TOSTEM BOOTH AT ACT FORUM’19


ART4D SPEAKS TO  WICHA WORASAYUN, GENERAL MANAGER OF TOSTEM, LIXIL (THAILAND) PUBLIC COMPANY LIMITED., ABOUT THE DESIGN CONCEPT BEHIND TOSTEM’S BOOTH IN ACT FORUM’19 AS WELL AS THEIR PHILOSOPHY THAT LIES BEHIND EVERY TOSTEM PRODUCT

(For English, press here)

หลายๆ ครั้ง งานออกแบบสถาปัตยกรรมชั่วคราวอย่างบูธในแฟร์ต่างๆ มักถูกคิดจากโจทย์ว่า “ทำอย่างไร จึงจะช่วยส่งเสริมการขายได้มากที่สุด” ผลที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือบูธที่ขนาดใหญ่โตเพื่อให้เตะตาคนที่เดินผ่านไปผ่านมามากที่สุด อย่างไรก็ตาม บูธของ TOSTEM ในงานสภาสถาปนิก’ 19 ครั้งนี้ ซึ่งออกแบบโดย M Space นั้นกลับมีวิธีคิดที่ต่างออกไป นั่นคือการใช้ระบบข้อต่อ (wooden joint) ที่ช่วยทำให้บูธขนาดใหญ่กว่า 8 เมตร แห่งนี้ สามารถถอดประกอบ ย่อ / ขยาย ขนาด และนำไปใช้ในงานต่อๆ ไปได้ เพื่อลดปริมาณขยะวัสดุก่อสร้างที่จะเกิดขึ้นหลังจากจบงาน

“นั่นเป็นสิ่งสำคัญที่เราคำนึงถึง เป็นความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมที่ TOSTEM ในฐานะบริษัทผลิตวัสดุก่อสร้าง ต้องคำนึงถึง” วิชา วรสายัณห์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท ลิกซิล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) แบรนด์ทอสเท็ม เล่าให้ art4d ฟัง ถึงแนวคิดการออกแบบบูธครั้งนี้ ที่พวกเขาร่วมพัฒนากับ M Space เป็นเวลาติดต่อกันถึง 3 ปีแล้ว

นอกจากไอเดียเรื่องความยืดหยุ่นในการปรับขนาดสเปซ ข้อต่อ (wooden joint) ที่ว่านี้ยังมีความน่าสนใจในตัวเองนั่นคือ การนำวิธีเข้าลิ่มไม้แบบไทยมาผสมผสานกับเทคนิคแบบญี่ปุ่น ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ก็คือการเชื่อมต่อที่แทบจะเหมือนกับการเอาไม้มาต่อชนเข้ากับวัสดุเหล็ก โดยที่เราจะไม่เห็นวิธีการยึดวัสดุสองประเภทเข้าด้วยกันเลยแม้แต่น้อย “ตรงนี้ก็เช่นกันที่มีไอเดียซ่อนอยู่ คือเราต้องการโชว์ให้ผู้ที่มาเยี่ยมชมเห็นการผสมผสานกันที่ลงตัวระหว่างวัสดุ 3 ส่วน ทั้งไม้ เหล็ก และอะลูมิเนียมซึ่งเป็นวัสดุของผลิตภัณฑ์จาก TOSTEM” คุณวิชา กล่าว ก่อนจะเสริมว่า การออกแบบลักษณะนี้ยังสื่อสารถึงความเป็นลูกครึ่งไทย – ญี่ปุ่น ของแบรนด์ TOSTEM ได้เป็นอย่างดี

“เพราะว่าถึงแม้เราจะเป็นแบรนด์จากญี่ปุ่น แต่ตลอดระยะเวลา 30 ปี ที่เราเข้ามาตั้งโรงงานผลิตในไทย เราเปิดรับความคิดเห็นจากผู้ใช้งาน และนำมาปรับปรุง นำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ของเราให้มีฟังก์ชั่นที่ตอบโจทย์กับบริบทของประเทศไทย ทั้งสภาพอากาศ รูปแบบการใช้งานของสถาปนิกไทย และความต้องการของผู้บริโภคที่นี่” นี่คงเป็นเหตุผลที่ TOSTEM จัดพื้นที่ส่วนหนึ่งของบูธให้เป็นคาเฟ่ย่อมๆ เพื่อให้เป็นที่แลกเปลี่ยนบทสนทนาระหว่าง สถาปนิก ผู้ใช้งานผลิตภัณฑ์ และสตาฟจากทางแบรนด์ TOSTEM

ปีนี้ถือเป็นปีที่ TOSTEM เดินหน้าทำงานตลาด เพื่อเข้าถึงผู้ใช้งานในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการเปิด DEMO ROOM ที่จังหวัดเชียงใหม่ และภูเก็ต ก็ต้องรอดูต่อไปว่าในงานครั้งต่อไปหน้าตาของบูธ TOSTEM จะเป็นอย่างไร และจะมีเทคนิคลูกเล่น (ที่มีความแนบเนียน) แบบไหนออกมาให้ดูกันอีก

tostemthailand.com

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *