทุกสาขาหรือภาคอื่นๆ ก็ทำอะไรที่เจ๋งๆ หมดเลย

Pat Pataranutaporn

Photo: Ketsiree Wongwan

ตอนเด็กๆ เราชอบไดโนเสาร์มาก คุณพ่อคุณแม่ก็จะบอกว่าถ้าชอบไดโนเสาร์ต้องตั้งใจเรียนวิทยาศาสตร์นะ เพราะว่าวิทยาศาสตร์ทำให้เราเข้าใจ anatomy ชีววิทยาของไดโนเสาร์ แต่ก็ต้องตั้งใจเรียนศิลปะด้วย เพราะศิลปะทำให้เราวาดไดโนเสาร์ได้ ก็เลยเชื่อมโยงกับ arts กับ science มาตั้งแต่เด็กอยู่แล้ว ไม่เคยมองว่า 2 อย่างนี้มันแยกกันเลย เพราะว่ามันคือคนละส่วนที่ทำให้เกิดเป็นไดโนเสาร์ขึ้นมา

Media Lab มาจาก ‘Media’ คือ medium ตัวกลาง หรือสื่อกลาง ที่นี่เชื่อมศิลปะ วิทยาศาสตร์ ดีไซน์ วิศวกรรมเข้าด้วยกัน ดังนั้นมันก็เลยเป็นที่ๆ เรารู้สึกว่าเป็น perfect match ในเชิงว่ามันทำอะไรที่เป็นอนาคตแล้วก็เชื่อมต่อทุกศาสตร์ที่เราสนใจเข้าด้วยกัน

art4d: ช่วยเล่าเกี่ยวกับงานวิจัยที่ทำอยู่ตอนนี้ให้ฟังหน่อย

PP: โปรเจ็กต์ในกลุ่มวิจัยเราเป็นหนึ่งใน Research Lab ใน Media Lab อีกที ชื่อว่า Fluid Interfaces เราทำเรื่องของ fluid ซึ่งไม่ใช่น้ำหรือว่าของเหลวนะ แต่เป็น fluid ในมิติที่ว่าทำอย่างไรให้มนุษย์กับเทคโนโลยีสามารถผสานเข้าหากันอย่างแนบเนียนไร้รอยต่อ ในกลุ่มเรามีประมาณ 20-30 คน แต่ละคนก็จะทำวิจัยในเรื่องที่เกี่ยวกับมนุษย์และเทคโนโลยีในมิติต่างๆ

สำหรับเราจะสนใจเรื่อง digital characters คือการสร้าง virtual human ซึ่งหลายๆ คนก็ถามว่า เฮ้ย เอามาแทนที่คนรึเปล่า แต่ว่าเราไม่ได้ทำแบบนั้น เราสร้าง virtual human เพื่อจะให้คนได้เข้าใจตัวเองมากขึ้น ได้เรียนรู้ได้ดีขึ้น

art4d: ยกตัวอย่างงานที่แล็บของ Fluid Interfaces ทำในอดีต มีอะไรบ้าง

PP: Professor Pattie Maes ซึ่งเป็นคนที่รัน Fluid Interfaces เขาเปลี่ยนโลกมา 3 ครั้ง ครั้งแรกคือครั้งที่ทำ ‘ระบบแนะนำ’ (Recommendation System) ในยุคที่คอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์รอให้คนไปกดเป็น passive  ซึ่ง Pattie พูดถึงระบบแนะนำเนื้อหาแบบ active ตั้งแต่เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ซึ่งก็คือพวก ‘แนะนำสำหรับคุณ’ ที่เราเห็นทุกวันนี้ที่ AI สามารถแนะนำคอนเทนต์หรือสิ่งที่เราสนใจให้เราได้เลย อันนี้เป็นงานที่มาจาก Fluid Interfaces เมื่อ 30 ปีที่แล้ว

Pat Pataranutaporn

‘Wearable Lab on Body’ | Photo courtesy of Pat Pataranutaporn

ยุคที่ 2 ก็ตั้งคำถามว่าทำไมสิ่งต่างๆ มันจะอยู่แค่หลังจอ อยู่ในคอมพิวเตอร์ ทำไมมันไม่ผสานรวมกับเราในทุกๆ มิติ เลยทำให้เกิด wearable technology เทคโนโลยีสวมใส่ได้ พวก smart watch, smart glasses อันนี้ก็เป็นงานที่มาจากกลุ่มของ Pattie ซึ่งลูกศิษย์เขากลายไปเป็นผู้บริหารของ Samsung ของ Apple ต่างๆ

Pat Pataranutaporn

Photo courtesy of Pat Pataranutaporn

Pat Pataranutaporn

Photo courtesy of Pat Pataranutaporn

ยุคที่ 3 แล็บเราบอกว่า wearable คือคอมพิวเตอร์มันอยู่บนร่างกายเรา มันสามารถตรวจจับได้ว่าเรานอนไม่พอ แต่คนเราก็ไม่ได้เปลี่ยนพฤติกรรมจากสิ่งที่คอมพิวเตอร์แจ้ง หรือการที่มันเตือนว่าคุณไม่มีสมาธิ ก็อาจจะทำให้เกิดความเครียดกว่าเดิม ดังนั้นยุคนี้เราก็มาโฟกัสเรื่องของ ‘การส่งเสริม’ (augmentation) ว่าเทคโนโลยีไม่ใช่แค่โยนข้อมูลให้เรา แต่ควรจะให้การเพิ่มศักยภาพบางอย่าง เช่น ทำให้เรานอนหลับได้ดีขึ้น ทำให้เรามีสมาธิมากขึ้น ทำให้เราคิดได้ดีขึ้น มีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น เราพูดถึงการพัฒนาขีดจำกัดด้านความรู้และความเข้าใจของมนุษย์ ในหลายๆ ด้าน

art4d: การใช้เทคโนโลยีเป็นอุปกรณ์ทำให้เกิดผลกระทบเปลี่ยนแปลงไปตามคนที่ใช้งาน ในฐานะผู้สร้างแล้วมีวิธีควบคุมผลเสียเหล่านั้นอย่างไร

PP: เราชอบประโยคหนึ่งที่ technology philosopher คนหนึ่งพูดเอาไว้ว่า เทคโนโลยีไม่ได้เป็นบวกเป็นลบ หรือเป็นกลาง มันไม่ได้ดีหรือเสียในตัวมันเอง แต่ขึ้นอยู่กับวิธีการที่คนเอาไปใช้ ในขณะเดียวกันมันก็ไม่ได้เป็นกลางเหมือนกัน เพราะคนใช้หรือคนที่สร้างมี value แบบไหนมันก็จะสะท้อนอยู่ในเทคโนโลยีแบบนั้น ซึ่งสำหรับเราคิดว่าเทคโนโลยีมันไม่ใช่แค่ว่าเราสร้างเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าแล้วมนุษย์จะดีขึ้น AI อาจจะหลอกเราก็ได้ถ้าเราดีไซน์ให้มันหลอกเรา หรือจะทำให้เราเรียนรู้ได้ดีขึ้นก็ได้ สุดท้ายแล้วมันต้องสัมพันธ์กับมนุษย์แบบไหนถึงทำให้เกิดผลลัพธ์แบบนั้น เป็นคำถามใหญ่ที่คนยังไม่ค่อยโฟกัสกัน

เราคิดว่าสาขาที่สำคัญต่อการพัฒนาในอนาคตคือเรื่องของ Human-AI interaction หรือ Human-computer Interaction เป็นความสัมพันธ์ของมนุษย์กับคอมพิวเตอร์โดยพื้นฐานเลย ซึ่งมันไม่ใช่แค่วิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ หรือว่าวิศวกรรมคอมพิวเตอร์อย่างเดียว มันคือการเข้าใจจิตวิทยา เข้าใจเรื่องของพฤติกรรม

Pat Pataranutaporn

Photo: Ketsiree Wongwan

art4d: คิดว่าการพัฒนาเทคโนโลยีต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่มีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนจะก่อให้เกิดผลอย่างไร

PP: การทิ้งมนุษย์ก็เป็นประเด็นหนึ่ง หรือมันอาจจะบีบให้มนุษย์ต้องกลายไปเป็นอีกแบบหนึ่ง คือเราต้องดีไซน์เทคโนโลยีที่จะส่งเสริมความเป็นมนุษย์ ไม่ได้ทำให้ความเป็นมนุษย์ถูกลดลงจนกลายเป็นเครื่องจักร มันก็มีความย้อนแย้งว่าในขณะที่เราทำ AI ให้ฉลาดขึ้น ทำสิ่งต่างๆ ได้คล้ายคนมากขึ้น เราก็สร้างระบบการศึกษาที่กดให้คนเป็นหุ่นยนต์ไปด้วย เราว่าความย้อนแย้งตรงนี้มันน่าสนใจมาก แล้วมันก็อันตรายมากในเวลาเดียวกัน

art4d: ในปัจจุบันมีข้อถกเถียงกันเรื่องการพัฒนาของ AGI (Artificial General Intelligence: ปัญญาประดิษฐ์ที่เรียนรู้ได้เทียบเท่ามนุษย์ หรือ ปัญญาประดิษฐ์ทั่วไป) ว่าจะเกิดขึ้นจริงเมื่อไหร่ คุณคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้

PP: ที่เราตอบไม่ได้ว่าจะเกิดขึ้นในกี่ปีกันแน่ เพราะว่ามนุษย์ไม่มีความหมายที่ชัดเจนของ AGI อย่างแรกเลย intelligence หรือความฉลาดที่เรานิยามคืออะไร ต้องตั้งคำถามก่อนว่าที่ AI ตอบคำถามได้ทุกวันนี้ถือว่าพอรึยัง หลายปีก่อนหน้านี้คุณเสิร์ชกูเกิลคุณก็เจอคำตอบ อันนี้มันก็หลักคล้ายๆ กัน มันฉลาดจริงรึเปล่า หรือคำว่าทั่วไป (general) มันต้องกลมกลืนกับมนุษย์แค่ไหนถึงจะพอ เนื่องจากคำเหล่านี้มันไม่มีคำนิยาม มันเลยไม่มีวิธีการเช็คได้ว่าใช่หรือไม่ใช่ หลายครั้งคำตอบของคำถามเหล่านี้จะค่อนข้างเป็นคำตอบที่ยึดความรู้สึกเป็นหลัก เช่น ฉันรู้สึกได้ว่าสิ่งนี้มันฉลาดแล้ว อะไรอย่างนี้ สุดท้ายมันเลยเป็นสิ่งที่คนมีข้อขัดแย้งกันอยู่

จะเป็น AGI หรือ non – AGI สุดท้ายก็คือต้องกลับมาถามว่าแล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับมนุษย์ AGI มันก็เป็นหนึ่งในเครื่องมือ บนโลกเราพบเจออะไรใหม่ๆ ตลอดเวลา เราก้าวสู่โลกใบใหม่เสมอ เราสร้างเทคโนโลยีขึ้นมาหลายอย่างที่เราเองแทบจะมองไม่เห็น เช่น เสื้อผ้า Mark Weiser ที่เป็นผู้บุกเบิกของคอมพิวเตอร์เทคโนโลยีก็บอกว่าเทคโนโลยีที่ทรงพลังคือเทคโนโลยีที่หายไป ตอนนี้ AI มันยังใหม่ เราก็เลยยังตื่นเต้นกับมันอยู่ เมื่อไหร่ก็ตามที่มันหายไปแล้วกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา เมื่อนั้นมันถึงจะกลายเป็นสิ่งที่ทรงพลังจริงๆ

ถามว่าเดี๋ยวนี้มีใครรู้สึกว่ากูเกิลล้ำมากไหม ก็ไม่มี หรือถ้าเราดูในภาพยนตร์ไซไฟคนก็คุยกับ AI กันเป็นเรื่องปกติแล้ว เหมือนโดเรมอนอะไรอย่างนี้ มาก่อนกาลมาก (หัวเราะ) โดเรมอนก็คือ chatGPT เดินได้ เผลอๆ ดีกว่านั้นอีก โนบิตะก็ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองต้องกลัวว่าโดเรมอนวันหนึ่งจะเกิดอยากครองโลก หรือวันหนึ่งโดเรมอนจะมาแทนที่โนบิตะใช่ไหม

Pat Pataranutaporn

Photo: Ketsiree Wongwan

art4d: คิดว่าการพัฒนาของ AI จะทำให้มนุษย์ตั้งคำถามเพิ่มขึ้นไหม? นอกเหนือจากด้านลิขสิทธิ์

PP: มนุษย์เรามีวิธีในการจัดการกับปัญหาหลายแบบ เราไม่ได้มีแค่ Intelligence อย่างเดียวเหมือน AI เรามี emotional intelligence เรามีวิธีการใช้อารมณ์ เรามี artistic intelligence ความสร้างสรรค์ต่างๆ ที่มันผสมกันอยู่ ดังนั้นพอเราพูดถึง AI จริงๆ มันเป็นแค่มุมมองแคบๆ ในการตีความปัญญาของมนุษย์ อันดับแรกเราว่าปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์มันเป็นแค่ปัญหาทางเทคนิคว่าคุณจะสร้างกฎหมายยังไง สมมุติว่าศิลปินคนนั้นมี data ที่เอามาเทรน AI เขาควรจะได้เปอร์เซ็นต์เท่าไหร่ อันนี้มันเป็นปัญหาทางเทคนิคที่สามารถแก้ไขได้ทางกฎหมายถ้ามีการคุยกัน ซึ่งเดี๋ยวก็คงจะหาทางออกกันได้

คำถามที่สำคัญที่ตอนนี้เราอาจจะยังไม่ได้ถามกันก็คือว่า อะไรคือ skills หรือสิ่งที่มมนุษย์ควรจะทำในเมื่อ AI ทำได้แล้ว แถมคำถามมันมี 2 ระดับ ระดับแรกคือคำถามที่มันเกิดขึ้นเฉพาะเวลานั้นๆ ปัญหาที่เกิดจาก AI ปัจจุบัน กับระดับที่สองคือคำถามถึงอนาคต คือถ้าเราคาดคะเนว่า AI จะทำทุกอย่างที่มนุษย์จะเรียนรู้ได้ และทำได้ด้วยประสิทธิภาพที่สูงมาก แล้วอะไรกันแน่คือสิ่งที่จำเป็นกับมนุษย์จริงๆ

Pat Pataranutaporn

Photo courtesy of Pat Pataranutaporn

ซึ่งสำหรับเราคิดว่าอะไรก็แล้วแต่ที่มัน pleasurable สำหรับเรา หรือทำแล้วมนุษย์ยังมีความสุขอยู่ ยังไงมนุษย์ก็จะทำ เหมือนกับเราสามารถเราสามารถไปทานข้าวในร้านอาหารแล้วเชฟทำอาหารได้เก่งกว่าเรา แต่เราก็อยากจะเอนจอยกับการทำอาหารทานเองที่บ้าน หรืออีกข้อคือเราจะเอนจอยในการมองอะไรที่มันใหญ่ขึ้น คือแทนที่เราจะสร้างงานศิลปะ เราจะคิดค้นขึ้นมาใหม่ว่าอะไรที่จะสามารถเป็นสื่อกลางของศิลปะที่ไม่เคยมีใครคิดมาก่อน

ความสร้างสรรค์มันคือการออกไปจากกรอบ AI แค่ทำให้เราไปชนกรอบได้เร็วขึ้น เพราะมันสามารถวิ่งจาก 0 ถึง 100 ได้เลยภายใน 5 วินาที แต่คำถามคือแล้วอะไรคือสิ่งที่อยู่นอกกรอบ อันนี้จึงเป็นคำถามของมนุษย์ในอนาคต

art4d: งานวิจัยที่ส่งผลเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์ได้ (paradigm shift) ควรจะมีจุดตั้งต้นอย่างไร?

PP: อันนี้เป็นคำถามที่สำคัญมาก ทุกวันนี้เราเจอปัญหาหลายอย่างเยอะแยะไปหมดใช่ไหม คนก็ตั้งคำถามว่าทำไมเราไม่วิจัยสิ่งนี้ ไปวิจัยอะไรก็ไม่รู้ที่มัน abstract หรือว่าฟังดูไม่เมคเซนส์ แต่เราว่างานวิจัยที่ดีมันเกิดจากอะไรที่มันส่วนตัวกับนักวิจัยนี่แหละ ดังนั้นเราคิดว่างานวิจัยที่ดี 1. ต้องมาจากความต้องการส่วนตัว 2. คือรวมความรู้จากหลายสาขาเข้าไว้ด้วยกัน และ 3. มันต้องชนกับคำถามที่ใหญ่และมีความหมาย เราว่าพวกนี้เป็นส่วนหนึ่งของการทำให้เกิด paradigm shifting

paradigm shifting หลายครั้งมันอาจจะเกิดโดยบังเอิญ นักวิทยาศาสตร์หลายคนในอดีตก็บังเอิญค้นพบ เหมือนแอปเปิ้ลตกใส่หัวนิวตันอะไรอย่างนี้ ฉะนั้นความอิสระที่จะ explore ความอิสระที่จะคิดอะไรนอกกรอบเนี่ยเป็นสิ่งสำคัญมากๆ

Pat Pataranutaporn

Photo: Ketsiree Wongwan

art4d: วิทยาศาสตร์เป็นศาสตร์ที่ทุกอย่างมีเหตุและผล ในฐานะที่คุณเรียนทั้ง Arts และ Science คิดว่า Arts เป็นศาสตร์ที่มีเหตุผลไหม จำเป็นต้องมีคำนิยามให้ทุกอย่างรึเปล่า

PP: ตอนที่เราเรียนปริญญาตรี มีวิชาหนึ่งชื่อว่า Human Event ซึ่งเป็นวิชาที่เราต้องศึกษาวรรณกรรม โดยที่ไม่ได้มองวรรณกรรมแบบวรรณกรรม แต่มองว่าวรรณกรรมเป็นภาพสะท้อนของสังคมในช่วงนั้น มันคือการพยายามจะตั้งคำถามว่าวรรณกรรมมันสะท้อนตรรกะอะไรของสังคมในยุคนั้นขึ้นมา ซึ่งก็เป็นวิธีคิดที่ค่อนข้างน่าสนใจ สิ่งที่เราได้เรียนรู้มาก็คือต่อให้งานเขียนชิ้นนั้นมีเหตุผลหรือไม่มีเหตุผลรองรับ มันก็จะมีพลังบางอย่างที่ดันให้ไอเดียนั้นมันถูกปล่อยออกมา พลังเหล่านั้นอาจจะเป็นปัญหาสังคม อาจจะเป็นจินตนาการ อาจจะเป็นแค่ความเครียดของคนที่สร้าง ไม่ใช่แค่คิดแบบตามตรรกะอย่างเดียว แต่ว่ามันก็คือ ‘เหตุผล’ เหมือนกัน

ถ้าเรามองประวัติศาสตร์ เราจะเห็นรูปแบบว่ามันเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกเป็น cycle คนที่ไม่รู้จักประวัติศาสตร์ก็คือคนที่ถูกสาปให้ทำอะไรซ้ำๆ ไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่รู้ตัวว่าเกิดอะไรขึ้น จะเป็นวิทยาศาสตร์หรือศิลปะก็มีปัญญาหรือมีความคิดอะไรบางอย่างซ่อนอยู่ในนั้น ถ้าเรามองให้เห็นว่าปัญญาเหล่านี้มันเชื่อมต่อกัน เราก็จะเห็นอะไรในโลกได้มากขึ้น

art4d: พอพูดถึง Arts แล้ว ช่วยเล่าถึงจุดตั้งต้นของโปรเจ็กต์ Conversation with the Sun หน่อย

PP: Conversation with the Sun เกิดมาจากการที่เรารู้จักกับพี่ไก่ (ณฐพล บุญประกอบ) ก่อน เพราะว่าแม่พี่ไก่กับแม่ของเรามีเพื่อนคนเดียวกัน แล้วครั้งหนึ่งพี่ไก่แชร์บทสัมภาษณ์เรา แล้วเราชอบ story-telling อยู่แล้วก็เลยคุยกับพี่ไก่แล้วก็ได้สนิทกัน

ช่วงนั้นมี premier หนังของพี่เจ้ย (อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล) เรื่อง Memoria เป็นเฟสติวัล เราได้ตั๋วไปดู Memoria ด้วยกัน แล้วหลังจากนั้นเราก็ไปทานมื้อเที่ยง เราอีเมลไปเล่าเรื่องให้พี่เจ้ยฟังบ้าง ครั้งหนึ่งคือตอนที่เราใช้ AI ในการ generate บทสนทนาระหว่างพี่เจ้ยกับ Salvador Darli แล้วพี่เจ้ยก็รู้สึกว่ามันน่าสนใจ มา explore ด้วยกันดีกว่าว่าเราจะทำอะไรได้บ้าง ก่อนที่ chatGPT จะดังขึ้นมาอีก

AI ทำให้เรามีบทสนทนาที่มันไม่เคยเกิดขึ้นได้ พี่เจ้ยก็เล่าให้ฟังว่าหนึ่งในแรงบันดาลใจของเขาตอนเด็กๆ ก็คือการได้เห็นพระอาทิตย์ แสงที่ลอดผ่านหน้าต่างเข้ามามันคือ cinema ของพี่เจ้ย มันคือการเล่นกับแสง พี่เจ้ยก็เลยบอกว่า เออ ทำไมเราไม่พูดถึงบทสนทนาระหว่างเขากับพระอาทิตย์ บวกกับพี่เจ้ยสงสัยว่าศิลปะที่ศิลปินไม่เอาอีโก้ตัวเองใส่เข้าไปมันจะเป็นยังไง ถ้าเราลองใช้ AI มาลอง generate บทสนทนาพวกนี้ มันจะทำให้ศิลปินมีอีโก้ลดลงหรือเปล่า อะไรอย่างนี้ มันก็มีหลายๆ ประเด็นที่มันถูกยกขึ้นมาคุยกับเราในการทดลองนี้

Pat Pataranutaporn

‘AI-generated Characters for Learning and Wellbeing’ | Image courtesy of Pat Pataranutaporn

art4d: คุณชอบอ่านวรรณกรรมใน genre ไหนเป็นพิเศษไหม

PP: เราชอบอะไรที่คลาสสิก อย่าง The Martian Chronicles ของ Ray Bradbury หรือ Foundation หรือว่า Jurassic Park ของ Michael Crichton

เราว่านิยายไซไฟมันโชว์ให้เห็นความเป็นไปได้และข้อกังวล แต่เรื่องที่น่ากังวลของเทคโนโลยีจริงๆ มักจะไม่ใช่อะไรที่อยู่ในนิยายวิทยาศาสตร์ นิยายจะเตือนให้เราเข้าใจถึงเงื่อนไขบางอย่างของมนุษย์ แต่ว่าปัญหาของ AI จริงๆ อาจจะไม่ใช่เรื่องของ Terminator คนเหล็กออกมาครองโลก เพราะถ้าสมมุติมีหุ่นยนต์หน้าตาแบบนั้นโผล่ขึ้นมาคนก็คงรีบสอยทิ้งทันที (หัวเราะ) AI ที่น่ากลัวกว่าคืออะไรที่มันแยบยล เช่น ป้อนข้อมูลหรือข่าวปลอมให้คนไปเรื่อยๆ ทำให้มีแต่คนสุดโต่งแล้วมนุษย์มาสู้กันเอง อันนี้เราว่าอันตรายกว่า

Pat Pataranutaporn

‘Machinoia: Machine of Multiple Me’ | Photo courtesy of Pat Pataranutaporn

Pat Pataranutaporn

‘Machinoia: Machine of Multiple Me’ | Image courtesy of Pat Pataranutaporn

art4d: สุดท้ายนี้มีคำแนะนำสำหรับเด็กไทยหรือคนไทยที่อยากเดินตามรอยคุณในอนาคตบ้างไหม?

PP: ไม่ต้องมาเดินตามรอยเราหรอก ทุกคนก็มีเส้นทางของตัวเอง แต่ถ้าสมมติว่าชอบไดโนเสาร์เหมือนกันก็โอเค เดินตามได้ (หัวเราะ) เราว่าโลกทุกวันนี้มันเปิดกว้างมากขึ้นทุกปี มีโอกาสที่จะทำอะไรที่มันทรงพลังได้มาก

หลายครั้งคนที่อยากทำอะไรที่เปลี่ยนโลกมักจะคิดว่าทำยังไงให้เศรษฐกิจดีขึ้น ทำให้นู่นฉลาดขึ้น ทำให้นี่เร็วขึ้น แต่ไม่ได้มองว่ามันเชื่อมโยงกัน การที่เราแก้ปัญหาหนึ่งมันอาจจะไปสร้างอีกปัญหาหนึ่งก็ได้ การเข้าใจปรัชญา การเข้าใจมุมมองที่หลากหลาย เห็นความเชื่อมโยงของแต่ละสิ่ง เราว่านี่คือวิธีการของโลกอนาคตครับ การที่เราสามารถจะเห็นความซับซ้อนผ่านเรื่องต่างๆ ได้คือสิ่งที่มหัศจรรย์ที่สุดของความเป็นมนุษย์ เราอย่าสุดโต่งกับอะไรบางอย่าง มองให้เห็นแม้แต่ในสิ่งที่เราไม่เห็นด้วย เข้าใจให้ลึกซึ้งว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ เพราะความเข้าใจเป็นสิ่งที่สำคัญมากในอนาคต

Pat Pataranutaporn

Photo: Ketsiree Wongwan

Pat Pataranutaporn

Photo: Ketsiree Wongwan

media.mit.edu/groups/fluid-interfaces
academy.cea.or.th
facebook.com/CreativitiesUnfold

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *