THE COMMUNITY-BASED DESIGNER WHO BELIEVES THAT DESIGNER’S ROLE IS NOT LIMITED TO DESIGNING BEAUTIFUL ARTWORK
TEXT: PIYAPONG BHUMICHITRA / NAPAT CHARITBUTRA
PORTRAIT: KETSIREE WONGWAN
PHOTO: KETSIREE WONGWAN EXCEPT AS NOTED
(For English, press here)
“ผมลาออกจากนิตยสารที่เป็นงานประจำเพราะอยากเข้าป่าสักสองเดือน”
ตอนแรกก็ไม่แน่ใจว่าเพราะไปดูหนังเรื่อง Into the Wild มาหรือเปล่าที่ทำให้ เตชิต จิโรภาสโกศล คิดทิ้งการงานและอาชีพเพื่อแสวงหาอะไรสักอย่าง แล้วค่อยบอกกับเราว่าเพราะบังเอิญไปอ่านหนังสือแนวต้านทุนนิยมแล้วเกิดอยากออกมาใช้ชีวิตโดยไม่ต้องทำงานดูบ้าง ปัจจุบัน เตชิตเรียกตัวเองว่าเป็น กระบวนกร (facilitator) ของกลุ่มเครือข่าย ‘สาธารณะ’ (SATARANA) ที่หลายคนอาจจะรู้จักจากชื่อของ Trawell หรือ MAYDAY
กระบวนกรคนนี้เริ่มต้นอาชีพสร้างรายได้ด้วยการเป็นนักออกแบบกราฟิกให้กับบริษัทขายเสื้อผ้าชื่อ พาราวินเซอร์ เขาไม่ได้เรียนกราฟิกดีไซน์แต่จบแบบปริ่มน้ำจากภาควิชาภาษาอังกฤษ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
“1 ปีที่ทำงานแรกเราถือเป็นโรงเรียนสอนทำงานกราฟิกของเราเลย ทั้งใช้โปรแกรม ดีลกับการตลาด ดีลกับลูกค้า ดูการผลิต ดูพวกโฆษณา วันนึงเซลล์ขายโฆษณาของนิตยสาร You are Here มาที่ออฟฟิศ เขาเอาหนังสือมาให้เราอ่านแล้วเราชอบมาก ก็เลยไปสมัคร” เตชิต ทำแมกกาซีนอยู่ 2 ปี จน You are Here ปิดตัวลง ก่อนที่จะจับพลัดจับผลูได้ไปทำงานที่ YouWorkForThem กับ Michael Paul Young ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมการทำงานที่เตชิตบอกว่ามีอิสระมาก เจ้านายจะแนะนำหนังสือที่เข้ากับสไตล์หรือแบบที่เขากำลังทำและสนับสนุนงานทดลองให้เขาได้ลองเต็มที่
ที่ทำให้เราสนใจคุยกับเตชิต ไม่รู้เพราะชื่อในเฟซบุ๊กที่ตอนแรกนึกว่าเป็นญี่ปุ่นพิมพ์ไทยได้ หรือเพราะเนื้อหาในสเตตัสของเขาที่วิพากษ์ความเป็นไปของโลก หรือภาพถ่ายอะไรอะไรของเขา ยังไงก็ตาม เราคิดว่าคงเป็นเรื่องน่ายินดีไม่น้อยถ้าได้ลองนั่งคุยกับเตชิต เราอาจได้รู้ว่าอะไรที่หลอมรวมให้เตชิตเป็นเตชิตแบบที่เราเห็นทุกวันนี้ นอกจากไม่จบกราฟิกแต่มาทำกราฟิก ทำงานคอมเมอร์เชียลจนเลิกแล้วมาทำงานจิตอาสา อะไรทำให้เขายังคงยึดมั่นในการทำงานรูปแบบนี้แบบที่เราไม่เคยเข้าใจ แต่เราตั้งใจฟังนะ
“ทำได้สักพักก็ออกจาก YouWorkForThem เพราะอยากไปเรียนต่อ แต่ไปๆ มาๆ ได้ไปเป็น motion graphic designer ให้กับ B-floor ได้ไปร่วมแสดงงานที่นิวยอร์ก จนสุดท้ายมาคิดว่าอยากทำอะไรที่มันเลี้ยงคนอื่นได้มากกกว่านี้ จะไม่ใช้ชีวิตแค่ทำแต่งานเอาชื่อแต่เลี้ยงใครไม่ได้”
เตชิตพบว่าตัวเองมีสกิลอีกอย่างนอกจากการออกแบบกราฟิก และการอ่านใจคนจากภาษากายที่เขาบอกว่าพัฒนามาจากที่ได้ทำงานกับ B-floor นั่นคือสกิลการเป็น “กระบวนกร” มาจากการเข้าไปร่วมแจมเวิร์คช็อปการทำงานร่วมกับชุมชนในปี 2015 “เราชอบงานสายละครมาก เพราะมัน touching กับผู้คน เราเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่าอะไรคือ communication design กันแน่ ปีสุดท้ายที่เปิดออฟฟิศ Noncitizen เราเลยพานักศึกษาฝึกงาน 6-7 คน ลงไปทำงานออกแบบการสื่อสารให้กับคนไร้บ้านแถวเสาชิงช้า เพราะตอนนั้นเราตั้งคำถามกับตัวเองว่าการออกแบบเพื่อการสื่อสารเนี่ย มันควรจะทำเพื่อคนที่ต้องการอยากจะสื่อสาร แต่ไม่มีโอกาสให้ได้สื่อสาร” การลงชุมชนครั้งนั้นไม่ได้ถูกต่อยอดออกมาเป็นงาน เพราะไม่สามารถทำให้ตัวคนไร้บ้านเป็น subject ได้ (ประมาณว่าคนออกแบบทำแล้วจะคูล ส่วนคนไร้บ้านก็ไร้ตัวตนเหมือนเดิม) ไม่นานจากนั้น เขาได้ไปร่วมเวิร์คช็อป co-create ที่อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ เวทีใหญ่ที่รวมสถาปนิกชุมชนจาก 20 ประเทศมาทำงานร่วมกับชุมชนที่นั่น
Photo courtesy of MOR and FARMER
จากที่ตั้งใจแค่เป็นผู้สังเกตการณ์เตชิตโดนจับไปอยู่ฝ่าย policy เป็นล่ามภาษาอังกฤษควบหน้าที่คนกลางระหว่าง ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายกับทีมงาน พอช. (สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน) และกับฝ่ายอื่นๆ “ตอนแรกคิดว่าเราน่าจะไปอยู่กลุ่ม transportation ได้เพราะคิดเองว่าเขาอาจให้ออกแบบ signage ซึ่งเราทำกราฟิกมาก็คงทำได้ แต่ตอนหลังเขาบอกให้ไปอยู่กลุ่ม policy แทน ซึ่งมันเป็น territory ใหม่ของการทำงานออกแบบเลย มันเหมือนกับไปสงคราม เพราะแต่ก่อนคือการรับโจทย์แล้วกลับไปออกแบบ แต่นี่คือพื้นที่ที่ทุกคนร่วมกันโยนโจทย์เข้ามา แล้วดีไซเนอร์ก็ทำเดี๋ยวนั้นเลย ตอนนั้นรู้สึกไม่มั่นใจ เราไม่มีปลั๊กไฟ ไม่มีคอมกับตัว เราเลยหยิบกระดาษ ปากกา เริ่มเขียน เริ่มอธิบาย แล้วก็เริ่มเข้าใจว่านี่อาจเป็นสกิลอีกอย่างหนึ่งของนักออกแบบสื่อสาร”
หลายคนคงงงกับคำว่า ‘กระบวนกร’ ไม่ต้องห่วงพวกเราก็งงเหมือนกัน กระบวนกรเป็นคำไทยที่แปลตรงตัวมาจากคำว่า facilitator หรือพูดอีกแบบตามความเข้าใจของเราก็คือ ผู้จัดการและจัดหาอะไรบางอย่างให้สิ่งที่ทำอยู่นั้นลื่นไหลไปตลอดรอดฝั่ง “เพราะอยู่กลุ่ม policy นี่แหละ ทำให้ต้องเกี่ยวข้องกับกลุ่มอื่นๆ ในเวิร์คช็อปด้วย เราต้องคอย mapping ทุกอย่างเข้าด้วยกัน เลยได้เรียนรู้ศักยภาพใหม่ๆ ของตัวเอง หลังจากนั้นก็ได้ไปทำกับชุมชนป้อมมหากาฬอีก ในรูปแบบการทำงานแบบเดิม” หน้าที่ของเตชิตคือการนำกระบวนการ ดูจังหวะของกระบวนการและได้ใช้สกิลตั้งแต่ตอนข้องเกี่ยวกับกลุ่มละครเวทีต่างๆ นั่นก็คือ การสแกนอารมณ์ของผู้ร่วมกระบวนการทั้งคำพูด สีหน้า และกิริยา
หลังจากเวิร์คช็อปที่ทำกับชุมชนป้อมมหากาฬ เตชิตก็เริ่มต้นเครือข่ายที่ชื่อ ‘สาธารณะ’ (SATARANA) ที่เป็นโครงการ voluntary-based ต้องเจอเพื่อนๆ ผู้มีจิตสาธารณะที่อยากทำอะไรเพื่อคนอื่นอยู่ทุกวัน เพราะเขาบอกว่าประเด็นแต่ละเรื่องที่ ‘สาธารณะ’ จะทำนั้นล้วนเป็นประเด็นร้อน “หัวข้อ local economy เป็นเรื่องที่น่าเอามาต่อยอด ชุมชนป้อมมหากาฬก็เป็นแบบนั้น มีทั้งได้เงินและไม่ได้ บางครั้งก็ได้จากรัฐ บางอย่างทำไปก่อนโดยธรรมชาติ กับอีกอย่างคือมีโจทย์มาให้ทำ ถ้าเราดูโจทย์แล้วและมันเกิดจากการมีส่วนร่วมกันระหว่างคนทำและชุมชน ถ้ามันตรงกับหลัก 5 ข้อของเรา เราก็จะทำ”
หลัก 5 ข้อในที่นี้คือ หนึ่ง พวกเขาจะให้ความสำคัญกับประชาชนเป็นอันดับแรก สอง พวกเขาเชื่อว่าทุกๆ คน คือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สาม การเปลี่ยนแปลงต้องเกิดขึ้นอย่างสร้างสรรค์ (ไม่เอาการสร้างกระแส) สี่ ทุกการกระทำเล็กๆ สามารถกลายเป็นการกระทำที่ยิ่งใหญ่ได้ และข้อห้า “เราเชื่อว่าไม่มีอะไรดีที่สุด ทุกอย่างต้องทำให้ต่อเนื่องเสมอ การทำงานกับคน กับพื้นที่ กับเมือง จำเป็นต้องหมั่นกลับไปติดตามผลเสมอๆ”
ฟังดูเหมือนเป็นเกณฑ์การรับโปรเจ็คต์มาทำ และแนวทางการทำงานของพวกเขาไปในตัว เตชิตเล่าว่า หัวใจของการทำงานของเขาคือการเปิดเวทีโดยมีคำว่า “การมีส่วนร่วม” เป็นคีย์เวิร์ดสำคัญ ทั้งเดินสำรวจพื้นที่ร่วมกัน วิเคราะห์ข้อมูลร่วมกัน ร่วมกันทำเวิร์คช็อป co-create ไปจนถึงการร่วมกันเอาผลลัพธ์จากเวิร์คช็อปไปทำเป็น prototype เผยแพร่ต่อสาธารณะ “หน้าที่ของเราคือการหา shareholder / stakeholder จริงๆ ไม่ใช่เฟคขึ้นมา” เตชิตบอกกับเราก่อนจะเสริมว่าพวกเขาไม่ได้นับงานที่สวยว่าเป็นงานที่สำเร็จ “งานที่สำเร็จคืองานที่มีคนเข้ามามีส่วนร่วมเยอะ และจุดประกายให้เกิด mover หรือคนที่จะเอาผลลัพธ์ไปทำงานต่อในระยะยาว” ถ้าให้สรุปสิ่งที่เตชิตอธิบายมา งานออกแบบที่เครือข่าย ‘สาธารณะ’ ทำก็คงจะเป็นการออกแบบ “กระบวนการ” ให้คนทุกกลุ่มที่มาร่วมกระบวนการ ตั้งแต่เด็ก ชาวบ้าน ศิลปิน นักออกแบบ ไปจนถึงผู้ใหญ่ในหน่วยงานราชการ สามารถมาทำงานด้วยกันบนแพลตฟอร์มเดียวกัน
Photo courtesy of MAYDAY / Suwicha Pitakkanchanakulความมุ่งหมายแรงกล้าที่อยากจะทำให้เมืองดีขึ้น ไม่ได้ถูกใส่ไว้ในหลัก 5 ข้อในย่อหน้าก่อน แต่ถือว่าเป็นบทสรุปรวบความตั้งใจเบื้องหลังงานทุกโปรเจ็คต์ของเครือข่าย ‘สาธารณะ’ เมื่อความมุ่งมั่นเรียบง่ายและตรงไปตรงมาแบบนี้คำถามต่อมาก็คือ ถ้ากลุ่ม ‘สาธารณะ’ หาทางเข้าถึงอำนาจที่สามารถกำหนดนโยบายของท้องถิ่นได้ ไม่คิดว่าเป็นการร่นเวลาที่จะทำให้เมืองนี้ดีขึ้นอย่างการพัฒนาข้อสรุปปลายเปิดที่ได้มาจากหลายๆ เวิร์คช็อปที่เข้าร่วม เปลี่ยนเป็นนโยบายให้พรรคการเมืองที่มีข่าวออกมาตลอดว่าใกล้จะอนุญาตให้มีการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นในเร็ววันนี้ คำตอบของเตชิตก็คือ พวกเขาไม่ต้องการถูกติดฉลากว่าเป็นพวกเดียวกับนักการเมืองฝั่งไหน
การสร้างนโยบายที่จะผลักดันให้เกิด “ชีวิตดีๆ ที่ลงตัวกว่าทุกวันนี้” จะเป็นหมาพันธุ์อะไรขอให้จับแมวได้ไม่ใช่ทางเลือกที่เขาเห็นควร แต่สำหรับคนที่ใช้ชีวิตในเมืองนี้อย่างทนทรหด ก้มหน้ายอมรับความไม่แฟร์ของคุณภาพชีวิต กดให้ท่องเอาไว้ว่าวาสนามันต่างกัน เราฝันถึงกระบวนการของผู้มีจิตสาธารณะที่ทำให้เราเห็นว่า เมืองที่ดีขึ้นสำหรับทุกคนเป็นเรื่องจริงได้มากกว่า prototype