INTERVIEWS : ARAYA RASDJARMREARNSOOK

ART4D HAD A CHANCE TO TALK WITH ARAYA RASDJARMREARNSOOK TO VARIOUS CONCEPTS AND ASPECTS IN THE WORK OF THE LAMENT SERIES AFTER THIS WORK WAS BROUGHT TO SWEDEN IN AUGUST, 1997

 

อารยา ราษฎร์จำเริญสุข ใช้เวลาตลอดช่วงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2540 ในการทำงานชุด Lament ขึ้นมา หลังจากนั้นงานชุดนี้ก็ถูกนำออกแสดงทั้งที่ยุโรป อเมริกา และรวมถึงที่ประเทศไทยด้วย ซึ่งทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาอย่างมากมาย art4d ได้มีโอกาสพูดคุยกับอารยา ถึงแนวความคิดและแง่มุมต่างๆ ในการทำงานชุดนี้ หลังจากที่งานชุดนี้ได้ถูกนำไปแสดงที่สวีเดนเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา (2540)

art4d: อยากให้อาจารย์พูดถึงงานชุด Lament ซึ่งมีการแสดงหลายครั้งในสถานที่แตกต่างกันไป

อารยา: งานชุด Lament นี้เป็นความปรารถนามากของผู้อยู่ ที่เป็นถึงกับความถวิลหาความสัมพันธ์ที่จบลงเพราะความตาย มันเริ่มง่ายๆ ว่ามนุษย์มักจะถวิลหาสิ่งที่ตัวเองผูกพันและรักใคร่ เพราะฉะนั้นส่วนประกอบในงาน Lament จะเป็นเสียง จะเป็นเนื้อหาของวรรณกรรมที่นำความบันเทิงมาสู่ จะเป็นความใจจดใจจ่อของผู้ที่นั่งอ่านอยู่ มันเป็นความพยายามที่จะดึงกลับซึ่งความสัมพันธ์ที่เคยมีเคยเป็น เพียงแต่ว่ามันตัดกันมากเพราะว่าเป็นการกระทำต่อร่างของผู้ที่ไม่รับรู้ ซึ่งเราหวังว่าอาจจะรับรู้ แต่ว่าถามว่าความหวังนี้แปลกไหม… ก็ไม่แปลกเพราะว่าในพิธีกรรมทางพุทธศาสนาเราก็กรวดน้ำใช่ไหม… เราก็อุทิศแผ่ส่วนบุญส่วนกุศลต่างๆ โดยที่เรามีแค่ความหวังเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นด้านหนึ่งงานก็ใกล้กับศาสนามาก แต่ในที่มา งานมีแต่กิเลส มีแต่ความปรารถนากับความถวิลหา เพราะฉะนั้นไม่ใช่ผู้ที่ละแล้วหรือเข้าใจในแก่นแท้ของศาสนา แต่งานใกล้ศาสนาตรงพิธีกรรม ซึ่งอาจจะสะท้อนกลับว่าขณะที่คำสอนสอนให้เราละวางแล้วเข้าใจโลก แต่พิธีกรรมก็ช่วยบำบัด

 art4d: แล้วก็ผูกเราให้แน่นมากขึ้น

อารยา: แล้วก็นำเรากลับไปสู่สิ่งที่ให้เราละ ส่วนปฏิกิริยาของคนดู คนที่โกรธก็จะโกรธจริงๆ เพราะถือว่าเราละเมิดต่อร่าง แต่ว่าคนที่โกรธนี้เป็นส่วนน้อย คนส่วนใหญ่จะมองไปในเชิงวิธีทางการสอนแบบใหม่ที่เกี่ยวกับเกิด แก่ เจ็บ ตายผ่านงานศิลปะ

art4d: ซึ่งมันไม่ใช่อย่างที่เราคิด

อารยา: ซึ่งที่จริงเราไม่ได้สอนเรากำลัง…

art4d: พูดเรื่องอื่น

อารยา: เรากำลังช่วยเหลือตัวเองมากเลย เพื่อที่จะดึงกลับความทรงจำ หรือเพื่อที่จะยืนยันว่าในที่สุดมันคือเสียงของเราเท่านั้นเอง ที่อยู่ในห้อง ต่อหน้าร่าง มันคือแค่จินตนาการ มันคือจินตนาการที่แรง ความปรารถนาที่แรง เป็นจินตนาการแบบที่ฟุ้งฝัน มันไม่ใช่ความจริง

art4d: สิ่งที่เราถวิลหาคือความสัมพันธ์ในครอบครัวหรือเปล่า?

อารยา: ใช่ ก็คือ ยาย พ่อแม่ ตา เพราะตอนนี้ถือว่าไม่มีญาติผู้ใหญ่ทั้งหมด ถึงได้คิดว่าถึงเวลาที่จะทำ

art4d: เหมือนคล้ายๆ ว่าร่างนี้เป็นตัวแทน

อารยา: เป็นตัวแทนค่ะ เพราะว่าพอมาเป็นภาษาของงานศิลปะแล้ว มันต้องหาภาพรวม ภาพรวมก็… ส่วนประกอบของงานก็คือผู้มีชีวิต… ใช่ไหมคะ เนื้อหาของการอ่านซึ่งถ่ายทอดผ่านเสียงที่อ่านแล้วก็ผู้ไร้ชีวิตจริงๆ ก็มีส่วนประกอบง่ายๆ อยู่แค่นี้ในงาน

art4d: จริงแล้วส่วนหนึ่งเหมือนการเยียวยาตัวเอง… หรือเปล่า?

อารยา: มันจะเยียวยาหรือไม่เยียว ไม่ทราบ แต่ว่าดู Kathe Kollwitz (ศิลปินเยอรมัน) นี้ ลูกหลานตายในสงคราม เธอยังต้องทำรูปปั้นลูกเพื่อจะไปตั้งตรงผืนแผ่นดินของประเทศที่ลูกจบชีวิตลง แล้วก็คุกเข่าลงแล้วบอกว่า “บัดนี้พ่อและแม่ได้คุกเข่าลงต่อหน้าวิญญาณของลูกแล้ว” ถามว่าคนทั่วไปจะต้องอยู่กับความเจ็บปวดตรงนี้ไหม เขาอาจจะมีวิธีอื่นที่ดีกว่าที่มนุษย์ทั่วไปพึงปฏิบัติกัน ก็คือ พบปะเพื่อนฝูง พูดคุย ดื่มกินเที่ยวเตร่ หรือทำอะไรให้สดใส เขาไม่ต้องมาฝังตัวอยู่กับเนื้อหาของความเจ็บปวด ในขณะที่ศิลปินที่เลือกจะทำอย่างนั้น ต้องพร้อมอยู่แล้ว Kolwitz ก็พูดเอง บอกว่า “แม่ผู้สูญเสียลูกไม่ยอมละทิ้งความรู้สึกสูญเสีย” คือมันอาจเป็นเสียงหัวเราะเยาะของคนทั่วไปมากกว่าว่าทำไมไม่รู้จักปล่อยวางหรือละวางความรู้สึกสูญเสียนั้นในขณะที่ศิลปินเห็นว่ามันมีประโยชน์สำหรับงานสร้างสรรค์

art4d: เหมือนคล้ายกับว่า ทำไมไม่เลือกจะลบความทรงจำส่วนนี้ไป

อารยา: ใช่ แล้วก็ใช้ชีวิตธรรมดาแบบคนอื่นใช่ไหมคะ คิดถึงก็ทำบุญให้ ทำไมต้องกลับมาตอกย้ำอย่างมากทั้งที่ก็เจ็บก็สะเทือนใจ เพราะฉะนั้นมันก็ก้ำกึ่งกันระหว่างเรียกว่าบำบัดร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่ใช่แต่เรียกว่าเอาประสบการณ์มาทำศิลปะ ซึ่งประสบการณ์นั้นในฐานะที่เป็นคนทั่วไปทำให้รู้สึกเจ็บปวด แต่ในฐานะที่เป็นศิลปินน่าจะดี เพราะว่าได้ใช้ประสบการณ์ของตัวเองมาใช้กับงานสร้างสรรค์ได้อย่างดี แม้จะเจ็บปวดก็ตาม

art4d: คือเหมือนเวลาเราทำงานศิลปะเรามีความสุข แต่เรื่องที่เราเอามาทำ…

อารยา: เรามีความทุกข์

art4d: ปนอยู่ในนั้น

อารยา: ใช่ เพราะฉะนั้นมันจะสุขกับทุกข์คละไป เรียกไม่ได้ว่าบำบัด

art4d: งานชุดนี้แทบจะไม่มี materials อะไรอยู่ในงานนี้เลย ยังงั้นหรือเปล่า

อารยา: งานชิ้นนี้ทำให้เป็นศิลปะลำบาก ศิลปะแบบที่เคยชิน ที่จะใช้ทัศนธาตุทางศิลปะเข้าไปจัดการ แต่เพราะว่าเขาจริงเสียจนเราจะไปดูที่น้ำหนักสี แสง ต่างๆ ก็ไม่ใช่ เพราะฉะนั้นประโยคที่บอกว่าไม่มี material ทางศิลปะอยู่ในงานมันน่าจะคล้ายๆ อย่างงั้น แต่โครงสร้างของเขาก็มีภาพที่ตาเห็น มีสาระหรือนัยยะที่บอกความหมาย แล้วก็มี time… ช่วงเวลาของการเสพย์งาน โครงสร้างเขาก็ไม่ได้หนีงานศิลปะไปไหน

art4d: เราทำได้เพียงแต่บันทึก

อารยา: คือช่วงที่ทำงานกับการบันทึกก็ต่างกันนะ การบรรลุเป้าหมายของการสื่อสารหรือการเรียกกลับความทรงจำไม่จำเป็นต้องบันทึก แต่การทำศิลปะจำเป็นต้องบันทึกเพื่อที่จะนำไปสู่พื้นที่ศิลปะที่สามารถติดตั้งแสดงได้

art4d: เวลาที่เราทำงานจริงๆ มันจบลงไปแล้วตรงนั้น

อารยา: ในความปรารถนา ในความตั้งใจ ตรงนั้นมันจบไปแล้ว เพียงแต่ในฐานะชิ้นงานศิลปะเขาจบไม่ได้ เขาถูกบันทึกแล้วนำมาตัดต่อ ถูกนำไป present ตามพื้นที่ต่างๆ เพราะฉะนั้นประสบการณ์ของการได้นั่งลงอ่านกับประสบการณ์ของการไปจัดการพื้นที่เพื่อจะให้งานตัวเองเข้าไปเสนอต่อผู้ชมก็คนละระดับขั้นกัน

art4d: เวลาเรานำไปติดตั้งอีกครั้ง ก็รู้สึกเบาลง

อารยา: ครั้งแรกที่ได้ติดตั้งอย่างครบวงจร คือสร้างพื้นที่เอง ได้ยินเสียงของตัวเองกระหึ่มมาจากวิดีโอโน้นวิดีโอนี้ บางครั้งเหมือนเสียงกระซิบ ร้องไห้เลย จำได้ว่าคือรู้สึกถูกประดังมาด้วยชิ้นงานศิลปะที่ตัวเองเป็นคนสร้างเอง หลายๆ ชิ้นในเวลาเดียวกันถูกตีถูกกระทบแรงมาก แต่พอหลังจากนั้น งานครั้งล่าสุดที่สวีเดนก็ present ชุดนี้เป็นวิดีโอเดี่ยว ที่อ่านหนังสือให้ร่างฟัง 3 ชิ้น เอามาชนกันผ่านจอพีวีซี ทำเป็นห้องเล็กๆ ก็รู้สึกแปลกใจตอนที่ติดตั้ง แล้วก็ศิลปินหรือคนอื่นที่อยู่รอบๆ ก็เดินมาถ่ายรูปบันทึกในขณะที่เราค่อนข้างเฉยคือมันนานมาแล้ว มันปี 97 แล้วอปี 2000 ไป present ครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนที่แล้วนี้เอง (เดือนสิงหาคม 2000) เพราะฉะนั้นมันเฉยไปเยอะเลย

art4d: เหมือนความรุนแรงมันลดลง

อารยา: ความรู้สึกของเราที่โต้ตอบกับงานของเราเองก็เริ่มลดลงเรื่อยๆ ในจำนวนครั้งที่เรานำเสนอ

 art4d: เราดูซ้ำซ้ำ

อารยา: เหมือนดูหนังฟังเพลงซ้ำ กินใจไประยะหนึ่งก็เริ่มซา คล้ายๆ กัน เพราะฉะนั้นมันเท่ากับเป็นสัญญาณบอกการเริ่มงานใหม่ ว่าจะต้องเริ่มงานใหม่

art4d: ครั้งล่าสุดที่ไปแสดงงาน คนดูมีปฏิกิริยาอย่างไร?

อารยา: เขาก็สนใจ เขายืนนิ่งๆ คือถ้าเขานิ่งพอเขาก็สนใจ ถ้าไม่นิ่งพอเขาก็เดินผ่านไปเร็วๆ เพราะงานชุดนี้ต้องการความพร้อมของผู้ดูที่จะโต้ตอบกับงาน

art4d: มี comment อะไรที่ต่างไปจากครั้งอื่นหรือไม่?

อารยา: คือเรากลับทันที ยังไม่ทราบ ยังไม่ได้รับที่หนังสือพิมพ์ลง มีนักข่าวมาสัมภาษณ์ แต่ยังไม่รู้ว่าปฏิกิริยาเป็นยังไง เขาน่าจะส่งตามมา

art4d: ตอนนี้ทำอะไรใหม่ๆ ได้หรือยัง?

อารยา: จะกลับไปทำเรื่องเดิม จะกลับไปทำที่เดิม… ในพื้นที่เดิมซึ่งไม่เคยคิดว่าจะกลับเลย เพราะจากงานชุดนี้ก็ไปเป็นงานที่ไม่มีตัวตน พูดถึงอากาศ ความมืด ความเย็น ความร้าง ความว่าง แล้วก็คิดว่าพอแล้วสำหรับตัวตน แต่ว่าการทำศิลปะคล้ายๆ กับกินของคาวแล้วอยากกินขนม เดี๋ยวก็หิวอะไรรสจัดใหม่ มันก็เวียนไป เพราะฉะนั้นมันน่าจะต้องได้เวลาเพราะว่าที่เราหยุดไปงานชุดนี้ สาเหตุที่หยุดไปแล้วไม่กลับไปทำอีกเลยอย่างต่อเนื่อง คือ มันไม่เหมือนกับใช้ปูนปลาสเตอร์ซ้ำแล้วซ้ำอีกหลายหลายชิ้น เป็นเพราะว่าความขยาดจากประสบการณ์ที่จะต้องเข้าไปใช้เวลาตรงนั้น สุขภาพจิตไม่ดีเลย เพียงแต่ว่าก็กลับมาตรงประเด็นที่ว่า คนทำงานศิลปะมีสิทธิที่จะหยุดเพราะความขยาดในฐานะที่เป็นมนุษย์หรือไม่นะคะ แต่ว่าในฐานะที่เป็นศิลปินมันไม่หยุดเพราะว่ามันมีความคิดต่อ

 art4d: ทำไม? ยังมีแรงจูงใจอะไร?

อารยา: เป็นเรื่องเวลา งานชุดใหม่เป็นเรื่องเวลา คือมีแรงจูงใจคือรูปลักษณะของงานชุดเดิมฉากหนึ่ง ดูเป็นเส้นนอนแล้วก็เป็นนามธรรม ซึ่งถ้าเราลงไปในรายละเอียดของรูปนั้น เราอาจจะได้ประเด็นใหม่ของเรื่องเวลาใหม่ เพราะฉะนั้นก็ยังไม่รู้คำตอบ ได้แต่ตั้งความหวังว่าอาจจะ… แล้วก็จะทำเพื่อที่จะรู้คำตอบว่าได้หรือไม่ได้

art4d: ภาพที่ดูเหมือน landscape (ภาพที่ผ้าขาวบางคลุมข้างอกและแขนของร่างในน้ำ)

อารยา: ก็คงเป็นตรงนั้น เพียงแต่ว่าในภาพทิวทัศน์ปกติเราโต้ตอบกับภาพทิวทัศน์ที่เป็น painting อย่างไร เราอาจจะมีสัญลักษณ์ของพระจันทร์หรือพระอาทิตย์ เราอาจจะมีแสงแดดอุ่น เราอาจจะมีดอกไม้สวยที่เราจะรู้ว่าเป็นฤดูร้อนหรือฤดูหนาว เพียงแต่ว่าเวลาในที่นี้มันมีจุดเฉพาะ สมมุติมาจากจิตรกรรม แต่ว่าทำอย่างไรเราจะพบเวลาในมิติอื่นบ้างตรงนี้

art4d: หนังสือที่นำมาอ่านในงานชุด Lament (อิเหนาและมัทนะพาธา) เป็นหนังสือที่เรียนในวัยเด็กจึงทำให้เลือกมาใช้ในงานหรือเปล่า

อารยา: จริงๆ แล้วก็ถามว่ามีประสบการณ์ส่วนตัวกับหนังสือกับอิเหนากับมัทนพาธาใช่ใหมคะ มีบ้าง ก็เพราะว่าตอนเด็กพ่อสั่งซื้อหนังสือชุดนี้แล้วพ่อเก็บไว้ที่หัวเตียง คือห้องนอนก็รู้สึกว่าเป็นเขตส่วนตัวของพ่อแล้วมีกระจกปิดอีก เป็นเหมือนหนังสือที่มีค่ามาก อันนี้มานึกย้อนดูตอนเริ่มคิดไม่ได้มาจากตรงนี้แต่ที่เลือกเพราะมันมี บทรักบทโศกเยอะ บทรักใคร่เยอะ ซึ่งจริงๆ คนทั่วไปที่เขาล้มหายตายจากไปนานแล้ว เขาน่าจะมีประสบการณ์นี้บ้างนะคะ

art4d: แล้วตัวเราเองมีประสบการณ์อย่างนี้เหมือนกัน

อารยา: เพราะฉะนั้นเราน่าจะคุยกันเรื่องนี้ได้มากที่สุด ถ้าจะไม่คุยกันเรื่องดินฟ้าอากาศ สำหรับคนแปลกหน้าต่อกัน

art4d: ส่วนมากที่คุยจะคุยกับผู้หญิงใช่ไหม

อารยา: ไม่มีกลุ่มผู้ชายเลย มีกลุ่มผู้หญิง กับผู้หญิง กับผู้ชาย แต่ไม่มีจำเพาะว่าร่างผู้ชาย ไม่มี

art4d: เป็นเพราะสถานที่ที่เก็บร่างมีเฉพาะผู้หญิง

อารยา: ไม่ เพราะว่าในบทวรรณคดีที่อ่าน ผู้หญิงเป็นผู้สูญเสีย เป็นผู้ที่แสดงถึงความจงรักภักดี และก็แสดงความรู้สึกสูญเสียอย่างมาก ในขณะที่ผู้ชายเป็นผู้ที่เคลื่อนไหวไประหว่างผู้หญิง เพราะฉะนั้นก็เลยคิดว่าถ้านั่งลงคุยกับผู้หญิงก็จะเข้าใจซึ่งกันและกันมากกว่า ในขณะที่ถ้ามองกันในด้านตรงข้าม ถ้าอ่านให้ร่างผู้ชายฟังบทบาทของผู้ชายเรื่องอิเหนาเจ้าชู้ ผู้ชายอาจจะถูกตำหนิก็ได้

art4d: การคุยกับผู้ชายทำให้คุยได้ไม่สนิทใจเท่าไหร่?

อารยา: อีกอย่างหนึ่งในสังคมไทย ผู้หญิงด้วยกันเองมักจะคุยเรื่องนี้ด้วยกันเองมากกว่าจะคุยให้เพศตรงข้ามฟัง นึกออกใช่ไหมคะ ตั้งแต่ในโรงเรียนมัธยมเมื่อเริ่มมีความรัก หรือในมหาวิทยาลัยก็จะพูดคุยกับเพื่อนผู้หญิงด้วยกันเองมากกว่า เพราะฉะนั้นมันทั้งจากตัวเราแล้วก็เนื้อหาในวรรณคดีด้วยทำให้คุยกับผู้หญิงได้มากกว่า

art4d: ตอนที่พูดกับหลายร่างๆ ต้องเลือกบท เช่น มัทนะพาธา?

อารยา: คือนางมัทนากับท้าวไซยเสนพลอดรักกัน เพราะฉะนั้นจะไม่เอนเอียง จะมีการโต้ตอบทางวาทะของทั้งสองฝ่าย เป็นช่วงที่เป็นเกี้ยวพาราสี มันสนุกในเนื้อของวรรณคดี เพราะว่าภาษาเพราะอย่างอินทรวิเชียรฉันท์ ลองนึกดูสัมผัสอะไรต่างๆ เพราะมาก

art4d: รู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้หญิงมากมากหรือเปล่า

อารยา: (นิ่งสักพักแล้วหัวเราะ) ไม่ค่อยรู้สึก เพราะรู้สึกว่าตัวเองแข็งแรง… มาก โดยเฉพาะทางความคิดในงานสร้างสรรค์ เพียงแต่ว่าเป็นผู้หญิงมากๆ ก็ดีเพราะว่าปลอดภัยดีในสังคมนี้ แต่อย่างหนึ่งที่น่าจะเป็นผู้หญิงก็เพราะผู้หญิงให้ค่าของความผูกพันมากกว่าผู้ชาย แล้วก็งานชุดนี้พูดถึงความผูกพันที่หมดไป ในขณะที่ผู้ชายอาจจะไม่มาพิรี้พิไรกับความรู้สึกนี้ แต่ว่าผู้หญิงยังคร่ำครวญอยู่กับตรงนี้อยู่เพราะผู้หญิงอาจถูกสอนให้เป็นคนในบ้าน จึงให้ค่ากับความผูกพันสูง

(ขอขอบคุณอารยา ราษฎร์จำเริญสุข ในการเอื้อเฟื้อภาพถ่ายและข้อมูล)


Originally published in art4d#66 (Novermber, 2000)

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *