Tag: TOSTEM

OPENING TO THE NEW POSSIBILITIES


TEXT: PAPHOP KERDSUP
PHOTO: WASAWAT DECHAPIROM EXCEPT AS NOTED

“ช่องเปิด” ทางสถาปัตยกรรมในแต่ละยุคสมัยบอกอะไรกับเรา?

นอกเหนือไปจากการแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงไป “ช่องเปิด” — ซึ่งในที่นี้นับรวมทั้งประตู หน้าต่าง การเจาะช่องลงบนระนาบทางตั้งและทางนอนในงานสถาปัตยกรรม หรือกระทั่งการกรอบภาพด้วยองค์ประกอบอย่างผนัง — ยังเป็นเครื่องสะท้อนความสัมพันธ์ที่มนุษย์เรามีต่อบริบทแวดล้อมอย่างสภาพภูมิอากาศ พฤติกรรมการใช้สเปซ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งแสงธรรมชาติ…

เดิมการเลือกใช้โครงสร้างประเภทผนังรับน้ำหนัก (wall-bearing) ในงานสถาปัตยกรรมไทยเป็นข้อจำกัดหนึ่งที่ทำให้การเจาะช่องเปิดนั้นมีขนาดที่ไม่ใหญ่นัก เช่น ผนังของอุโบสถ หรืออาคารพาณิชย์ยุคแรก ซึ่งทำให้ความรู้สึกที่มนุษย์มีต่อแสงสว่างและความมืดในอดีตนั้นแตกต่างไปจากปัจจุบัน เผลอๆ เราเองอาจจะเคยคุ้นเคยกับความงามในเงาสลัวที่สัมผัสต่างๆ นั้นคลุมเครือมากกว่าการเห็นทุกอย่างชัดแจ้งอยู่ตรงหน้าเสียด้วยซ้ำ

เมื่อเทคโนโลยีการก่อสร้างสมัยใหม่เข้ามามีบทบาทยิ่งขึ้นในช่วงครึ่งหลังศตวรรษที่ 20 จนเอื้อให้ผู้คนสามารถเปิดรับเอาแสงสว่างเข้ามาอยู่ร่วมกับการใช้ชีวิตได้มากขึ้นผ่านการใช้กระจกบานใหญ่และกรอบประตูหน้าต่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์บานกรอบอะลูมิเนียมที่ได้มาตรฐานของ TOSTEM ประสบการณ์ที่คนไทยมีต่อแสงสว่างก็พลันเปลี่ยนตาม ไม่ว่าแสงนั้นจะเป็นแสงธรรมชาติในช่วงกลางวัน หรือแสงจากหลอดไฟในช่วงค่ำคืน เราเริ่มได้กลับมาชื่นชมความสุนทรีย์ของแสงมากกว่าเคยอีกครั้ง

เมื่อสถาปัตยกรรมเดินทางมาถึง ณ ขณะปัจจุบัน ประสบการณ์ที่เรามีต่อสเปซเริ่มหลากหลาย ความคุ้นชินที่เกิดขึ้นจาก “ช่องเปิด” ที่เปลี่ยนไปตามแต่ละยุคสมัยทำให้เราเริ่มมองเห็นภาพรอบตัวในมุมมองที่แตกต่าง ภาพที่ถูกกรอบขึ้นเมื่อมองออกไปยังนอกหน้าต่าง ก็มีความน่าสนใจไม่แพ้การเดินลัดเลาะไปรอบกรุงเทพฯ แล้วบังเอิญมองไปเห็นภาพปลายตาเป็นสถาปัตยกรรมสักแห่งที่ถูกกรอบไว้ด้วยผนังริมทาง

tostemthailand.com