THROUGH 30 YEARS OF RESIDENTIAL DESIGN EXPERIENCES, SUPALAI PUBLIC COMPANY LIMITED LED BY DR. PRATEEP TANGMATITHAM HAS LAUNCHED SUPALAI WELLNESS VALLEY, THE ELDERLY HOUSING PROJECT IN SARABURI PROVINCE TO CREATE A HEALTHY LIFE FOR THE ELDERLY
TEXT: NAPAT CHARITBUTRA
PORTRAIT & PHOTO: KETSIREE WONGWAN
(For English, press here)
กราฟโครงสร้างประชากรจากทุกสำนักบ่งชี้ไปทางเดียวกันว่าประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ ปัจจุบัน ประเทศไทยมีผู้สูงอายุมากกว่า 16.7 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนประชากรทั้งหมด หรือคิดเป็นจำนวนถึง 11 ล้านคน โดยอีกไม่ถึง 10 ปีนี้ จะเพิ่มขึ้นเป็นถึง 26.9 ล้านคน และนี่คงเป็นเหตุผลข้อหนึ่งที่ทำให้ผู้คนเริ่มมองหา และกลับมาให้ความสำคัญกับงานออกแบบเพื่อผู้สูงอายุกัน
“ผมเห็นว่าความต้องการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุนั้นเพิ่มมากขึ้น และผมเองก็เข้าใจความต้องการของผู้สูงอายุค่อนข้างดี เพราะตัวผมเองก็เข้าข่ายว่าเป็นผู้สูงวัยกับเขาแล้วเหมือนกัน (หัวเราะ)” ดร.ประทีป ตั้งมติธรรม เล่าให้ art4d ฟังถึงที่มาของโครงการ ‘ศุภวัฒนาลัย’ (Supalai Wellness Valley) โครงการที่อยู่ติดกับโรงแรมศุภาลัย ป่าสัก รีสอร์ท โดยมีเนื้อที่เกือบ 200 ไร่ ติดแม่น้ำป่าสัก อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ที่เพิ่งเปิดตัวเฟสแรกไป 65 ยูนิต ภายใต้แนวคิด “ไอโอโซนธรรมชาติ” ที่ว่าด้วยการอยู่อาศัยในสภาพแวดล้อมที่อุดมไปด้วยความสดชื่นจากป่าเขาและแม่น้ำ
ในด้านการออกแบบบ้านพักนั้น universal design คือมาตรฐานสำคัญ ตั้งแต่ถนนทางเดินในโครงการที่เป็นทางลาดทั้งหมด ภายในบ้านปูด้วยพื้นยาง ไม่ลื่น มีความนิ่มเท้าเล็กน้อย ประตูห้องนอนและห้องพักเป็นบานเลื่อนขนาดใหญ่ ทางเดินที่กว้าง พอสำหรับการเคลื่อนที่ด้วยรถเข็น มีที่นั่งอาบน้ำและราวจับกันลื่นในห้องน้ำ ผนังห้องที่ใช้สีโทนสว่างเพื่อลดโอกาสการเกิดสภาวะซึมเศร้า ไปจนถึงรายละเอียดที่ส่งผลต่อจิตใจอย่าง การออกแบบมุขหน้าต่าง (bay window) “เพราะว่าคนสูงวัยเขามักจะมีของเล็กๆ น้อยๆ เช่น รูปสมัยหนุ่มสาว รูปถ่ายลูกหลาน ให้ไม่รู้สึกเหงา” นอกจากนี้ยังมีพื้นที่สำหรับปลูกผักสวนครัวทั้งในบริเวณสวนหน้าบ้านและหลังบ้านได้อีกด้วย ดร.ประทีป บอกกับ art4d
“ผมเคยศึกษาเรื่อง elderly housing ตั้งแต่ตอนเรียนอยู่ที่สหรัฐอเมริกา เคยไปดูงานที่สแกนดิเนเวีย บ้านพักผู้สูงอายุในประเทศญี่ปุ่น หรือประเทศจีน” ดร.ประทีป เล่าว่าบ้านพักผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีหลักการคล้ายกัน คือการเป็นพื้นที่ที่ผู้สูงอายุมาอาศัยอยู่ร่วมกัน แต่สิ่งที่ ‘ศุภวัฒนาลัย’ ตั้งเป้าหมายไว้ในครั้งนี้คือการไปให้ไกลกว่าการออกแบบโครงการที่เป็นมิตรต่อสภาพร่างกายของผู้สูงอายุ แต่คือการตระเตรียม “คุณภาพชีวิต” ซึ่งนำมาสู่การเกิดขึ้นของกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเวิร์คช็อปสอนจัดดอกไม้และทำอาหาร กิจกรรมสอนออกกำาลังกาย ไปจนถึงห้องนั่งเล่นขนาดใหญ่สำหรับทำกิจกรรมสังคมต่างๆ ร่วมกัน “ข้อได้เปรียบอีกอย่างของ ‘ศุภวัฒนาลัย’ คือการมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ของโรงแรมพร้อมทั้ง สระว่ายน้ำขนาดใหญ่ สปา ภัตตาคาร ฟิตเนส มินิมาร์ท ดังนั้น สิ่งที่เราอยากให้เกิดขึ้นและเป็นหัวใจของโครงการนี้ก็คือการใช้ชีวิตร่วมกันกับเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันอย่างมีความสุข
“สังคมไทยใช้อายุ 60 เป็นเกณฑ์กำหนดว่าใครเป็นผู้สูงอายุ ด้วยเอกสิทธิ์ต่างๆ ทั้งส่วนลดเวลาขึ้นรถไฟฟ้า รถเมล์ เครื่องบิน ไปจนถึงที่จอดรถพิเศษตามห้างสรรพสินค้า” เอกสิทธิ์เหล่านี้ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่พร้อมๆ กันนั้นก็ขีดเส้นแบ่งกิจวัตรประจำวันของผู้สูงอายุว่าต่างจากคนทั่วไป “ศุภวัฒนาลัย” คือ “บ้านอายุวัฒนะ” นั่นหมายถึงการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี ที่ทำให้อายุยืดออกไป ร่างกายแข็งแรงได้นานขึ้น ไม่ใช่ว่าคนมาอาศัยอยู่ที่นี่แล้วจะต้องแก่” ดร.ประทีป กล่าว ก่อนจะเสริมว่า “ดังนั้นเราจึงเปิดให้คนทุกวัยสามารถเป็นเจ้าของได้ ตั้งแต่คนหนุ่มสาว สำหรับคนที่ early retire หรือกลุ่มคนที่เริ่มเปลี่ยนมาทำงานที่บ้าน และเข้าออฟฟิศที่กรุงเทพฯ แค่อาทิตย์ละครั้ง”
ความหลากหลายของผู้อยู่อาศัยยังมาพร้อมกับข้อดีอีกข้อหนึ่งนั่นคือ การเติมชีวิตชีวาแก่ชุมชนแห่งนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้สูงอายุทุกคนล้วนมองหา เช่น เดียวกันกับยูนิตของโครงการที่เป็นบ้านชั้นเดียวขนาด 55 ตารางเมตร ประกอบไปด้วย ห้องรับแขก ห้องอาหาร ห้องนอน ที่ลูกหลานมาพักผ่อนได้ไม่ต่างอะไรกับโรงแรมในวันหยุดสุดสัปดาห์ ในด้านความพร้อมเรื่องการดูแลสุขภาพนั้น ในโครงการมีศูนย์บริการที่มีพยาบาลประจำ มีห้องสำหรับทำกายภาพบำบัด และบริการช่วยเหลือฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง
“ศุภาลัยออกแบบที่อยู่อาศัยมาทุกประเภทแล้วไม่ว่าจะบ้านเดี่ยว บ้านแฝด ทาวน์เฮาส์ คอนโด โครงการนี้เป็นโครงการ CSR (Corporate Social Responsibility) เราทำเพื่อตอบสนองความต้องการของสังคมโดยไม่หวังผลกำไร จึงตั้งใจขายเท่าทุน แต่ก็ไม่ใช่โครงการประชาสงเคราะห์ เราต้องการสร้าง community ที่ผู้สูงอายุได้มาใช้เวลาร่วมกันอย่างมีความสุข อีกทั้งยังเป็นการลงทุนที่ดีในระยะยาว เพราะอย่างไรก็ตามแต่บ้านเป็นสิ่งที่จะอยู่กับเราตลอดไป”