IN 1999, PIRAK ANURAKYAWACHON GUIDED US TO NORMAN FOSTER’S METRO STATION AND SANTIAGO CALATRAVA’S FOOTBRIDGE IN BILBAO, SPAIN
TEXT: PIRAK ANURAKYAWACHON
PHOTO: SKYLINE STUDIO, PIRAK ANURAKYAWACHON
(For English, press here)
เป็นโชคดีของผมที่ยังมีโอกาสเดินทางไปดูงานสถาปัตยกรรมของประเทศในยุโรปบ้านใกล้เรือนเคียงกับเนเธอร์แลนด์ ให้มีเรื่องราวเล่าสู่กันฟังกันต่ออีก คราวนี้จุดหมายปลายทางของผมอยู่ที่ Bilbao เมืองที่มีพิพิธภัณฑ์ศิลปะแบบ single museum ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ออกแบบโดย Frank O. Gehry ซึ่งคงเห็นกันอย่างเต็มอิ่มใน art4d เมื่อสองฉบับที่แล้ว (art4d No.49, May 1999) คงไม่ใช่เรื่องที่จะหยิบงานอลังการชิ้นนั้นกลับมาเขียนอีก แต่อยากจะเสนออีกแง่มุมหนึ่งของความเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการในเมือง Bilbao ผ่านเนื้องานของ Sir Norman Foster สถาปนิกใหญ่ที่ได้แสดงฝีมือไว้หลายงานในสเปน และ Santiago Calatrava สถาปนิกท้องถิ่นที่มีงานของตนตั้งอยู่บนแผ่นดินแม่ไว้อย่างมากมาย โดยงานส่วนใหญ่ของเขาก็จะมีแนวความคิดที่มาจากรูปทรงและโครงสร้างธรรมชาติ เช่น โครงกระดูกหรือ movement ของสิ่งมีชีวิต เชื่อว่าหลายๆ คนคงเคยเห็นสะพานสวยๆ หลายแห่งที่มาจากฝีมือการออกแบบของเขาบ้าง
จาก Barcelona หากเดินทางไปสู่ Bilbao ทางรถไฟที่สถานี Estacio ใช้เวลาประมาณสิบชั่วโมง ราคาตั๋วประมาณ 9700 pts. หรือราวๆ สามพันกว่าบาท ขอแนะนำให้เดินทางตอนกลางวันเพราะจะได้เห็นสภาพธรรมชาติสองข้างทาง แต่ถ้าจำเป็นต้องไปตอนกลางคืนก็ขอให้เลือกเป็นเก้าอี้เอนนอน ซึ่งคนในแถวเก้าอี้จะมีเพียงคู่ของคุณ อย่าได้เลือกนอนเตียงเป็นอันขาดเพราะมีเตียงนอนถึงสี่เตียง และคนสเปนกรนดังมาก
ผมมาถึงสถานี Bilbao ตอนหกโมงเช้า ทันทีที่เดินออกมาจากตัวสถานีรถไฟ ก็ต้องสะดุดตากับโครงโลหะบุด้วยกระจกดูทันสมัยขัดกับอาคารเก่ารอบด้าน รูปทรงของโครงสร้างนี้มีหน้าตาเหมือนตัวดักแด้หรือตัวหนอนกำลังมุดตัวลงไปในดิน และฝีมือในการก่อสร้างที่ประณีตมาก จำได้ว่าก่อนมาเพื่อนเล่าให้ฟังถึงงานสถานีรถไฟใต้ดินของ Sir Norman Foster และบอกให้มาดูให้ได้เพราะสวยมากและยังคงทันสมัยอย่างน่าทึ่ง เนื่องจากงานชิ้นนี้จัดประกวดกันตั้งแต่ปี 1988 จึงจะสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี 1995 แต่ยังคงแสดงความใหม่และก้าวหน้าอยู่ได้ไม่จืดจาง และก็จะยังคงมีโครงการต่อเนื่องสร้างขึ้นเรื่อยๆ ชวนให้ติดตามดูกันต่อไป
สถานีที่เข้าไปชมนั้นชื่อสถานี Abando เป็นเพียงแค่หนึ่งในแปดสถานีรถไฟใต้ดินซึ่งถูกออกแบบอยู่ในเฟสแรกของโครงการพัฒนาผังแม่บทของเมือง Bilbao และมีการควบคุมดูแลอย่างเข้มงวด ทันทีที่ผมเริ่มตั้งกล้องถ่ายรูปภายในตัวสถานีก็โดนรวบตัวและกล้องทันที โชคดีที่พนักงานคนหนึ่งพาผมไปทำใบอนุญาตที่สำนักงานใหญ่ เพื่อที่จะได้เข้าออกตัวสถานีได้อย่างถูกต้อง Olatz Candina หัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์ของ Metro Bilbao ได้อธิบายเนื้อหาของโครงการนี้ให้ฟังว่าโครงการนี้ริเริ่มกันในปี 1988 โดยความยาวทั้งหมดของเส้นทางสัญจรประมาณ 61 กิโลเมตร รวมพื้นที่ที่เป็นสถานีประมาณ 13,000 ตารางเมตร
วัสดุหลักในการก่อสร้างสถานีรถไฟใต้ดินนี้คือคอนกรีตสำเร็จรูป คอนกรีตหล่อ สเตนเลส กระจก และหินขัด สถานีรถไฟใต้ดินทั้งแปดแห่งถูกสร้างขึ้นให้มีรูปแบบที่เหมือนกันและเป็นเส้นทางเชื่อมต่อพื้นที่ต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน เช่น หมู่บ้านริมทะเล ย่านอุตสาหกรรม ย่านใจกลางเมือง พื้นที่ชานเมือง ฯลฯ เพื่อให้บริการที่มีคุณภาพแก่ประชาชนล้านกว่าคนที่อาศัยอยู่ใน Bilbao
แนวความคิดหลักในการประกวดของ Foster & Partners ซึ่งทำให้ชนะการประกวดแบบคือการริเริ่มออกแบบจากหลักข้อแรกของการเคลื่อนไหวในการจัดระบบการสัญจรของผู้คนที่พลุกพล่านในตัวสถานีให้มีระเบียบ เข้าถึงตัวสถานีได้ง่าย และสะดวกมากที่สุดไม่ว่าจะเป็นทางบันไดเลื่อนหรือลิฟท์ เราสามารถเปรียบเทียบกับสถานีต่างๆ ในกรุงปารีส เมืองที่ใช้รถไฟใต้ดินเป็นทางสัญจรหลักเหมือนกัน จะเห็นว่าความวุ่นวายและไร้ระเบียบที่เกิดขึ้นในตัวสถานีไม่เป็นสิ่งที่น่าดูชมเลย
งานระบบใต้ดินต่างๆ เป็นสิ่งที่จำเป็น และเป็นตัวควบคุมสำหรับการออกแบบตัวสถานีซึ่งถูกเชื่อมต่อกันด้วยอุโมงค์ระยะทางยาวๆ นำผู้คนจากจุดหนึ่งมาสู่จุดหนึ่ง ซึ่งนั่นก็เป็นตัวที่นำมาสู่ความวุ่นวายและความเสื่อมโทรมรวมทั้งปัญหาต่างๆ เช่น ปัญหาอาชญากรรม ยาเสพติด ฯลฯ ทั้งยังดูแลรักษาได้ยากกว่างานที่อยู่บนพื้นที่ปกติ ซึ่งแนวความคิดต่อมาก็คือการเสนอที่จะแก้ปัญหาดังกล่าวให้ลดน้อยลง แต่ยังสามารถคงไว้ซึ่งสิ่งจำเป็นต่างๆ ที่ต้องมีเอาไว้
ตัวทางเข้าสถานีที่อยู่บนระดับพื้นดินนั้นเชิญชวนให้ผู้คนเข้ามา และเรียกร้องความสนใจด้วยรูปลักษณ์แปลกตา โครงกระจกโค้งโอบล้อมทางลง ทำให้แสงธรรมชาติในตอนกลางวันส่องเข้ามาได้ในระดับหนึ่ง ให้ความสว่างทั้งในตอนกลางคืนและพื้นที่มืดด้วยหลอดไฟเรืองแสง เบื้องล่างที่เป็นตัวสถานีมีลักษณะ section เหมือนถ้ำ (cavern) มีความกว้างของสถานี 16 เมตร ซึ่งในส่วนนี้สถานีนี้เอง ทำหน้าที่เหมือนหัวใจของระบบขนส่งมวลชนในเมืองนี้
การเข้าถึงของผู้โดยสารที่จะได้รับความสะดวกด้วยลิฟท์และบันไดเลื่อนที่โปร่งใส และยังเป็นส่วนเสริมพิเศษสำหรับคนชราและคนพิการด้วย ยิ่งพูดก็ยิ่งทำให้นึกถึงรถไฟลอยฟ้าบ้านเราที่กว่าจะสร้างลิฟท์ให้คนพิการได้ต้องมีการประท้วง การเรียกร้อง การพิจารณาไม่รู้กี่ขั้นตอน พอผ่านได้ก็มีการทวงบุญคุณกันยกใหญ่ ว่าทำขนาดนี้ให้แล้วนะ ขอบใจกันหน่อย ซึ่งจริงๆ แล้วมันน่าจะเป็นสามัญสำนึกในข้อต้นๆ ที่พึงจะมีให้กับส่วนบริการประชาชนทั้งหลาย ไม่ต้องเกิดการเรียกร้องให้วุ่นวายอย่างที่เห็น
องค์ประกอบที่กล่าวมาเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้โครงการนี้ประสพความสำเร็จ เราจะไม่เห็นคนจรจัด ขอทาน หรือคนเมาในสถานีใหม่ทั้งหลายนี้เลย คำว่า clean & clear คงทำให้เห็นภาพบรรยากาศตั้งแต่ทางลงที่เป็นบันไดเลื่อนซึ่งประดับและให้แสงสว่างด้วยหลอดฟลออเรสเซนต์ นำสายตาลงไปสู่ทางเดินรูปเพดานโค้งโดยตลอดพื้นที่ส่วนข้างล่างที่บุด้วยคอนกรีตสำเร็จรูปที่มีความประณีตมาก
นอกเหนือจากนั้นยังเสริมบรรยากาศด้วยการติดลำโพงไว้เป็นจุด และเปิดเพลงประกอบการเดินของผู้คนด้วย วันที่เดินลงไปนั้นเสียงเพลง soundtrack ของเรื่อง Star Wars ช่วยสร้างบรรยากาศให้เหมือนว่ากำลังเดินไปขึ้นยานอวกาศหรือไม่ใช่ก็ใกล้เคียง เมื่อเดินไปถึงในสถานีก็มองเห็นรถไฟใต้ดินรุ่นใหม่สีเงินเป็นประกายจอดรอผู้โดยสารอยู่และวิ่งพุ่งทยานออกไปอย่างนิ่มนวล ดูเข้ากับองค์ประกอบต่างๆ ที่เป็นโลหะวาววับดูตัดกับ plane คอนกรีตโดยรอบอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นชั้นลอย บันได ที่จองตั๋ว ที่ตรวจตั๋ว ช่องลิฟท์ เป็นต้น
รูปทรงและรูปตัดของตัวสถานีที่เหมือนถ้ำนั้น เป็นผลพวงมาจากการออกแบบทางด้านวิศวกรรมอย่างละเอียดรอบคอบ คำนึงถึงเรื่องของแรงธรรมชาติ (forces of nature) ที่มีผลในการรับน้ำหนักและการถ่ายแรงซึ่งกันและกันเป็นส่วนแรก และการจัดองค์ประกอบต่างๆ ดังกล่าวเข้าไว้ด้วยกัน ทำให้ดูน่าสนใจกว่างานออกแบบที่มักมีการปกปิดส่วนหนึ่งด้วยองค์ประกอบอื่นๆ ซึ่งดูไม่แท้และน่าเบื่อหน่าย บริษัท Ove Arup & Partners ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาระดับโลกเข้ามาทำหน้าที่สร้างโครงนี้ให้เป็นจริง หลังจากที่สร้างงานต่างๆ ให้สถาปนิกดังๆ มาแล้วมากมายนับไม่ถ้วน
งานระบบและบริการต่างๆถูกกำหนดให้ปักลงมาในส่วนท้ายของตัวสถานีท่อระบายอากาศและสายไฟที่แจกจ่ายให้จุดต่างๆนั้นถูกออกแบบให้วิ่งใต้พื้นชานชลาและรถไฟที่วิ่งไปมานั้นได้กำลังโดยระบบจ่ายไฟจากด้านบนห้อยลงมาพื้นหินขัดในส่วนของทางเดินและพื้นทั้งหมดนอกจากจะทำให้ดูสะอาดตาและสวยงามแล้วยังช่วยลดความแข็งกร้าวของคอนกรีตโดยรอบได้ด้วย
ความประณีตของงานก่อสร้างชิ้นนี้ Foster & Partners ทำได้อย่างสมบูรณ์แบบแม้แต่ส่วนประกอบเล็กๆ เช่นโคมไฟที่ถูกสร้างให้โค้งตามทางเดิน หรือแม้กระทั่งถังขยะก็ถูกออกแบบเฉพาะเพื่องานนี้ เมื่อคุณนั่งรถผ่านตัวสถานีนี้สิ่งที่สะดุดตาก่อนก็คือป้ายบอกชื่อสถานีสีแดงตัวหนังสือสีขาวสร้างความเด่นชัดและเข้าใจให้กับคนที่เข้ามา เพราะมันตัดกับองค์ประกอบทั้งหมดอย่างสิ้นเชิง เมื่อเดินจากตัวสถานีขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึงระดับพื้นดินปกติ จะเห็นว่าป้ายทั้งหมดนั้นมีความเรียบง่ายและมีลักษณะเดียวกันหมด สร้างความกลมกลืนและสวยงามได้อย่างไม่ยากเลย
หลังจากชื่นชมได้พักใหญ่ก็เดินตามแผนที่ไปหา Guggenheim Museum ตอนที่ยืนอยู่บนสะพานข้ามแม่น้ำ Nervion ซึ่งอยู่ติดพิพิธภัณฑ์นี้ก็มองตามแม่น้ำไปทางทิศตะวันตก สายตาก็ต้องหยุดอยู่ที่สะพานเล็กๆ สีขาวสะพานหนึ่ง รู้สึกว่าเหมือนงานของใครบางคนที่เคยเห็นและคุ้นเคย เมื่อเดินลงมาจากสะพานใหญ่แล้วเดินเลียบแม่น้ำไปเรื่อยๆ ก็นึกออกว่าโครงสร้างอันแสนวิจิตรและซับซ้อนแบบนี้คงมีแต่ Santiago Caratrava นั่นเอง Campo Volantin Footbridge คือนามกรของสะพานแห่งนี้มีลักษณะเป็น footbridge คือมีไว้ให้คนเดินข้ามเท่านั้น โครงสร้างหลักเป็นท่อโลหะสีขาวเส้นผ่าศูนย์กลาง 457 มม. หนา 5 มม. พื้นสะพานเป็นกระจกฝ้าขนาด 28×180 มม. หนา 1 นิ้ว ทางเดินขึ้นนอกจากบันไดแล้วยังมี ramp พื้นอิฐแก้วฝังในคอนกรีตขาวสำหรับคนแก่และคนพิการ สัดส่วนในการออกแบบทางลาดเอียงนี้ดูเฉี่ยว เบา และดูมี movement อย่างสวยงาม เมื่อไปยืนใต้สะพานเราจะมองเห็นโครงที่รับพื้นสะพานเป็นเหมือนซี่โครงของสัตว์ชนิดใดชนิดหนึ่ง ยิ่งในตอนกลางคืนเมื่อเปิดไฟก็จะเห็นจังหวะของแสงที่ส่องออกมาจากโครงทั้งหลาย และบนพื้นทางเดินเองก็มีแสงส่องขึ้นมาด้วย ตอนที่ยืนถ่ายรูปก็มีเจ้าหน้าที่เทศบาลมาซ่อมเปลี่ยนพื้นสะพานที่เป็นกระจกหนา ฝีมือในการทำงานนั้นประณีตมาก คราบกาวแม้แต่นิดเดียวก็เช็ดออกจนสะอาด จำได้ว่านิตยสาร Architecture Review ให้เครดิตกันว่าเป็นสะพานแห่งปีเลยทีเดียว ยิ่งได้ใช้เวลาอยู่ที่สะพานนี้สักพักหนึ่งก็ยิ่งรู้สึกดีขึ้นมาก เมื่อเห็นคนในพื้นที่ได้เข้ามาใช้สะพานเพื่อการสันทนาการ คนแก่ที่อยู่บ้านพักคนชราฝั่งหนึ่งจูงมือกันเดินออกกำลังบน ramp พอค่ำหน่อยก็มีคนมาเล่นกีต้าร์เป่าขลุ่ยให้ฟังรับเงินบริจาคเล็กๆ น้อยๆ จากผู้ที่ผ่านไปมา ไม่น่าเชื่อว่าสะพานนี้จะมีชีวิตชีวามากขนาดนี้ หรืออาจจะเป็นธรรมชาติของคนชาตินี้ก็ได้ แต่เท่าที่จำได้ก็ไม่เห็นมีใครมานั่งเล่นที่สะพานอื่นเลย
สะพานแห่งนี้ทำหน้าที่เชื่อมต่อพื้นที่อยู่อาศัยของกลุ่ม housing ฝั่งหนึ่งไปยังอีกฝั่งหนึ่ง ซึ่งเคยเป็นส่วนอาคารราชการแบบยุคเก่าซึ่งโดนไฟไหม้ไปแล้วแต่ก็ยังเหลือร่องรอยทิ้งเอาไว้อยู่ แต่จะเห็นคนเดินข้ามสะพานกันเยอะมากเพราะเป็นบริเวณที่อยู่หลังอาคารราชการนั้นเป็นส่วนที่เดินเข้าเมืองได้ คุยกับคนที่นั่งเล่นได้ความว่ากำลังจะทุบและพัฒนาให้เป็นพื้นที่ complex มีทั้งที่พักอาศัยและส่วนธุรกิจตามแผนแม่บท รู้สึกเสียดายอาคารเก่าที่โดนไฟไหม้ไปเหมือนกัน เพราะดูจากซากที่เหลือนั้นหากบูรณะขึ้นใหม่ก็คงจะสวยงามมาก
พอออกมาจากสะพานแล้วก็เดินเลียบแม่น้ำไปเรื่อยๆ สิ่งที่เห็นก็คือมีการก่อสร้างใหม่อยู่เต็มไปหมด แล้วก็มาหยุดอยู่ที่ป้ายแสดงให้เห็นว่าเมื่อผังแม่บทสร้างเสร็จจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร แล้วคนใน Bilbao จะได้อะไรจากสิ่งเหล่านี้ ก็เกิดความคิดเปรียบเทียบขึ้นมาทันทีระหว่างความเก่าที่สงบเงียบกับความใหม่ที่นำมาซึ่งความเจริญตามที่เคยเรียนในวิชาผังเมือง ว่าไปแล้วก็น่าจะดีกว่าเพราะเมืองอุตสาหกรรมแบบนี้ก็น่าจะถูกพัฒนาให้มีแนวทางที่เป็นระบบระเบียบขึ้น
แต่ในพื้นที่ที่มีอาคารเก่าแก่ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความลุ่มลึกของวัฒนธรรมนั้น หากต้องเสียไปโดยไม่ถูกใยดีคงจะน่าเสียดายไม่น้อย ช่วงเวลาการเดินทางในประเทศสเปนนั้นภาพรวมเนื้อหาของงานสถาปัตยกรรมที่มองเห็นได้ชัดก็คือ ความดำรงคงอยู่ของรากเหง้าอารยะธรรมอันเก่าแก่ที่ยังคงสถิตอยู่เป็นอนุสรณ์ให้คนรุ่นหลังได้ภาคภูมิใจ โดยส่วนมากเป็นงานศิลปกรรมที่เกี่ยวข้องกับศาสนาเช่นงาน Le’ Sagra da Familia ของ Antoni Gaudi งานสถาปัตยกรรมใหม่ๆ นั้นไม่มีออกมาแสดงตัวมากนัก มักจะซ่อนตัวอย่างสงบและสุภาพเบื้องหลังงานเก่าๆ เช่น อาคารพิพิธภัณฑ์ของ Richard Meier ใน Barcelona ที่ตั้งอยู่ท่ามกลางอาคารเก่าซึ่งเคยเบ่งบานในยุคทองของ Catalanya บรรพชนโบราณของชาวสเปน
งานที่นำมาเล่าสู่กันฟังทั้งสองงาน รวมทั้งงานพิพิธภัณฑ์ของ Gehry เป็นตัวอย่างงานที่เกิดขึ้นมาใหม่และเป็นงานที่ดี เป็นงานที่คนในท้องถิ่นพอใจ เป็นฝีมือจากสถาปนิกที่เข้าใจเนื้อหาของสภาพแวดล้อมและได้สร้างอาคารที่แสดงตัวออกมาอย่างชัดเจนเพื่อการสร้างสรรค์ และแก้ปัญหา มิได้สร้างปัญหาและมิได้ซ่อนอยู่ข้างหลังงานเก่าเหมือนในเมืองอื่นๆ เมื่อทุกอย่างในผังแม่บทได้สร้างเสร็จมันอาจจะเป็นนิมิตหมายที่ดีสำหรับผู้ที่ต้องการให้ความเจริญเข้ามาอยู่ในท้องที่ของตน แต่คงจะเป็นเรื่องที่ทำใจยากจริงๆ สำหรับกลุ่มคนที่มีความเป็นอนุรักษ์นิยมและเห็นคุณค่าของความงดงามแบบดั้งเดิม และนี่คือสิ่งที่สถาปนิกคนต่อๆ ไปที่จะเข้าไปทำงานใน Bilbao น่าจะให้ความสนใจกับเรื่องราวและความต้องการของเมืองนี้ อีกทั้งยังเป็นบทเรียนที่ดีสำหรับสถาปนิกทั้งหลายที่จะสร้างสรรค์งานให้สถิตบนโลกที่กำลังเล็กลงทุกวันใบนี้ ว่าอะไรคือสิ่งที่เหมาะสม
Originally published in art4d No.51 (July, 1999)