STC CLINIC, A RENOVATION PROJECT BY CONTEXT STUDIO, CREATES ITS OWN UNIQUE DNA AND TRANSLATES IT INTO A WORK OF ARCHITECTURE OF IDIOSYNCRATIC LINES, SILHOUETTES, AND ARCHITECTURAL COMPONENTS.
TEXT: JANJITRA HORWONGSAKUL
PHOTO: DOF SKY|GROUND EXCEPT AS NOTED
(For English, press here)
DNA คือรหัสข้อมูลควบคุมลักษณะพันธุกรรมต่างๆ ของสิ่งมีชีวิต โดยเฉพาะการระบุอัตลักษณ์เฉพาะของบุคคล ที่ DNA สามารถบ่งบอกทั้งความเหมือนและต่างได้ในคราวเดียวกัน นั่นคือแม้เราจะมี DNA บางส่วนเหมือนพ่อและแม่ แต่ DNA ชุดหนึ่งในตัวเราก็ยังคงระบุถึงความเป็นเรา และเป็นหนึ่งเดียวในโลกเสมอ เช่นเดียวกับในบริบทสถาปัตยกรรม STC Clinic โปรเจ็คต์รีโนเวทตึกแถวให้กลายเป็นศูนย์สุขภาพ stemcell โดยบดินทร์ พลางกูร จาก Context Studio ที่สร้าง DNA เฉพาะตัว และถ่ายทอดลงบนเส้นสายของอาคารที่ไม่เหมือนใครผ่านองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม
STC Clinic เกิดขึ้นจากการรวมตัวของหุ้นส่วน 5 คน ที่ต้องการเปลี่ยนตึกแถว 5 ชั้น ย่านเสนานิคมให้เป็นศูนย์สุขภาพเกี่ยวกับ stemcell ครบวงจร ตั้งแต่การรักษา ให้คำปรึกษาด้านพันธุกรรม รวมถึงเป็นธนาคารเก็บตัวอย่าง stemcell
DNA เป็นคีย์เวิร์ดสำคัญในการออกแบบ ที่สถาปนิกนำมาใช้ในการออกแบบแทบจะทุกๆ องค์ประกอบของโครงการ ตั้งแต่แพทเทิร์นของผนังอาคาร นั่นคือ แผ่นสแตนเลสฉลุลายโครงสร้างของ DNA มนุษย์ ขนาด 30×40 เซนติเมตร ที่มีลวดลายแตกต่างกันถึง 300 แบบ ซึ่งถูกนำมาจัดวางแบบ random ทั่วทั้งบริเวณภายในอาคาร และ façade อาคาร นอกจากนั้นยังสร้างมิติให้กับพื้นผิวด้วยการติดตั้งแบบเล่นระดับ ขึ้น – ลง สลับเป็นขั้นบันไดให้เกิดความสวยงาม และเพื่อประโยชน์การใช้สอยอาคาร การกรองแสง และการระบายอากาศระหว่างภายในและภายนอก
พื้นที่ส่วนหน้าของชั้นหนึ่งถูกจัดวางให้เป็นส่วนต้อนรับ โดยลึกเข้าไปพื้นที่ด้านหลังสุดจะเป็นที่บริเวณนั่งรอสำหรับลูกค้า บริเวณนี้ถูกออกแบบให้เป็นโถงสูงถึง 5 ชั้น เปิดรับแสงธรรมชาติจากช่องแสง skylight รูปตัวแอล (L) และกรุผนังด้วยแพทเทิร์น 2 รูปแบบ นั่นคือแพทเทิร์นโครงสร้างของ DNA ลักษณะเดียวกับ façade ด้านหน้า และแพทเทิร์นสีขาวดูเรียบง่าย (กว่าแพทเทิร์นลายฉลุ) รูปทรงและสัดส่วนคล้ายกับแฟ้มเก็บข้อมูลที่แฝงความหมายคล้ายกับเป็นพื้นที่คลังข้อมูลของคนไข้แต่ละคน สีขาวถูกนำมาใช้กับพื้นที่โดยรวมเพื่อให้เกิดบรรยากาศคลินิกที่ดูทันสมัย สะอาด สบายตา และสอดรับกับเทคโนโลยีที่ถูกนำมาใช้กับคลินิกแห่งนี้
Photo: Ketsiree Wongwan“หลักจากฉีด stemcell แล้ว ผู้ใช้บริการจะต้องนอนพักเป็นระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุผลของการเกิดขึ้นของฟังก์ชั่น ห้องพักคอย” บดินทร์ บอกกับ art4d ว่า เขาออกแบบห้องพักคอยบริเวณชั้นสองฝั่งด้านหน้าของอาคาร และสร้างพื้นที่ปฏิสัมพันธ์ระหว่าง façade กับพื้นที่ภายในที่เปิดมุมมองสู่ภายนอกผ่านหน้าต่างกระจกใส ด้วยสวนหินเล็กๆ และพืชพรรณนานาชนิดที่รับแสงแดดได้ดี ซึ่งช่วยสร้างบรรยากาศ ทำให้ลูกค้าได้สัมผัสถึงความร่มรื่นและผ่อนคลายอย่างแท้จริง นอกจากนี้ยังมีห้องปฏิบัติการที่ปิดทึบจากภายนอกในชั้นสาม ห้องทำทรีทเม็นท์ในชั้นสี่ และห้องประชุมในชั้นห้า ไว้เป็นที่ประชุมงานของกลุ่มหุ้นส่วน
โครงสร้างอาคารเป็นอีกประเด็นที่ผู้ออกแบบให้ความสำคัญ เนื่องจากเป็นตึกแถวเก่าและมีการเพิ่มลิฟท์เข้ามาในภายหลังเพื่ออำนวยความสะดวกแก่กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่ที่เป็นผู้สูงวัย จึงต้องปรับรากฐานให้มั่นคงแข็งแรงก่อนทำการรีโนเวท รวมถึงมีการปรับปรุงระบบต่างๆ และระดับบันไดให้ใช้งานได้ง่ายขึ้น
“การตีความหมายของ DNA” ที่เป็นหัวใจหลักของสถาปัตยกรรมชิ้นนี้ถูกถ่ายทอดแนวคิดผ่านการออกแบบแพทเทิร์นผนังทั้งภายในและ façade ภายนอกอาคาร โปรเจ็คต์นี้เป็นสิ่งที่ทำให้เราเข้าใจว่าความสัมพันธ์ระหว่างวิทยาศาสตร์ที่ร่ำเรียนมากับศิลปะการออกแบบด้านสถาปัตยกรรมสามารถเกิดขึ้นจริงได้ และไม่ว่าผลลัพธ์จะเป็นไปในรูปแบบไหน จุดร่วมเดียวกันคือ เราสามารถสัมผัสถึงมิติแห่งอัตลักษณ์ความเป็นหนึ่ง ทั้งในวิทยาศาสตร์และสถาปัตยกรรม (ที่มีสถาปนิกเป็นผู้ออกแบบ) ได้เสมอ