BLEND-IN SHOTS

PATOM ORGANIC CAFÉ, THE RECENT PROJECT BY NITAPROW, PROVIDES THE CAFE-GOER A UNIQUE EXPERIENCE OF BLENDING ONESELF IN THE SURROUNDING NATURE WHILE THE ARCHITECTURE CONSTANTLY TRANSFORMS ITS APPEARANCE FROM DAWN TIL DUSK

TEXT: KANOKWAN TRAKULYINGCHAROEN
PHOTO: KETSIREE WONGWAN EXCEPT AS NOTED

(For English, press here)

หลังจากขับรถออกไปบนถนนเพชรเกษม ผ่านพื้นที่แถบฝั่งธนบุรี นึกดูเล่นๆ ย้อนไปสักยี่สิบปีที่แล้ว ตลอดสองข้างทางหลังแนวตึกแถวริมถนนที่เห็น เคยขึ้นชื่อมาตลอดว่า เป็นเขตสวนผักผลไม้ ก่อนที่มันจะกลายเป็นย่านชานเมืองของกรุงเทพฯ อย่างที่เห็นในวันนี้ ไม่นานหลังจากผ่านเข้าเขตนครปฐม เราก็มาถึง สวนสามพราน บนพื้นที่ 126.5 ไร่ ริมแม่น้ำท่าจีน สถานที่ท่องเที่ยวสำหรับใช้เวลากับครอบครัวที่เป็นที่รู้จักกันดีมากว่า 50 ปี
Illustration by DEAR : FROM STUDIO

สิ่งที่เราได้เห็นตรงทางเข้าใหม่ คือ ผลลัพธ์จากงานปรับผังบริเวณทางเข้าสวนสามพราน บนพื้นที่ 20,000 ตารางเมตร โดยเจ้าของกิจการรุ่นที่สามร่วมกับ นิษฐา ยุวบูรณ์ และ พราว พุทธิธรกุล สองสถาปนิกผู้ก่อตั้ง NITAPROW เพื่อปรับปรุงธุรกิจให้มีความลงตัวกับวิถีชีวิตของผู้คนในปัจจุบันมากขึ้น งานปรับปรุงพื้นที่บริเวณทางเข้าแบ่งเป็นสองเฟส เฟสแรก เป็นงานมาสเตอร์แพลนกับร้านกาแฟ เฟสสอง เป็นส่วนตลาด ร้านปฐม และสถาบันสุขใจ 
 
บริเวณแนวด้านหน้าขนานกับแนวถนนเพชรเกษม มีส่วนที่เป็นตลาดปฐมออร์แกนิกที่ชาวบ้านสามารถค้าขายพืชผล ถัดจากตลาดไป ก็จะเป็นร้านปฐม และสถาบันสุขใจ เรียงตัวขนานไปกับแนวถนน เมื่อเดินตัดทะลุตลาดเข้าไปด้านใน เราก็จะเห็น ปฐมออร์แกนิกคาเฟ่ ที่ตั้งอยู่บนเนินสนามหญ้า ซึ่งแต่เดิมเคยเป็นบริเวณที่นั่งของโรงละครเก่า
 
 

ในชีวิตการทำงานของคนหนึ่งคน หลายครั้งมีเรื่องที่อยากทำ แต่ยังทำไม่ได้ ต้องรอเวลาไปก่อน ความตั้งใจอย่างหนึ่งที่เจ้าของโครงการมีตั้งแต่ครั้งที่ทำ Patom Organic Café ที่ทองหล่อ คือ ไอเดียเรื่องการทำร้านกาแฟที่มีกระจกรอบ 360 องศา แต่ด้วยข้อจำกัดของที่ตั้ง ทำให้เรื่องนี้ต้องพับเก็บไป และกลายมาเป็นโจทย์หลักของงานออกแบบ Patom Organic Café ที่สวนสามพรานแทน

พื้นที่รอบตัวคาเฟ่ล้อมไว้ด้วยแนวคูน้ำ ที่เป็นตัวกั้นพื้นที่รักษาความเป็นส่วนตัว ในเวลาที่มีการงานจัดเลี้ยง ระเบียงทางเดินแบบมีหลังคามุงจากพาคนเดินขึ้นมาที่ร้านกาแฟ ขนาดสัดส่วนของทางเดิน มีระยะของช่วงเสาที่ไม่กว้าง ขนาดพอให้ผู้ใหญ่ที่เดินจูงเด็กสามารถเดินสวนกันไปมาแบบพอดี ระหว่างที่เดินไปเรื่อยๆ พอเราเดินเข้าไปใกล้เสาเหล็กสีเบจแต่ละต้น ก็จะเห็นภาพสะท้อนของต้นลั่นทมที่อยู่ด้านหลัง ซ้อนทับลงไปกับต้นลั่นทมอีกต้นที่อยู่ตรงหน้า ภาพของสิ่งที่เราเพิ่งเดินผ่านไปบนกระจกเลื่อนมาทับกับสิ่งที่เราเห็น

เสี้ยวของมุมมองที่ได้เห็นในช่วงเวลาสั้นๆ ที่เดินไปในระเบียงทางเดิน พาเราไปเจอกับแนวผนังกระจกใสติดฟิล์มแบบ night vision 100% ที่สะท้อนสภาพแวดล้อมในกลางวันทั้งสี่ด้าน ในขณะที่เวลากลางคืนมันจะลดระดับการสะท้อนลงและสามารถมองจากด้านในออกไปหรือจากด้านนอกเข้ามาได้ในระดับที่ใกล้เคียงกัน เสากับผนังทั้งในและรอบอาคารสร้างความสัมพันธ์ต่อกันจนเกิดเป็นจังหวะของ การตั้งอยู่ตรงนั้น กับ การหายไปในสภาพแวดล้อม

จังหวะและวิธีเกี่ยวโยงอาคารกับสภาพแวดล้อมที่ว่า คือ ไอเดียหลักที่คอยปรุงส่วนผสมให้อาคารใหม่กับที่ตั้งเดิม สิ่งใหม่กับสิ่งเก่า ได้มีที่ทางของมันในการอยู่ร่วมกัน นอกจากเราจะสามารถเห็นการหมุนไปของเวลาได้จากแสง หลังคามุงจากที่สามารถใช้เลี้ยงไม้เลื้อยก็มีวงจรชีวิตของมัน ในขณะที่ตัวจากเองก็เปลี่ยนสี จากช่วงที่ยังสดเป็นสีเขียวตอนมุงเสร็จใหม่ๆ จนเป็นสีน้ำตาลอ่อนในยามที่มันแห้งตัว ที่สำคัญ สีของจากที่แห้งแล้ว ก็ยังเป็นที่มาของโทนสีที่เลือกใช้ทาเสาโครงสร้างเหล็ก เพราะในความเห็นของ NITAPROW “ด้วย texture ของใบ สีของจากจะค่อยๆ เปลี่ยนโทนและเฉดของมันไปตามแสงของแต่ละช่วงเวลาในหนึ่งวัน

ผู้ออกแบบยืนยันว่า เหตุผลที่เลือกใช้วัสดุที่ให้ภาพสะท้อนอย่าง กระจก ไม่ได้เกิดจากความต้องการเล่นกับการพรางตัว (camouflage) แต่มันเป็นการดึงเอาจังหวะของภาพสะท้อน แบบเป็นเสี้ยว เป็นริ้วเล็กๆ ตามแนวเสา กับแบบผืนภาพสะท้อนไปบนตัวอาคาร มาเป็นตัวกำหนดชุดความสัมพันธ์ระหว่างอาคาร กับสภาพแวดล้อม ที่สื่อภาษาออกมาอย่างเรียบง่าย ชัดเจน เหมือนกับการกำหนดขนาดสัดส่วนอาคารและผืนหน้าต่าง จากขนาดมาตรฐานของกระจกเอง ทั้งหมดนี้ ให้ภาพกระบวนการคิด ที่ตัดสลับไปมาระหว่างภาพรวมกับรายละเอียดที่สานต่อเข้าเป็นเรื่องราวเดียวกัน

ทรงหลังคาที่มีช่องเปิดรับแสงธรรมชาติในทิศทวนเข็มนาฬิกา บวกกับกระจกหนา 15 มิลลิเมตร ติดฟิล์มแบบ night vision ช่วยดึงสภาพแวดล้อมให้เข้ามาผสมผสานกับตัวอาคาร แสงจากทางหลังคาเปิดให้แสงสว่างเข้าถึงช่วงตรงกลางพื้นที่ ทำให้พื้นที่ภายในดูโปร่ง แต่ก็ไม่เปิดโล่งออกไปภายนอกจนหมด ส่วนใต้หลังคาร้านกาแฟเปิดเปลือยไม่ปิดฝ้า เห็นเป็นแนวกระเบื้องดินขอที่ปูทับกันแบบสองชั้นกันการรั่วซึม บรรยากาศภายในเปิดรับคนทุกวัย เคาน์เตอร์บริการตนเองถูกจัดไว้ตรงประตูทางเข้า กินพื้นที่เกือบหนึ่งในสี่ของทั้งหมด


ความช่างคิดกับการใช้ของเก่าและทำของใหม่ให้อยู่ด้วยกัน
ยังคงเห็นได้ในการออกแบบเซ็ตโต๊ะและเก้าอี้ที่ใช้ภายในร้าน ท๊อปโต๊ะทำจากไม้ที่ได้จากไม้ล้มในสวน ส่วนขาโต๊ะก็ดึงเอาขาโต๊ะเก่าๆ ทีมีอยู่กลับมาใช้ ส่วนตัวเก้าอี้ Patom (Patom Rattan Chair) ออกแบบโดย พิชญ พุทธิธรกุล ที่ถ้ามีโอกาส เราคงจะได้กลับมาเล่าถึงงานชิ้นนี้กันในโอกาสต่อไป

โลกหลังการเกิดขึ้นของสตาร์บัคส์ ร้านกาแฟก็กลายเป็นสถานที่ระหว่างบ้านกับที่ทำงาน ความหมายของร้านกาแฟสำหรับผู้คนในเมืองแต่ละแห่งย่อมแตกต่างกันไปตามพื้นเพความเป็นมาของถิ่นนั้น ส่วนในกรุงเทพฯ นั้น ร้านกาแฟดูจะดูดเอาทุกกิจกรรมที่อยู่ระหว่างบ้านกับที่ทำงานเข้ามาไว้ที่ตัวเอง จำนวนร้านกาแฟในบางย่านอาจถี่พอๆ กับร้านสะดวกซื้อ 24 ชั่วโมง ทว่าเมื่อโลกมี Instagram นิยามของร้านกาแฟก็ดูจะพัฒนาไปอีกขั้นเป็นสถานที่ระหว่างบ้านกับที่ทำงาน และแหล่งผลิต visual story ป้อนเข้าโลกโซเชียล แน่นอนว่า เมื่อเราอยู่ในยุคที่ประสบการณ์เป็นสิ่งที่มีมูลค่าในตลาด การทำบรรยากาศร้านให้ดีน่านั่ง เพื่อสร้างประสบการณ์ที่น่าจำ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่สิ่งที่น่าสนใจที่สุดท่ามกลางปรากฏการณ์นี้ก็คือ ข้อมูลภาพจากพฤติกรรมที่ดูเหมือนไม่มีอะไรพิเศษ ภาพนับล้านที่ผลิตขึ้นมาจากความคิดที่ลอยในภวังค์ของตัวตนที่หลากหลายนี่แหล่ะ คือแหล่งข้อมูลที่น่าเข้าไปลองใช้ทำความเข้าใจกันดูสักหน่อย โดยเฉพาะสำหรับใครก็ตามที่สนใจการออกแบบ ไม่จำเป็นต้องเป็นนักออกแบบก็ได้ เพราะอย่าลืมว่า เราทุกคนสามารถออกแบบชีวิตของเราในแต่ละวันได้

nitaprow.com
fb.com/nitaprow            

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *